MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE I
ว่ากันว่าประสบการณ์ดีๆ นั้นยากจะลืมเลือนเหมือนกับ “จูบแรก” แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ความทรงจำนั้นก็ยังตราตรึงอยู่ในใจของเรา แต่เชื่อหรือไม่ว่า โลกนี้หมุนเร็วเหลือเกิน ความทรงจำของจูบแรกยังไม่ทันจางหายไป กองบรรณาธิการ “ฟอร์มูลา” ก็ติดต่อมาว่าสนใจจะไปอิตาลีเพื่อร่วมงาน “MEET THE MASTERS" ปีที่ 2 หรือไม่ ? คำตอบที่ผู้เขียนตอบกลับไปในเสี้ยววินาทีนั้น คือ “ยินดีเป็นอย่างยิ่ง” แม้จะดูเป็นคนใจง่าย เพราะตอบรับไปทั้งๆ ที่ไม่ได้เชคตารางเวลาของตนเองเลย แต่ประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ ผู้เขียนไม่มีทางปล่อยให้หลุดมือไปอย่างแน่นอน
ในปี 2015 ที่ผ่านมา การสัมมนาครั้งแรกนั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า “MEET THE MASTERS OF ITALIAN CAR DESIGN" จัดขึ้นโดย นิตยสาร QUATTRORUOTE แห่งประเทศอิตาลี พันธมิตรของ “สื่อสากลฯ” โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “เสริมหลักสูตร” ให้แก่ นักออกแบบและวิศวกรรุ่นใหม่ที่พวกเขาเรียกกันว่า QUATTRORUOTE ACADEMY
แนวคิดหลัก คือ การถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์โดยนักออกแบบระดับตำนานในวงการรถยนต์ของประเทศอิตาลี อาทิ อัลโด บโรวาโรเน (ALDO BROVARONE) บรูโน ซากโก (BRUNO SACCO) คริส เบงเกิล (CHRIS BANGLE) แอร์โกเล สปาดา (ERCOLE SPADA) ฟิลิปโป เปรินี (FILIPPO PERINI) ฟลาวีโอ มานโซนี (FLAVIO MANZONI) โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) โลเรนโซ รามาชตตี (LORENZO RAMACIOTTI) มาร์เชลโล กานดินี (MARCELLO GANDINI) โรแบร์โต โจลีโต (ROBERTO GIOLITO) และ วัลแตร์ เด ซิลวา (WALTER DE SILVA)
สำหรับปี 2016 แนวคิดหลักต่างออกไปเล็กน้อย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "MEET THE MASTERS OF INTERNATIONAL CAR DESIGN" อันจะเป็นการขยายมุมมองให้กว้างออกไปเป็นเวทีสัมมนาของนักออกแบบรถยนต์จากบแรนด์นานาชาติ ซึ่งจากรายชื่อที่ได้มา ส่วนใหญ่ยังเป็นนักออกแบบร่วมสมัยที่ยังผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ชิโร นากามูระ (SHIRO NAKAMURA) นักออกแบบระดับตำนานจาก นิสสัน แอนโทนี โล (ANTHONY LO) ดีไซจ์เนอร์หนุ่มชาวฮ่องกง ผู้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการออกแบบ เรอโนลต์ (RENAULT) ให้มีเอกลักษณ์น่าจดจำอีกครั้ง, มิทจา โบร์เคิร์ท (MITJA BORKERT) หัวหน้าทีมออกแบบคนใหม่ของ ลัมโบร์กินี ผู้มีดีกรีเป็นผู้ออกแบบรถหลากหลายรุ่นของ โพร์เช ยุคปัจจุบัน, ฌิลล์ส์ วิดัล (GILLES VIDAL) ผู้พลิกฟื้น เปอโฌต์ ให้กลับมาเร้าใจอีกครั้ง ฟิลิปโป เปรินี (FILIPPO PERINI) ผู้สานตำนานต่อของ ปินินฟารีนา (PININFARINA) และ ชเตฟาน ชวาร์ซ (STEPHANE SCHWARZ) หัวหน้าทีมออกแบบจาก ซากาโต (ZAGATO) สำนักออกแบบที่เปี่ยมเอกลักษณ์ เพียงเท่านี้ก็พอที่จะทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ชมและฟังความคิดของ “มาสเตอร์ส” รุ่นใหม่เหล่านี้ว่า พวกเขามีมุมมองเกี่ยวกับการออกแบบเป็นเช่นไร
