สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “2020 ทิศทางยานยนต์ไทย คิด...ทำ...ปรับตัว” ภายในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36” โดยมีผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และนักกลยุทธ์การตลาดแถวหน้า ร่วมแสดงความคิดเห็นอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี ได้รับความนิยมสูง ผลักดันตลาดรวมขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ช่วงครึ่งปีหลังกลับเติบโตแค่ 1-3 % เท่านั้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้เสีย และผู้บริโภคชะลอการซื้อรถ เพื่อรอดูรถใหม่ที่เปิดตัวช่วงปลายปี ส่วนปีหน้าธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ สถานการณ์การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง รวมกับเศรษฐกิจของประเทศปลายทางไม่ดีนัก ทั้งจากปัญหาภายใน และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนในวงการจะต้องปรับตัว นั่นคือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การมาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบเชื่อมต่อ และระบบการแบ่งปันใช้งาน ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อคงศักยภาพการแข่งขัน และมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่ตอบรับทิศทางในอนาคต ครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เรื่องหลัก คือ เทคโนโลยี เช่น อีวี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วงนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม คือ การประกาศใช้มาตรฐานไอเสีย ยูโร 5 และยูโร 6 อย่างไรก็ตาม ด้านสิ่งแวดล้อมมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรมสรรพสามิต ได้ให้การบ้านผู้ประกอบการยานยนต์ไปหาแนวทางจัดการกับรถเก่า เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอม 2.5 ที่เริ่มรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรถเก่า โดยเฉพาะรถที่ขาดการดูแลอย่างถูกต้อง ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี โดยจะเริ่มจากการเป็นรถคันที่ 2 ในครอบครัว เพื่อใช้งานในเมือง ปัจจุบันรถไฟฟ้ายังไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีความพร้อม สภาพเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งยังมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่นเดียวกับการขนส่งระบบรางที่มีคนมองว่าจะเข้ามาก็ยังต้องใช้เวลา เพราะเหตุผล และความจำเป็นในการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคคนไทยค่อนข้างลึกซึ้ง และเกี่ยวข้องกับอารมณ์สูง ดร. ธีรพันธ์ โล่ทองคำ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ การตลาด ไอเอมซี และบแรนดิง อาจารย์พิเศษระดับบัณฑิตศึกษาของหลายสถาบัน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ครอบครัวจะเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจซื้อรถมากขึ้น จนถึงปัจจุบันการเลือกซื้อรถก้าวข้ามไปสู่การตัดสินใจด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น ดังนั้นทเรนด์การเลือกซื้อรถของผู้บริโภคยุคใหม่จึงถูกกำหนดด้วยดีไซจ์น ความสวยงาม หรูหรา มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทันสมัย และสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ค่ายรถจะต้องปรับตัว ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะต้องการสนับสนุนสินค้าที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม ส่วนกระแสซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในหลายสินค้า เชื่อว่าจะไม่มีผลกับรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจะต้องเห็นตัวจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
บทความแนะนำ