ชีวิตอิสระ
"ดอยอ่างขาง" โครงการในพระราชดำริ จากป่าฝิ่น สู่ความยั่งยืน
"ชีวิตอิสระ" ยังคงตามรอยพ่อหลวง ไปเยื่ยมชมโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยครั้งนี้เราเดินทางไป "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอันดับต้นๆ ของไทยในขณะนี้
บีที-50 พโร ชันแค่ไหนก็ไม่หวั่น
ใครจะไปคิดว่าในช่วงฤดูหนาวหลังปีใหม่ เราจะเจอกับฝนตลอดทางสู่จังหวัดเชียงใหม่ เราใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ระยะทาง 700 กม. ผ่าน จ. นครสวรรค์, ตาก, ลำปาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ผ่าน จ. ลำพูน เมื่อถึงเชียงใหม่ ก็เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 107 ผ่าน อ. แม่ริม, แม่แตง, เชียงดาว, และชัยปราการ ต่ออีก 150 กม. ถึงจุดหมายของเรา ดอยอ่างขาง ช่วง 20 กม. สุดท้าย เป็นทางขึ้นเนินชันที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหด ว่ากันว่าผู้ที่ขับขึ้นได้ต้องมีประสบการณ์ไม่น้อย ผมเองแอบหวั่นใจอยู่ แต่เพราะผมมากับคู่หูใหม่อย่าง มาซดา บีที-50 พโร ตัวทอพ จึงทำให้รู้สึกไม่กังวลมากนัก เนื่องจากรถรุ่นนี้มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ถึง 3.2 ลิตรเทอร์โบ 5 สูบ ที่ให้แรงม้ามากถึง 200 ตัว จึงมีแรงบิดมหาศาล ให้กำลังอย่างเหลือเฟือ ทางชันแค่ไหนก็ผ่านได้สบายมาก ยิ่งคันนี้มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อติดมาให้ด้วย ทางชันที่ว่าโหด สำหรับคันนี้ถือว่าสบายมากสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกในไทย
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งอยู่ ต. แม่งอน อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม ถ้ามาในช่วงนี้อาจได้เจอ แม่คะนิ้ง หรือน้ำค้างแข็งได้ แต่ครั้งนี้เราหมดสิทธิ์ครับ คำว่า "อ่างขาง" ในภาษาเหนือ หมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยม ตามลักษณะของดอยนี้ ตรงกลางของอ่างขาง เดิมเป็นภูเขาสูง แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อยๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง จึงมีพื้นที่ราบไม่เกิน 200 เมตร มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,800 ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ให้เขาช่วยตัวเอง" เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาว พื้นที่รอบดอยอ่างขาง มีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา และบ้านขอบด้ง ซึ่งประกอบไปด้วย ประชากร 4 เผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อเปลี่ยนป่าฝิ่น เป็นแปลงทดลอง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เกิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ระหว่างเสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นขาย แต่ยังคงยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศ ถ้าปล่อยไว้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่า พื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลย และสภาพพื้นที่แถบนี้ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"สถานที่ท่องเที่ยวภายในสถานี
