ชีวิตคือความรื่นรมย์
ทบทวนเรื่องเกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติ (1)
ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปมีส่วนโดยตรงในการจัดงาน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” มาหลายปีแล้ว แต่ก็ได้ช่วยปิดทองหลังพระอยู่บางรายการอย่างมีความสุขพอประมาณในการให้ข้อมูลและความคิดเห็น ตลอดจนผลงานที่เกิดขึ้นในการทำหน้าที่นั้นๆเท่าที่ติดตามดูความเคลื่อนไหวในการจัดงานมา ยังมีสื่อมวลชนที่ยังขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวันนี้ เช่น ประการที่ 1 ที่คนทั่วไปทราบแล้วว่า ที่รัฐบาลให้ถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมในการประชุมวิชาการของ “ชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ที่ตึกอักษรศาสตร์ 1 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 และในโอกาสนั้นพระองค์ได้พระราชทานกระแสพระราชดำริ เรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทย กระแสพระราชดำริครั้งนั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทั่วไปควรน้อมรับใส่เกล้าฯ อัญเชิญนำไปปฏิบัติตลอดไป ประการที่ 2 เนื่องในอภิลักขิตสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ 6 รอบ ในปี 2542 คณะรัฐบาลที่มี ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 เห็นชอบให้ถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และให้มีการดำเนินภารกิจในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอันที่จะสนับสนุนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยให้กว้างขวาง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องงดงาม เป็นประจำทุกปีต่อไป (ซึ่งตามความเป็นจริงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายหน้าที่จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมนานาประการมาเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พศ. 2526 มาแล้ว) ประการที่ 3 รัฐบาลได้ประกาศให้มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ พศ. 2542 เป็นต้นมา การจัดงาน (ในพศ. 2553) นี้ จึงถือเป็นการจัดงานปีที่ 11 สามประการนี้ สื่อสารมวลชนควรทำความเข้าใจและแยกแยะออกให้ได้ ประการที่ 4 เคยมีคนทำสื่อบางคนจับแพะชนแกะว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ เกี่ยวข้องกับหรือเป็นวันเดียวกับที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อ พศ. 1826 นั้น ทำให้เยาวชนบางคนไขว้เขว ได้ข้อมูลผิดๆ ไปด้วย ในโอกาสวันภาษาไทยปีนั้น ผู้เขียนได้สังเกตว่ามีผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่กระจ่างอยู่บ้าง จึงใคร่ที่ทำความกระจ่างเรื่องนี้ให้เพิ่มเติม เท่าที่รู้ เผื่อจะได้แก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องนั้นในอนาคต เรื่องแรกที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติปีนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี(สมัยนั้น) ออกมาแสดงความรอบรู้เรื่องภาษาไทย ซึ่งประชาชนทั่วไปต่างก็แสดงความคิดมานานแล้วว่า อยากให้คนที่เป็นผู้นำและผู้บริหารในกิจการทั้งหลาย ไม่ว่าระดับไหนๆ ทั้งในวงราชการหรือเอกชน ยิ่งในรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดการใช้ภาษาของสมาชิกผู้ทรงเกียรติแพร่ไปทั่วหัวระแหง ขอได้โปรดเอาใจใส่และให้ความสำคัญต่อการใช้ภาษาไทย-ขอย้ำว่าการใช้ภาษาไทย-ตามรอยพระราชดำริและตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9) ซึ่งพระราชทานไว้ต่างกรรมต่างวาระเสมอๆ ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติและของภาษาไทย การที่นายกรัฐมนตรี (สมัยนั้น) ออกมากล่าวถึงการใช้ภาษาไทยเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน ผู้เขียนเพียงขอเพิ่มเติมซ่อมแซมที่นายกฯ พูดไป เพราะการพูดของนายกฯ พูดอย่างผู้รู้ และเข้าใจภาษาและวรรณคดีมานาน แต่คนฟังโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจตามไม่ทัน และฟังผิดๆ ไปบางประโยคบางตอน ข้าพเจ้าในฐานะผู้ “มองภาษา” จึงขอเสริมในบางตอน เพื่อช่วยให้คนทั่วไปได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ประการแรก ที่นายกฯ (สมัยนั้น) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไป “ทรงเป็นประธานการประชุม...” (ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “การประชุมวิชาการ”) ตามความเป็นจริงในเอกสารที่เป็นทางการของชุมนุมฯ (ไม่ใช่ “ชมรม”) ว่า “บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริเรื่องปัญหาการใช้คำไทย” เป็นการแสดงว่า พระองค์ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นในฐานะ “ประธานในการประชุม” เพราะประธานในการประชุม คือ ประธานชุมนุมฯ คือ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล (ขณะนั้นตำแหน่งทางราชการของท่าน คือ หัวหน้าแผนกวิชาภาษาไทย ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) แม้ในคำกราบบังคมทูลของศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายปกครองและคณบดีคณะอักษรศาสตร์ (ในตอนนั้น) ก็ใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระมาหากรุณา เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทย...” จึงสรุปได้ว่าพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในฐานะผู้ร่วมการประชุม