นานๆ จะออกอาวุธเข้าตากรรมการ เลยต้องส่งเสียงเชียร์กันหน่อยผมกำลังพูดถึงกรณีรถพลังไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเร่งส่งเสริมการผลิต และจำหน่ายมาตลอด (อย่างน้อยก็ด้วยการพูด) โดยอ้างเหตุผลเรื่องลดมลพิษในอากาศเป็นหลัก ทว่าไม่เคยพูดถึงมลพิษที่จะเกิดจาก “ขยะแบท เตอรี” เลยสักคำ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะแบทเตอรีรถไฟฟ้าเทคโนโลยีปัจจุบันหลายประเภท มันรีไซเคิลไม่ได้ เมื่อเสีย เสื่อมสภาพ หรือหมดอายุใช้งานก็ต้องทิ้ง คำถาม คือ “ฮาวทูทิ้ง” ยังไม่มีคำตอบชัดเจนนะครับ แต่อย่างน้อย กรมสรรพสามิต เริ่มขยับตัวเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ กองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการบริหารจัดการแบทเตอรีใช้แล้ว โดยมุ่งแก้ปัญหาขยะพิษที่จะเกิดจากแบทเตอรีเหล่านี้ แนวทางบริหารจัดการซากแบทเตอรี คือ การเก็บเงินจากผู้ผลิต และผู้นำเข้าแบทเตอรีเพิ่มเติมจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่ 8 % มาจัดตั้งเป็นกองทุน เบื้องต้นคาดว่า กองทุนนี้จะใช้เงินก่อตั้งประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการกำจัดซากแบทเตอรี ซึ่งหากผู้ผลิต และนำเข้ามีกระบวนการกำจัดซากที่ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย จะสามารถขอรับเงินคืน (รีฟันด์) ได้ เรื่องนี้ผมเชียร์เต็มที่ และอยากให้ผู้ผลิตรับภาระนี้ ไม่ใช่มาบวกเพิ่มกับผู้ซื้อ เพราะสุดท้าย ถ้าทำดีก็ได้รีฟันด์ และพวกท่านก็รับประโยชน์จากการงดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่ง-เสริมการลงทุน (BOI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นปี 2565 ไปแล้ว น่ายินดีที่มีคนเริ่มเป็นห่วงปัญหาขยะแบทเตอรีรถไฟฟ้า แต่คำถามเดิมที่ยังไม่มีคำตอบจนบัดนี้ คือ “ฮาวทูทิ้ง”