ต่อไปนี้ เราจะไม่มีโอกาสได้ถวายราชสดุดีหรือรอรับพรพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกแล้ว ตลอด 69 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 มีพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ตลอดทั้งแนวพระราชดำริที่รับสั่งหลายกาละและเทศะแก่คณะบุคคลหลากองค์กร แต่มากเกินจะอัญเชิญมาได้ครบถ้วน แต่ยังมีบางบทบางประโยค (ราชาศัพท์ใช้ว่า “บางองค์”) ที่ขออัญเชิญมาหลายคนคงเคยได้อ่านจากเอกสารหลายฉบับแล้วว่า หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ตามประกาศการสืบพระราชสันตติวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิทเซอร์แลนด์ ดังนั้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2489 พระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปนมัสการลาพระแก้วมรกต ตลอดรายทางเสด็จพระราชดำเนินมีประชาชนเฝ้ารับเสด็จ เมื่อถึงวัดเบญจมบพิตร มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนเสียงดังว่า “อย่าละทิ้งประชาชน”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงบันทึกไว้ใน “บันทึกประจำวัน” ว่า “อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนจบ แล้วเสด็จนิวัตประเทศเพื่อการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งพระองค์ได้ประกาศพระปฐมบรมราชโองการอันเป็นเสมือนพระราชปณิธาน หรือสัญญาอมตะว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”ผู้เขียนเคยตัดหนังสือพิมพ์ที่อัญเชิญพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ไว้มาก แต่ตอนยกแฟ้มหนีน้ำจนบัดนี้ก็ยังหาไม่พบ แต่นับว่าโชคดีที่มิตรสนิทผู้หนึ่งมอบหนังสือชื่อ “พระราชดำรัสดับวิกฤติชาติ” ซึ่งรวบรวมโดยกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณจัดพิมพ์ (ครั้งที่ 3) จึงขออนุญาตและขอขอบคุณ คุณสนธิญาณชื่นฤทัยในธรรม บรรณาธิการอำนวยการ ไว้ ณ ที่นี้ที่ได้ทำหน้าที่พลเมืองดี รวบรวบไว้ (แม้ส่วนนิดเดียวของพระราชดำรัสอันมากมายมหาศาล) มาไว้เตือนใจและเป็นมงคลแก่พลเมืองทั้งหลายจะได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันมีมหาศาลต่อชาติและพสกนิกรทั่วไป แม้ชาวต่างชาติก็ได้รับใส่เกล้าฯ ไปปฏิบัติเป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่เฉกเช่นพระราชวงศ์กษัตริย์แห่งภูฏานอัญเชิญไป ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทด้วยความเคารพยิ่ง ต่อไปนี้คือเสี้ยวนิดเดียวที่ขอคัดมาจากหนังสือนั้น “ขอยืนยันว่ามาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ข้าพเจ้าไม่ เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย...” (รับสั่งถึง มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549) “วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย...เราขอให้ทุกฝ่ายจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ยังความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน” (14 ตุลาคม 2516) “เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคนเข้าหากันไม่เผชิญหน้ากัน แก้ไขปัญหาเพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่าบ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางอันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่าเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง” “ในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้องอาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้” และที่ประทับใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งมวล คือ “ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปกติสุข” จำเป็นต้องขออัญเชิญมาเพียงเท่านี้ เพราะมีมากมายมหาศาลจริงๆ และพระราชดำรัสทุกองค์ของพระองค์ อัญเชิญไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่อง รวมทั้งในมหาอุทกภัยต่างๆ และที่สำคัญ อยากให้ผู้ปกครองบ้านเมืองได้อัญเชิญพระราชดำรัสตอนนี้ใส่เกล้าฯ ไปไตร่ตรองและปฏิบัติ อย่ามัวแต่สร้างละครงี่เง่าเร่งเร้าให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายไปกว่านี้ ไม่ว่าจะในอนาคตอันใกล้หรือเมื่อใดก็ตาม
บทความแนะนำ