ในโอกาสนั้น หลังจากประธานคณะผู้ดำเนินงานของชมรมฯ คือ อาจารย์เจือ สตะเวทิน ได้รายงานการดำเนินงานของนุมนุมฯ ตามวาระปกติของการประชุม หลังจากนั้นได้เชิญศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ดำเนินการประชุมต่อไป แล้วศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล จึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเป็นประธานของการประชุม ซึ่งต่อจากนั้นเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ภาษา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมที่จะออกความเห็นอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นเลขานุการของที่ประชุม และโปรดเกล้าฯ ให้ประธานชุมนุมฯ ดำเนินการต่อไป ซึ่งประธานชุมนุมฯ ได้ทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เชิญ ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์ ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ฯลฯ เข้าร่วมชี้แจงปัญหาการใช้ภาษาต่อไป ที่ชาติไทยและคนไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ในการอภิปรายครั้งนั้น นับเป็นบุญของชาติไทยและคนไทยโดยแท้ ที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยอย่างยืดยาว และเป็นครั้งแรกในการที่ทรงมีพระราชดำริ (ถ้าเรียกภาษาธรรมดาเราว่า “อภิปรายปากเล่า” เพราะพระองค์ท่านไม่มีเอกสารมาทรงอ่านเป็นทางการอย่างที่ประชาชนทั่วๆ ไปเคยเห็น) ทรงแสดงความเห็น ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งทางภาษาไทยของยุค อย่างที่คนไทยไม่เคยได้รับพระมหากรุณาเช่นนั้นมาก่อน พสกนิกรที่เคยเห็นในภาพข่าวหรือได้อ่านบทรายงานการประชุม ต่างทึ่งในพระราชดำริต่างๆ อันมีเหตุผล อัญเชิญไปปฏิบัติได้ และได้ผลแน่นอน บทรายงานการประชุมคราวนั้น นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งของวงการภาษาไทย ซึ่งชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เคยจัดพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง (ข้าพเจ้าเคยได้ฉบับที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ เชลล์แห่งประเทศไทยฯ เคยขออนุญาตจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ในช่วงนั้นเช่นกัน) ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องติดตามหามาไว้เป็นคู่มือในการเพิ่มพูนปัญญาเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทยที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ ขอแทรกเรื่องการที่ประธานชุมนุมฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัว ประทับเป็นประธานการประชุมในช่วงแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยนั้น ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ที่เวลามีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน หรือเสด็จพระดำเนินไปร่วมงานใด เจ้าภาพจักต้องเทิดพระเกียรติยศ (ไม่ใช่ “ถวายพระเกียรติ” ซึ่งแปลมาจาก “ให้เกียรติ” เพราะคนธรรมดาสามัญย่อมไม่อาจไปยกเอาเกียรติยศมาจากที่ใด ไปถวายเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) นอกจาก “เทิดพระเกียรติยศ” ที่ท่านทรงมีอยู่แล้ว ให้สูงเด่นยิ่งๆ ขึ้นไป) เป็นประธานในงาน เวลาจะบอกกล่าวดำเนินรายการ เสมือนว่าก็ต้องกราบบังคมทูล-กราบทูล หรือทูล พระบรมวงศานุวงศ์ที่เจ้าภาพเชิญเสด็จมานั้นทุกครั้ง (แม้ไม่ต้องขอพระราชทาน หรือขอประทานพระอนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์ทุกครั้ง) ไม่ใช่ว่าจะพูดอะไร เช่น ตลกโปกฮา ข้ามกรายไปมาเสมือนไม่มีเจ้านายเสด็จประทับในงานนั้น อย่างที่มักทำกันในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่เช่นนั้น ต้องไม่อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน หรือเสด็จพระดำเนิน และในงานนั้นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาพิธีกรที่รู้ราชาศัพท์ที่ใช้ได้พอเหมาะพอควร การขอพระราชทานหรือขอประทานดำเนินรายการ ควรขอพระราชทานหรือขอประทานอภัยหากใช้ราชาศัพท์ หรือถ้อยคำผิดตกบกพร่อง ไม่ใช่ขออนุญาตที่จะไม่ใช้ราชาศัพท์ เพราะเจ้านายทั้งหลายท่านไม่เคยที่จะตำหนิผู้ใช้ราชาศัพท์ผิดหรือแม้ไม่ใช้ ท่านก็ไม่เคยตำหนิอยู่แล้ว ด้วยทรงพระเมตตาว่าไม่มีใครรู้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องไปทั้งหมด ยิ่งประชาชนทั่วไปที่ไม่ค่อยได้เข้าเฝ้าเป็นประจำ ท่านยิ่งไม่ต้องพระประสงค์ให้ใช้ราชาศัพท์ด้วยเลย เพราะเกรงการสื่อสารจะไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่ควรจะได้ ประการที่สองการที่นายกฯ ยกบทกวีมาร่ายผ่านโทรทัศน์นั้น เป็นธรรมดาที่คนฟังที่อาจไม่ได้รู้จักหรือท่องบทกวีคล่องแคล่วตอนนั้นๆ มาก่อน ย่อมฟังผิดพลาดไปได้ จึงเห็นหนังสือพิมพ์ที่นำมาถ่ายทอด มีผิดเพี้ยนไปหลายแห่ง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากมีคนเอาไปเผยแพร่ต่อ ที่สำคัญ ความหมายในภาษากวีอันเยี่ยมยอดของกวีเอกในประวัติศาสตร์ของเรา ภาษาที่ใช้อาจผิดเพี้ยนไป แทนที่จะเป็นการส่งเสริม กลับจะเป็นการทำลายไปได้โดยไม่ตั้งใจ ก็ได้ การที่ผู้เขียนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลนายกฯ นั้น ไม่ใช่เป็นการมาจับผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่างใด แต่เพื่อว่า หากมีคนเอาไปอ้างอิงต่อไป จะได้กล่าวให้ถูกต้อง
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์