เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
ซูเพอร์ดโรน พบกับหุ่นยนต์ ที่จะพาคุณบุกตะลุยอวกาศ ไขความลับโบราณ และช่วยเหลือมนุษยชาติ
การขุดค้นในปัจจุบัน เริ่มจากบนท้องฟ้า
นานหลายปีแล้ว ที่ภาพถ่ายทางอากาศ ถูกใช้เป็นเครื่องมือกำหนดพื้นที่ขุดค้นของเหล่านักโบราณคดี ซึ่งสมัยก่อน การจะได้ภาพถ่ายเหล่านั้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้ บอลลูน ว่าว หรือกระทั่งเครื่องบิน แต่ในปัจจุบัน ดโรนได้เข้ามามีส่วนช่วยให้กระบวนการทุกอย่างรวดเร็วขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้คุณภาพของภาพถ่ายทางอากาศดีขึ้นมาก
เราสามารถบังคับดโรนด้วยระบบแมนวล หรือจะตั้งพโรแกรมให้บินผ่านพื้นที่ที่นักโบราณคดีสนใจ แล้วเก็บภาพเป็นระยะๆ ก็ได้ หลังจากนั้น จึงนำมาประมวลผลด้วยซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมภาพเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ด้วยขั้นตอนนี้เราสามารถสร้างแผนที่ภูมิศาสตร์ที่มีความแม่นยำขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเรียกวิธีนี้ว่า การวัดด้วยภาพถ่าย ซึ่งทำให้แนวทางการทำงานของเหล่านักโบราณคดีเปลี่ยนแปลงไป
แผนที่แบบสามมิติ ที่มีความละเอียดนี้ เมื่อถูกฉายบนจอภาพ จะทำให้นักโบราณคดีสามารถเห็นรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในระยะห่างเพียงไม่กี่เซนติเมตร โดยไม่ต้องย่างกรายไปยังสถานที่จริง เมื่อนำมารวมกับภาพถ่ายจากดาวเทียม บรรดานักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ จะสามารถใช้ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งอ้างอิงเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้
ส่วนนักวิชาการ ก็จะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เกี่ยวกับโครงสร้างของชุมชนในประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งค้นพบหินแกะสลัก ด้วยการสำรวจจากท้องฟ้า
แต่แน่นอนว่า ดโรนจะเป็นประโยชน์แก่นักโบราณคดี ก็ต่อเมื่อพวกเขานำภาพถ่ายที่ได้มาวิเคราะห์ และเดินทางไปขุดค้นกันจริงๆ ข้อดีของการใช้ดโรน คือ เหล่านักขุด จะได้รับรู้ข้อมูล และสามารถวางแผนได้ก่อนเดินทางไปยังสถานที่จริง ว่าพวกเขาจะเริ่มขุดกันที่จุดใดก่อน ซึ่งจะช่วยให้ค้นพบสิ่งที่ตามหาได้รวดเร็ว
แต่เดี๋ยวก่อน...ดโรนไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อการค้นหาสถานที่ขุดค้นเท่านั้น มันยังช่วยให้เห็นความเป็นไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเป้าหมายการศึกษา เพื่อลดทอนปัญหาซึ่งเกิดจากการลักขโมย ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศอย่างจอร์แดน การลักขโมยโบราณวัตถุ นับเป็นปัญหาหลักของนักโบราณคดี โดยที่รัฐบาลก็ไม่สามารถสืบหาได้ว่า สิ่งของที่ถูกขโมยไปนั้น คืออะไร และความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากมายเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้สำรวจพื้นที่โดยรอบได้ ในช่วงเวลาที่ต้องการค้นคว้า และด้วยการแสดงภาพแบบ 1-2 ซม. ต่อพิกเซล นักโบราณคดีจะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นได้แบบนาทีต่อนาที แม้พื้นที่จะมีขนาดใหญ่กว่า 50,000 ตรม. ก็ตาม ข้อมูลที่ถูกเก็บสะสมเป็นเวลาหลายปี จะทำให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการลักขโมยในแต่ละท้องที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด และยังช่วยชี้ให้รัฐบาลได้รับรู้ถึงขนาดของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ได้เป็นอย่างดี
