MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE III
จากที่ได้กล่าวไปแล้วในฉบับก่อนนี้ว่า MEET THE MASTERS โครงการที่ 2 ได้พัฒนาตัวเองจากการแบ่งปันวิสัยทัศน์ของนักออกแบบในวงการรถยนต์อิตาเลียน ไปสู่มุมมองของนักออกแบบวงการรถยนต์นานาชาติ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ เราโชคดีมีโอกาสได้เรียนรู้วิสัยทัศน์จากนักออกแบบระดับโลกชาวเอเชียถึง 2 ท่าน โดยท่านแรกถือว่าเป็น “ตัวจริงเสียงจริง” อยู่ในวงการออกแบบรถยนต์มานานกว่า 40 ปี และได้รับการยอมรับในระดับสากลในฐานะ “กระบี่มือหนึ่งแห่งเอเชีย” ชื่อของเขา คือ “ชิโร นากามูระ” (SHIRO NAKAMURA) รองประธานอาวุโส ฝ่ายออกแบบของ นิสสัน มอเตอร์ และรับผิดชอบผลงานนักออกแบบบแรนด์ นิสสัน และ อินฟินิที กว่า 800 คนทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และบราซิล
ชิโร นากามูระ เกิดที่ โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1950 จบการศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL DESIGN) จากมหาวิทยาลัยศิลปะมูซาชิโน (MUSASHINO ART UNIVERSITY) ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น หลังจากเรียนจบก็ได้เข้าร่วมงานกับบริษัท อีซูซุ และได้รับทุนจากบริษัทไปศึกษาต่อด้านการออกแบบรถยนต์จาก “วิทยาลัยการออกแบบอาร์ทเซนเตอร์” (ART CENTER COLLEGE OF DESIGN) ที่เมืองแพซาดีนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่โด่งดังด้านการออกแบบรถยนต์ของโลกในขณะนั้น
นอกเหนือจากนั้น นากามูระ ยังได้เรียนรู้ศาสตร์แห่งการออกแบบรถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะมีความรู้อยู่แล้ว จากการทำงานร่วมกันกับ อีซูซุ เขายังได้พบกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งได้สอนในหลายๆ สิ่ง และได้สร้างให้เขาเป็นนักออกแบบรถยนต์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งสำคัญที่สุด คือ “คอนเนคชัน” ที่ได้จากโรงเรียนแห่งนี้ อาทิ ได้รู้จักกับ “คริส เบงเกิล” ที่เป็นรุ่นพี่ รวมถึงคนอื่นๆ ที่ช่วยนำพาตัว นากามูระ ให้มาถึงจนทุกวันนี้
หลังเรียนจบจากสถาบันอาร์ทเซนเตอร์ ในช่วงทศวรรษที่ 80 นากามูระ ได้เข้าร่วมงานกับ จีเอม (เจเนอรัล มอเตอร์ส) ในสหรัฐอเมริกา ในแผนกสตูดิโอรถแนวคิด หรือ จีเอม แอดวานศ์ สตูดิโอ (GM ADVANCE STUDIO) ในปี 1985 โดยทำงานในส่วนของการพัฒนาแนวคิดให้กับ อีซูซุ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าในเวลานั้น อีซูซุ ต่างจากที่เรารู้จักกันทุกวันนี้มาก เพราะ อีซูซุ ยังมีรถยนต์ที่หลากหลาย รวมถึงมีการพัฒนารถแข่งสูตร 1 (FORMULA 1) อีกด้วย ดังจะเห็นจาก รถยนต์แนวคิดในทศวรรษที่ 90 ที่เขาได้มีส่วนในการพัฒนาร่วมกับ ไซมอน คอกซ์ (SIMON COX) นักออกแบบรถยนต์ชาวอังกฤษ (ผู้ซึ่งภายหลังได้กลับมาร่วมงานกับ ชิโร นากามูระ อีกครั้งในการพัฒนาบแรนด์ อินฟินิที) ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 4200 อาร์ ปี 1989 อีซูซุ เวฮิครอสส์ (ISUZU VEHICROSS) ปี 1993 โดยรถแนวคิดนั้นมีขนาดและสัดส่วนเล็กกว่ารถที่วางจำหน่ายจริงเป็นอย่างมาก และ นิสสัน จูค (NISSAN JUKE) ซึ่งจะนับเป็นทายาทของมันก็ว่าได้ และรถคอมแพคท์รุ่น เจมินี (GEMINI) ปี 1990 ก็คือ รถพโรดัคชันรุ่นสุดท้ายที่ นากามูระ ทำให้ อีซูซุ
ช่วงเวลาของ นากามูระ ที่สตูดิโอของ จีเอม ในส่วนงานของ อีซูซุ นั้นเป็นช่วงเวลาที่อิสระเสรี และได้เรียนรู้บางสิ่ง คือ เราควรจะออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของ “ลูกค้า” ที่จะซื้อรถของเรา มากกว่าที่จะออกแบบเพื่อเอาใจความชอบของ “บอสส์” เพราะที่ จีเอม นั้นบรรยากาศการทำงาน คือ การพยายามออกแบบให้ถูกใจ บอสส์ และสุดท้ายแล้วยอดขายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะขาดความเข้าใจในตัวของลูกค้าดีพอ
ในปี 1999 นากามูระ ได้ถูกทาบทามโดย การ์โลส โกส์น (CARLOS GHOSN) ซีอีโอ ชาวบราซิล เชื้อสายฝรั่งเศส-เลบานอน ที่ เรอโนลต์ ส่งมา เพื่อฟื้นฟูบริษัท นิสสัน ที่ใกล้จะล้มละลาย ปัญหาใหญ่ในเวลานั้น คือ นิสสัน ขาดทิศทางการออกแบบที่ชัดเจน เราจะเห็นได้จากรถหลากหลายบุคลิกในยุค 80 และ 90 และหลายๆ คันเป็นรถที่ทำตามกระแส และค่อนข้างจะเชยและน่าเบื่อ สิ่งที่ ซีอีโอ ขอให้เขาทำคือ อาศัยจุดนี้สร้างจุดยืนใหม่ทางการออกแบบให้ นิสสัน ซึ่งโอกาสร่วมงานกับบริษัทที่กำลังไปได้ดี ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ดังนั้นเขาจึงไม่ปฏิเสธ
สิ่งแรกที่เขาร้องขอจาก ซีอีโอ คือ การสร้างสตูดิโอการออกแบบที่เพียบพร้อมที่สุด เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง และวัสดุอุปกรณ์ ทั้งนี้เพื่อที่ทีมออกแบบจะได้หมดข้อแก้ตัวใดๆ ในการที่จะสร้างงานออกแบบที่ดี ซึ่ง ซีอีโอ มือทองอย่าง การ์โลส โกส์น ก็เห็นดีเห็นงามและใจป้ำมอบให้ตามที่ขอ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น “เกินคุ้ม” เพราะทีมงานของ นิสสัน และ อินฟินิที ต่างก็ได้พลิกฟื้นองค์กรเชยๆ ให้กลับมาเป็นองค์กรที่มีความล้ำสมัยได้สำเร็จ
ดังตัวอย่างของ สตูดิโอของ นิสสัน ในยุโรปที่ตั้งอยู่ในย่านพัดดิงทัน ใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งมีราคาพื้นที่ต่อตารางเมตรสูงมาก ใครต่อใครต่างท้วงติงเรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะคุ้มค่าจริงหรือ แต่หลังจากที่ กัชไก (QASHQUAI) รถแนวครอสส์โอเวอร์ขนาดกลางสำหรับตลาดยุโรป ที่ออกแบบโดยทีมที่พัดดิงทันได้ออกวางจำหน่าย และกลายเป็นหนึ่งในรถที่ขายดีที่สุดในยุโรป ก็ไม่มีใครท้วงติงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านนี้อีกเลย
หากถามว่า รถของ นิสสัน ที่ นากามูระ ชื่นชอบคือรถรุ่นใด เขาก็สามารถตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า มันคือ “เซด-คอนเซพท์” ปี 2001 ซึ่งเป็นรถที่ นากามูระ ได้ประกาศถึงการพลิกโฉมการออกแบบของ นิสสัน ในศตวรรษที่ 21 และเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ (REVIVAL) ของ นิสสัน โดยการนำเอาแรงบันดาลใจจากรถสปอร์ทที่เป็นตำนานจากทศวรรษที่ 70 มาสร้างเป็นตำนานบทต่อไป เป็นรถที่เขาแบกรับความกดดันจากทุกๆ ฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะจะพลาดไม่ได้ แต่เขาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษ งานออกแบบของรถรุ่น 350 เซด ที่เป็นพโรดัคชันคาร์ก็ยังคงมีความโดดเด่นชวนมองอยู่จนถึงทุกวันนี้
