เครื่องยนต์ที่ทำงานจนอุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเชียส ให้กำลังสูงขึ้น รถวิ่งดีขึ้น และช่วยประหยัดเชื้อเพลิงรถยนต์สมัยใหม่หลายรุ่น มักมีตัวเลขบอกความร้อนเครื่องยนต์บนมาตรวัด ผู้ใช้รถหลายคนเห็นแล้วตกใจ เพราะตัวเลขเหล่านี้มักโชว์ที่ 90-110 องศาเซลเซียสเป็นประจำ ความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ คือ กลัวเครื่องยนต์ “ร้อนเกินไป” เพราะถูกสอนทั้งทางตรง และทางอ้อมว่า ยิ่งเครื่องยนต์ร้อนขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่ง “ไม่ดี” และน่ากังวลมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะตัวเลข 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตัวเลขจุดเดือดของน้ำที่เราคุ้นเคย ความจริงแล้ว เครื่องยนต์ที่ร้อนเกิน 100 องศาเซลเชียส คือ ร้อนกว่าจุดเดือดของน้ำ (ภายใต้ความดันบรรยากาศเฉลี่ยปกติ) จะยิ่งทำงานได้กำลังสูงขึ้น รถวิ่งดีขึ้น และช่วยประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเห็นตัวเลขเกิน 100 องศาเซลเซียสไปแล้ว อย่าตกใจครับ ตราบใดที่เข็มวัดความร้อนเครื่องยนต์ หรือไฟสีแดงรูปอุณหภูมิยังไม่ติด ก็ไม่ต้องห่วงอะไร เพราะยังมีตัวช่วยเพิ่มจุดเดือดของน้ำอีก 2 อย่าง คือ “ฝาหม้อน้ำ” ระบบระบายความร้อนในรถยนต์ของเราเป็นแบบปิด ที่ฝาหม้อน้ำจะมีสปริงควบคุมความดันเอาไว้ เพื่อให้ความดันของน้ำหล่อเย็น สูงกว่าความดันบรรยากาศ พูดง่ายๆ คือ ยกระดับจุดเดือดของน้ำให้สูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นรถทั่วไปที่ความดัน 0.9 บาร์ จากโรงงาน ก็แสดงว่ายกระดับจุดเดือดไปมากพอแล้ว ส่วน “น้ำหล่อเย็น” ที่ทำหน้าที่หลักในการระบายความร้อน ต้องเติมสาร “เอธิลีน กไลคอล” ผสมกับน้ำเปล่าในหม้อน้ำทุกครั้ง เพื่อเพิ่มจุดเดือดของน้ำให้สูงขึ้นกว่า 100 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันเวลาเย็นจัด ก็ต้องมีความสามารถในการลดจุดเยือกแข็งที่ 0 องศาเซลเซียสลงได้เช่นกัน สรุป หากขึ้นเขาสูงในหน้าร้อน หรือรถติดหนัก แล้วแอบไปเห็นอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส ไม่ต้องกังวลไปครับ ข้อสำคัญ คือ ต้องขึ้นสูงแล้ว ไปหยุดอยู่ที่ค่าหนึ่ง แต่ถ้า “ไต่” ขึ้นไปไม่หยุดจนถึงขีดแดง แบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องรีบดับเครื่องยนต์แล้วตรวจสอบทันที เพราะแสดงถึงความผิดปกติของระบบระบายความร้อน น้ำในหม้อน้ำอาจพร่องไป หรือมีการแตกรั่วที่ใดที่หนึ่ง