เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2025/2024
ตลาดโดยรวม -12.3 %
รถยนต์นั่ง -22.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -1.1 %
กระบะ 1 ตัน -14.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +41.7 %
เห็นยอดขายรถยนต์เดือนมกราคม 2568 สถิติที่แสดงก็ตามคาดการณ์ คือ ตลาดรถไทยยังติดอยู่ในแดนลบต่อไป นี่ก็เกิน 18 เดือนมาแล้วที่เกิดภาวะเช่นนี้ ข่าวการชะลอตัวของตลาดรถไทยมาพร้อมกับประเด็นใหม่ นั่นคือ “แผนกำจัดรถเก่า” ซึ่งเรื่องนี้เริ่มต้นจากสื่อใหญ่เมืองนอกตีข่าวว่าไทยกำลังจะทำโครงการกำจัดรถเก่า เพื่อกระตุ้นการบริโภครถในประเทศที่กำลังตกต่ำ “รถเก่าที่มีอายุเกิน 10 ปีอาจถูกบังคับให้ทิ้ง"
หากบังคับเลิกใช้รถเก่าจริงๆ ถือว่าเป็นทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเลยครับ ฟังๆ ข้อมูลดูแล้ว เป้าหมายโครงการนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อรถใหม่ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่จะตามมา
นโยบายการควบคุมการใช้รถยนต์เก่ากำลังเป็นประเด็นสำคัญในหลายประเทศทั่วโลกก็จริง แต่จุดมุ่งหมายหลักส่วนใหญ่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดมลพิษ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แนวทางของแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างของอุตสาหกรรมประเทศนั้นๆ เช่น สิงคโปร์ เกาะเล็กๆ จัดว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมจำนวนรถที่เข้มงวดที่สุดในโลก ระบบ CERTIFICATE OF ENTITLEMENT (COE)จะกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ต้องไปประมูลใบอนุญาตใช้รถยนต์เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากครบกำหนดเจ้าของรถสามารถต่ออายุ COE ได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เจ้าของส่วนใหญ่เลือกที่จะขาย หรือเลิกใช้ ระบบนี้บีบคนเงินน้อยแทบไม่มีโอกาสซื้อรถ เพราะราคา COE เท่ากับ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อรถใหม่
ประเทศญี่ปุ่นมีระบบตรวจสภาพรถยนต์ เรียกว่า SHAKEN เป็นการบีบทางอ้อมสำหรับคนใช้รถเก่า SHAKEN จะตรวจสภาพรถยนต์อย่างเข้มงวดทุกๆ 2-3 ปี ค่าธรรมเนียมในการตรวจสภาพรถยนต์จะโหดมาก เมื่ออายุรถเพิ่มขึ้น ทำให้การเป็นเจ้าของรถเก่ามีต้นทุนสูงมาก แต่รัฐบาลญี่ปุ่นมีเงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่นำรถเก่าไปแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือไฮบริด ที่จีนนโยบายนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยไม่ได้กำหนดอายุการใช้งานของรถโดยตรง แต่มีข้อกำหนดว่ารถยนต์ส่วนบุคคลที่มีระยะทางเกิน 6 แสนกิโลเมตร ควรถูกนำไปทิ้ง หรือรีไซเคิล ล่าสุดเริ่ม 1 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
ประเทศจีนจะใช้มาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบรถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบระบบแบทเตอรี มอเตอร์ และระบบควบคุมอีเลคทรอนิคส์อย่างเข้มงวด คือ เอาคอมฯ ไปจิ้ม OBD ใครไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ครั้ง จะถูกบังคับถอดทะเบียน ซึ่งก็หมายถึง ห้ามใช้ กติกาใหม่นี้คนจีนบ่นกันเยอะ เพราะไม่เชื่อว่าการตรวจ OBD มันจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมาตรการด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นผู้นำในการกำหนดข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ หากรถยนต์ไม่ผ่านการทดสอบมลพิษซ้ำหลายครั้ง เจ้าของอาจถูกบังคับให้เลิกใช้งาน หรือทำการซ่อมแซมเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน รัฐบาลกลางยังมีโครงการ CASH FOR CLUNKERS หรือโครงการช่วยเหลือประชาชนในการรีไซเคิล และประหยัดการซื้อรถใหม่ ใครอยากรู้รายละเอียดเป็นอย่างไร สถาบันยานยนต์เผยแพร่เอกสารนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 หาอ่านได้ทั่วไป
สำหรับทวีปยุโรป ใช้มาตรการจำกัดการใช้รถเก่าผ่านระบบ LOW EMISSION ZONE (LEZ) และ ULTRA LOW EMISSION ZONE (ULEZ) ในเมืองใหญ่ ซึ่งจำกัดการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูง โดยเก็บค่าธรรมเนียม หรือห้ามวิ่งในพื้นที่ที่กำหนด แม้ว่าประเทศต่างๆ จะมีแนวทางที่แตกต่างกันในการจัดการกับรถยนต์เก่า นโยบายจำกัดการใช้รถเก่า หลักๆ แล้วเขาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบขนส่งที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ของเราจัดการทิ้งรถเก่าเพื่อกระตุ้นการซื้อรถใหม่ ดูผิดเวลาไปหน่อย ช่วงนี้ลำบากกันทุกคน ผมว่าลองหาวิธีบริหารเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ทำให้คนมีกำลังซื้อ แก้ปัญหาทางหนี้ครัวเรือน ขืนไปบังคับให้คนทิ้งรถ แต่หากไม่มีกำลังซื้อ ไฟแนนศ์ไม่ปล่อย ก็ผลักภาระไปให้คนเงินน้อย ส่วนเรื่องทิ้งไม่ทิ้งระยะยาวค่อยว่ากัน เพราะมีเรื่องที่ต้องเตรียมอีกเยอะ เช่น การกำหนดมูลค่ารถที่จะมาแลกซื้อ, กระบวนการทำลาย, แหล่งที่มาของงบประมาณ ไม่ง่ายหรอกที่จะขับไล่ “เพื่อนเก่า” ออกจากโรงจอด