ส่วนรถที่ นากามูระ ชื่นชอบรองลงไป อาทิ จีที-อาร์ คอนเซพท์ ปี 2001 เพราะมันคือ การพิสูจน์ว่าวิศวกรรมของชาวญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นรองใคร (กว่าจะออกมาเป็นรถ จีที-อาร์ ทุกวันนี้ ต้องใช้เวลาพัฒนาถึง 7 ปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการพัฒนารถที่ขัดกับรสนิยมส่วนตัวของเขาเป็นอย่างมาก แต่สร้างขึ้นเพื่อบรรลุผลทางอากาศพลศาสตร์รวมไปถึงรสนิยมของคนในเจเนอเรชัน “กันดัม” แม้จะไม่ได้สวยถูกใจทุกคน ทว่ามีบุคลิกที่เข้มข้น และโดดเด่นที่สุดตลอดกาลคันหนึ่ง (เขายอมรับว่า หากให้ถูกใจเป็นการส่วนตัว มันคงออกมาไม่โดดเด่นเช่นนี้ และอาจจะออกมาเป็นลูกผสม แจกวาร์ กับ โพร์เช ก็ได้)
คันต่อมา คือ ไมครา ปี 2002 ที่มีเอกลักษณ์สูง และตามด้วย มูราโน ปี 2002 จากการที่มันเป็นรถที่แนวคิดไม่เหมือนใคร และเป็นผู้บุกเบิกเซกเมนท์ใหม่อีกด้วย
นอกเหนือจากรถที่ว่าไปแล้ว ยังมีรถที่ นากามูระ ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอีกหลายคัน อาทิ นิสสัน คิวบ์ ที่มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก ด้วยการออกแบบให้มีความเป็น “กล่อง” ทรงอสมมาตร (ASYMMETRICAL) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมทรงเหลี่ยมของเมืองใหญ่ และเกวียนเทียมวัวของญี่ปุ่น แต่เขาเฉลยให้เราแปลกใจว่า ถึงมันจะมีความเป็นญี่ปุ่นจ๋า แต่มันไม่ได้ออกแบบโดยคนญี่ปุ่น หากเป็นผลงานของนักออกแบบชาวคิวบาและเวียดนาม ซึ่งทำให้เราได้ทึ่ง
รถอีกคัน คือ รถแนวคิด อินฟินิที เอสเซนศ์ (INFINITI ESSENCE CONCEPT) ปี 2009 ซึ่งถูกจริตของ นากามูระ เนื่องจากถึงจะออกแบบรถที่มีเหลี่ยมสันมาโดยตลอด แต่เขาก็เติบโตขึ้นมากับความงามของนักออกแบบอิตาเลียนคลาสสิคยุค 60 ดังนั้นเส้นสายที่เซกซี หรูหรา โรแมนทิค อธิบายได้ถึงจิตวิญญาณของบแรนด์ระดับไฮเอนด์อย่าง อินฟินิที จึงนับเป็นอีกหนึ่งในผลงานที่เขาชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
และสุดท้ายที่จะลืมไม่ได้ นั่นคือ นิสสัน จูค ในปี 2010 รถที่ยังคงไว้ซึ่งบุคลิก และสัดส่วนของรถแนวคิด อีซูซุ เวฮิครอสส์ แต่เกิดถูกที่ ถูกเวลา และมีวิศวกรรมที่ลงตัวกว่ารถของ อีซูซุ นับเป็นการแก้มือ พิสูจน์ความคิดที่ประสบความสำเร็จของ นากามูระ อีกชิ้นหนึ่ง
เมื่อพูดคุยถึงปรัชญาการออกแบบ เขาได้ตั้งคำถามถึงความสำคัญของความเป็นท้องถิ่นกับความเป็นสากล โดยยกตัวอย่างถึงรถยนต์ในอดีต เราคงจะสังเกตได้ว่าในอดีต รถจากแต่ละประเทศจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เพราะไม่ค่อยได้ส่งออก การออกแบบและผลิตจึงมองที่ตลาดในประเทศเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันเราจะเห็นความใกล้เคียงด้านการออกแบบมากขึ้น เนื่องจากต้องให้ถูกใจคนหมู่มากที่มีรสนิยมและการใช้งานที่ครอบคลุมมากกว่าในสมัยก่อน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการออกแบบในยุคต่อไป คือ “เทคโนโลยีกับฟอร์ม” ที่เปลี่ยนไป โดย นากามูระ ซึ่งเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ได้ยกตัวอย่างของเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน โดยชี้ให้เห็นว่า ไวโอลินอย่างที่เรารู้จักกันนั้นเป็น ฟอร์มที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยช่างทำไวโอลิน อิตาเลียน อย่าง
