รอบรู้เรื่องรถ
เก็บภาษีเพิ่มจากรถยนต์เก่าเกิน 10 ปี บ้ากว่านี้ มีอีกไหม ?
ในช่วงการทำงานเกี่ยวกับหนังสือ และนิตยสารเป็นเวลาหลายสิบปี ผมเคยมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเขียนระดับมืออาชีพหลายคนด้วยกัน เรื่องหนึ่งที่เป็นความสนใจส่วนตัวของผม และพยายามหาคำตอบ หรือเรียกให้ ตรงจุดกว่า ก็คือความเข้าใจต่อความรู้สึกในการทำงานของนักเขียนระดับที่ว่านี้ โดยเฉพาะความรู้สึกก่อนเริ่ม “ลงมือ” ว่ามีการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะของวันไหม เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ หรือว่าดึก ถึงจะอยากทำงานประเภทนี้ ที่ต้องอาศัยสมาธิ และความสงบพอสมควรคำตอบที่ได้นั้นแตกต่างกันไปแบบที่หากฎเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย แต่มีความคล้ายคลึงกันอยู่เรื่องหนึ่งครับ คือ ถ้าเข้าขั้น “มืออาชีพ” จริงแล้ว จะไม่มีการเลือกเวลาทำงาน โดยเฉพาะเวลาที่จะเริ่ม ขืนมัวแต่รอให้อารมณ์ บรรยากาศเอื้ออำนวย รายได้ก็คงจะลด ตำแหน่งงานอาจจะถูกลดระดับ หรือพาลหลุดลอยไปได้ง่ายๆ บังเอิญผมไม่ใช่มืออาชีพ ก็เลยต้องมีอาการรอจังหวะเหมาะเป็นประจำทุกเดือน สำหรับเรื่องประจำเดือนนี้ จังหวะที่ว่านี้มาถึงเร็วหน่อย เพราะเป็นช่วงใกล้ปีใหม่ ร้านรวง และห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งผู้คนเริ่มคึกคักขึ้น สังเกตคำว่า “ขึ้น” ที่ต้องมีเสริมนะครับ เพราะมันเป็นความคึกคักท่ามกลางความหงอย และห่อเหี่ยวจากความซบเซาของเศรษฐกิจแรมปี ที่กินวงกว้างไปทั่วประเทศ ผสมผสานกับความรู้สึกสิ้นหวัง และคับแค้น จากการที่ต้องทนดูคนโกงชาติกลุ่มหนึ่ง มันลอยนวลอยู่เหนือกฎหมาย เพราะไม่มีใครทำอะไรพวกมันได้ มันเลวร้ายถึงขั้นผู้พิพากษา และอัยการที่รักความถูกต้องยุติธรรมหลายราย ต้องลักลอบขอร้องแบบ “หลังไมค์” ต่อนักเคลื่อนไหวในสื่อสังคมที่อยู่ฝ่ายดี ให้ช่วยกันกระพือข่าวไว้ อย่าให้เรื่องเงียบ หรือถูกพวกมันสร้างข่าวใหม่มากลบ พอเริ่มลงมือด้วยใจที่สงบพอสมควรก็ได้เรื่องครับ เมื่อต้องเจอข่าวที่เป็นเรื่องโง่ และจะทำให้ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อน หัวข้อของข่าวก็ตามชื่อเรื่องของคอลัมน์นี้นั่นเอง แต่มีเสริมข้างหน้าด้วยวลีที่คงเป็นความเห็นส่วนตัวของคนเขียนข่าวว่า “ดับเครื่องชน” ซึ่งตรงความหมายมากครับ เพราะมันคือความคิดที่มาจากความโหดร้าย ไร้ความปราณีอย่างแท้จริง ลองอ่านถ้อยคำที่ผมคัดมาบางช่วง โดยไม่มีการตัดแต่ง หรือเสริมนะครับ “ความเคลื่อนไหวภาคเอกชน กลุ่มอุตสาห- กรรมยานยนต์ เตรียมเคลื่อนไหวเข้าหารือกรมสรรพสามิต เพื่อเสนอแนวคิดตั้งกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า 10 ปี เพื่อลดมลพิษจากรถยนต์เก่า และกระตุ้นยอดขายรถใหม่ป้ายแดง” บ้า และไร้สาระไหมครับ เราลองมาดูกันทีละข้อ “ผิดเรื่องแรก” คนพวกนี้เอาอะไรมากำหนด ว่ารถที่อายุเกิน 10 ปี เป็นรถเก่า นอกจากจะไม่ใช่แล้ว ผมขอบอกเลยว่า รถอายุ 10 ปี