เมื่อตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าอายุสัก 5-6 ขวบ จำได้ว่าพ่อเคยแบกข้าพเจ้าขึ้นขี่คอออกไปทุ่งนา เพราะเป็นลูกคนเล็ก ยังไม่เข้าโรงเรียนเหมือนพี่ๆ พ่อพาข้าพเจ้าไปนั่งอยู่บนเถียงนา (กระต๊อบ) พ่อก็ส่งเสียงไล่ควายฮึ่ยๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เรานั่งคอยจนหิวข้าว แม่อาจมีผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง หรือผลไม้อย่างอื่นมาให้กินแก้หิว จนใกล้เที่ยงพ่อแม่จึงหยุดพักกินข้าว ให้ควายพักผ่อน พ่อหรือแม่ก็อุ้ม หรือจูงเข้าบ้าน เพราะนาของเราไม่ไกลจากบ้านมากนัก ตอนเล็กๆ ดูโลกสดใส ทุ่งนาก็ดูกว้างไกล แม้มองจากริมทุ่งถึงริมน้ำโขงดูไกลในสายตาเด็ก แต่ความจริงใกล้นิดเดียว เมื่อมองตอนโตพอโตหน่อย พ่อก็ป่วยหนัก ข้าพเจ้าก็นอนป่วยข้างพ่อ บางครั้งพ่อละเมอส่งเสียงโวยวาย ข้าพเจ้ากลัวจนชิน ตราบจนพ่อจากไป ข้าพเจ้ายังพอจำได้ว่าได้บวชจูงศพพ่อไปส่งที่ป่าช้า จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า พ่อจากไปหลังย่าไม่กี่ปี ตอนบวชจูงศพย่า ดูเหมือนข้าพเจ้ายังเป็นเณรเล็กๆ ผู้ใหญ่เกรงว่าจะหิวข้าวกลางดึก พอกลับจากไปส่งย่าที่ป่าช้า แล้วตอนบ่ายๆ หลวงปู่ก็ให้หลวงพี่ทำพิธีสึกให้ แต่ตอนจูงศพพ่อ ดูเหมือนจะบวชอยู่ 3 วันจึงสึก ความทรงจำวัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายป่าในอดีต โดยเฉพาะตอนจูงศพเข้าป่าช้า ต่อมา ข้าพเจ้าได้ใช้ความทรงจำวัยเยาว์ ประกอบความสำนึกตอนโต เขียนความรู้สึกเสียดายไว้ว่า ความฝันเด็กบ้านป่า เมื่อหยาดสรวงร่วงสินธุ์จากถิ่นสรวง แตะแต้มดวงดอกหญ้าริมผาใหญ่ ค่อยซึมซับกับซากกากใบไม้ เลาะรินไหลเอื่อยอาบซาบซอกภู ลงรวมแหล่งแอ่งยะเยียบเฉียบสีใส สะท้อนแสงแทงไล้กิ่งไผ่ลู่ ประกายแก้วแวววิบกะพริบพรู สงบอยู่ในนิรันดร์อนันตกาล กลางป่าปกรกชัฏสงัดสงบ มิ่งไม้แยงแสงกระทบทอดกิ่งก้าน แมกหมอกมัวม่านมลวนวันวาร เพ็ญพบูเบ่งบานละลานเรียง พิหคพร้องก้องไพรแว่วไกลโพ้น จับกระโจนจอแจเซ็งแซ่เสียง พร้องเพลงพิณรินระบายร่ายสำเนียง ไพเราะเพียงพรายมนต์ทิพดนตรี โอ้คืนและวันเยาว์วัยในสำนึก ฝังรากลึกลงในใจริบหรี่ วันที่กลับถึงบ้านจากนานปี โอ้วันนี้…ป่าหายกลายเป็นนา อยากจะเดินกลับไปในวันเก่า สู่วัยเขลาเคล้าความฝันเด็กบ้านป่า มิใช่แดดแผดระยิบไกลลิบตา ไร้ผักหญ้า...กลางนาแห้ง…แล้งฝนโปรย… หรือตอนหนึ่งก็เขียนไว้ดังนี้ @ ป่าที่เห็นแสนงามในยามเด็ก ประทับใจแต่ตอนเล็กยังจำได้ เติบโตขึ้นป่าที่รักชักหายไป จึงต้องใช้จำกับจินตนาการ จำภาพงามยามเยาว์เฝ้าฝังจิต เลี้ยงชีวิตด้วยของป่าพนาสาณห์ จำแสงลอดยอดไม้ไล้สายธาร กระทบน้ำตกซ่านสาดกระเซ็น จำครั้งขี่ควายหนุ่มดุ่มเข้าป่า กินกระบกกลางปาช้าแสนขุกเข็ญ น้ำท่วมนาป่าไม้โค่นกระโดนกระเด็น ต้องทรหดบทลำเค็ญเป็นลูกไพร หลับตาเห็นป่าใหญ่ในความหลัง เคยฝันหวังเห็นป่ากว้างเขียวสดใส คนกับป่าอยู่ด้วยกันพร้อมสัตว์ไพร บัดนี้ไกลจากฝันในวันเยาว์ เห็นข่าวจับคนตัดไม้ทำลายป่า แทบทุกวันเวลาพาใจเศร้า ล้วนผู้ทรงอิทธิพลบนถิ่นเนา และหลากเหล่านักกินเมืองเฟื่องเงินตรา โอ้ป่าใหญ่ในวัยฝันวันอดีต ไกลเส้นขีดพระทรงพล "คนปลูกป่า” ที่ทรงหวังสร้างสรรค์ภูมิปัญญา “ป่ารักษ์น้ำ-น้ำรักษ์ป่า- ป่ารักษ์คน” ด้วยพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ทรงหวังให้คนปลูกป่าตระหนักผล คนปลูกป่าจะรักษ์ป่าซึ้งกมล ดั่งปลูกป่ากลางใจตนปวงชนไทย สอนให้เลิกใจร้ายทำลายป่า เพราะป่าช่วยพิทักษาธาราใสธรรมชาติวาดและวางเส้นทางไป รู้ซอกซอนย้อนไหลเป็นไปเอง ไม่ต้องมีมนุษย์บอดปลอดความคิด มากั้นทิศทางน้ำท่าอวดบ้าเบ่ง ดั่งผองพาลงี่เง่าเผ่านักเลง ไม่ยำเกรงพระบารมีพระปรีชา ผู้หยั่งรู้ดิน-ฟ้า-น้ำ-อากาศ อุ้มเมฆมาเป็นทาสพรมพฤกษา บำบัดความแล้งเข็ญเย็นพสุธา พระเมตตาครอบหล้าคุ้มฟ้าดิน ฯ หลังจากพ่อเสียชีวิต ครอบครัวเราก็ค่อยๆ เลิกทำนา ปล่อยนาไม่กี่แปลงให้ญาติทำ แล้วพี่ชายคนโตก็พาข้าพเจ้าไปเข้าเรียนโรงเรียนราษฎร์ที่อำเภอมุกดาหาร เพราะที่อำเภอท่าอุเทนซึ่งใกล้บ้านไม่มีโรงเรียนมัธยม (จากบ้านถึงอำเภอ ตั้ง 8 กิโลเมตร ตอนเล็กๆ แม่พาเดิน เพราะไม่มีรถ เดิน และพักตลอดทาง) มีแค่มัธยม 1-3 แล้วต่อๆ มาก็ปิดอีก เพราะมีคนเรียนน้อย เมื่อโรงเรียนแสงมุกดาหมดชั้นให้เรียน ข้าพเจ้าต้องไปอาศัยข้าวก้นบาตรหลวงปูที่จังหวัด จบมัธยมปีที่ 6 แล้ว ก็ไม่รู้จะไปต่อที่ไหน เพราะไร้ทุนเรียน เผอิญเขาเปิดให้ไปสมัครเรียนโรงเรียนฝีกหัดครู อาจารย์ที่จบอักษรศาสตร์มา แนะนำให้ไปสมัคร จึงได้ทุนเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อยู่โรงเรียนประจำอยู่ 3 ปี พอจบหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (ป.ป.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงชวนเพื่อนที่ไม่ได้รับเลือกให้ไปต่อที่วิทยาลัยประสานมิตร (สมัยโน้น) และไม่ได้รับเลือกให้ไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะอักษรศาตร์ แต่ดันไปสอบเข้าได้ทั้งประสานมิตร และที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพราะสอบเข้าได้ ต้องเลือกเรียนอักษรศาสตร์อีก 4 ปี เมื่อจบอักษรศาตร์ ก็กลับไปเป็นครู ใช้หนี้ทุน 10 ปี ข้าพเจ้าจึงหลงลืมทุ่งนา และป่าเขาเกือบสนิท@
บทความแนะนำ