สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) หรือ THAILAND AUTOMOTIVE JOURNALISTS ASSOCIATION (TAJA) จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ชี้แนวร่วม รัฐ เอกชน เปิดยุทธศาสตร์ยานยนต์ใหม่ รุกทันกระแสโลก...?" โดยมีผู้บริหารจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำ และองค์กรภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงภาพรวมว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ก้าวสู่มิติใหม่ มีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด คาดว่า ประมาณการการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะสร้างสถิติใหม่อีกครั้งที่ 2,100,000 คัน เติบโต 5.59 % เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 15.96 % และผลิตเพื่อการส่งออก 1,100,000 คัน ลดลง 2.35 % ด้าน กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์กลุ่มพรีเมียมในปี 2560 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตสูงถึง 27 % และคาดว่าปี 2561 ตลาดรถกลุ่มพรีเมียมจะมียอดขายอยู่ที่ระดับ 28,000 คัน โตจากปีก่อนหน้า 12 % โดยในปี 2559 บีเอมดับเบิลยู เริ่มเข้ามาทำตลาดรถยนต์พลักอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า โดยลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ 50 สถานี ซึ่งจะดำเนินการได้ครบถ้วนภายในปีนี้ ผลของการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2561 รถยนต์ บีเอมดับเบิลยู พลัก-อิน ไฮบริด มีอัตราการเติบโตสูงถึง 112 % ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางการพัฒนารถยนต์ มาซดา ในอนาคตว่า มาซดา ยังคงยึดแนวคิด ZOOM-ZOOM มุ่งเน้นโมเดลธุรกิจ CASE: C=CONNECTED, A=AUTONOMOUS, S=SHARED, E=ELECTRIC พร้อมวางแผนทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ว่า ปี 2573 จะลดการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปให้ได้ 50 % และในปี 2593 จะลดให้ได้ 90 % โดยตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และพลัก-อิน รวมทั้ง อีวี ให้ได้ 95 % ของการผลิตรถทั้งหมด นอกจากนี้ มาซดา ยังมีแผนนำเสนอยานยนต์ไร้คนขับออกสู่ตลาดในปี 2568 "รถไฟฟ้าของทาง มาซดา จะเป็นเครื่องโรตารีมาใช้ในการสร้างกระแสไฟฟ้ากลับไปสู่แบทเตอรีในรูปแบบไฮบริด รวมถึงจะมีการต่อยอดการผลิตให้รองรับแกสแอลพีจี เพื่อเตรียมพร้อมเรื่องกระแสไฟฟ้าที่อาจโดนผลกระทบจากพายุ หรือไฟฟ้าดับ สามารถนำเชื้อเพลิงจากแกสแอลพีจีมาใช้กับรถ แล้วจ่ายไฟกลับไปยังเครื่องใช้ภายในบ้าน" องอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับ 12 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นที่ 1 ของอาเซียน และโอเชียเนีย รวมถึงตะวันออกกลาง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ และที่สำคัญ ยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เรื่องของความคุ้มค่าในการผลิต เทียบเท่าญี่ปุ่น และประเทศชั้นนำของโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันมีแนวโน้มไปที่การผลิตรถพลังงานไฟฟ้า หรืออีวี ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ที่สำคัญที่สุด คือ มีมลภาวะน้อยกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้เชื้อเพลิง โดยหลายประเทศได้มีการพัฒนาและมีการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ยุโรป คาดว่าปี 2573 จะมีรถที่เป็นไฮบริด หรือพลัก-อิน และอีวี อยู่ที่ 20-30 % ส่วนมหาอำนาจอย่างจีน ตั้งเป้าว่าในปี 2593 จีนจะใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าปี 2593 จะลดแกสเรือนกระจกให้ได้ 80 % โดยในอนาคตอันใกล้รถยนต์ 100 คัน จะต้องเป็นรถไฟฟ้า 20-30 % สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มองแนวโน้มตลาดรถยนต์ว่า ในฐานะที่ นิสสัน เป็นบริษัทข้ามชาติ การกำหนดกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจจึงเป็นกลยุทธ์ระดับโลกเพื่อตอบโจทย์การตลาดทั่วโลก ซึ่งจะขับเคลื่อนภายใต้ปรัชญา "NISSAN INTELLIGENT MOBILITY: NIM" หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขับขี่ในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศ ชุมชน และผู้ขับขี่เข้าด้วยกัน เพื่อโลกสะอาดและปลอดภัย โดยนับจากนี้ไป นิสสัน จะสร้างบแรนด์ภายใต้องค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ NISSAN INTELLIGENT POWER: ความก้าวล้ำของระบบขับเคลื่อน NISSAN INTELLIGENT DRIVING: ความก้าวล้ำของการขับขี่ และ NISSAN INTELLIGENT INTEGRATION: ความก้าวล้ำของการผสานเทคโนโลยี จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ การเคลื่อนไหว และการเชื่อมต่อ (MOBILITY+CONNECTED) จะเข้ามาอยู่ในรถยนต์และเคลื่อนไหวไปพร้อมกับรถและผู้ขับขี่ "สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลของ นิสสัน ระบุว่า มีคนมากถึง 40 % สนใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยจำนวน 1 ใน 3 ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มอีก 5 % เพื่อที่จะได้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า"
บทความแนะนำ