ที่ถูกบำรุงรักษาตามที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่ต้องทะนุถนอม หรือทำอะไรเป็นพิเศษเลยนะครับ แค่เข้ารับการบริการจากศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของตัวแทนจำหน่าย (หรืออู่ซ่อมรถที่ชำนาญเฉพาะบแรนด์ ที่มีฝีมือ และความรู้พอ ก็ได้) และเจ้าของใช้งานอย่างถูกวิธี ไม่ได้เข้าข่ายเป็นรถเก่าที่น่ารังเกียจ หรือน่าเลิกใช้แต่ประการใดเลย แต่ตรงกันข้ามด้วยครับ คือ ยังเป็นรถที่สภาพดีมากอย่างแน่นอน ตัวผมเอง และกลุ่มเพื่อน รวมทั้งผู้ที่ผมรู้จักที่เป็นพวกที่ขับ ใช้ และดูแลรถเป็น ล้วนมีรถในการครอบครอง ที่อายุเกิน 10 ปีไปมาก (หลายคันเกิน 20 ปีเสียอีก เพราะสภาพมันดีจนไม่อยากขาย แม้จะมีคันที่อายุน้อยกว่ามาใช้แทนอยู่) และทุกคันที่ว่านี้มีสภาพดีมาก ไม่ได้เข้าเกณฑ์รถเก่าที่สมควรเลิกใช้แต่อย่างใดเลย ถ้าให้เดา มนุษย์พวกที่บอกว่ารถอายุเกิน 10 ปี เป็นรถเก่าที่น่ารังเกียจ และสมควรกำจัดนี้ คงจะหลงไปเปรียบเทียบกับหมา หรือแมวในบ้าน แล้วพาลเอาความเสื่อมของสังขารสัตว์เลี้ยง มาโยงกับรถยนต์จนประชาชนผู้ใช้รถอย่างพวกเราต้องเดือดร้อนโดยใช่เหตุ มาดูเนื้อหาจากข่าวกันต่อ “แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (มค.-ตค. 2562) การขายเติบโตแบบถดถอยเพียง 0.6 % ทั้งนี้เป็นผลพวงจากสงครามการค้า ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว นำสู่การเสนอมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์คันใหม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์” “ผิดเรื่องที่ 2” ตกลงจะหาเรื่องอ้างว่าต้องการกำจัด “รถเก่า” เพราะเป็นตัวการปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือว่าเป็นอย่างที่หลุดปากออกมาเอง ว่าแท้ที่จริงแล้วขายรถได้จำนวนไม่ถึงใจ จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยม หาอุบายมายืมมือรัฐบาล บีบบังคับประชาชนทางอ้อมให้ซื้อรถใหม่ ดูช่วงต่อไปครับ “โดยช่วงกลางเดือน ธค. ที่ผ่านมา นาย... ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับกรมสรรพสามิต 2 เรื่อง คือ 1. กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถเก่า 10 ปี และการกำจัดซากรถ 2. กองทุนบริหารจัดการ แบทเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า” ผมไม่แน่ใจว่ามีข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพ-สามิตร่วมสมคบคิดแผนอุบาทว์นี้ด้วยหรือไม่ หรือว่าอยู่เฉยๆ ไม่ระวังตัว แล้วยังขี้เกียจคิด จึงถูกฝ่ายเจ้าเล่ห์ “ยืมมือ” มาอ้าง เพียงเพื่อให้มันดูขึงขังจริงจังขึ้นอีก พวกเราประชาชนธรรมดาคงไม่มีโอกาสรู้ความจริงหรอกครับ เพราะใครจะโง่ซ้ำซากขนาดออกมายอมรับ ว่า “พวกเราเสียรู้พวกมันไปแล้วครับ” ข้ออ้างในการริเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถเก่า 10 ปี ที่ว่านี้ คือ อะไรทราบไหมครับ “เนื่องจากปัจจุบันรถเก่าอายุรถยิ่งมากยิ่งเสียภาษีถูก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จึงมองว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย พรบ. ขนส่งทางบก และ พรบ. รถยนต์ เกี่ยวกับควบคุมการใช้รถเก่าที่ไม่มีการบำรุงรักษา เช่น เก็บค่าธรรมเนียมรถเก่าอายุเกินกว่า 10 ปี” “ผิดเรื่องที่ 3” คนพวกนี้ยังไม่เคยรู้เลยว่า เจ้าของที่ใช้รถอายุ 10 ปี ที่มีอยู่มากมายนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกรู้คุณค่าของเงิน และของรถด้วย จึงไม่ต้องการสูญเงินไปโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ในการซื้อรถใหม่ (ไม่ใช่คันถัดไปนะครับ แต่หมายถึงรถที่ผลิตออกมาใหม่จากโรงงาน ที่มนุษย์พวกนี้กำลังพยายามบีบบังคับให้ซื้อ) คนที่มีความคิดถูกต้องเหล่านี้ เขารู้ซึ้งกันเป็นอย่างดีครับ ว่าต้องบำรุงรักษารถของเขาให้ถูกหลัก และครบถ้วน “ผิดข้อที่ 4” ผมขอถามว่า มันเดือดร้อนใครหรือมีความอยุติธรรมตรงไหนหรือครับ ที่รถยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสียภาษีถูกลง มันควรเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าใครที่ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาในอดีต ซึ่งจะมีมานานมากแค่ไหนนั้น ผมไม่มีเวลาไปสืบค้น ผมขอชมว่าทำถูกต้องแล้ว เพราะไม่ว่าใครก็อยากใช้รถรุ่นใหม่กันทั้งนั้น ถ้าเจ้าของที่ใช้รถคันเดิมอยู่นาน ต้องการเก็บหอมรอมริบ หรือไม่ก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินในด้านอื่น รัฐย่อมสมควรสนับสนุนและช่วยแบ่งเบาภาระ ด้วยการลดอัตราภาษีลงไปเป็นขั้นตอน ดังเช่นที่เป็นอยู่นี้ ถ้าจะใช้ถ้อยคำที่อาจจะไม่สุภาพนัก ผมเชื่อว่าผู้ใช้รถกลุ่มนี้ที่ได้เห็นข้อเสนอบัดซบเช่นนี้ คงจะพูดเหมือนๆกันหมดเช่นเดียวกับเพื่อนผมคนหนึ่ง ที่บอกว่า “เราว่ามันคงใช้หัวอื่นที่อยู่ต่ำกว่าหน้าแข้ง แทนหัวที่อยู่เหนือไหล่ คิดแผนนี้ออกมานะ” ส่วนความเห็นของผมเองนั้น ขอบอกเลยว่า คนที่คิดแผนการนี้ขึ้นมานั้น ต้องมีจิตใจที่เข้าขั้นอำมหิตจริงๆ ยังไม่ทันได้พิมพ์จนจบ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ผมก็ได้อ่านข่าวที่รัฐบาลรีบให้โฆษกออกมาชี้แจง ว่าอย่าไปเชื่อ (พวกมัน) รัฐบาลไม่เคยคิดจะออกมาตรการที่เสมือนรังแกประชาชนอะไรทำนองนี้อย่างเด็ดขาด ส่วนกรมสรรพสามิตก็รับลูกทันควัน รีบชี้แจงผ่านสื่อ ว่าไม่เคยมีความคิดเช่นนี้ หรือเห็นด้วยเลย “พวกมันมาขอเข้าพบเพื่อปรึกษา จะให้พวกเราไล่มันได้ไง ?” ประโยคหลังนี่ผมคิดเล่นๆเองครับ แล้วผู้อ่านล่ะครับ เชื่อใคร • เนื้อเรื่องของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องรถ” ทุกตอนไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ หากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ใช้รถทั่วไป โดยเฉพาะชมรมผู้ใช้รถทั้งหลาย รวมทั้งสื่อสังคมต่างๆ ที่มิได้ใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สามารถนําไปเผยแพร่ได้ ขอเพียงให้เครดิทต่อนิตยสาร “ฟอร์มูลา” และผู้เขียน เท่านั้นเองครับ
ABOUT THE AUTHOR
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2563
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