หลักสูตรนี้จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเหมือนครั้งที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ทางสื่อสากลฯ ได้ส่งผู้เขียนเดินทางไปยังเมืองมิลาน ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี พร้อมกับนักออกแบบหนุ่มน้อยคนเดิม “เจนณรงค์ มุ่งทวีพงษา” และปีนี้สภาพอากาศแปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีฝนตกเหมือนฟ้ารั่วเกือบทุกวันแถมทางเจ้าภาพได้จัดให้เราพักในโรงแรมย่านใจกลางเมืองเพื่อให้สะดวกต่อการเยี่ยมชมเมืองมิลานด้วยตนเองยามว่าง แต่ในทางกลับกันเราต้องเดินทางไปยังสถานที่สัมมนาเอง ไม่มีการจัดรถรับส่งเหมือนครั้งที่ผ่านมา บรรดาผู้ร่วมสัมมนาจึงได้ทดลองใช้ทั้งรถใต้ดิน รถราง และรถเมล์ บางท่านได้ลองใช้บริการแทกซี เพราะฝนที่ตกลงมานั้นทำเอาทุลักทุเลไม่น้อย บอกตามตรงเลยว่าประสบการณ์การใช้รถไฟใต้ดิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ประเทศ ต่างก็สร้างความสับสนงงงวยได้ไม่แพ้กัน แต่อย่างน้อยของอิตาลีก็สามารถทอนเงินได้เอง ไม่ต้องมาต่อคิวแลกเงินเหมือนบ้านเรา (ซึ่งก็ไม่รู้จะอะไรกันนักกันหนา)
อีกจุดหนึ่งที่แตกต่าง ก็คือ ความหลากหลายของเชื้อชาติของผู้เข้าร่วมโครงการ ในปีที่ผ่านมามีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่เข้าร่วม แถมเป็นเอเชียเสียหมด คือ อินเดีย เกาหลี จีน และไทย แต่ในปีนี้เชื้อชาติเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น คือ มีทั้งหมด 9 ชาติ คือ อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย มาเซโดเนีย เซอร์เบีย อิตาลี ฮอลแลนด์ และไทย รวมทั้งหมด 14 คน ความหลากหลายทางเชื้อชาติและประสบการณ์ ทำให้นอกเหนือจากการฟังบรรยายจากนักออกแบบรุ่นใหญ่แล้ว การพูดคุยกับเพื่อนร่วมสาขาอาชีพรุ่นเล็กก็ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน
เริ่มงานวันแรกเป็นวันอาทิตย์ ทางผู้จัดงานได้เลือกที่จะเปิดงานนอกสถานที่ โดยเลือกที่จะเปิดงานสัมมนาที่พิพิธภัณฑ์รถยนต์แห่งชาติที่เมืองตูริน (MUSEO NAZIONALE DELL’AUTOMOBILE) ที่ห่างออกไปจากใจกลางเมืองมิลานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยรถตู้ของเราวิ่งบนทางหลวงที่คับคั่ง แต่ก็ขับกันได้รวดเร็วของอิตาลี เนื่องจากผู้จัดงานกลัวว่าตารางเวลาที่ “แน่นเอี้ยด” เราเลยไม่ได้มีโอกาสเถลไถลที่ไหนเลย
จากการสังเกตพบว่าใจกลางเมืองตูริน อันเป็นเมืองหลวงของเขตเปียดมอนต์ (PIEDMONT) ที่อยู่ติดดกับเทือกเขาแอลป์ของอิตาลี แม้จะมีชื่อเสียงในด้านการเป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเป็นที่ตั้งของโรงงาน เฟียต (FIAT) แต่บ้านเมืองของเขาดูมีความคลาสสิคสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งริมแม่น้ำโป (PO) ที่ไหลผ่านกลางเมือง เราได้นั่งรถข้ามสะพานหินที่พาดข้ามฝายทดน้ำบนแม่น้ำโปที่ไหลเอื่อยๆ และหากมองไปรอบๆ เป็นภาพของอาคารบ้านเรือนหลายยุคสมัยอยู่รวมกัน บางอาคารดูแล้วเก่าแก่ถึงยุคโรมันด้วยซ้ำ เมื่อรวมเข้าทิวเขาเตี้ยๆ ที่ล้อมรอบใจกลางเมืองกับต้นไม้ใบไม้หลากสีสันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเกิดเป็นภาพที่แสนประทับใจ
แต่อย่างที่ว่ามาทีมงานของเรารีบเหลือเกิน จึงไม่สามารถเก็บภาพสวยๆ มาฝากได้ทัน เมื่อข้ามสะพานแสนสวยมาได้ไม่ไกลก็ถึงที่หมายของเรา “พิพิธภัณฑ์รถยนต์แห่งชาติ” รถของเราจอดหน้าตึกที่มีรูปทรงแบนแผ่กว้างอยู่เหนือเนินเตี้ยๆ และเราก็ต้องรีบวิ่งขึ้นเนิน เพราะสายแล้ว !
