ยามที่พลโลกเครียดกันอย่างนี้ เรามา "มองภาษาในเชิงหรรษา" น่าจะคลายเครียดจากสภาวะแวดล้อมได้บ้างกระมัง "มองภาษา" ตอนนี้จึงนึก "คำเพราะ" ในพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นห่วงชาติบ้านเมือง กระทั่งในพระราชนิพนธ์บทความการเมืองชุดหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ในพระนามแฝง "อัศวพาหุ" ว่า "เมืองไทยจงตื่นเถิด" และในแง่ "ยามภาษา" และคำเพราะที่ว่านี้ ก็เป็นคำไทยๆ เรา อย่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า ถ้าจะบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้ ทรงขอให้นึกถึงคำไทยก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อหาคำไทยไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยไปนำคำจากภาษาอื่นมาใช้ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่าศัพท์บัญญัติมี หรือที่ใช้คำไทยๆ ขอตอบว่า ปราชญ์ทางภาษาของไทยทำไว้มากน่าเคารพในภูมิปัญญาท่านมาก เช่น โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำแข็ง ขอยกตัวอย่างคำศัพท์ไทยๆ ที่มาจาก พระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (แต่ "สุดสงวน" จะไม่ไปลงรายละเอียดของแต่ละคำ เพราะท่านราชบัณฑิต ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ท่านทำหน้าที่นั้นไว้สมบูรณ์แล้วใน "ภาษาไทยวันนี้" ในสกุลไทยฉบับเลขคู่นั้น นอกจากนี้ ยังมี "ห้องสมุดสกุลไทย" ซึ่ง "ปถพีรดี" ท่านกรุณานำเสนออยู่เสมอๆ คำแรกที่ "สุดสงวน" ขอเชิญมากล่าวถึงด้วยเป็นคำที่ทรงคุณค่ามหาศาลแก่ชีวิตมนุษย์ทั่วไป แม้ชาวต่างชาติก็ซาบซึ้งคำนี้ คือ "พอเพียง" หรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งคำอธิบายใดๆ ก็คงไม่ซาบซึ้งเท่า พระราชดำรัส "สุดสงวน" ขอพระราชทานอัญเชิญพระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้า ถวายพระพรชัยมงคลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่ว่า "คำว่าพอเพียงมีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียงหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาของตัวเอง หมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นอยู่ได้ ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่ คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น" คำที่เข้ากับเหตุการณ์สภาวะแวดล้อมในปัจจุบันมากที่สุดและเราคิดถึงด้วยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมากอีกคำหนึ่ง คือ "แก้มลิง" ซึ่งพระองค์ท่านทรงนำกิริยาอาการของลิงที่อมอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มก่อนที่จะค่อยๆ คายออกมาย่อยอย่างละเลียดในภายหลัง หากคนเราทำแอ่งหรือแหล่งสะสมน้ำ ไว้ในยามน้ำมากหรือน้ำหลาก อย่าง "ห้วย หนอง คลอง บึง คู คลองส่งน้ำ" ในธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาเบาบางน้ำหลาก น้ำก็จะไม่ท่วมทำความเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่ลุ่มกว้างใหญ่ ที่เรารู้จักในนาม "หนองงูเห่า" ในอดีตกาลนั้น สามารถกักเก็บน้ำไม่ให้หลากท่วมพื้นที่โดยรอบแล้ว ยังบรรจุน้ำไว้ให้ผู้คนได้ใช้ทำสารพัดประโยชน์ในหน้าแล้งได้เป็นอย่างดีวิเศษด้วย ครั้นเมื่อเกิดนำเอาดินจำนวนมหาศาลมาถมทำเป็นสนามบินใหญ่โตมโหฬารแล้ว ก็ไม่มีที่กักเก็บน้ำที่จะขัง หรือที่จะระบายออกไปสู่ทะเลได้ต่อไป ขาดแก้มลิงขนาดใหญ่นี้ จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมในกาลต่อมา แหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแนะนำไว้ นอกจาก "แก้มลิง" ก็ยังมี "ฝาย" เฃ่น "ฝายแม้ว" ซึ่งเนื่องมาจากภูมิปัญญาชาวไทยภูเขาเผ่าแม้ว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาบรรพชนของเรา และถ้าจำเป็นต้องสร้างเพื่อโอกาสและสถานที่ที่เหมาะสม ก็ควรสร้าง "เขื่อน" ทั้ง "เขื่อนดิน" และ "เขื่อนใหญ่" เช่น เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ พระปรีชาญาณที่เกี่ยวกับน้ำและดิน (ความจริงทุกอย่างทั้งลม-ฟ้า-อากาศ-ฯลฯ) พระองค์ทรงนำความรอบรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขามาทดลอง จนกระทั่งเป็นจริงได้ ทำให้เกิดฝนตกโดยไม่ใช่ฝนธรรมชาติ จึงกลายเป็น "ฝนเทียม" หรือ "ฝนหลวง" หรือ “ฝนหลวงพระราชทาน” จนมีต่างประเทศบางประเทศขอพระราชทานนำความรู้นี้ไปใช้ในประเทศของตนตาม คำว่า “แกล้งดิน” ก็เกิดจากการนำภูมิปัญญาแบบไทยมาใช้ สำหรับพื้นดินที่ไม่สามารถใช้ในการเกษตร ปลูกพืชพันธุ์ไม่ได้ มีบทประพันธ์ซึ่ง “สุดสงวน” คัดมาไว้ แต่ลืมนามผู้ประพันธ์ (เข้าใจว่าเป็นบทประพันธ์ของ ผศ. มะเนาะ ยูเด็น ในหนังสือ “นบพระภูมิบาล บุญดิเรก” ถ้าอ้างผิดก็ขออภัยเป็นอย่างยิ่ง) อ้างถึงเหตุแห่งการแกล้งดินเป็นร่ายสุภาพดังนี้ “ภูบดินทร์ปิ่นธเรศ ทรงเห็นเหตุปัจจัย ภัยแห่งแหล่งเกษตร อาเพศเพราะทำลาย ป่าทั้งหลายนับทศวรรษ น้ำเซาะซัดดินพัง บ้างยังเป็นที่ดอน น้ำไป่ซอนชลขัง ดินลุ่มปรังโคลนเลน ต่ำกว่าเกณฑ์อินทรีย์ มีผลผลิตนิดนาน ถิ่นอีสานดินเค็ม ดินเปรี้ยวเต็มภาคกลาง ทางใต้เค็มปนเปรี้ยว บางส่วนเสี้ยวดินพรุ น้ำจุขังทั้งปีเน่า บ้างเหมืองเปล่าประโยชน์ร้าง นายทุนอ้างครองดิน ฮุบสินทรัพยากร ราษฎรทุกข์ทั่วหน้า ทุกข์ยากทุกหย่อมหญ้า เร่าร้อนเนานาน“ แล้ว ”สุดสงวน” เพิ่มเติมเป็นกลอนสุภาพ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณไว้ว่า “พระทรงเห็นเหตุปวงลุล่วงสิ้น/ให้ปรับดินดอนแล้งดั่งแปลงสาร/เรียก “แกล้งดิน” โดยราดกรดรดดินดาน/ปนปูน-ด่างดินผสานเปรี้ยวเจือจาง/ ที่ “ดินพรุ” มีน้ำขังสั่งแก้ไข/คลองระบายสายน้ำไหลสลับสล้าง/ให้น้ำท่วมและน้ำแล้งแบ่งเบาบาง/สร้างฝายบ้างสร้างแอ่งน้ำเก็บสำรอง/ที่น้ำเซาะก็ปลูกแฝกแทรกเข้าไป/ยึดดินไว้ไม่ให้ร่วงลงเป็นร่อง/แฝกช่วยลดแรงกระแทกแทรกลำคลอง/ดินน้ำพ้องความพอดีพระปรีชญาณ” ยังมีอีกหลากหลายคำที่สมควรนำมากล่าวเพื่อตามรอยพระยุคลบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ (สกุลไทย ฉบับที่ 2979/15 พฤศจิกายน 2554)
บทความแนะนำ