เกาะกระแส (cso)
HEADPHONES
HEADPHONES
อุปกรณ์ชุดหูฟังกำลังมาแรง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามเทคโนโลยีเครื่องเล่นอีเลคทรอนิค และสมาร์ทโฟน กลายเป็นทเรนด์ใหม่เพิ่มความบันเทิง ในกลุ่มเจเนอเรชัน "Y" ทั่วโลก
คุณภาพเสียงมีมิติ บรรยากาศสมจริง เสมือนลำโพงบ้านระดับไฮเอนด์ย่อส่วน
แรกเริ่มเดิมที
HEADPHONES (หูฟัง) อุปกรณ์อีเลคทรอนิคด้านเครื่องเสียง คล้ายๆ กับลำโพงตัวเล็ก ออกแบบมาเพื่อให้มันทำหน้าที่ใกล้ๆ หูมนุษย์ ได้โดยไม่เกิดอันตราย แรกเริ่มเดิมที สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นาธาเนียล บัลด์วิน นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์คิดค้นชุดหูฟังขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองใช้ชุดหูฟังทางการทหาร ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักอุปกรณ์ชนิดนี้
ส่วนในด้านธุรกิจ เริ่มจากบริษัท พแลนทรอนิคส์ ฯ ลงทุนเดินสายการผลิต ชุดหูฟังที่มีน้ำหนักเบา โดยทดลองใช้สวมใส่ขับเครื่องบิน จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน
การพัฒนาในบ้านเรา จากเดิมที่ใช้กันเฉพาะในสตูดิโอ หรือเครื่องเสียงบ้านมีระดับ ผู้คนทั่วไปเริ่มฟังเพลงจากซาวน์ดอเบาท์ ตั้งแต่เครื่องเล่นเทปคาสเสทท์, ซีดี, เอมพี 3 ตามด้วย IPOD และสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสาร อาทิ สมอลล์ทอร์ค และบลูทูธ
ส่วนประกอบ
HEADPHONES ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลำโพง, สายลำโพง และหัวแจค ซึ่งทั้ง 3 ส่วน จะทำงานร่วมกัน ส่วนประกอบเสริม อาทิ กรอบลำโพง, ก้านยึดกรอบลำโพง, ตัวลอคหู, ชุดสวิทช์ควบคุม (มีทั้งแบบในสาย และที่ตัวกรอบลำโพง), ไมโครโฟน (ใช้เพื่อสื่อสาร) และวัสดุครอบกรอบลำโพง อาทิ ฟองน้ำ
แต่ละค่ายจะออกแบบ HEADPHONES แตกต่างกัน โดยคำนึงถึง คุณภาพเสียง ลักษณะการใช้งาน และความสวยงาม เป็นสำคัญ สังเกตได้จากสินค้าประเภทเดียวกัน จะมีความแตกต่าง ทั้งด้านราคา, วัสดุ และการออกแบบ แบ่งตามกลุ่มผู้บริโภคอย่างชัดเจน
แต่ละรุ่นจะออกแบบให้ปรับระดับได้ เพื่อให้เหมาะสมกับศีรษะของผู้ใช้งาน อีกทั้งตัวก้านกรอบลำโพงในบางรุ่น สามารถพับเก็บได้ เมื่อไม่ต้องการใช้งาน บางค่ายยังเพิ่มฟังค์ชันเชื่อมต่อไร้สาย (WIRELESS) เพื่อให้ใช้งานได้อย่างอิสระมากขึ้น มีให้เลือกทั้งแบบเชื่อมสัญญาณด้วยระบบ BLUETOOTH และ WIFI รวมถึงเป็นเครื่องเล่นเอมพี 3 หรือรับสัญญาณวิทยุได้ในตัว
ใช้งานสะดวกทั้งขณะเดินทาง และทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ออกกำลังกาย เดิน, วิ่ง ,ขี่จักรยาน ฯลฯ
ประเภท และลักษณะการใช้งาน