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แถมยังมีบรรยากาศที่งดงามเหมือนอยู่เมืองนอก นักท่องเที่ยวสามารถนำรถเข้ามาจอดตามจุดต่างๆ ได้ โดยมีจุดที่น่าสนใจดังนี้ สวนสมเด็จ...ภายในสวนนี้จะรวบรวมพันธุ์ไม้ประเภทฝิ่นประดับ ดอกปอปปี้ และไม้เมืองหนาวชนิดต่างๆ โดยจะปลูกสลับหมุนเวียนพันธุ์ไม้ทุกฤดู ได้แก่ กระดุมเงินกระดุมทอง ปักษาสวรรค์ เป็นต้น สวน 80 ปี...เป็นสวนจัดกลางแจ้ง อยู่ถัดเข้าไปด้านในสถานีฯ ตรงข้ามบริเวณสโมสร ซึ่งสวนนี้ตั้งชื่อตามอายุขององค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ในวาระที่ทรงมีอายุครบ 80 ชันษา โดยสวนนี้ จะตกแต่งในสไตล์อังกฤษ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาชนิด เช่น กะหล่ำประดับ เดซี ลินาเลีย ชบาอาบูติลอน ฯลฯ และยังมีต้นซากุระแท้ ซึ่งจะเริ่มบานในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี โดยจุดชมซากุระแท้มีอยู่ 3 จุด คือ ระหว่างทางภายในสถานีฯ, สวน 80 ปี และสวนกุหลาบอังกฤษ สวนคำดอย...เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ดอกตระกูลโรโดเดนดรอน (RHODODENDRON) หรือ ดอกคำดอย (กุหลาบพันปี) ซึ่งดอกคำที่ปลูกส่วนใหญ่ จะเป็นพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น นิวซีแลนด์, ฮอลแลนด์ และอังกฤษ ซึ่งไม่มีปลูกที่อื่นนอกจากสวนแห่งนี้ที่เดียว สวนบอนไซ... เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชื่นชม สวนหอม...อยู่ติดกับบริเวณสโมสรของสถานีฯ โดยภายในสวนจะรวบรวมพันธุ์ไม้หอมทุกชนิด ทั้งพันธุ์ไม้หอมของไทย และพันธุ์ไม้หอมจากต่างประเทศ เช่น หอมหมื่นลี้ เนสเตอเตียมคาร์เนชัน เจอราเนียม หญ้าหอม ลาเวนเดอร์ ลาเวนดริน และแมกโนเลีย (ไม้ยืนต้นตระกูลจำปีป่า) แปลงไม้ผลเมืองหนาว...เป็นแปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาวชนิดต่างๆ ได้แก่ พีช บ๊วย พลับ สาลี่ พลัม กีวีฟรุท ราสพ์เบอร์รี บูลเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี และหยางเมย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามา สามารถมองเห็นแปลงไม้ ผลไม้เมืองหนาวเหล่านี้ ได้ตลอดเส้นทางที่ขับรถรอบ แต่เนื่องจากแปลงไม้ผลเมืองหนาวเหล่านี้ เป็นแปลงงานทดลอง เขาจึงอนุญาตให้ชื่นชมได้แค่ภายนอกแปลงเท่านั้น โรงเรือนทดสอบพันธุ์กุหลาบตัดดอก...นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับกุหลาบตัดดอกสายพันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์กว่า 7 สายพันธุ์ ซึ่งจะมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอม สวนกุหลาบอังกฤษ...เหตุที่เรียกกุหลาบอังกฤษ ก็เนื่องมาจากกุหลาบที่ปลูกในสวนแห่งนี้ เป็นกุหลาบที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษ โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งสายพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกนั้นมีมากกว่า 200 กว่าสายพันธุ์ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก...เป็นโรงเรือนที่รวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง ซึ่งมีพื้นที่ที่ใช้ปลูกผักในโรงเรือน 1,165 ตารางเมตร จัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม โดยชนิดผักที่ปลูกในโรงเรือน ได้แก่ ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี, ผักตระกูลแตง เช่น ซูกินีเหลือง ฟักประดับ, ผักตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศเชอรี มะเขือม่วงก้านดำ, ผักตระกูลแครอท เช่น พาร์สเลย์ เซเลอรี และผักตระกูลถั่ว เช่น ถั่วหวาน ถั่วปากอ้า เรือนดอกไม้...