ตลาดโดยรวม | +21.0% |
รถยนต์นั่ง | +18.0 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | +36.1 % |
รถอเนกประสงค์ (MPV) | +5.7 % |
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ | +22.2 % |
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ | +24.1 % |
อื่นๆ | +2.0 % |
รื่นเริงบันเทิงใจรับปีใหม่ 2562 กันด้วยความชื่นมื่น เมื่อตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน มีปริมาณการขาย 94,643 คัน เพิ่มขึ้น 21.2 % ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการขายจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีมาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุนและการใช้จ่ายส่งผลให้ยอดขายสะสมตั้งแต่ต้นปีเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นความเห็นจากค่ายยักษ์ใหญ่จากสำโรง และเชื่อกันอีกว่า ปี 2562 นี่ก็จะยังคงมีปริมาณการขายที่ค่อนข้างคงที่ เพราะบรรดาโครงการใหญ่เบิ้มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางด่วน รถไฟทางคู่ และอีกหลายโครงการ จะเริ่มต้นลงมือทำงานกันอีกแล้ว แต่บนความราบเรียบของฟองคลื่น ใต้ผิวน้ำลงไป ก็ยังมีคลื่นใต้น้ำที่หมุนวนเป็นเกลียวอยู่เช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองถึงตลาดส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยในปี 2562 นี้ ยังน่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหลายด้าน เมื่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศต้องเจอกับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าโลก ความผันผวนของอัตราค่าเงินในประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ไม่เพียงเท่านี้การย้ายฐานการผลิตรถยนต์เข้าใกล้ตลาดมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในบางกรณีอาจส่งผลลบต่อการส่งออกรถยนต์ไทย เช่น ทวีปยุโรป หรือทวีปอเมริกาเหนือ ที่จะมีผลในระยะถัดไปด้วย หลังความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (UNITED STATES-MEXICO-CANADA AGREEMENT: USMCA) ซึ่งมีการตั้งข้อกำหนดเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้ารถยนต์ที่เข้มงวดขึ้นมาก และมุ่งเน้นให้เกิดการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก จะถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกไทยตั้งแต่ช่วงปี 2562 จากการลงทุนของค่ายรถในประเทศสมาชิก USMCA มากขึ้น