เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
รถ "บิน" ได้อย่างไร ?
ในที่สุด รถก็บินได้จริงๆ และพร้อมทะยานสู่ "ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น !"แม้เราเชื่อมั่นว่าโลกจะมีสิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีเจ๋งๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย แต่เราก็รู้เช่นกันว่า สิ่งที่จะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ มีอยู่ไม่เพียงกี่อย่าง กระทั่ง รถยนต์ "บิน" ได้ ทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่เราเฝ้าคอยนั้น ดูเหมือนจะอยู่ใกล้กว่าที่คิด หลายบริษัทกำลังทุ่มเทสร้างรถยนต์บินได้อย่างเต็มความสามารถ แถมบางบริษัทยังวางแผนจะจัดการแข่งขัน โดยใช้ยานพาหนะที่มีอัตราส่วนน้ำหนัก/แรงม้าเทียบเท่ากับเครื่องบินเจท และมีสมรรถนะสูงกว่ารถแข่งฟอร์มูลา วัน โตโยตา กับ แอร์บัส กำลังค้นคว้า เพื่อพัฒนารถยนต์บินได้ ในขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้ง กูเกิล ได้ลงทุนไปแล้วในเรื่องนี้ ส่วน อูเบอร์ กำลังวางแผนเปิดเส้นทางบริการแทกซีบินได้อยู่ รวมแล้วขณะนี้มีโครงการเกี่ยวกับรถยนต์บินได้กว่าหนึ่งร้อยโครงการ ที่อยู่ในขั้นตอนพัฒนา ให้เราได้ติดตามกัน ในปัจจุบัน โลกของรถยนต์บินได้ นับว่าพัฒนาไปมาก จากเมื่อก่อนความคิดนี้เป็นเพียงปณิธานอันแรงกล้า แถมต้นแบบยานพาหนะ ก็ยังดูไม่ชัดเจน จนถึงวันนี้ มีการเปิดจำหน่ายรถบินได้จริงๆ ล่วงหน้า แค่รอการจัดส่ง แล้วอะไรล่ะ คือ สิ่งที่เปลี่ยนไป ปัจจัยแรก น่าจะเป็นเรื่องเงินทุน หลายบริษัทลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างรถยนต์บินได้ให้เป็นจริง อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ระดับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งแบทเตอรีไฟฟ้าที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ยานพาหนะนี้เดินทางได้ไกลกว่าเดิม และอะไหล่อัลลอยที่มีน้ำหนักเบา ผสมผสานกับเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง ทำให้รถยนต์บินได้มีความคล่องตัว และทำความเร็วได้ดี นอกจากความน่าประทับใจในฐานะยานยนต์แล้ว รถบินได้ ยังมาพร้อมกับความหรูหรา และสะดวกสบายอีกด้วย อย่างเช่น แอโรโมบิล บริษัทสัญชาติสโลวาเกียที่รังสรรค์รถยนต์บินได้รุ่นที่แล้ว ซึ่งหากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่ารูปร่างห้องโดยสารคล้ายกับรถยนต์รุ่นดั้งเดิมมีที่นั่งเก๋ๆ ควบคุมทุกอย่างด้วยระบบสัมผัส นับเป็นจังหวะดีที่ แอโรโมบิล รุ่น 4 เปิดตัวในงาน GOODWOOD FESTIVAL OF SPEED’S FUTURE LAB พร้อมกับรถแข่งบินได้อย่าง ALAUDA AIRSPEEDER และฮาร์ดแวร์ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ การลงทุนมหาศาล ขับเคลื่อนให้เครื่องจักรกลแห่งอนาคตพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มาลุ้นกันว่ารถยนต์บินได้จะกลายเป็นอนาคตแห่งวงการยานยนต์ หรือจะเป็นเพียงความพยายามที่ไร้ผลกันแน่ ฟอร์มูลาแห่งอนาคต ? บางบริษัทสร้างรถบินได้เพื่อผู้บริโภค แต่บางบริษัทก็คิดค้นรถประเภทนี้ขึ้น เพื่อการแข่งขัน และผู้นำตอนนี้คือ บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ชื่อว่า ALAUDA RACING ที่มี AIRSPEEDER รถแข่งบินได้ที่ใช้หลักกลศาสตร์การเคลื่อนไหวแบบเดียวกับรถ F1 เป็นตัวชูโรง ซึ่งตอนนี้ ทางบริษัทกำลังพัฒนา AIRSPEEDER รุ่นที่ 4 อยู่ คาดว่าจะได้ฤกษ์ลงสนามแข่งในปี 2020 หลังจากที่ทดลองแข่งขันด้วยรุ่นที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว หากสงสัยว่า การแข่งขัน AIRSPEEDER มีลักษณะอย่างไร เราขอเริ่มต้นด้วย หน้าตาของตัว AIRSPEEDER ที่ดูเหมือนห้องโดยสารของรถ F1 แต่ทันสมัยกว่า บริเวณที่ควรจะเป็นล้อ ถูกแทนที่ด้วยใบพัดความยาวกว่า 150 ซม. โดยแต่ละใบพัดจะมีเครื่องยนต์ที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 200 กม./ชม. ALAUDA ตั้งใจว่าจะใช้สิ่งประดิษฐ์นี้ ในการแข่งขันบนพื้นที่ที่น่าประหลาดใจ เช่น ทะเลทราย และทะเลเขตร้อนชื้น และหากบริษัทสามารถนำ AIRSPEEDER ออกโลดแล่นได้จริง การจัดรายการแข่งขัน กับ F1 และ FORMULA E ก็น่าจะเป็นไปได้ AIRSPEEDER จะจัดการแข่งขันยานพาหนะทางอากาศบนพื้นที่แปลกๆ รู้หรือไม่ ยานพาหนะบิน สามารถเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงอย่างน้อย 35 % ต่อการเดินทาง 100 กม. 5 เรื่องจริงเกี่ยวกับ AEROMOBIL รุ่นถัดไป 1. VTOL VTOL ย่อมาจาก VERTICAL TAKE-OFF AND LANDING หมายถึง ยานพาหนะที่สามารถพุ่งตัวเป็นแนวตั้งขึ้นไปบนอากาศ และแม้ว่ารุ่น AEROMOBIL 4.0 จะยังไม่สามารถทำได้ แต่รุ่น 5.0 นั้น ทำได้อย่างแน่นอน 2. นั่งสบายหรือไม่ ? แม้ AEROMOBIL 4.0 มีพื้นที่พอให้นั่งแค่ 2 คน เหมือนรถสปอร์ท ซึ่งใช้งานได้ไม่สะดวกนัก แต่รุ่น 5.0 จะสามารถนั่งได้ 4 คน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานมากกว่า 3. การเดินทางแห่งอนาคต ปีกของยานพาหนะจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในรุ่น AEROMOBIL 5.0 เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย และราบรื่นกว่าเดิม 4. ระบบกันสะเทือน เทคโนโลยีส่วนอื่นๆ จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเช่นกัน โดย AEROMOBIL 5.0 จะมีระบบกันสะเทือน เพื่อการลงจอดที่นุ่มนวล มีแบทเตอรีขนาดใหญ่ขึ้น จึงสามารถเดินทางได้ไกลกว่าเดิม 5. ประสบการณ์ใหม่ AEROMOBIL 5.0 สามารถบรรทุกได้ 4 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้สัมผัสประสบการณ์เฉพาะตัวด้วยระบบสุดเจ๋งในห้องโดยสาร ที่มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์เอนเตอร์เทนบนเครื่องบิน แต่ดีกว่ามาก AEROMOBIL 5.0 VTOL เป็นยานพาหนะแห่งอนาคต เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ทำให้การขับขี่ และการบินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โบยบินสู่อนาคต AEROMOBIL 4.0 STOL เป็นรถยนต์บินได้ที่เปิดตัวในปี 2020 มาดูกันว่า มันมีส่วนใดบ้างที่น่าตื่นเต้น AEROMOBIL แม้จะเป็นเครื่องบิน