HEADPHONES แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ขนาดใหญ่ FULL SIZE HEADPHONES ขนาดใหญ่ย่อส่วน SEMI-FULL SIZE HEADPHONES และขนาดเล็ก MICRO SIZE HEADPHONES ซึ่งแต่ละประเภท ยังแบ่งแยกย่อยออกไปอีก ตามลักษณะการใช้งาน
FULL SIZE
HEADPHONES ที่มีขนาดใหญ่ครอบเต็มศีรษะ กรอบหูฟังจะครอบเต็มใบหู ที่โดดเด่น คือ ลำโพงจะมีขนาดใหญ่ ให้คุณภาพเสียงมีบรรยากาศ มิติสมจริง เสมือนลำโพงเครื่องเสียงบ้านระดับไฮเอนด์ย่อส่วน ลักษณะการใช้งาน เหมาะสำหรับอยู่กับที่ภายในห้อง อาทิ สตูดิโอ ห้องฟังเพลงส่วนตัว หรือสถานที่ทำงานเกี่ยวกับระบบเสียง เนื่องจากมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ไม่เหมาะสำหรับพกพา เดินทาง หรือใช้งานเป็นเวลานานๆ ซึ่งยังแยกย่อยได้อีก 3 รูปแบบ คือ
แบบปิด (CLOSE TYPE) กรอบลำโพงจะออกแบบป้องกันเสียงเล็ดลอดเข้า/ออก เหมาะสำหรับงานในสตูดิโอ งานคอนเสิร์ท และงานดีเจ ซึ่งไม่ต้องการเสียงรบกวนจากภายนอก
แบบเปิด (OPEN TYPE) กรอบลำโพงจะมีช่องเปิดให้เสียงผ่านเข้า/ออกอีกด้านได้ นิยมใช้งานในแบบไฮไฟทั่วไป สามารถฟังเพลงได้นานๆ ไม่อึดอัด ใช้งานได้ดีสำหรับที่พักอาศัย ห้องฟังเพลงส่วนตัว แต่ไม่นิยมใช้งานในสตูดิโอ ซึ่งไม่ต้องการเสียงรบกวน ทั้งภายในห้อง และตัวผู้ฟังเอง
แบบเปิด/ปิด (SEMI-OPEN TYPE) กรอบลำโพงจะแบ่งช่องให้เสียงผ่านเข้า/ออกได้เพียงเล็กน้อย ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในแบบสตูดิโอ ห้องฟังส่วนตัว รวมถึงงานกลางแจ้ง ที่ไม่ใช้เสียงดังมาก ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้
SEMI-FULL SIZE
HEADPHONES ขนาดใหญ่ย่อส่วน หรือขนาดกลาง ดอกลำโพงจะมีขนาดเล็กลงมา รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ เป็นแบบแนบหู น้ำหนักเบา แต่มีเสียงเล็ดลอดเข้า/ออกได้ ประเภทนี้จะมีความโดดเด่นในด้านของการออกแบบ เพื่อให้ดูโฉบเฉี่ยว ทันสมัย และเน้นการใช้งานเป็นหลัก เหมาะสำหรับสวมใส่ พกพา หรือฟังเพลงแบบเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ในสถานที่ต่างๆ อาทิ ระหว่างเดินทาง หรือออกกำลังกาย ประเภทนี้แยกย่อยได้ 2 รูปแบบ
STREET STYLE/EAR-PAD แบบมีก้านเชื่อมกรอบลำโพงทั้ง 2 ด้านไว้ด้วยกัน โดยแยกเป็นแบบก้านครอบบนศีรษะ (HEADBAND) และแบบก้านครอบไปทางด้านหลังศีรษะ หรือต้นคอ (NECKBAND) ใช้งานได้สะดวกทั้งเดินทาง และทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ออกกำลังกาย เดิน, วิ่ง หรือขี่จักรยาน บางรุ่นจะมีตัวลอคหู เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดขณะทำกิจกรรม
CLIP-ON/CLIP-EAR แบบไม่มีก้านเชื่อมกรอบลำโพงทั้ง 2 ด้าน โดยออกแบบตัวลอคหูพร้อมกรอบลำโพงแต่ละข้างอย่างอิสระ สายลำโพงจะเป็นตัวเชื่อมต่อสัญญาณแยกซ้าย/ขวาแทน รู้สึกสบายบริเวณศีรษะขณะสวมใส่ นิยมใช้เพื่อออกกำลังกาย หรือกิจกรรมเคลื่อนไหว
MICRO SIZE
HEADPHONES ขนาดเล็กแบบสวมใส่เข้าไปในกรอบหู ส่วนใหญ่ไม่มีก้าน ลำโพงมีขนาดเล็กมาก น้ำหนักเบา แต่การออกแบบให้มีคุณภาพเสียงที่ดี ทำได้ยาก เน้นการใช้งานที่เป็นส่วนตัว สะดวกสบายในการสวมใส่ และจัดเก็บ เหมาะสำหรับทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน และราคาไม่สูงมากนัก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
EAR-BUD แบบวางแนบไปบนช่องหู กรอบลำโพงจะมีขนาดใหญ่กว่าช่องหู โดยออกแบบเป็นชิ้นเดียวกัน เจาะช่องให้เสียงส่งผ่านจากลำโพง เสียงสามารถเล็ดลอดเข้า/ออกได้
IN-EAR แบบใส่เข้าไปในช่องหู กรอบลำโพงจะออกแบบให้มีทรงกลม มีส่วนช่องลำโพงยื่นออกมา เพื่อให้สอดใส่เข้าไปในช่องหูได้ มีอุปกรณ์เสริมเป็นบลอคยาง เพื่อปรับขนาดให้พอดีกับช่องหูของแต่ละคน เสียงเล็ดลอดเข้า/ออกจะน้อยมาก
การเลือก และดูแล
HEADPHONES ส่วนใหญ่ที่แถมมาให้กับสมาร์ทโฟน สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากต้องการคุณภาพเสียงดีขึ้น ควรจะเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้งาน การสวมใส่ และรูปแบบที่ชอบ
สำหรับการทดลองฟังเสียง ให้ฟังจากอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ จะเห็นถึงความแตกต่าง ไม่ต้องใช้เอฟเฟคท์ช่วยปรับแต่ง รายละเอียดทางเทคนิค ช่วงความถี่ที่เหมาะสม คือ 20-20,000 HZ ที่หูมนุษย์สามารถได้ยิน ตัวเลขวัตต์ "W" ยิ่งมากยิ่งดังครับ
ส่วนฟังค์ชันระบบเสียงเลือกได้ตามชอบ อาทิ ซูเพอร์เบสส์ หูหนักก็ฟังกันได้ ปิดท้ายด้วยงบประมาณที่มีอยู่ โดยมีราคาให้เลือกตั้งแต่หลักร้อย ถึงเรือนแสน ที่สำคัญต้องลองระบบให้ครบ ทั้งเสียงลำโพงด้านซ้าย/ขวา หัวแจค สวิทช์ควบคุม ไมโครโฟน และระบบไร้สาย เปรียบเทียบในรุ่น ที่ราคาใกล้เคียงกัน
การดูแลรักษา เหมือนกับอุปกรณ์อีเลคทรอนิคทั่วไป ใช้งานให้ถูกต้อง และเหมาะสม มันไม่ชอบความรุนแรง, น้ำ, แสงแดด และความร้อน บางรุ่นออกแบบมาให้พับเก็บได้ ต้องศึกษาให้ดีก่อน หากพับไม่เป็น ให้แขวนมันไว้ หรือวางบนผ้านุ่มๆ ก็พอ ที่สำคัญคือ ควรม้วนเก็บสายลำโพงอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้หักใน เพราะอาจเกิดอาการเสียงขาดๆ หายๆ ได้
สรุป
ตลาด HEADPHONES กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามกระแสยุคไอที และโซเชียลมีเดีย ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และความเป็นส่วนตัว เป็นจุดเปลี่ยนโลกความบันเทิง สำหรับผู้บริโภคในเจเนอเรชัน "Y" และยุคต่อๆ ไป
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ดำคำเพราะ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 409 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : เกาะกระแส (cso)