ชีวิตอิสระ
ตะลุย หุบป่าตาด
หลังจากได้ยินเสียงเล่าลือกันมานาน ถึงความสวยงามของป่าดึกดำบรรพ์ "หุบป่าตาด" ดินแดนที่เสมือนย้อนไปอยู่ในยุคจูราสสิค หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN IN THAILAND ของจังหวัดอุทัยธานี เราก็มีโอกาสไปพิสูจน์ความจริง
หุบป่าตาด
ป่าลึกลับ แห่งเมืองอู่ไท
เรามุ่งหน้าสู่ อ. ลานสัก ด้วยคู่หูใหม่ มิตซูบิชิ ทไรทัน พลัส ดับเบิลแคบ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 178 แรงม้า ที่ให้ความแรงอย่างเหลือเฟือ จึงถึงที่หมายไวเกินคาด โดยใช้เส้นทางสายเอเชีย (32) ผ่านตัวเมืองอุทัยธานี เข้าเส้นทาง 3438 สู่ อ. ลานสัก ระยะทางเกือบ 300 กม. จากกรุงเทพ ฯ
สถานที่แห่งนี้ เดิมทีไม่มีใครรู้จัก หรือแม้แต่จะเข้าถึงได้ เนื่องจากถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาหินปูนที่สูงชัน จนกระทั่งในปี 2522 พระครูสันติธรรมโกศล (หลวงพ่อทองหยด) เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง มีเหตุบังเอิญให้ต้องปีนลงไปในหุบเขาแห่งนี้ เมื่อลงไปถึงจึงพบว่า ผืนป่าแห่งนี้มีสภาพภูมิศาสตร์ที่แปลก มีต้นตาด (ต้นไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลเดียวกับปาล์ม) ขึ้นเต็มไปหมด รวมถึงมีพันธุ์ไม้หายากอื่นๆ มากมาย ท่านจึงได้เจาะปากถ้ำ สร้างทางให้เข้าถึงเพื่อการพัฒนาในปี 2527 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำประทุน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN IN THAILAND ของจังหวัดอุทัยธานี และมีการจัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 700 เมตรอีกด้วย
สำหรับที่มาของป่าแห่งนี้ ได้มีนักวิชาการสันนิษฐานไว้ว่า แต่เดิมเคยเป็นถ้ำมาก่อน แล้วเมื่อเปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน จึงทำให้เพดานของถ้ำถล่มลงมา กลายเป็นบ่อในหุบเขา ซึ่งมีจำนวน 2 ห้อง เนื้อที่รวมกว่า 2 ไร่ มีขอบบ่อสูงราว 150-200 เมตร มีสภาพเป็นบ่อกลางภูเขาที่ลึกมาก ต้นไม้สามารถขึ้นได้เฉพาะบางพันธุ์เท่านั้น เพราะมีข้อจำกัดเรื่องแสงแดดส่องถึง
เดินลอดถ้ำหินปูน
ประตูอุโมงค์ ย้อนกาลเวลา
เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ไฟฉายมาหนึ่งอัน เพราะเส้นทางเดินนั้นต้องผ่านถ้ำที่มืดสนิท ระยะทางเกือบ 100 เมตรเสียก่อน เมื่อเข้าไปภายในถ้ำ จะรับรู้ได้ถึงความเย็นราวกับเปิดแอร์ไว้ พร้อมกลิ่นฉุนของขี้ค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ถ้าเราส่องไฟขึ้นไปตามผนังถ้ำ ก็จะเห็นค้างคาวเต็มไปหมด สร้างอารมณ์นักสำรวจได้อย่างดี ไม่นานนักเราก็เห็นแสงสว่าง พอผ่านพ้นถ้ำมาได้ ภาพที่เห็นเบื้องหน้าเสมือนกับว่าเรากำลังเดินผ่านอุโมงค์ย้อนเวลาอย่างไรอย่างนั้น เพราะพื้นที่เบื้องล่างสู่หุบเขา เป็นเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม เต็มไปด้วยต้นตาดเบียดเสียดกันหนาแน่น ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ชวนให้นึกถึงหนังเกี่ยวกับไดโนเสาร์โดยไม่รู้ตัว