วันนั้นเปิดการสัมมนาด้วยฟังเรื่องราวประสบการณ์การออกแบบของดีไซจ์เนอร์รุ่นลายคราม ชาวอเมริกัน-ฮอลแลนด์ “ทอม จาร์ดา” (TOM TJAARDA) ก่อนที่จะพักกลางวันพร้อมรับประทานอาหาร แล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งใหญ่โตอลังการ มีการจัดแสดงรถยนต์ตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มมีรถยนต์พลังไอน้ำ ไล่ยุคสมัยไปเรื่อยๆ ในลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์เชิงให้ความรู้ทั้งด้านยานยนต์ควบคู่ไปกับ สังคมและวัฒนธรรม ไปจนถึงการจัดแสดงรถแข่งนานาชนิด และในวันนั้นได้มีการจัดแสดงพิเศษในวาระที่สำนักออกแบบและผลิตตัวถังอันมีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง CARROZERIA TOURING SUPERLEGGERA ได้ครบรอบก่อตั้งบริษัท 90 ปี เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผู้เขียนเพลิดเพลินเจริญใจเป็นพิเศษ
ช่วงเวลาอันแสนสุขนั้นแสนสั้น เพราะเราต้องรีบเข้าฟังบรรยายในช่วงบ่ายจาก “โจร์เกตโต จูจาโร” ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นักออกแบบรถยนต์แห่งศตวรรษที่ 20” ที่มาพร้อมกับมือขวา นั่นคือ ลูกชายของเขา “ฟาบิซีโอ จูจาโร” (FABIZIO GIUGIARO) ดังเช่นเคย การบรรยายของ “ป๋า” จูจาโร นั้นเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังของบุรุษผู้ผ่านโลกมายาวนาน ที่มาพร้อมแง่คิดดีๆ มากมาย ซึ่งเนื้อหาของทั้ง ทอม จาร์ดา และของ “พ่อลูก” จูจาโร จะขอนำเสนอต่อไปในครั้งถัดไป
วันอาทิตย์ที่เร่งรีบยังไม่จบแค่นั้น เรายังต้องรีบกลับไปยังมิลานเพื่อไปร่วมงาน “ดนตรีของนักออกแบบ” ทำให้พอจบจากการบรรยายเราก็ต้องรีบวิ่งขึ้นรถ มารู้ทีหลังว่าตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์รถยนต์แห่งชาตินั้น มีการออกแบบที่โดดเด่นมาก เราควรจะเดินชมงานสถาปัตยกรรมอาคารรวมถึงอาณาบริเวณรอบข้าง แต่น่าเสียดายมากที่เรามองเห็นเพียงด้านเดียวเท่านั้นเพราะมีเวลาจำกัด ผู้เขียนตั้งใจว่าชีวิตนี้ต้องมาที่เมืองนี้อีกสักครั้ง
ตลอดทางกลับจากเมืองตูรินมายังเมืองมิลานช่วงเย็นวันอาทิตย์ ฝนตกลงมาอีกและการจราจรก็เริ่มหนาแน่น แม้จะไม่เท่ากรุงเทพมหานคร แต่ผู้ขับชาวอิตาเลียนที่ขึ้นชื่อเรื่องความใจร้อนก็แซงซ้ายป่ายขวาบีบแตรกันอลหม่านตลอดทาง ในที่สุดเราก็มาถึงแจซซ์บาร์ขนาดใหญ่จุคนได้ราว 100 คน ที่ทางเจ้าภาพได้เหมาไว้
ค่ำคืนนั้น เราได้ฟังการบรรเลงเพียโนแจซซ์จากฝีมือของ “ฟลาวีโอ มานโซนี” แม่ทัพแห่งการออกแบบของ แฟร์รารี ซึ่งบอกตามตรงว่าฝีมือของเขาน่าทึ่ง และสามารถสะกดคนฟังการโชว์เดี่ยวเพียโนของเขาได้ราวกับต้องมนต์ ตามมาด้วยการเล่นเบสส์คู่ของ “โรแบร์โต โจลีโต” จาก เฟียต ซึ่งประชันกันสดๆ กับ “ชิโร นากามูระ” จาก นิสสัน อย่างเมามัน ด้วยชั้นเชิงที่เรียกว่า “เก๋าเกม” จนประหลาดใจ เมื่อรู้ว่าทั้งสองคนนี้ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อน
จากนั้นจึงเป็นการแสดงดนตรีของคนในวงการรถยนต์อิตาลีในสไตล์รอคชนิดมันเข้าไส้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการจะเป็นนักออกแบบที่ดีนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องหมกหมุ่นอยู่แค่การวาดรูป แต่เราต้องเปิดรับศิลปะวิทยาการแขนงอื่นๆ เข้ามาในตัวให้หลากหลาย มิฉะนั้นเราอาจจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ไม่กว้างไกล
วันอาทิตย์นั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ทรหด และเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้เขียนไม่น้อย แม้ว่างาน “MEET THE MASTERS” ครั้งนี้จะเป็นเสมือนจูบที่สอง ซึ่งอาจจะไม่ตื่นเต้นเท่าครั้งแรก แต่วันอาทิตย์นั้น คือ จูบแรกของบริบทใหม่ที่ผู้เขียนจะไม่มีวันลืมไปตลอดกาล
พบกับเรื่องราวและประสบการณ์การเดินทางของทริพนี้ต่อไปในฉบับหน้าครับ
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)