รอบรู้เรื่องรถ
ขี่ "บิกไบค์" ต้องใช้สมอง
ถึงไม่อยากใช้คำในภาษาอังกฤษ ก็จำเป็นต้องใช้ครับ เพราะยังไม่มีการบัญญัติให้ใช้อย่างเป็นทางการ จะโดยใครก็ตาม โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจกันว่า คือ ราชบัณฑิตยสถาน ถ้าใช้ก็อย่ารีรอตั้งท่าอยู่เลยครับ อย่าปลอบใจประชาชนใช้คำทับศัพท์จนคุ้นเคย แล้วจึงค่อยเผยแพร่ออกมาทำนองเดียวกับการบัญญัติคำไทยของ SOFTWARE และHARDWARE ซึ่งนอกจากจะล่าช้าจนเกิดความล้มเหลวแล้ว ยังเกิดการเข้าใจผิด จนทำให้ตัวแทนของราชบัณฑิตยสถานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ต้องเสียชื่อเสียง ได้รับความอับอายจากการถูกประชาชนเย้ยหยัน แล้วยังล่าช้าจนคำที่ถูกบัญญัติ ซึ่งผมเห็นว่าแปลได้ดี หมดโอกาสถูกประชาชนเลือกเปลี่ยนมาใช้ คำแปลว่า “ละมุนภัณฑ์” และ “กระด้างภัณฑ์” ที่ตรงทางภาษาจนน่าสมเพชนี้ ถูกบัญญัติโดยนักการเมืองในรัฐสภาครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง ตั้งแต่นั้นก็ถูกโหมกระพือโดยสื่อต่างๆ ให้เข้าใจผิดว่าเป็นการแปลโดยสมาชิกของราชบัณฑิตยสถาน ส่วนคำที่ถูกบัญญัติอย่างเป็นทางการ คือ “ส่วนชุดคำสั่ง” และ “ส่วนเครื่อง” หรือ “ส่วนอุปกรณ์” ซึ่งความหมายตรงกับการใช้งานดีมาก เพียงแต่เผยแพร่ออกมาล่าช้า และเป็นวงแคบ การบัญญัติศัพท์ภาษาไทย ให้ตรงกับความหมายในภาษาอื่นนั้นยากมาก แต่ถึงจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย (หรือมากก็ตาม) ก็ไม่ได้เป็นปัญหาในการให้ประชาชนนำมาใช้อย่างแพร่หลายเลย เพราะเมื่อใช้งานจนคุ้นเคย เราจะนึกถึงสิ่งนั้นโดยตรง โดยมิได้คำนึงว่า แท้ที่จริงนั้นมันแปลว่าอะไร เช่น คำว่า เชื้อเพลิง ซึ่งแปลมาจากคำว่า FUEL แม้ความหมายของคำต้นทางไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเปลวเพลิงเสมอไปก็ตาม ถึงเวลาบัญญัติศัพท์ไทย แทนคำว่า บิกไบค์ อย่างเร่งด่วนแล้ว หากต้องการให้มีการใช้ภาษาไทยสำหรับคำนี้อย่างเป็นทางการ นอกจากการบัญญัติคำแล้ว ยังต้องมีการตีความด้วยว่า รถที่เข้าข่ายถูกเรียกว่า บิกไบค์ ต้องมีลักษณะเช่นใด เนื่องจากขนาด และน้ำหนักของรถ ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ของจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์นี้ จากโรงงานผู้ผลิตมิได้ใช้อุปกรณ์ช่วยอัดอากาศ หรือส่วนผสมของอากาศกับเชื้อเพลิง กำลังของเครื่องยนต์จึงขึ้นอยู่กับความจุ DISPLACEMENT หรือ SWEPT VOLUME ของเครื่องยนต์เป็นหลัก จึงน่าจะกำหนดความเป็น บิกไบค์ ด้วยค่านี้ ซึ่งผมไม่ขอออกความเห็นว่าควรเป็นคำใด




ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2561
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