บริเวณหุบเขานี้มีลักษณะคล้ายป่าดงดิบ และยังมีความชุ่มชื้นสูง แสงจะส่องถึงพื้นได้เฉพาะตอนเที่ยงวันเท่านั้น เพราะมีเขาหินปูนสูงชันโอบล้อมอยู่ สำหรับหุบป่าตาดมีลักษณะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่อุดมไปด้วย ต้นตาด หรือ ต้นต๋าว (AREAGA PENATA) พืชตระกูลปาล์ม มีใบเป็นแฉกแผ่สยายกว้าง ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดงดิบที่มีอากาศเย็นชื้นสภาพหนาทึบ ตาดออกลูกเป็นทลายเล็กๆ กลมๆ ลูกตาดกินได้ ชาวบ้านนิยมนำเนื้อในมาทำเป็นเหมือนลูกจาก หรือลูกชิด ใบ นำไปทำเป็นไม้กวาด ส่วนยอดอ่อน นำไปต้มจิ้มน้ำพริก นอกจากต้นตาดแล้ว ที่นี่ยังพบพันธุ์ไม้หายากอื่น ๆ อีก เช่น ต้นกระพง ยมหิน ยมป่า ต้นปอหูช้าง เต่าร้าง เปล้า คัดเค้าเล็ก เป็นต้น
นอกจากพันธุ์ไม้หายากแล้ว ยังมีสัตว์เลื้อยคลานที่หายากหนึ่งเดียวในไทย คือ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" (SHOCKING PINK MILLIPEDE) ที่ได้รับการประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ที่หุบป่าตาดแห่งเดียวเท่านั้น น่าเสียดายที่เราไปแล้วไม่เจอ ถ้าใครเลือกมาเที่ยวหน้าฝนอาจโชคดีก็ได้
เมื่อเดินตามทางเรื่อยๆ ก็จะไปสิ้นสุดบริเวณโพรงถ้ำ ที่มีลักษณะเป็นช่องประตูขนาดใหญ่ เดินทะลุถึงกันได้ ซึ่งถือเป็น "ไฮไลท์" ของที่นี่ เนื่องจากมีลักษณะของหินงอก หินย้อย ที่แปลกตา กระตุกต่อมจินตนาการได้มากมาย ทั้งหินรูปเต่ายักษ์ หินรูปหัวม้า หรือหินรูปกระปุกออมสิน แถมบางมุมที่มองออกจากโพรงถ้ำแล้วเจอต้นตาดที่แสงส่องมาถึงพอดี (ต้องมาตอนเที่ยงตรงเท่านั้น) ยังเป็นมุมมองหนึ่งที่สวยงามที่สุด ใครพกกล้องถ่ายรูป ไม่ควรพลาดการหามุมถ่ายรูปจากบริเวณนี้
ถ้ำเขาพระยาพายเรือ
สถานที่นี้ มีตำนาน
สถานที่นี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหุบป่าตาดนัก เขาลูกนี้ถ้ายืนมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นมีลักษณะคล้ายเรือขุด แล้วถ้ามองจากระยะไกล จะดูคล้ายเรือสำเภา ถ้าขึ้นไปถึงยอดเขา จะพบกับทิวทัศน์ที่งดงาม
เขาพระยาพายเรือ เป็นเขาขนาดเล็ก สูงประมาณ 250 เมตร ภูเขามีถ้ำที่สวยงาม ลักษณะรูปร่างแปลกแตกต่างกันออกไป ภายในประกอบด้วยถ้ำเล็กๆ เชื่อมต่อกัน ได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำสีชมพู ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำอ่างน้ำมนต์ และถ้ำพุทธสถาน ในถ้ำมีหินงอก หินย้อย ที่มีความสวยงามมากมาย แต่มีเส้นทางที่สลับซับซ้อน จึงควรอ่านป้ายบอกทางตลอด ตอนบนของถ้ำมีพระนอนขนาดใหญ่ ส่วนบริเวณทางเข้า/ออกของถ้ำนั้นมีแค่ทางเดียว