เป็นโรงเรือนที่รวบรวมพันธุไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น บีโกเนีย รองเท้านารี พืชกินแมลง โดยมีมุมน้ำตกในสวนสวย ซึ่งดอกไม้ในสวนเหล่านี้จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันออกดอกตลอดทั้งปี นอกจากนี้ภายในบริเวณโรงเรือนจะมีจุดจำหน่ายผลผลิตของสถานี และผลิตภัณฑ์แปรรูป พร้อมมีมุมนั่งพักจิบกาแฟอีกด้วยไร่ชา 2000 แหล่งชมพระอาทิตย์ชั้นยอด
ก่อนถึงทางเข้าสถานีฯ จะมีทางเลี้ยวขวาไปหมู่บ้านขอบด้ง และหมู่บ้านนอแล จะเป็นที่ตั้งของไร่ชา 2000 ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ความสวยงาม สามารถเห็นแปลงชาที่ไล่ระดับในมุมสูง ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ต้องห้ามพลาดไร่สตรอว์เบอร์รีขั้นบันไดบ้านนอแล
ถ้านึกถึงไร่สตรอว์เบอร์รี ส่วนใหญ่จะปลูกกันบนพื้นที่ราบ หรือไม่ก็ที่ราบสูงที่ไม่ชันนัก แต่ไร่สตรอว์เบอร์รีของที่นี่ กลับปลูกกันเป็นขั้นบันไดที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ถ้าวันไหนไม่มีมรสุมเข้า ยามเช้าจะได้พบกับแสงแดดสีทอง ตัดกับสายหมอกไหลช้าๆ ยามเช้า ตามไหล่เขาที่อยู่เบื้องหลัง ผมได้เห็นวิถีชีวิตของชาวดอยที่เก็บสตรอว์เบอร์รีในยามเช้า พร้อมอากาศที่เย็นสบาย ทำให้รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูกชมดอกพญาเสือโคร่งสีชมพู ระหว่างทาง
อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของดอยอ่างขาง คือ การได้ถ่ายรูปเส้นทางที่เต็มไปด้วยดอกพญาเสือโคร่งสีชมพู ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-กลางเดือนมกราคม แต่น่าเสียดายที่ปีนี้ฝนตกตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ดอกพญาเสือโคร่งจึงร่วงหล่นไปก่อนเวลาอันควร แต่ไม่เป็นไร ผมสัญญาว่าจะกลับมาใหม่ในปีหน้า และจะเก็บภาพสวยๆ ของที่นี่มาฝากผู้อ่านอีกครั้งแผนที่
ที่กิน
ถ้าใครมาเที่ยวดอยอ่างขาง แล้วไม่ได้รับประทานอาหารต้นตำรับอย่าง "ร้านดอกเหมย" ก็เสมือนมาไม่ถึง เพราะอาหารที่นี่ถือเป็นต้นตำรับของอาหารจีนยูนานก็ว่าได้ ร้านดอกเหมยเปิดบริการมานาน ตั้งอยู่บริเวณตึกแถวหน้าสถานีฯ ผมสั่ง "ผัดโอซุ่น" ที่ใช้ผักพื้นถิ่นผัดกับน้ำมันหอย ให้รสชาติแบบจีนยูนานแท้ๆ "ปลาผัดใบขึ้นฉ่าย" ปลานิลสดที่ทอดแล้วนำมาผัด ให้รสชาติเข้ากันเป็นอย่างดี "ต้มยำเห็ดหอม" เห็ดสดใหม่ ใส่กับเครื่องต้มยำที่ครบเครื่อง ทั้งเผ็ด หอม อร่อย สุดท้ายคือ "หมู่ป่าผัดเผ็ด" เนื้อหมูป่าที่คัดเฉพาะหนังหนา ผัดกับเครื่องผัดเผ็ดที่เครื่องครบ ช่างอร่อยได้อารมณ์ "ป่า" สุดๆที่นอน
ถ้าใครดูรูปถ่ายของ "อ่างขางวิลล่า เชียงใหม่" รับรองว่าคุณจะต้องหลงรักสถานที่นี้เป็นแน่ เพราะบริเวณรีสอร์ทเต็มไปด้วยดอกพญาเสือโคร่งสีชมพูบานเต็มพื้นที่ สามารถถ่ายรูปได้เกือบทุกมุม รีสอร์ทแห่งนี้อยู่ใกล้กับสถานีฯ จึงสามารถเดินไปชมสถานีฯ ได้ บ้านพักที่นี่มีอยู่หลายหลังขอขอบคุณ
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะสำหรับการเดินทางครั้งนี้ABOUT THE AUTHOR
ว
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)