MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE VII
การเดินทางเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของนักออกแบบอิตาเลียน ในรายการ MEET THE MASTERS OF ITALIAN CAR DESIGN ใกล้จะถึงวันสุดท้ายแล้ว แต่หมัดเด็ดก็อยู่ในวันท้ายๆ นี่แหละ เพราะหลังจากที่เราได้เรียนรู้ความคิดจากนักออกแบบรุ่นลายครามไปแล้วหลายคน ก็ถึงเวลาสำหรับซูเพอร์สตาร์แห่งวงการออกแบบรถยนต์ยุคปัจจุบัน เขา คือ ฟลาวีโอ มันโซนี (FLAVIO MANZONI) หัวหน้าทีมออกแบบของค่ายม้าลำพอง แฟร์รารีมันโซนี ในวัย 51 ปี เป็นหนุ่มใหญ่ รูปหล่อ บุคลิกกระฉับกระเฉง เฉียบคม และการที่เขายิ้มง่าย แถมติดสำเนียงเหน่อนิดๆ แบบชาวเกาะซาร์ดินีอา (SARDENIA) ทำให้การบรรยายของเขามีบรรยากาศที่สบายๆ มันโซนี ได้เริ่มต้นเล่าถึงพื้นเพของเขาว่า มาจากครอบครัวสถาปนิก ได้รับการฝึกฝนด้านศิลปะจากพ่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ มันโซนี แตกต่างจากนักออกแบบรถยนต์ท่านอื่นๆ ที่มาบรรยายในงานนี้ คือ เขาชื่นชอบในการออกแบบรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก (ต่างจากหลายๆ ท่านที่เข้ามาในวงการนี้แบบไม่ได้ตั้งใจ) และหวังมาตลอดว่า สักวันหนึ่งเขาจะได้ออกแบบรถยนต์ ซึ่งทำให้มีความมุมานะที่จะเป็นนักออกแบบ โดยได้เข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเมืองฟลอเรนศ์ (FLORENCE) วิชาเอกออกแบบอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL DESIGN) และไปศึกษาต่อด้านการออกแบบรถยนต์ที่เมืองตูริน (TURIN) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ในอิตาลี แววการเป็นนักออกแบบมือเอก เห็นได้จากภาพวาดขณะศึกษาอยู่ของ มันโซนี เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพสถาปัตยกรรม หรือจิตรกรรม รวมไปถึงภาพวาดรถยนต์ที่แสดงให้เห็นทักษะที่ฝึกฝนในวัยหนุ่มด้วยภาพผลงานจากกิจกรรมหา “ทุนการศึกษา” ของเขา นั่นคือ การรับจ้างนิตยสารรถยนต์วาดภาพรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยังไม่วางขาย โดยอาศัยภาพแอบถ่าย (SPY SHOT) และสร้างภาพรถจริงๆ ขึ้นมาจากข้อมูลภาพแอบถ่ายเหล่านั้น อย่าลืมว่าในต้นทศวรรษที่ 90 ไม่มีพโรแกรมโฟโทชอพ ดังนั้นภาพที่เขาวาดจึงเป็นงานฝีมือล้วนๆ และภาพที่ได้ออกมานั้น สวยงามราวกับภาพถ่ายไม่มีผิด แสดงให้เห็นถึงฝีไม้ลายมือที่ร้ายกาจ นอกจากนี้ ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวสถาปนิก งานสถาปัตยกรรม และแนวความคิดของเหล่าสถาปนิก และศิลปินจึงมีอิทธิพลกับงานของเขา บวกกับความชื่นชอบ หลงใหลในเรื่องยานบินและอวกาศ ทำให้เขาเป็นแฟนตัวยงของ “ซิด มีด” (SYD MEAD) ศิลปินนักวาดภาพประกอบแนวอนาคต (VISUAL FUTURIST) ชาวอเมริกันโดย ซิด มีด นั้นเป็นผู้ออกแบบงานศิลป์ให้ภาพยนตร์แนวไซไฟชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ บเลด รันเนอร์ (BLADE RUNNER), เอเลียน (ALIEN) และทรอน (TRON) ซึ่งความคลั่งไคล้ของ มันโซนี ในเรื่องไซไฟจะผลิดอกออกผลในเวลาต่อมา หลังเรียนจบจากตูริน ในปี 1993 งานแรกที่ มันโซนี เริ่มทำ คือ เป็นนักออกแบบภายในให้กับ ลันชา (LANCIA) โดยได้รับมอบหมายให้เป็นคนออกแบบภายในของรถแนวคิด ลันชา ดีอโลโกส (LANCIA DIALOGOS) ปี 1998 จากนั้นเขาก็ได้ออกเดินทางหาประสบการณ์ด้านการออกแบบด้วยการเข้าทำงานกับ เซอัต (SEAT) รถยนต์แห่งชาติของสเปน ปี 1999 ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกออกแบบภายใน โดยรับผิดชอบการออกแบบภายในให้กับ เซอัต หลายรุ่น ทั้งรถแนวคิด และรถตลาด ต่อมาเขาได้กลับมายัง ลันชา อีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบในปี 2001 สร้างสรรค์ทั้งคอนเซพท์คาร์ และพโรดัคชันคาร์ไว้หลายคัน โดยคันที่สร้างชื่อเสียงให้เขาก็คือ ลันชา ฟูลวีอา คูเป (LANCIA FULVIA COUPE) รถสปอร์ทแนวคิดสไตล์เรทโร ในปี 2003 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถยนต์ชื่อเดียวกันในทศวรรษที่ 60 ที่โดดเด่นด้วยเส้นสายสะอาดตา กระฉับกระเฉง เรียกได้ว่าผลงานเข้าตากรรมการ ในปี 2004 จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ เฟียต และได้ถูกทาบทามโดย โฟล์คสวาเกน ในปี 2006 ให้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์งานออกแบบ (DIRECTOR OF CREATIVE DESIGN) ในช่วงเวลาที่อยู่กับ โฟล์คสวาเกน เขาได้รับผิดชอบงานออกแบบทั้งรถแนวคิด และรถตลาดหลายต่อหลายรุ่น ร่วมกับ วัลแตร์ เด ซิลวา (WALTER DE SILVA) โดยผลงานโดดเด่นของ มันโซนี ในช่วงเวลานั้น คือ โฟล์คสวาเกน อัพ ! (VOLKSWAGEN UP!) รวมถึงการปรับไวยากรณ์การออกแบบของ โฟล์คสวาเกน ให้มีความเฉียบคมและมีเหลี่ยมสันมากขึ้น จึงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่า รถยนต์ โฟล์คสวาเกน ยุคปัจจุบันเป็นผลิตผลของเขา โอกาสที่ มันโซนี ได้พิสูจน์ให้โลกรับรู้ว่าเขาคือ “นักออกแบบมือทอง” มาถึงในปี 2010 เมื่อได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมงานกับ แฟร์รารี ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายออกแบบอาวุโส (SENIOR VICE PRESIDENT OF DESIGN) โดยภารกิจของเขา คือ ปรับปรุงภาพลักษณ์ของบแรนด์ทั้งหมด ซึ่งเราได้เห็นใน แฟร์รารี ร่วมสมัยที่มีความไฮเทค ท้าทาย และร้อนแรงกว่าเดิมอย่างชัดเจน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ มันโซนี คือ ไฮเพอร์คาร์ ที่ร้อนแรงที่สุดของ แฟร์รารี ในชื่อ “ลา แฟร์รารี” (LA FERRARI) รถที่ถูกตั้งเป้าหมายว่าต้องมีสมรรถนะสูงสุด อีกทั้งยังต้องมีการออกแบบที่ใหม่สด และบ่งบอกถึงความเป็น แฟร์รารี แม้จะไม่มีสัญลักษณ์ม้าลำพองติดอยู่แม้แต่จุดเดียว คนที่เห็นจะต้องพูดว่า “นี่คือ แฟร์รารี” รูปทรงของ ลา แฟร์รารี พัฒนาขึ้นมาจากการผสมผสานงานประติมากรรมของศิลปินชาวอินเดีย “อานิช คาปูร์” (ANISH KAPOOR) และภาพจำลองสมการคณิตศาสตร์ หลอมรวมกับจินตนาการสไตล์ไซไฟของเขา ก่อเกิดเป็นรูปทรงของยานบินทรงแปลกที่ได้รับการพัฒนาต่อไปเป็นรูปทรง พื้นผิวที่ซับซ้อน และทรงประสิทธิภาพ (ต่อมาก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้ล้ำขึ้นไปอีก ในเวอร์ชันรถแข่งชื่อ FXXK) การได้รับการยอมรับในฝีไม้ลายมือนำไปสู่รถรุ่นใหญ่เครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ วางหน้าอย่างรุ่น เอฟ 12 และยังนำไปสู่การปรับปรุงภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ขนานใหญ่ ด้วยการลดความอนุรักษ์นิยมลง และทันสมัยมากขึ้น โดยนำเส้นสายและรายละเอียดที่เป็นเหลี่ยมสัน มีระเบียบ แต่ดุดันและล้ำสมัยของ ลา แฟร์รารี และ 458 มาใช้ จะเห็นได้จาก คาลิฟอร์เนีย ที (CALIFORNIA T) และ เอฟเอฟ (FF) ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แฟร์รารี เป็นบแรนด์เก่าแก่ การจะทำอะไรแผลงๆ โดยไม่ยึดติดกับธรรมเนียมดั้งเดิมเลยอาจจะเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อบแรนด์ และถ้าจะทำ สิ่งนั้นต้องไม่เป็นเพียงการประดับประดาฉาบฉวยด้วยเช่นกัน จากรายละเอียดต่างๆ ที่หยิบยืมมาจากรถรุ่นคลาสสิคในอดีต ซึ่งต่างมีประโยชน์ใช้สอย อาทิ ช่องดูดอากาศด้านหน้ารถ ที่รู้จักกันในชื่อของ “จมูกฉลาม” ปี 1961 จากรถแข่งกรองด์ปรีซ์ รุ่น 156 ที่นำมาใช้กับ ลา แฟร์รารี ก็มีหน้าที่ด้านอากาศพลศาสตร์ หรือ “บั้ง 3 แถบ” บริเวณเหนือซุ้มล้อหลังของ รุ่น เอฟ 12 ทีดีเอฟ ก็มีไว้เพื่อหยุดกระแสอากาศที่ไหลเหนือตัวรถ และลดแรงยกตัวด้านท้าย ซึ่งจริงๆ แล้วมีเพียง 2 แถบก็เพียงพอ แต่เพื่อเป็นการระลึกถึงงานออกแบบของรถรุ่น จีทีโอ (GTO) ในทศวรรษที่ 60 เขาจึงจัดให้มี 3 แถบ เหมือนกับรถรุ่นในตำนาน เรียกได้ว่าทั้งตำนานและหน้าที่ใช้สอยต่างต้องเกื้อกูลกัน สำหรับผลงานล่าสุดของ มันโซนี คือ งานออกแบบรุ่น 488 จีทีบี (488 GTB) เครื่องยนต์เทอร์โบคู่ ที่พัฒนามาจากรุ่น 458 ที่ใช้เครื่องยนต์ดูดอากาศปกติ การใช้เทอร์โบทำให้ต้องการอากาศเข้าเครื่องมากกว่าปกติ ดังนั้น ช่องดูดอากาศด้านข้างตัวรถจึงต้องใหญ่ขึ้น มันโซนี จึงนำเอาแนวคิดท่อดูดอากาศด้านข้างของรถรุ่น 246 ดีโน (246 DINO) จากปลายทศวรรษที่ 60 ที่ออกแบบโดย อัลโด บโรวาโรเน (ALDO BROVARONE) มาปรับใช้ รวมถึงปรับเส้นสายตัวรถโดยรวมให้มีความดุดัน และดูพุ่งจิกพื้นมากกว่าเดิม เป็นงานออกแบบที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก รวมถึงได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (BEST OF THE BEST) สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสถาบัน “เรด ดอท ดีไซจ์นอวอร์ด” (RED DOT DESIGNAWARD) ประเทศเยอรมนี ในปี 2016 มันโซนี ได้ฝากไปถึงนักออกแบบรุ่นต่อไปที่เป็นนักออกแบบแนวดิจิทอล (ออกจะแย้งกับค่ายกระทิงดุ ลัมโบร์กินี อยู่บ้าง เพราะค่ายนั้นดูจะดิจิทอลเต็มรูปแบบ) ว่า อย่าเอาแต่นั่งจ้องงานของตัวเองผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพราะงานออกแบบรถยนต์นั้นเป็นงาน 3 มิติ เราต้องได้สัมผัส และมองแสงเงาที่แท้จริง โดยปราศจากการบิดเบือนของมุมกล้อง จึงจะทำให้เข้าใจงานของเราได้ดีที่สุด มันโซนี ยังฝากอีกด้วยว่า แม้บางคนจะบอกว่าพรสวรรค์เป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่เขากลับมองว่า พรสวรรค์ เป็นของ “ราคาถูก” เพราะมันติดตัวมาโดยฟ้าประทาน แต่พรแสวงและการทุ่มเทพัฒนาตัวเองต่างหากที่มี “ราคาแพง” เพราะพรแสวง คือ สิ่งที่คุณสร้างมาทั้งชีวิต และมันจะตอบแทนคุณกลับมาอย่างเต็มที่เช่นกัน ส่วนสิ่งที่ มันโซนี มองหาในตัวของนักออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ คือ ความ “อยากรู้อยากเห็น” และ “วิถีชีวิตที่นอกเหนือไปจากเรื่องรถยนต์” กิจกรรมอย่าง ดำน้ำ เล่นกระดานโต้คลื่น มันเพิ่มเติมประสบการณ์และให้มุมมองที่แตกต่างให้คุณได้ แต่สุดท้ายแล้ว “ความถ่อมตัว” คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะมันจะทำให้คุณได้รับการสอนสั่งจากผู้มีประสบการณ์มากกว่า ง่ายๆ คือ อย่าทำตัวเป็น “น้ำเต็มแก้ว” นั่นเอง การบรรยายครั้งนี้ ทำให้เราได้เปิดวิสัยทัศน์ของยอดฝีมือผู้เปิดตำนานบทใหม่ของนักออกแบบอิตาเลียนแห่งศตวรรษที่ 21 ตอนต้น ผู้ที่ผสมผสานฝีไม้ลายมือที่ฉกาจฉกรรจ์ เข้ากับไอเดียสุดล้ำจากโลกไซไฟได้อย่างลงตัว ถือเป็นผู้ปิดฉากการบรรยายงาน MEET THE MASTERS OF ITALIAN CAR DESIGN ที่สมบูรณ์แบบ ฉบับหน้าเราจะไปเยี่ยมชมสนามทดสอบของนิตยสาร QUATTRORUOTE และสัมผัสผลงานออกแบบของนักออกแบบรถยนต์อิตาเลียนในแต่ละยุค ห้ามพลาดนะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)