เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2541 ที่ผ่านมา มีคนถามผู้เขียนว่าในวาระครบรอบวันถึงแก่อนิจกรรมของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีอะไรจะรำลึกถึงท่านผู้นี้บ้างผู้เขียนตอบว่าสิ่งแรกที่จะรำลึกถึงท่าน คือ บรรดาศักดิ์และราชทินนามทำนองนี้มีอยู่หลายคน และแต่ละคนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษา จึงมีราชทินนามว่า "สุนทรโวหาร" (สุนทร=ดี, งาม, ไพเราะ…โวหาร=ชั้นเชิงหรือสำนวนแต่งหนังสือหรือพูด, ถ้อยคำที่เล่นเป็นสำบัดสำนวน) อย่างบุคคลที่เป็นกวีเอกของรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่ 1-4 ที่รู้จักกันในนาม "สุนทรภู่" นั้น ซึ่งมีนามเดิม "ภู่" ก็มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระ" และมีราชทินนามว่า "สุนทรโวหาร" เราจึงเรียนท่านว่า "พระสุนทรโวหาร (ภู่)" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 นักปราชญ์ทางภาษาของไทยที่มีบรรดาศักดิ์เป็นถึง "พระยา" ก็มี ท่านที่ชื่อ “น้อย อาจารยางกูร" คือ "พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)" ซึ่งเป็นผู้แต่งตำราการเรียนภาษาไทยที่เป็นแม่แบบต่อๆ มา โดยตำราเรียนนั้น มีนามที่คุ้นหูคุ้นตาคนที่สนใจภาษาไทย คือ มูลบทบรรพกิจ, วาหนิติ์นิกร, อักษรประโยค, สังโยคพิธาน, ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ ในสมัยใกล้เคียงกันนี้ยังมี "พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์)" ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยด้วยเช่นกัน ผลงานของท่านที่ขึ้นชื่อ คือ อนิรุทธคำฉันท์ และมีบทกลอนที่กวี-นักกลอนท่องกันได้จับใจว่า กลอนสุภาพแปดคำประจำบ่อน อ่านสามตอนทุกวรรคประจักษ์แถลง ตอนต้นสามตอนสองสองแสดง ตอนสามแจ้งสามคำครบจำนวน... เป็นอาทิ ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อีกครั้ง หนังสือมูลบทบรรพกิจ เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่ใช้สอนใช้เรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเข้าใจกันว่าท่านอาจได้เค้าโครงมาจากหนังสือจินดามณี ซึ่งพระโหราธิบดี แต่งไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จินดามณี เป็นตำราว่าด้วยระเบียบของภาษา ภาษาที่ใช้ออกจะเข้าใจยากสำหรับคนยุคปัจจุบันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเสมือนตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก อย่างมีโคลงที่คนนิยม-จดจำกันได้ คือ สมุห์เสมียนเรียนรอบรู้ วิสรรชย์ พินทุ์เอกพินทุ์โททัณฑ- ฆาตคู้ ฝนทองอีกฟองมัน นฤคหิต นั้นนา แปดสิ่งนี้ใครรู้ จึ่งให้เป็นเสมียน ซึ่งมีใจความ ว่าคนที่จะเป็นสมุห์หรือเสมียนได้นั้นต้องรู้ระเบียบการใช้ภาษาอย่างน้อย 8 ประการ คือ การประวิสรรชนีย์ (การสะกดอักษร), การใช้วรรณยุกต์ (สมัยก่อนมีแค่วรรณยุกต์เอก และวรรณยุกต์โท), การใช้ทัณฑฆาต, การใช้ไม้ไต่คู้, การใช้ฝนทอง (เครื่องหมายที่ปรากฏบน “สระอี”) การใช้ฟองมัน (เครื่องหมายขึ้นย่อหน้าวรรคใหม่) และการใช้นฤคหิต ซึ่งนับว่าเป็นการเรียนรู้หลักการประสมอักษรที่ดีพอสมควร สำหรับมูลบทบรรพกิจนั้น นอกจากจะกล่าวถึงการประสมอักษรในแม่ต่างๆ เริ่มตั้งแต่ แม่ ก-กา และมีตัวสะกดใน แม่ กง, กน, กม, เกย, เกิว, กก, กด และ แม่ กบ ที่น่าสนใจ คือ ตัวอย่างคำสะกดนั้น ท่านได้ไปยกนิทานเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ของ "สุนทรภู่" ที่เขียนไว้แล้ว (อย่างน่ายกย่องอย่างยิ่ง) มาเป็นตัวอย่าง เพราะในกาพย์พระไชยสุริยาเรียงลำดับการประสมอักษรไว้อย่างดีมาก ตัวอย่างการประสมอักษรใน แม่ ก-กา กาพย์พระไชยสุริยา ว่าไว้สนุกมาก เริ่มด้วย (กาพย์ยานี 11) ดังนี้ สาธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา พ่อแม่และครูบา เทวะดาในราษี ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก-กา มี ใส่ไว้ในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามะเหษี ชื่อว่าสุมาลี อยู่บูรีไม่มีไภ ดังนี้เป็นต้น ฯลฯ พอถึง แม่ กน หลังจากประสมอักษรให้ดูแล้ว ก็จะยกถ้อยคำในกาพย์พระไชยสุริยามาเป็นตัวอย่างประกอบ (เป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์สุรางคนางค์ 28) คือ “ขึ้นใหม่ใน กน ก-กาว่าปน ระคนกันไป เอ็นดูภูธร มานอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน” ฯลฯ พอถึง แม่ กง ท่านก็บอกการสะกด-การผันวรรณยุกต์แล้วก็ยกตัวอย่างจากกาพย์พระไชยสุริยา เช่น "ขึ้นกงจงจำสำคัญ ทั้งกนปนกัน รำพันมิ่งไม้ในดง ไกรกร่างยางยูงสูงระหง ตลิงปลิงปริงประยงค์ คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง" ฯลฯ เป็นกาพย์ฉบัง 16 ที่กล่าวถึงพรรณไม้ได้อย่างไพเราะ ตามด้วยการบรรยายถึงสัตว์และนก เช่น "เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ พระแสงสำอางข้างเคียง" ฯลฯ เป็นเช่นนี้ไปทุกแม่จนหมดเรื่องการผสมสระทุกๆ มาตรา รวมทั้งการผันวรรณยุกต์ด้วย นอกจากนั้นยังมีการใช้ตัวอักษรบางตัว เช่น ศ-ษ-ส การนับ (รวมทั้งมาตราชั่งตวงวัดและการนับวัน เดือน ปีด้วย) นั่นว่าเฉพาะมูลบทบรรพกิจ อ่านแล้วสนุกด้วย ได้ความรู้สึกซึ้งไปด้วย
บทความแนะนำ