รู้ลึกเรื่องรถ
จุดเปลี่ยนเชื้อเพลิงไทย ?
ในช่วงที่ผ่านมานี้ เรื่องราวที่ทุกคนต้องพูดถึง เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง “ฝุ่นพิษ PM2.5” ภัยร้ายที่ทำลายสุขภาพของคนเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร โดยผู้ร้ายตัวแสบที่ถูกจัดเป็นมือวางอันดับ 1 ในสถานการณ์นี้ก็คือ “เครื่องยนต์ดีเซล”รถยนต์นั้นตกเป็นจำเลยสังคมมาตลอดในเรื่อง “มลภาวะ” โดยในอดีต วายร้าย คือ “ไอสารตะกั่ว” ที่มาพร้อมกับ “น้ำมันเบนซิน” เพราะสารตะกั่วนั้นเคยเป็นส่วนผสมเพื่อใช้ในการเพิ่มค่าออคเทน และใช้ในการหล่อลื่นวาล์ว ลดการสึกหรอของบ่าวาล์ว การตระหนักถึงโรคภัยที่มาจากควันรถยนต์ ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบของน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกเป็น “น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว” ในประเทศไทยได้มีการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน “ไร้สารตะกั่ว” ที่ใช้สาร MTBE (METHYL TERTIARY BUTYL ETHER) ทดแทนสารตะกั่วเป็นครั้งแรกในปี 2534 โดยในยุคแรกนั้นมีมาตรการจูงใจให้ เบนซิน “ไร้สารตะกั่ว” มีราคาต่ำกว่าน้ำมันปกติถึงลิตรละ 80 สตางค์ (ขณะที่น้ำมันเบนซินออคเทนสูง ราคาลิตรละ 10 บาท เท่านั้น) สุดท้าย ได้มีการกำหนดให้รถยนต์เครื่อง ยนต์เบนซินทุกรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา หรือ แคทาไลทิค คอนเวอร์เตอร์ ที่สามารถลดปริมาณไอพิษต่างๆ อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ลงได้ ซึ่งรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียนี้ต้องใช้งานกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเท่านั้น ทำให้สิ้นสุดยุคของน้ำมันเบนซินสารตะกั่วลงอย่างสิ้นเชิงใน วันที่ 1 มกราคม 2539 แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น เจ้าของรถจะมีความหงุดหงิด จนบางทีถึงขั้นเกิดอาการลงแดง โวยวายว่าเครื่องยนต์ของเขาพิสมัย “สารตะกั่ว” มากกว่า MTBE แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็ยอมรับว่ามันไม่มีทางเลือกอีกแล้ว ต่อมาเหล่าผู้ใช้รถก็ได้เจอเข้ากับ “คู่ปรับ” รายใหม่ นั่นคือ น้ำมันเบนซินผสมเอธานอล หรือ “แกสโซฮอล” ซึ่งผู้ผลิตเชื้อเพลิงได้ทดแทนสาร MTBE ที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่มีความจำเป็นในการปรับคุณสมบัติค่าออคเทน ด้วยการใช้เอธานอล นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากเอธานอลมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งช่วยให้การเผาไหม้ในห้องเครื่องสมบูรณ์ขึ้น และลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ลงได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วทุกมุมโลกว่า น้ำมันเบนซินที่ผสมเอธานอลในสัดส่วนร้อยละ 10-20 นั้นมีผลดี ต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเผาไหม้สะอาดกว่า (สวนทางกับความเชื่อทั่วไป) และเป็นเชื้อเพลิงที่ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตร อันสามารถที่จะจัดหา และปลูกขึ้นทดแทนได้ เชื้อเพลิงแกสโซฮอล เกิดจากการผสมเอธานอล ซึ่งมีค่าออคเทนสูงถึง 125 เข้ากับน้ำมันเบนซินพื้นฐาน 2 เกรด คือ เบนซินพื้นฐาน ออคเทน 87 