นอกจากนี้ ยังมีตำนานหนึ่ง เล่าว่า สมัยก่อนบริเวณด้านหน้าของภูเขาพระยาพายเรือจะมีแอ่งน้ำ และถ้ำขนาดใหญ่ เจ้าพระยาคนหนึ่งหนีความผิดเรื่องการลักลอบได้เสียกับนางสนมในวัง มาหลบซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำ วันดีคืนดีจะออกมาพายเรือเล่นในแอ่งน้ำบริเวณหน้าปากถ้ำ ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี้ว่า ถ้ำพระยาพายเรือ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
น้ำพุร้อนสมอทอง
แหล่งพักผ่อนสุดฮิท ของคนอุทัยธานี
น้ำพุร้อนสมอทอง ติดอันดับ 1 ใน 10 น้ำพุร้อนที่คนนิยมเที่ยวมากที่สุดในประเทศ จึงไม่แปลกที่จะเป็นแหล่งพักผ่อนสุดฮิทของคนอุทัยธานี
สถานที่แห่งนี้อยู่ในโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว มีจุดชมทิวทัศน์ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ภายในยังมีกิจกรรมมากมายให้เลือก ตั้งแต่ผ่อนคลายด้วยการแช่น้ำอุ่น สปาเท้าแบบธาราบำบัด ปั่นจักรยาน หรือจะตกปลาด้วยเบ็ดไม้ไผ่ก็ยังได้ นอกจากนี้ยังมีบ้านพักไว้รับรองโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถ้าไม่ชอบจะเลือกนอนกางเทนท์ ก็มีลานกว้างริมน้ำให้บริการอีกด้วย
น้ำพุร้อนสมอทอง เป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติขนาดเล็ก ที่ผุดขึ้นมาบนผิวดิน โดยไหลผ่านช่องเขาสองลูก น้ำพุที่ผุดขึ้นมาใส แต่มีกลิ่นกำมะถันฉุน มีความร้อนประมาณ 50 -70 องศาเซลเซียส ขนาดต้มไข่สุกภายใน 5 นาที โดยน้ำจะไหลลาดตามหินของภูเขาลงไปรวมกับน้ำในลำห้วยคอกควาย
น้ำพุร้อนธรรมชาติ
น้ำพุร้อน เป็นน้ำใต้ดินที่ร้อนกว่าน้ำธรรมชาติทั่วไป เมื่อน้ำสะสมความร้อนจนน้ำเดือด น้ำจะกลายสภาพเป็นไอน้ำร้อนทำให้เกิดแรงดันพวยพุ่งออกมาบนผิวดิน จะเห็นว่า น้ำพุร้อนบางแห่ง พุ่งขึ้นสูงเป็นสาย บางแห่งเพียงแค่ผุดขึ้นมาจากผิวดิน ขึ้นอยู่กับความร้อน และแรงดันของแต่ละแหล่ง
แผนที่เส้นทาง
ที่กิน
ร้านอาหารนก
มาเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยขุ่นแก้วทั้งที เมนูอาหารที่พลาดไม่ได้ คือ "ปลา" เราเลือกสั่ง ปลาทับทิมทอดตะไคร้สมุนไพร ปลานิลเผาเกลือ และต้มยำไก่บ้าน ณ "ร้านอาหารนก" ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณของน้ำพุร้อนสมอทอง รสชาติและบรรยากาศ ใช้ได้ทีเดียว
ที่นอน
บ้านพักน้ำพุร้อนสมอทอง
ไหนๆ เราก็มาเที่ยวถึงน้ำพุร้อนสมอทองกันแล้ว ขอนอนค้างที่นี่ด้วยเลยแล้วกัน บ้านพักที่นี่จะเป็นหลังๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ สามารถเลือกวิวสวยๆ ได้เลยถ้ายังว่างอยู่ ราคาตั้งแต่ 800-1,500 บาท พร้อมบรรยากาศริมอ่างเก็บน้ำที่งดงาม
ขอขอบคุณ
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะสำหรับการเดินทางในครั้งนี้
ABOUT THE AUTHOR
ว
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2557
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)