“ม่วงขาวบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสง่าอยู่กลางสนาม...” ขอขึ้นต้นตอนนี้ด้วยเพลงเชียร์โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (สมัยโน้น) ซึ่งตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ แต่ตอนที่ผู้เขียนเข้าไปเป็นลูกเจ้าพ่อฯ-สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2496 นั้น เข้าไปในฐานะนักเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยเป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดนครพนมสมัยโน้น บ้านสมเด็จฯ ยังมีฐานะเป็นโรงเรียน แต่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาส่วนหนึ่ง และระดับฝึกหัดครูอีกส่วนหนึ่ง (สอนถึงระดับประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (หรือ ปป.) ถึงปี 2499 แล้วจึงเปลี่ยนหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาตอนต้น (ปกศ. ต้น) ตั้งแต่ปี 2499 ต่อมา) การที่ได้เข้าเรียนระดับฝึกหัดครูที่โรงเรียนบ้านสมเด็จฯ สมัยนั้น ต้องได้รับทุนจากจังหวัด จังหวัดละ 1 หรือ 2 หรือ 3 คน แล้วแต่จังหวัดเล็กหรือใหญ่ที่พร้อมรับตำแหน่งครูเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วออกไปรับราชการใช้ทุนได้เลย นอกจากนักเรียนชายจะเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถ้าเป็นนักเรียนทุนส่วนกลางจะเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ณ วังจันทรเกษม ตรงที่เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ถนนรามอินทรา ข้างหลังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน) ส่วนนักเรียนทุนส่วนภูมิภาคฝ่ายหญิงจะเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนสุนันทา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) ส่วนนักเรียนทุนส่วนกลางฝ่ายหญิงจะเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ซึ่งเคยอยู่ริมถนนเพชรบุรี ปัจจุบันเป็นบริษัทร้านค้าตรงข้ามบริเวณซอยกิ่งเพชร ส่วนโรงเรียนเดิมนั้น ย้ายไปและเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ณ ที่แห่งใหม่) ที่ต้องเล่าถึงสถาบันถึง 4 แห่ง เพราะเราเป็นเพื่อนเรียนด้วยกัน เมื่อได้รับเลือกให้เรียนต่อสูงขี้นไป (หรือสอบเข้าเรียนได้แล้วขอรับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการ) ทั้งที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) หรือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บางคณะ เช่น อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) การเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูนั้น เราเป็นนักเรียนประจำ หรือที่ภาษาพูดว่านักเรียนกินนอน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าผู้บริหารการศึกษาสมัยก่อนมีวิสัยทัศน์ดีมาก เพราะผู้จะออกไปเป็นครูนั้น จะต้องเรียนรู้รอบด้านเสมือนคำที่อาจารย์กำชับว่า "รู้อะไรต้องให้รู้เป็นครูเขา" อีก 3 โรงเรียนเป็นอย่างไรไม่ทราบ คาดว่ามีลักษณะคล้าย ข้าพเจ้าขอกล่าวเฉพาะบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เราจะถูกอบรมสั่งสอนตั้งแต่การปฏิบัติตัวอย่างเป็นระเบียบ แม้แต่การแต่งกายลำลองหลังเวลาเรียนปกติ ต้องเป็นกางเกงผ้าลินินสีขาวขายาว คาดเข็มขัดให้เรียบร้อย เสื้อผ้าขาวคอกลมผ้าลินินเช่นกัน ทั้งเสื้อลำลอง และเสื้อผ้าเครื่องแบบต้องซักให้สะอาด และรีดให้เรียบร้อย ตื่นเช้าเป็นเวลา เก็บและปัดปูที่นอนให้เรียบร้อย มีอาจารย์คอยตรวจให้คะแนนตอนที่เข้าเรียนแล้ว เข้านอนเป็นเวลา ห้ามคุยและอ่านหนังสือในเวลาให้นอน ถึงเวลาเล่นกีฬาพร้อมกัน ทั้งกีฬาที่ต้องการออกกำลังกายพร้อมกัน ส่วนนักกีฬาที่มีความถนัดก็แยกไปฝึกได้ แม้แต่ช่วงเรียนตามลำพังด้วยตนเองหลังรับประทานอาหารเย็น ก็จะนั่งทำงานเงียบๆ อาจจะมีการติวกันบ้าง แต่ต้องไม่รบกวนผู้อื่น ถึง 3 ทุ่มต้องสวดมนต์พร้อมกัน ให้เวลาล้างหน้าแปรงฟันช่วงสั้นๆ ก่อนเข้านอนพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น ความประพฤติและการปฏิบัติตนต่อเพื่อน ต่อครูบาอาจารย์ ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้านการเรียนนั้น นอกจากวิชาสามัญเข้มข้นแล้ว ต้องเรียนวิชาเกี่ยวกับการศึกษา และเกี่ยวกับการเป็นครูอย่างเข้มข้น เช่น หลักการสอน หลักการศึกษา และเพราะทุกคนล้วนเป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดของตน จะเรียนเหยาะแหยะเสียชื่อ หรือไม่เอาใจใส่การเรียนไม่ได้ เพราะอาจถูกรายงานไปยังจังหวัดถึงถอนสิทธิการให้ทุน ต้องระงับการให้ทุน ต้องออกจากโรงเรียนได้ สรุปว่าการเป็นนักเรียนประจำ หรือกินนอนนั้นเป็นการฝึกความเป็น "สุภาพบุรุษ” ผู้รู้ทางการศึกษาบอกว่าเป็นการเรียนตามแบบ PUBLIC SCHOOL ของอังกฤษ ผู้เขียนจึงรู้สึกได้ว่า ในกาลต่อมา สามารถปฏิบัติตนเข้ากับเพื่อนร่วมชั้นเรียนในคณะอักษรศาสตร์ที่มากด้วยสุภาพสตรีได้ ทั้งๆ ที่เคยอยู่แต่โรงเรียนชายล้วน ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และวิทยาลัยครู ความสำนึกนี้ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงพระคุณของโรงเรียนบ้านสมเด็จฯ ซึ่งมีคำขวัญตามตราประจำตัวของท่านผู้สำเร็จราชการว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา-วาจาสัตย์เป็นความจริงที่ไม่มีวันตาย” และได้ประพันธ์บทกลอนให้ชื่อ “สุดสายป่าน” ไว้ดังนี้ (หนึ่ง) พ่อมีสายป่านหลายล้านเส้น ล้วนเป็นป่านดีมีศรีศักดิ์ จากใจการุณย์อุ่นไอรัก ปกปักลูกให้พ้นภัยพาล/(สอง) ที่ตรงปลายสายป่านนั้นมีว่าว ต่างทอดยาวกินลมที่พรมผ่าน ต้านลมแรงแทงฟ้าว่าวทะยาน ว่าวตระการคว้าลมลิ่วปลิวปรายฟ้า อาจเพราะว่าวบางตัวมีตำหนิ อาจแตกปริพลอยให้ดูไร้ค่า อาจสัดส่วนพลั้งพลาดผิดอัตรา บางว่าวจึงถึงถลาหน้าซบดิน บางครั้งอาจขาดลมพัดพรมเร้า พลิ้วบางเบาเกินกว่าว่าวโผด่าวดิ้น ว่าวจึงดิ่งด่ำคลอธรณิน ย่อมยลยินตฤณชาติบังอาจเยาะ/(สาม) พ่อมีสายป่านล้านล้านเส้น อยากเห็นเด่นหาวดั่งดาวเหาะ บางเส้นเร้นหาวดั่ง “ดาวเคราะห์” บ้างเหมาะ “ดาวฤกษ์” แกร่งเกริกไกร/(สี่) พ่อจำปล่อยสายป่านนับล้านเส้น จะทุกข์สุขขุกเข็ญเป็นไฉน จะปีกกล้าขาแข็งแกร่งเพียงใด พ่อมีเพียงพลังใจให้ลูกรัก !
บทความแนะนำ