ผสมกับ เอธานอล 10 % ได้ออกมาเป็น แกสโซฮอล 91 และหากผสมมากถึง 85 % ก็จะได้ แกสโซฮอล อี 85 ส่วนแกสโซฮอล 95 และแกสโซฮอล อี 20 นั้นมาจากการผสมเอธานอล เข้ากับน้ำมันเบนซินพื้นฐานออคเทน 91 ในสัดส่วน 10 และ 20 % ตามลำดับ ในยุคแรกที่มีการจำหน่ายเชื้อเพลิง “แกสโซฮอล” นั้นก็จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รถยนต์มีปัญหาเพราะ “แกสโซฮอล” จนถึงกับมีการทดลองมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เห็นว่ามันไม่จริงอย่างที่คิด ทั้งเรื่องค่าพลังงานที่ไม่ได้แรงน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และเรื่องการระเหยก็ไม่ได้ แตกต่างกัน แต่บางกรณีที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ รถที่ผลิตก่อนทศวรรษที่ 90 จะมีปัญหาบ้าง เช่น ซีลยาง ไม่ทนต่อเอธานอล ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นอะไหล่ยุคใหม่ก็จะหมดปัญหา และปัญหาถังน้ำมันเป็นสนิม ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ต่างใช้ถังน้ำมันทำมาจากวัสดุสังเคราะห์หมดแล้ว จนในที่สุดบรรดาเจ้าของรถในปัจจุบันต่างก็ยอมรับ แกสโซฮอล ว่าคู่ควรกับรถของพวกเขา เนื่องจากรถรุ่นใหม่ทั้งหมดได้ออกแบบเพื่อรองรับไว้หมดแล้ว (เว้นไว้แค่นักทดสอบบางสำนัก ที่ยืนยันจะเติมรถทดสอบของพวกเขาด้วย เบนซิน 95 เท่านั้น) ที่บอกว่ายอมรับนั้น นักขับ โดยเฉพาะสายแข่งถึงกับมองข้าม แกสโซฮอล 95 หรือน้ำมัน อี 10 แต่กลับไปทูนรถให้สามารถใช้น้ำมันแกสโซฮอล อี 85 ที่แม้จะมีค่าพลังงานต่ำกว่าแกสโซฮอล อี 10 แต่สำหรับเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ เอธานอล ที่มีสัดส่วนมากถึง 85 % หมายถึง มีปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการเผาไหม้มากกว่า จึงเหมาะกับการนำไปใช้กับรถตกแต่งที่ต้องการความแรง แต่ไม่สนใจเรื่องอัตราการบริโภคเชื้อเพลิง เพื่อให้มีความแรง พวกเขาต้องปรับแต่งกล่องอีซียู ให้ส่วนผสม อากาศ/เชื้อเพลิง “หนา” มากกว่าปกติ แต่เมื่อหักลบกลบหนี้ดูแล้ว อย่างไรก็ยังคุ้มค่ากว่า การใช้แกสโซฮอล 95 อยู่ดี ในการเป็นรถแข่ง ไฮเพอร์คาร์ อย่าง โคนิกเซกก์ (KOENIGSEGG) ถึงกับเลือกใช้ เอธานอล 100 % ที่มีออคเทน 125 ในรถรุ่นทอพของพวกเขาเสียด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้น สำหรับ “สายจอด” หรือเหล่ารถคลาสสิค ที่ถังน้ำมันเป็นโลหะ ก็ยังขอแนะนำว่าเติม เบนซิน 95 ไว้จะมั่นใจมากกว่า
- เครื่องยนต์ดีเซลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับน้ำมันดีเซลน้อยลง
- ถนนในยุโรปบางสายอนุญาตเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐาน ยูโร 5 เท่านั้น (มาตรฐานตํ่ากว่าห้ามวิ่ง)
- อุปกรณ์กรองเขม่าไอเสีย หรือที่เรียกว่า DPF (DIESEL PARTICULATE FILTER) ที่จะดักจับเขม่าละเอียดจากการเผาไหม้ ด้วยการให้ไอเสียร้อนวิ่งผ่านตัวกรองแบบรังผึ้ง
- โดยทั่วไป อุปกรณ์กรองเขม่าไอเสียของน้ำมันดีเซลจะมีอายุการใช้งานยาวนานถึงระดับ 150,000 กม. ภายใต้สภาวะการขับขี่ที่เหมาะสม
- หากอุปกรณ์กรองเขม่าไอเสียตัน จะมีไฟสีส้มแสดงขึ้นที่หน้าปัด ไม่ต้องตกใจ เพียงแค่เอารถไปขับด้วยรอบเครื่องยนต์เกิน 2,000 รอบให้นานเกิน 20 นาที
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