“สตราดีวารีอุส” (STRADIVARIUS) และสร้างขึ้นโดยช่างทำเครื่องสาย “อันโตนีโอ สตราดีวารี” (ANTONIO STRADIVARI) ในศตวรรษที่ 17 โดยเป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับวิธีการให้กำเนิดเสียงด้วยการสะท้อน (RESONANCE) ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งรูปทรงของเครื่องสาย ไวโอลิน วีโอลา เชลโล และดับเบิลเบสส์ นั้นไม่เปลี่ยนแปลงเลยมากว่า 300 ปี แต่ในปัจจุบันพัฒนาให้เล่นได้ดังขึ้นด้วยระบบไฟฟ้า จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของ ไวโอลินยุคใหม่ที่เป็นไฟฟ้า โดยในรุ่นแรกๆ ยังคงหยิบยืมเส้นสายรูปฟอร์มของ ไวโอลินคลาสสิคเป็นแนวทาง จนปัจจุบันเริ่มจะได้เห็นรูปทรงที่แหวกแนวออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กีตาร์ จากเดิมกีตาร์คลาสสิคนั้นมีความสมมาตรซ้าย/ขวา แต่เมื่อ “เฟนเดอร์ สตราโตคาสเตอร์” (FENDER STRATOCASTER) ได้นำเสนอแนวคิดของกีตาร์ไฟฟ้าที่ไม่สมมาตร มีส่วนโค้งเว้าที่นอกจากจะเซกซี ยังเข้ากับสรีระของผู้เล่นได้ดีกว่า (HUMAN CENTRIC DESIGN) ทำให้รูปทรงของกีตาร์ไฟฟ้าเปลี่ยนไปตลอดกาล
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป นักออกแบบสามารถนำเสนอรูปทรงใหม่ๆ สู่ผู้บริโภคได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจจะยังคงไว้ซึ่งสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่บ้างในขั้นแรก ซึ่งเมื่อมองถึงโลกของยานยนต์ในอนาคตเขามีความเชื่อว่า รูปทรงภายนอกนั้นอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ที่จะเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ น่าจะเป็นการออกแบบภายใน เมื่อเข้าสู่ยุคยานยนต์ไร้คนขับ (AUTONOMOUS VEHICLE)
อีกสิ่งหนึ่งที่เขาฝากเตือนมาก็คือ การทำสิ่งที่เรียกว่า “การทดสอบความคิดกับผู้บริโภค” หรือ “DESIGN CLINIC” นากามูระ แนะนำว่า “อย่าถามลูกค้าว่าอยากได้อะไร” เพราะลูกค้านั้นนึกไม่ออกหรอกว่า เขาต้องการอะไรในอนาคต นักออกแบบจะต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และญาณหยั่งรู้ เพื่อที่จะสร้างผลงานที่ “เกินคาด” การทดสอบกับผู้บริโภคนั้นควรจะทำหลังจากที่ “ออกแบบแล้วเสร็จ” และเป็นไปเพื่อยืนยันความคิด และทำให้ผู้บริหารมีความมั่นใจในผลงานของเรา
ความสำเร็จของ นากามูระ และทีมงานในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จาก จีเอม นั่นคือ จะออกแบบเพื่อ “ลูกค้า” และจะไม่ออกแบบเพื่อเอาใจรสนิยมตัวเอง และรสนิยมของผู้บริหาร แต่นักออกแบบที่ดีควรจะมีความซื่อตรงต่อตัวเอง ในการที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่าทำงานครึ่งๆ กลางๆ ผสมนั่นนิดนี่หน่อย เพราะมันจะทำให้งานของเราด้อยค่าลง จนนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด ดังที่เกิดกับ นิสสัน ในช่วงทศวรรษที่ 90 ด้วยการที่กลัวล้มเหลวจึงพยายามสร้างงานที่ “ตามตลาด” ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นผลงานที่ขาดเอกลักษณ์
“ซื่อสัตย์กับความคิดของตัวเอง และรับผิดชอบต่อผลงานที่มอบให้แก่ลูกค้า” และ “คนเราสามารถทำผิดได้ แต่ขอให้เกิดขึ้นครั้งเดียวพอ อย่าให้ผิดซ้ำสอง” คือ สิ่งที่ “กระบี่มือหนึ่ง” หรือโชกุนแห่งวงการรถยนต์เอเชีย อย่าง “ชิโร นากามูระ” ฝากถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ทุกคนตระหนักอยู่ในใจตลอดไป
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)