เมื่อเดือนที่ผ่านมา เราคุยกับเพื่อนถึง จริยธรรมนักการเมือง ซึ่ง "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" คนใหม่ชื่อ พรเพชร วิชิตชลชัย รับตำแหน่งแทน ประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปเป็นกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยึดเป็นหลักการบริหารจัดการขององค์กรเจอกันเดือนนี้ เราก็อยากเสวนาต่อเป็นภาคผนวก ของจริยธรรมเดือนที่แล้ว เพราะมีตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของจริยธรรมนักการเมือง ถ้าตกทอดถึงผู้อยู่ในการปกครองของตน ตัวอย่างที่เราอยากพูดถึงเป็น ข้าราชการระดับสูงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คือ ถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งถูก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 คุณถวิลเห็นว่าเป็นการย้ายโดยมิชอบ จึงใช้สิทธิดำเนินการต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย เริ่มต้นจากการร้องเรียน คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพค.) เมื่อไม่สำเร็จก็ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ให้ ถวิล ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ ถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาสมช. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ ถวิล ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่สมเหตุผล ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายกรัฐมนตรียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แถลงว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจการใช้ดุลยพินิจบริหารงานบุคคล ที่จะแต่งตั้งโยกย้ายผู้ใต้บังคับบัญชา ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2557 เห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายบริหารจะมีอำนาจใช้ดุลยพินิจบริหารงานบุคคล แต่การใช้อำนาจต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วง แต่ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารได้ และนายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเพื่อให้การบริหาร เป็นไปตามนโยบาย แต่ต้องมีเหตุผล ซึ่งการโยกย้าย ถวิล ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีได้อ้างเหตุผลใด จึงถือว่าการโอนตำแหน่ง ถวิล จากเลขา สมช. ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาแก้ว่าให้เพิกถอนเฉพาะประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ ถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาสมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีการประกาศ 30 กันยายน 2554 และเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามกฎหมายให้ ถวิล กลับไปดำรงตำแหน่งเลขาสมช. ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา นี่คือตัวอย่างของข้าราชการที่ถูกนักการเมืองใช้อำนาจอย่างไม่มีคุณธรรม เป็นเรื่องราวของข้าราชการคนหนึ่งระดับ 11 กับความทุกข์อันเกิดจากความคิดที่บอกตัวเองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และใช้สิทธิ์ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ตามกระบวนการทางกฎหมาย เราหวังว่า เพื่อนคงเข้าใจความหมายของคำว่า จริยธรรมนักการเมือง และเห็นด้วยกับเราที่ว่า หาไม่พบในนักการเมืองทุกวันนี้ เพื่อนเอ๋ย อำนาจนั้นเป็นสิ่งหอมหวาน ผู้เสวยอำนาจมักหลงระเริงกับการใช้อำนาจ และสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของอำนาจนั้น ออกอาการหยิ่งผยองลำพองใจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ใด ไม่ผิดอะไรกับมนุษย์ที่เสพยาเสพติดจนยาเสพติดย้อนกลับมาทำลายตน...!