เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัด การสันดาปจึงมักไม่สมบูรณ์ ทำให้มีแกสพิษจากไอเสียมากมาย หนึ่งในนั้น คือ เขม่าควันดำ หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก และแกสไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ซึ่งเป็นสาเหตุของPM2.5 และหมอกควันช่วง 2 เดือนแรกของปี กรุงเทพฯ ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จนกลายเป็น "เมืองในฝุ่น" ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวกับปัญหามลภาวะ พร้อมชี้เป้าไปที่รถดีเซลควันดำว่าเป็นตัวการของปัญหานี้ ฝุ่นละอองPM2.5 เกิดจากรถดีเซลจริงหรือ ? ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากอุตสาหกรรมการก่อสร้าง 13 % อุตสาหกรรมไฟฟ้า 14 % มนุษย์/พืช/สัตว์ 15 % โรงงานอุตสาหกรรม 30 % และยานพาหนะ 29 % จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า PM2.5 เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมในอัตราส่วนใกล้เคียงกับยานพาหนะ ดังนั้นยานพาหนะอาจไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์ดีเซลจุดระเบิดด้วยการอัด จึงมักเกิดการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ทำให้มีแกสพิษในไอเสียมาก ประกอบด้วยไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) เป็นมลพิษหลักของเครื่องยนต์ดีเซล เกิดจากไนตริคออกไซด์ (NO) ร้อยละ 80 และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ร้อยละ 20 เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ และยังทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้เกิดโอโซนซึ่งเป็นสาเหตุหลักของหมอกควัน ตัวต่อมา คือ ไฮโดรคาร์บอน (HC) เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล และน้ำมันหล่อลื่น ที่เผาไหม้ไม่หมด หรือเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะส่งกลิ่นที่หากสูดดมเข้าไปจะทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดการระคายเคือง และเมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศจะเกิดหมอกควันเช่นกัน คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) คือ แกสพิษที่ได้ยินกันบ่อยสุด ไม่มีสีไม่มีกลิ่น เกิดขณะสันดาปโดยที่ออกซิเจนไม่เพียงพอ จนคาร์บอนไม่สามารถทำปฏิกิริยาให้เ้กิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ แต่ในเครื่องยนต์ดีเซลจะเกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน และสุดท้าย เขม่าควันดำ (SMOKE) เป็นแกสที่เห็นชัดที่สุด เพราะมีเขม่า หรือฝุ่นละอองให้เห็น ซึ่งก็คือ ละอองของคาร์บอนขนาดเล็กในรูปควันดำ เกิดขณะที่มีเชื้อเพลิงผสมหนาเกินไป สามารถฟุ้งกระจายไปได้ในอากาศ เป็นสาเหตุของฝุ่นละออง PM2.5 นั่นเอง