ในภาพวงกลม : ดโรนสามาถไปได้ไกลถึง 10 กม. ตราบใดที่ยังมีสัญญาณเชื่อมต่อกับตัวควบคุม
ขั้นตอนการวัดด้วยภาพ
การค้นคว้าด้วยดโรน ดาวเทียม และการขุดค้นแบบเดิมๆ
โคลน และหิน
หากมองด้วยตาเปล่า พื้นที่นี้เป็นเพียงเนินดิน ที่เต็มไปด้วยโคลน และก้อนหิน ซึ่งดูคล้ายคลึงกัน ถ้ามองในระดับพื้นดิน
บนพื้นผิว
เราสามารถมองเห็นโครงสร้างที่เด่นชัดได้โดยง่าย และสามารถเริ่มขุดค้นได้
จากการใช้ดโรน
พโรแกรมคอมพิวเตอร์จะรวบรวมภาพจากดาวเทียม และดโรนเข้าด้วยกัน แล้วประมวลให้กลายเป็นภาพซึ่งมีความละเอียดสูง
การสร้างแผนที่ภูมิประเทศ
ดโรนจะถ่ายภาพจำนวนมากจากหลายมุม เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถสร้างภาพแบบสามมิติ ของสถานที่นั้นออกมา
ผสมผสาน
เมื่อศึกษาภาพถ่ายที่ถูกรวบรวม ผสมผสานกัน เราจะพบแผนผัง ที่สามารถมองเห็นได้จากทางอากาศเท่านั้น
จำกัดวงให้แคบลง
แผนผังเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง โครงสร้างของสิ่งที่ล่มสลายไปเมื่อนานแสนนานมาแล้ว และทำให้นักโบราณคดีมีข้อมูลเบื้องต้น ว่าควรจะเริ่มต้นขุดค้นบริเวณใด
การค้นพบครั้งใหม่ที่ เปตรา
มันฟังดูแปลก ที่จะบอกว่าเหล่านักโบราณคดียังคงพยายามที่จะค้นหาโบราณสถานแห่งใหม่ ในพื้นที่ขุดค้นอันมีชื่อเสียงอย่าง เปตรา ในประเทศจอร์แดน แต่ก็ต้องขอบคุณการใช้งานดโรน เพราะวันนี้ พวกเขาได้ค้นพบสถานที่ซึ่งยังคงซ่อนเร้นอยู่
ในช่วงต้นปี 2016 ซาราห์ พาร์คัค และคริสโตเฟอร์ ทัทเทิล 2 นักโบราณคดี ได้นำภาพฟุเทจจากดโรน และภาพถ่ายจากดาวเทียม มาเปรียบเทียบผสมผสานกัน จนสามารถจับร่องรอยอันเลือนลางของอาคารเก่าแก่ชุดหนึ่งได้ นำไปสู่การค้นพบโบราณสถานขนาดมหึมา ห่างจากใจกลางเมืองออกไปทางใต้เพียง 800 เมตรเท่านั้น น่าแปลกใจไม่น้อยที่มันไม่เคยถูกค้นพบเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ขนาดของมันใหญ่เป็น 2 เท่าของสระว่ายน้ำโอลิมปิคเลยทีเดียว
ดโรนเพื่อการอนุรักษ์
การอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยเครื่องจักรบินได้
แรดขาว เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์มานานแล้ว เป็นผลจากการล่าอย่างดุร้ายป่าเถื่อน เช่นเดียวกันกับ กอริลลาภูเขา และอุรังอุตัง ซึ่งถูกจัดอยู่ในสถานะสัตว์ป่าสงวน เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า และรุกรานพื้นที่ของมนุษย์ หากปราศจากมาตรการช่วยเหลือ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์อันน่าอัศจรรย์ทั้งหลาย จะต้องสิ้นสุดลงภายในศตวรรษนี้อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์ กำลังทำงานกันอย่างหนักเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังดำเนินอยู่ และพวกเขาเหล่านั้น ก็กำลังใช้เทคโนโลยีของดโรนเพื่อช่วยในการทำงาน
หนึ่งในอันตรายที่รุนแรงที่สุดของเหล่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในปัจจุบัน คือ การเข้าป่าล่าสัตว์ของมนุษย์ ซึ่งได้คร่าชีวิตแรดขาวไปนับร้อยตัวต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และหน่วยลาดตระเวน พยายามยับยั้งนักล่าสัตว์ ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ คนพวกนั้นก็พร้อมจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา และนั่นคือจุดที่ดโรนเข้ามามีบทบาท เพราะหากนักอนุรักษ์ ลงสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง อาจประสบอันตรายจากบรรดานักล่า ดังนั้น การใช้ดโรนเพื่อเก็บข้อมูล สังเกตรูปแบบการเคลื่อนไหว และตรวจสอบจำนวนของสัตว์ป่า จึงช่วยให้ทีมงานนักอนุรักษ์ สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้