แต่ภายในสะดวกสบาย และใช้งานง่าย ปีกที่น่าทึ่ง AEROMOBIL กางปีกได้กว้างกว่า 8.8 เมตร และเมื่อไม่ใช้งานก็ สามารถพับปีกเก็บในลำตัวของเครื่องบินได้ ภายในหรู 2 ที่นั่งในห้องโดยสารสะดวกสบาย ควบคุมด้วยระบบสัมผัสที่ทันสมัย วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้ห้องโดยสารดูหรูหราทั้งบนท้องฟ้า และท้องถนน ขุมพลังไฮบริด บนถนน AEROMOBIL จะใช้ระบบไฮบริด โดยมีเครื่องยนต์ที่ด้านหลัง พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่เพลาด้านหน้า พละพลังเหลือเฟือ ระบบเทอร์โบชาร์จ ช่วยให้เครื่องยนต์น้ำหนักเบาของ AEROMOBIL มีกำลังถึง 300 แรงม้า เมื่อขึ้นบิน และ 110 แรงม้า เมื่อขับบนถนน ตัวถังแข็งแรง ยานสร้างขึ้นจากคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบา ห้องโดยสารมีโครงสร้างแน่นหนา เพื่อความปลอดภัยของนักบิน ล้อที่มั่นใจได้ ล้อมีน้ำหนักเบา และแข็งแรงพอจะวิ่งบนถนน และลงจอดบนทางลาดยางมะตอย, คอนกรีท หรือสนามหญ้า รวมเทคโนโลยีระบบรองรับ ด้านหลังจะรวมเทคโนโลยีระบบกันสะเทือนของรถยนต์เข้ากับของเครื่องบิน เพื่อควบคุมตัวยานทั้งโหมดบนถนน และบนฟ้า รวมถึงการเก็บปีก เมื่อไม่ต้องการใช้งาน บินไปอย่างไร้กังวล ตัวถังส่วนหลังของยานทำจากคาร์บอน ไฟเบอร์ทั้งหมด จึงมีความแข็งแรงเพียงพอ สำหรับระบบกันสะเทือนด้านหลัง และการเก็บใบพัด ที่สำคัญ คือ มีน้ำหนักเบา ร่อนลงอย่างงดงาม ? งาน GOODWOOD FESTIVAL OF SPEED ’S FUTURE LAB มีการแสดงทดสอบการบินของ AIRSPEEDER จากบริษัท ALAUDA ซึ่งสร้างความประทับใจไม่น้อย ด้วยรูปลักษณ์ที่เฉียบคม ผนวกกับความสามารถในการเร่งความเร็วได้ทันใจ และเคลื่อนไหวในอากาศได้อย่างคล่องตัว จึงพร้อมจะนำมาใช้ในการแข่งขัน แต่เครื่องนี้เป็นรุ่นเก่า คือ รุ่น MK2 ฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารุ่น MK4 จะทำความเร็วได้ดีกว่า และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้นไปอีก ในการทดสอบ AIRSPEEDER MK2 วิศวกรควบคุมการขึ้นบินด้วยรีโมท ซึ่งถือเป็นเคราะห์ดี เพราะมันเกิดทำงานผิดปกติ และตกลงบนสนามที่ห่างไปไม่ไกล ทีมวิศวกรของ ALAUDA กล่าวว่า มันจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอน หาก MK2 ถูกควบคุมโดยนักบิน เป็นการตอกย้ำว่า MM2 เป็นเพียงรุ่นต้นแบบที่เก่าแล้ว ดังนั้น หากมองในด้านบวก MK4 ที่ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีนักบินควบคุมเครื่อง จะต้องทำผลงานได้ดีกว่าอย่างแน่นอน AIRSPEEDER MK2 รวดเร็ว ว่องไว และเสียงดัง แต่ไม่มีความมั่นคง รู้หรือไม่ ? บริษัท ASTON MARTIN , ROLLS-ROYCE, AUDI และ PORSCHE กำลังค้นคว้าเกี่ยวกับรถยนต์บินได้อยู่เช่นกัน MATT PEARSON ชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของธุรกิจผู้อยู่เบื้องหลังพโรเจคท์ AIRSPEEDER ที่น่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน ถาม/ตอบกับ MATT PEARSON : ผู้ก่อตั้ง และประธานบริษัท ALAUDA RACING ทำไมคุณจึงเลือกะพัฒนารถยนต์บินได้ และต้องการจัดการแข่งขัน ? ผมมีความคิดอยากจะสร้างรถยนต์บินได้ตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีของเราก็มาถึงจุดที่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ เราจึงตัดสินใจที่จะจัดการแข่งขัน เพราะต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามองย้อนไปในอดีตของเครื่องบิน และรถยนต์พลังงานมอเตอร์ จึงคิดได้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องยนต์รถแข่ง มันทำให้เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนที่ เฮนรี ฟอร์ด กล่าวว่า การแข่งขันรถยนต์จัดขึ้นเมื่อรถยนต์คันที่ 2 ของโลกถูกสร้างขึ้นเพียงไม่นาน การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 จะมีรูปแบบอย่างไร ? เนื่องจากเราบินอยู่บนอากาศ จึงไม่ต้องการสนามแข่ง เราสามารถมองหาสถานที่ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น และมีผู้เข้าชมจำนวนไม่มากได้ เพราะจะมีการถ่ายทอดสดอยู่แล้ว แต่ก่อนอื่น จะมีการจัดงานเปิดตัวที่สนาม มีการแข่งขันตัวต่อตัว เนื่องจากเราต้องการเพียง 5 ทีม แต่ละทีมต้องมีนักบินทีมละ 2 คน เราจะใช้ AIRSPEEDER รุ่น MK4 ในการแข่งขัน รูปแบบก็เหมือนเดิม เราสร้างและปรับปรุงมัน สุดท้ายก็จะสามารถพัฒนามันออกจำหน่ายได้ คล้ายๆ กับไฮเพอร์คาร์ ที่สุดท้ายก็กลายเป็นรถยนต์ที่คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึง การตกของ AIRSPEEDER MK2 บนพื้นสนาม ในงาน GOODWOOD ทำให้คุณเป็นกังวลหรือไม่ ? มันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการทดสอบ และมันจะไม่เกิดขึ้นหากเครื่องนั้นถูกควบคุมโดยนักบิน แต่เราตระหนักถึงจุดนี้ และมุ่งมั่นพัฒนาทั้งด้านซอฟท์แวร์ และฮาร์ดแวร์ เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เราทดสอบหลายครั้ง และได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทุกครั้ง โครงการ AIRSPEEDER สร้างความท้าทายให้คุณด้านใดมากที่สุด และสิ่งใดที่คุณคิดว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในโครงการนี้ ? คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือ ทีมของเรา ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะนอนหลับเพียง 1ชั่วโมง/คืน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่เราก็ยังต้องการคนเพิ่มอีก และการค้นหาคนเหล่านั้น เป็นความท้าทายสำหรับเรา ส่วนความท้าทายของโครงการ AIRSPEEDER คือ ด้านเทคโนโลยี สารเคมีในแบทเตอรีกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราต้องการจะเป็นผู้นำในด้านนี้ต่อไป MATT PEARSON นอกจากเป็นผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ALAUDA RACING แล้ว เขายังทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ และโครงการเกี่ยวกับจรวดอีกด้วย ALAUDA AIRSPEEDER MK4 พร้อมลงแข่งในปี 2020 ร่วมกับนักบิน
ABOUT THE AUTHOR
H
HOW IT WORKS
ภาพโดย : HOW IT WORKS นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS