ในโอกาสนั้น หลังจากประธานคณะผู้ดำเนินงานของชมรมฯ คือ อาจารย์เจือ สตะเวทิน ได้รายงานการดำเนินงานของชมรมฯ ตามวาระปกติของการประชุม หลังจากนั้นได้เชิญศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ดำเนินการประชุมต่อไป แล้วศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล จึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประทับเป็นประธาน ของการประชุม ซึ่งต่อจากนั้นเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ภาษา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมที่จะออกความเห็นอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นเลขานุการของที่ประชุม และโปรดเกล้าฯ ให้ประธานชุมนุมฯ ดำเนินการต่อไป ซึ่งประธานชุมนุมฯ ได้ทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เชิญ ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์ ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ฯลฯ เข้าร่วมชี้แจงปัญหาการใช้ภาษาต่อไปที่ชาติไทยและคนไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ในการอภิปรายครั้งนั้น นับเป็นบุญของชาติไทยและคนไทยโดยแท้ ที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยอย่างยืดยาว และเป็นครั้งแรกในการที่ทรงมีพระราชดำริ (ถ้าเรียกภาษาธรรมดาเราว่า “อภิปรายปากเล่า” เพราะพระองค์ท่านไม่มีเอกสารมาทรงอ่านเป็นทางการอย่างที่ประชาชนทั่วๆ ไปเคยเห็น) ทรงแสดงความเห็น ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งทางภาษาไทยของยุค อย่างที่คนไทยไม่เคยได้รับพระมหากรุณาเช่นนั้นมาก่อน พสกนิกรที่เคยเห็นในภาพข่าวหรือได้อ่านบทรายงานการประชุม ต่างทึ่งในพระราชดำริต่างๆ อันมีเหตุผล อัญเชิญไปปฏิบัติได้ และได้ผลแน่นอน บทรายงานการประชุมคราวนั้น นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งของวงการภาษาไทย ซึ่งชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เคยจัดพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง (ข้าพเจ้าเคยได้ฉบับที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ เชลล์แห่งประเทศไทยฯ เคยขออนุญาตจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ในช่วงนั้นเช่นกัน) ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องติดตาม หามาไว้เป็นคู่มือในการเพิ่มพูนปัญญา เกี่ยวกับเรื่องภาษาไทยที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ ขอแทรกเรื่องการที่ประธานชุมนุมฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประทับเป็นประธานการประชุมในช่วงแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยนั้น ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ที่เวลามีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน หรือเสด็จพระดำเนินไปร่วมงานใด เจ้าภาพจักต้องเทิดพระเกียรติยศ (ไม่ใช่ “ถวายพระเกียรติ” ซึ่งแปลมาจาก “ให้เกียรติ” เพราะคนธรรมดาสามัญย่อมไม่อาจไปยกเอาเกียรติยศมาจากที่ใด ไปถวายเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) นอกจาก “เทิดพระเกียรติยศ” ที่ท่านทรงมีอยู่แล้ว ให้สูงเด่นยิ่งๆ ขึ้นไป) เป็นประธานในงาน เวลาจะบอกกล่าวดำเนินรายการ เสมือนว่าก็ต้องกราบบังคมทูล-กราบทูล หรือทูล พระบรมวงศานุวงศ์ที่เจ้าภาพเชิญเสด็จมานั้นทุกครั้ง (แม้ไม่ต้องขอพระราชทาน หรือขอประทานพระอนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์ทุกครั้ง) ไม่ใช่ว่าจะพูดอะไร เช่น ตลกโปกฮา ข้ามกรายไปมาเสมือนไม่มีเจ้านายเสด็จประทับในงานนั้น อย่างที่มักทำกันในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่เช่นนั้น ต้องไม่อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน หรือเสด็จพระดำเนิน และในงานนั้นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาพิธีกรที่รู้ราชาศัพท์ที่ใช้ได้พอเหมาะพอควร การขอพระราชทานหรือขอประทานดำเนินรายการ ควรขอพระราชทานหรือขอประทานอภัยหากใช้ราชาศัพท์ หรือถ้อยคำผิดตกบกพร่อง ไม่ใช่ขออนุญาตที่จะไม่ใช้ราชาศัพท์ เพราะเจ้านายทั้งหลายท่านไม่เคยที่จะตำหนิผู้ใช้ราชาศัพท์ผิดหรือแม้ไม่ใช้ ท่านก็ไม่เคยตำหนิอยู่แล้ว ด้วยทรงพระเมตตาว่าไม่มีใครรู้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องไปทั้งหมด ยิ่งประชาชนทั่วไปที่ไม่ค่อยได้เข้าเฝ้าเป็นประจำ ท่านยิ่งไม่ต้องพระประสงค์ให้ใช้ราชาศัพท์ด้วยเลย เพราะเกรงการสื่อสารจะไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่ควรจะได้ ประการที่ 2 การที่นายกฯ ยกบทกวีมาร่ายผ่านโทรทัศน์นั้น เป็นธรรมดาที่คนฟังอาจไม่ได้รู้จักหรือท่องบทกวีคล่องแคล่วตอนนั้นๆ มาก่อน ย่อมฟังผิดพลาดไปได้ จึงเห็นหนังสือพิมพ์ที่นำมาถ่ายทอด มีผิดเพี้ยนไปหลายแห่ง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากมีคนเอาไปเผยแพร่ต่อ ที่สำคัญ ความหมายในภาษากวีอันเยี่ยมยอดของกวีเอกในประวัติศาสตร์ของเรา ภาษาที่ใช้อาจผิดเพี้ยนไป แทนที่จะเป็นการส่งเสริม กลับจะเป็นการทำลายไปได้โดยไม่ตั้งใจ ก็ได้ การที่ผู้เขียนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลนายกฯ นั้น ไม่ใช่เป็นการมาจับผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่างใด แต่เพื่อว่า หากมีคนเอาไปอ้างอิงต่อไป จะได้กล่าวให้ถูกต้อง
บทความแนะนำ