ไม่เฉพาะพื้นที่อันตรายเท่านั้น เรายังสามารถส่งดโรนไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางไปถึงด้วย กอริลลาภูเขา และอุรังอุตัง มักพบได้ในป่าทึบ และการเดินทางบุกบั่นเข้าไป สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องมีการวางแผน และเตรียมพร้อมร่างกายอย่างรัดกุม แทนที่จะทำอย่างนั้น การส่งดโรนขึ้นฟ้าข้ามป่าไปเก็บข้อมูลถึงถิ่นที่อยู่ของพวกมัน หรือกระทั่งถ่ายภาพเจ้าจ๋อชัดๆ มาสักชุด น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบรรดานักสำรวจ ข้อมูลที่ได้มาเหล่านี้จะมีคุณค่าอย่างมากเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินเท้าเข้าสำรวจพื้นที่จริง เพื่อให้นักสำรวจรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่เป็นเป้าหมาย ในสถานการณ์นี้ แม้การสำรวจโดยมนุษย์จะยังคงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่ดโรนก็มีส่วนช่วยอย่างมากในกระบวนการอนุรักษ์
ข้อเสียอย่างเดียวของดโรนในปัจจุบัน คือ ราคาค่าตัวของมันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีดโรน ได้ก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ในการต่อสู้เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์เพื่อนร่วมโลกของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประชากรแรดขาวเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณการอนุรักษ์ โดยใช้ดโรน
ดโรนเพื่อป้องกันการล่าสัตว์
เหล่านักอนุรักษ์ เริ่มใช้ดวงตาจากท้องฟ้า เพื่อสังเกตการณ์ และป้องกันนักล่าสัตว์
ศูนย์บัญชาการ
ศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ ที่จะรับข้อมูลจากดโรน และส่งข้อมูลเหล่านั้นไปให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มนักล่าสัตว์
กลุ่มนักล่าสัตว์อาจลั่นกระสุนใส่นักอนุรักษ์ในพื้นที่ แต่การจะเล็งยิงดโรนซึ่งบินอยู่บนท้องฟ้า ไม่ง่ายอย่างนั้น
สัตว์ที่ถูกติดตาม
เครื่องติดตามที่ติดอยู่บนตัวสัตว์ป่า จะส่งสัญญาณบอกถึงการเคลื่อนที่ของพวกมัน ให้ศูนย์บัญชาการรับทราบ ช่วยให้กำหนดเป้าหมายของดโรนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เส้นทางการบิน
เราสามารถตั้งพโรแกรมการบินให้ดโรน เพื่อไปเก็บภาพ และข้อมูลที่ต้องการ หรือจะควบคุมแบบแมนวล ก็ได้เช่นกัน
เงื้อมมือของกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ในรถแวน ทำหน้าที่รับข้อมูลและภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นนักล่าสัตว์ จากดโรน
เทคโนโลยีป้องกันดโรน
เมื่อการใช้ดโรนกลายเป็นเรื่องปกติ การจำกัดการเคลื่อนไหวของมัน จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
1. ดโรน ดีเฟนเดอร์
เจ้าอุปกรณ์รูปร่างคล้ายปืนนี้ ใช้คลื่นวิทยุเพื่อหยุดยั้งการทำงานของดโรนได้ ในรัศมี 400 เมตร โดยการรบกวนระบบติดต่อสื่อสารของมัน
2. ดโรน เหนือ ดโรน
ใช่แล้ว เราสามารถใข้ดโรน เพื่อดักจับดโรนอื่นๆ ได้ ในกรณีนี้ ดโรนที่ใหญ่กว่าจะคอยจับดโรนที่เล็กกว่า โดยใช้ตาข่าย
3. ระเบิดทิ้ง !
