เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2025/2024
ตลาดโดยรวม -6.7 %
รถยนต์นั่ง -4.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -7.0 %
กระบะ 1 ตัน -14.3 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +31.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2025/2024
ตลาดโดยรวม -9.5 %
รถยนต์นั่ง -14.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -4.1 %
กระบะ 1 ตัน -14.3 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +36.1 %
ช่วงนี้ตลาดรถยนต์ดูเหมือนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เลย ตัวเลขการขายที่แสดงออกมาชัดเจนนั้น แน่นอนว่าเราเสียแชมพ์ให้แก่เพื่อนบ้านในอาเซียนไปนานแล้ว ไทยไม่ใช่พี่ใหญ่แห่งตลาดรถยนต์ของภูมิภาคนี้อีกต่อไป ตลาดที่มีขึ้นมีลง แต่เมืองไทยนั้นไม่เหมือนใครตรงที่ “ลงยาวขึ้นยาก”
ระหว่างนี้ หากทุกท่านสังเกต เราจะเห็นว่าฝั่งรถญี่ปุ่นได้แสดงท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากที่ปฏิเสธก็เริ่มเห็นด้วย เพราะผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนแทนการลงทุนประกอบในประเทศ โมเดลธุรกิจนี้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ของบ้านเราโดยตรงต่อรถยนต์นั่ง และรถเอนกประสงค์ อย่าลืมว่าไทยเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน
การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้าใจว่า ญี่ปุ่นจะทิ้งฐานการผลิตรถยนต์นั่งในไทยใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ เราต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว
ในอดีต ผู้ผลิตญี่ปุ่นเน้นแนวทางการผลิตโดยประกอบรถในประเทศ และส่งออกรถไปขายยังภูมิภาคที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี EV ทำให้รถยนต์จากค่ายจีนกลายเป็นทางเลือกที่ดึงดูดมากขึ้น บแรนด์ญี่ปุ่นบางราย เช่น HONDA (ฮอนดา) MAZDA (มาซดา) และ NISSAN (นิสสัน) ก็เริ่มใช้พแลทฟอร์ม และชิ้นส่วนจากจีน เพื่อแข่งขันกับตลาดได้ดีขึ้น
สถานการณ์การนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนของบแรนด์รถญี่ปุ่น เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะหากยึดแนวนี้ ฐานการผลิตรถยนต์นั่งในไทยอาจถูกลดบทบาทจากรถเก๋ง เหลือรถพิคอัพเพียงอย่างเดียว
จีนนั้นรุกหนัก มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไฮบริดในตลาดรถเก๋ง และรถอเนกประสงค์ ต่อจากการโหมบุกเรื่องรถยนต์นั่ง เร็วๆ นี้ พิคอัพจากจีนก็ปรากฏตัวหลากหลายรุ่น แม้ว่าจีนเพิ่งเริ่ม และพัฒนารถพิคอัพสำหรับผู้โดยสารระดับไฮเอนด์ก็ตาม
หากญี่ปุ่นนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนมากขึ้น อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ในไทยอาจได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) และรถแบบไฮบริดมาอย่างยาวนาน หากผู้ผลิตญี่ปุ่นลดกำลังการผลิตในไทย และเลือกนำเข้าแทน จะทำให้เกิดปัญหาทั้งในแง่ของการจ้างงาน และการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยี EV แม้ว่าญี่ปุ่นไม่อยากทำเช่นนี้ แต่รถไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่นำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่า สามารถแข่งขันได้กับตลาด บแรนด์ญี่ปุ่นเหล่านี้คงไม่ปล่อยให้ฝั่งบแรนด์จีนครองส่วนแบ่งการตลาดไปง่ายๆ
ภาครัฐเองก็พยายามกระตุ้นให้ญี่ปุ่นลงทุน EV ในไทยมากขึ้น ทั้งมาตรการจูงใจทางภาษี และสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ค่ายญี่ปุ่นยังคงเลือกไทยเป็นฐานการผลิต EV แทนการนำเข้า แต่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นรุนแรง ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ญี่ปุ่นวันนี้ หากผลิตรถต้นทุนต่ำสู้จีนไม่ได้ ก็หันไปใช้ประโยชน์จากแหล่งนำเข้าต้นทุนต่ำอย่างจีนเสียเลย
ต้องดูกันยาวๆ ต่อไปว่า การที่ญี่ปุ่นเลือกนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนแทนการผลิตในประเทศ ความสำคัญของฐานผลิตในไทย จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?