พาหนะติดอาวุธปืนใหญ่ บุชมาสเตอร์ ขนาด 50 มม. ถูกทดสอบเพื่อใช้ยิงดโรนที่อาจเป็นภัยต่อกองทัพให้สิ้นซาก
4. การตีกรอบพื้นที่
แผงควบคุมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ จะได้รับการติดตั้งไว้โดยรอบ และจะแจ้งเตือนผ่านอี-เมล เมื่อตรวจพบดโรนในพื้นที่
5. ป้อมปืน
สำหรับสถานที่สำคัญอย่างทำเนียบขาว ป้อมปืน คงสามารถช่วยเหลือผู้คนให้ปลอดภัยจากการจู่โจมของดโรนได้
6. สมาร์ท พริซัน การ์ด
บรรดาเรือนจำทั้งหลายกำลังสรรค์สร้างเทคโนโลยีป้องกันดโรน เพื่อไม่ให้นักโทษได้รับสิ่งของต้องห้ามที่ส่งมาจากโลกภายนอก
"แผงควบคุมจะแจ้งเตือนไปทางอี-เมล หากตรวจพบดโรนในพื้นที่"
เราใช้ดโรนทำอะไร ในแต่ละพื้นที่ของโลก
โนวา สโกเทีย ใช้นับจำนวนแมวน้ำ
หมู่เกาะแคริบเบียน ใช้ตามหาพืชหายาก
เนปาล ใช้ศึกษาธารน้ำแข็ง
นิวซีแลนด์ ใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
แอฟริกาใต้ ใช้สำรวจทุ่งซาวันนาห์
มหาสมุทรแปซิฟิค ใช้ตรวจสอบทิศทางการไหลของลาวา
การเดินทางสู่ดวงดาว
บทบาทของดโรน ในการสำรวจจักรวาล
ดโรนต้นแบบของนาซา กำลังถูกทดสอบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานภายใต้แรงโน้มถ่วงต่ำ
ดโรนสำรวจแบบบินได้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
รุ่นถัดไปของคอพเตอร์ทรงสี่เหลี่ยมนี้ จะใช้แหล่งพลังงานที่สร้างขึ้นบนดาวอังคาร
ภารกิจในการตามหาแหล่งน้ำ และน้ำแข็งบนดาวอังคาร จะถูกขยายให้กว้างขวางขึ้น เพื่อตอบรับศักยภาพของดโรนเจเนอเรชันใหม่ ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้แก่เหล่านักวิทยาศาสตร์จากนาซา ดโรนขนาดเล็กนี้อาจถูกส่งไปประจำการยังดาวเคราะห์สีแดงในเร็ววันนี้ และอาจถูกส่งไปยังดาวเคราะห์อันห่างไกลอื่นๆ รวมถึงกลุ่มดาวเคราะห์น้อย เพื่อค้นหาทรัพยากร ในพื้นที่ที่ยากจะเข้าถึงได้ด้วยดโรนภาคพื้น ไม่แน่ว่าดโรนชนิดนี้ อาจเป็นผู้ค้นพบแหล่งน้ำบนดาวอังคารก็เป็นได้
ขับเคลื่อนด้วยแกสเย็น
แทนที่จะใช้ใบพัด เจทตัวนี้จะใช้ออกซิเจน และแรงดันน้ำในการลอยตัว รวมถึงการเคลื่อนที่ เพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ
ระบบเนวิเกชัน
ระบบเนวิเกชัน จะสำรวจพื้นที่โดยรอบ และนำทางดโรนไปสู่สถานที่ที่ถูกกำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง
การเติมพลังงาน
ที่สถานีหลัก ซึ่งดโรนถูกนำไปประจำการ สามารถเติมพลังงานให้ดโรนได้ โดยอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์
ไม่มีใบพัด
สมมติว่า ดโรนบนดาวอังคารต้องใช้ใบพัด ใบพัดนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่มาก เพื่อที่จะสามารถลอยตัวได้ในที่ซึ่งบรรยากาศเบาบางกว่าพื้นโลก
การสุ่มตัวอย่าง
ดโรนจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่แยกกันได้ ทำให้สามารถบรรจุและติดตั้งอุปกรณ์ได้หลายชนิด ตามรูปแบบของภารกิจในแต่ละครั้ง
ดโรนขนาดจิ๋ว
ดโรนที่นาซากำลังทดสอบอยู่ขณะนี้ มีขนาดเท่าฝ่ามือเท่านั้น จึงสามารถนำติดไปใช้ได้หลายเครื่อง ต่อหนึ่งภารกิจ
"ดโรนขนาดเล็กอาจถูกส่งไปประจำการยังดาวเคราะห์สีแดงในเร็ววันนี้"
PRANDTL-D ของนาซา
ดโรนได้ถูกใช้ในการสำรวจอวกาศแล้ว ด้วยดโรนแบบภาคพื้น หรือ แบบที่ติดกับบอลลูน แต่อีกไม่กี่อึดใจนี้ ณ ห้วงอวกาศอันแสนไกลนับพันกิโล ดโรนจะถูกใช้เพื่อสำรวจภูมิประเทศของดาวเคราะห์ โดยอาศัยอากาศยานที่ถูกออกแบบใหม่ให้มีลักษณะเบา อย่าง PRANDTL-D
PRANDTL-D ซึ่งพัฒนาโดยนาซานี้ อาจเป็นอนาคตของเหล่านักสำรวจอวกาศ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบที่ฉีกขนบเก่าๆ ออกไปจนหมดสิ้น ปีกของมันมีรูปร่างเหมือนระฆัง แทนที่จะเป็นทรงรีแบบดั้งเดิม และความสามารถในการเคลื่อนที่ของส่วนท้าย หรือ FLIGHT CONTROL SURFACES ก็ทำให้น้ำหนักตัวของมันลดลงไปอย่างมาก ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึง 30 เปอร์เซนต์
วิธีการออกแบบนี้เริ่มต้นขึ้นจากการค้นคว้า งานของวิศวกรอากาศยานในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชื่อ LUDWIG PRANDTL แล้วนำมาหาข้อสรุปร่วมกับคณะวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์คนอื่นๆ จนเกิดเป็นผลงานที่น่าพอใจ
ชื่อ PRANDTL-D นั้นย่อมาจาก PRELIMINARY RESEARCH AERODYNAMIC DESIGN TO LOWER DRAG (การศึกษาเบื้องต้นด้านการออกแบบอากาศยานเพื่อลดแรงต้านอากาศ) ซึ่งก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าจะถูกใจ LUDWIG หรือเปล่า
ออกสำรวจดวงจันทร์ของดาวเสาร์
อีกไม่นาน ดโรนอาจสามารถศึกษาพื้นผิว ท้องทะเล และฟากฟ้าของดาวไททัน ได้แล้ว
ณ ตอนนี้ ไททัน เป็นดาวที่มีลักษณะคล้ายโลกของเรามากที่สุดเพียงดวงเดียว ที่อยู่ในระยะทางที่เราเอื้อมถึง ด้วยพื้นที่ที่มีทะเลสาบ บรรยากาศหนาแน่น แถมยังมีระบบภูมิอากาศ ทำให้ดาวดวงนี้ติดอันดับทอrลิสต์ ของบรรดานักดาราศาสตร์ ที่ต่างใฝ่ฝันจะไปเยี่ยมเยือนให้ได้สักครั้ง แม้จนถึงตอนนี้ เราเข้าใกล้มันมากที่สุดได้ด้วย การสำรวจโดยสังเขปของ สเปศคราฟท์ HUYGENS PROBE ในปี 2005 เท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำหน้าของดโรน ในอนาคตอันใกล้ เราอาจมีโอกาสสำรวจบริวารของดาวเสาร์ดวงนี้ ทั้งบนบก ในน้ำ และบนอากาศเลยก็เป็นได้
โลกอันห่างไกล
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาหนทางลงจอดบนดาวไททันเป็นเวลานานได้ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี สำหรับภารกิจเช่นนี้
สถานีเติมพลัง
บอลลูนสามารถเป็นสถานที่ชาร์จพลังงาน ให้ดโรนเล็กๆ ที่ขึ้นมาส่งตัวอย่าง ก่อนที่จะออกบินอีกครั้งได้
ภาพถ่ายที่สมบูรณ์แบบ
บอลลูนติดกล้อง จะล่องลอยไปรอบๆ พื้นผิวของดาวไททัน ถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ขับเคลื่อนด้วยใบพัด
ด้วยสภาวะอากาศอันหนาแน่นบนดาวไททัน ดโรนที่ติดใบพัดจะสามารถบินได้ดีกว่า ดโรนแบบใช้แกส
แผนสำรอง
เราสามารถนำดโรนหลายตัว ไปใช้ในหนึ่งพื้นที่ ดังนั้น เมื่อมีตัวหนึ่งเสียหาย ตัวอื่นๆ จะสามารถปฏิบัติการแทนได้ทันที
คราเคน แมร์
ทะเลที่ใหญ่ที่สุดบนดาวไททัน มีชื่อว่า คราเคน แมร์ (KRAKEN MER) และเป็นเป้าหมายหลักในการสำรวจของดโรนใต้น้ำ
อุปกรณ์ตรวจวัด
เรือดำน้ำ จะตรวจสอบสภาพสารเคมีในทะเลสาบ รวมถึงถ่ายภาพก้นทะเล และตรวจจับกระแสน้ำ
สู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก
ทะเลบนดาวไททัน ประกอบด้วย ไฮโดรคาร์บอนมากกว่าน้ำ ดังนั้นการออกแบบดโรนให้เหมาะสมกับสภาพดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยาก
พื้นที่เข้าถึงยาก
ดโรนจะต้องสามารถลงจอดในพื้นที่ซึ่งเข้าถึงยาก รวมถึงพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง
ABOUT THE AUTHOR
G
GADGET MAGAZINE
ภาพโดย : GADGET MAGAZINEนิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS