รู้ลึกเรื่องรถ
อะไรรอเราอยู่ ? ในทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21
ในที่สุดเราก็ได้เข้าสู่ทศวรรษที่ 3 แห่งศตวรรษที่ 21 กันอย่างสมบูรณ์แล้ว ในแต่ละทศวรรษเราได้เห็นทิศทางความสนใจของวงการรถยนต์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งการตื่นตัวเรื่องการประหยัด เชื้อเพลิง การตื่นตัวเรื่องมลภาวะ การตื่นตัวเรื่องความปลอดภัย ส่วนทศวรรษนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นเรื่องของการตื่นตัวในเรื่อง “INTERNET OF THINGS” หรือรถยนต์จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เนท 5G และ 6G เพื่อใช้อำนวยความสะดวกรวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆเราทุกคนต่างตระหนักว่า อะไรในยุคนี้ก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าสู่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เนทแล้วละก็ มันจะสูญพันธ์อย่างแน่นอน อาทิ ท่านจะอ่านบทความนี้บนกระดาษ แต่บทความนี้ก็เขียนขึ้นบนคอมพิวเตอร์ที่หาข้อมูลจากอินเตอร์เนท (ซึ่งหากเป็นเมื่อศตวรรษที่แล้วไม่อยากจะจินตนาการเลยว่าข้อมูลต่างๆ จะเก่าแก่ ล้าสมัยเพียงใดกว่าจะส่งจากแหล่งข้อมูลมาถึงมือเราได้) หรือกระทั่งอาหารที่รับประทานกันอยู่ ก็สั่งผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธว่า สมาร์ทโฟนของเรา หน้าร้านของร้านต่างๆ นั้นล้วนแล้วแต่ได้รับโอกาสไม่แตกต่างกัน ร้านเล็กขายอาหารจานเดียว อาทิ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวขาหมู และข้าวมันไก่ ก็มีโอกาสแข่งขันไม่แพ้ร้านอาหารใหญ่ๆ หรือแต่ก่อน เวลาจะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องติดต่อตัวแทนการเดินทาง (ทราเวลเอเจนซี) ที่จะขายตั๋วเครื่องบินพร้อมจองที่พักให้ แต่ทุกวันนี้เราสามารถสั่ง และเปรียบเทียบราคาผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และสามารถจองพร้อมชำระเงินได้ในเวลาอันน้อยนิด ทำให้โรงแรมขนาดเล็ก ตลอดไปจนถึงคนที่ไม่ได้มีโรงแรม แต่มีห้องว่าง อยากเปิดให้คนเข้ามาพัก ก็สามารถแข่งขันกับโรงแรมขนาดใหญ่ได้ ด้วยความเร็วของการรับ/ส่งข้อมูลที่มากขึ้น ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ คือ เทคโนโลยี 5G จะสามารถส่งข้อมูลได้เร็วถึง 20 กิกะบิทส์/วินาที (GIGABITS PER SECOND) ซึ่งเร็วกว่าขีดจำกัดของเทคโนโลยี 4G ถึง 20 เท่า และพวกเขาตั้งเป้าสำหรับเทคโนโลยี 6G ไว้ที่ 1 เทราบิทส์/วินาที (TERABITS PER SECOND) ซึ่งเร็วกว่า 4G ปัจจุบัน 1,000 เท่า !?! ส่งผลให้เราต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่เร็วกว่าที่ใช้กันทุกวันนี้มาก และเชื่อกันว่าเทคโนโลยี 6G จะมาในยุค “หลัง สมาร์ทโฟน” (POST SMARTPHONE ERA) หรือยุคที่สมาร์ทโฟนไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตอีกแล้ว แต่ 6G จะใช้ในการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์ที่จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง จีน และเกาหลีใต้ ต่างได้เริ่มคิดค้นเทคโนโลยี 6G กันแล้ว คาดการณ์กันว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะยังไม่ได้มาแทนที่ 4G ในเร็วๆ นี้ แต่เราน่าจะเริ่มได้ใช้ 5G กันในทศวรรษนี้ และจะผลักดันความสามารถของมันไปสุดทางได้ในปี 2035 ส่วน 6G นั้นน่าจะเปิดตัวได้ในช่วงปลายทศวรรษนี้ หรือราวปี 2030 ความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยความเร็วสูงของเทคโนโลยี 5G ที่เราจะได้สัมผัสกันในอีกไม่นานนี้ จะช่วยให้ความคิดเรื่องสารพัดสิ่งล้วนเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เนทเป็นไปได้เร็วขึ้น อาทิ ระบบ VEHICLE-TO-INFRASTRUCTURE หรือยานพาหนะสื่อสารกับสภาพแวดล้อม อาทิ รถยนต์สามารถที่จะเก็บข้อมูลสภาพถนน แล้วส่งไปยังรถยนต์คันอื่นๆ หรือหน่วยงานที่ดูแลสภาพถนนให้ทราบว่า ถนนบริเวณนั้นมีน้ำเจิ่งนอง มีหลุมบ่อ หรือมีน้ำแข็งจับผิวถนนได้ เรียกว่า เหนือชั้นขึ้นไปกว่าที่เราสามารถคาดการณ์การจราจรผ่านทางแอพพลิเคชัน กูเกิลแมพ ที่เก็บข้อมูลดิจิทอลระดับมหาชน จากสมาร์ทโฟน ของแต่ละคนที่อยู่บนรถยนต์ ออกมาสร้างเป็นระบบนำทางที่สามารถคาดเดาเวลา และระบุถึงระดับความหนาแน่นการจราจรได้แม่นยำกว่าปัจจุบัน ตัวอย่างของความพยายามในการนำเอาศักยภาพของระบบ 5G มาใช้ก็คือ บริษัทยางชั้นนำของอิตาลีอย่าง “ปิเรลลี” (PIRELLI) ที่ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีสื่อสาร และบริษัทรถยนต์ หลายบริษัทในการพัฒนายางที่พวกเขาให้ชื่อว่า “ไซเบอร์ไทร์” (CYBER TIRE) ซึ่งกำลังทดสอบกันที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ยางไซเบอร์ นี้จะติดตั้งเซนเซอร์ไว้ เพื่อตรวจจับคุณภาพผิวถนน ส่งข้อมูลไปยังเครือข่าย ซึ่งจะส่งต่อไปยังรถยนต์ที่วิ่งตามมาให้ทราบว่า เส้นทางข้างหน้ามีสภาพถนนเป็นเช่นไร นอกจากนั้น เซนเซอร์ยังสามารถสื่อสารกับผู้ขับขี่ให้ทราบถึงสถานภาพของยางด้วยว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนยางแล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่านับระยะทางกันอย่างเดียว เพราะความสึกหรอของยางนั้นแปรผันกับรูปแบบถนน รูปแบบการขับขี่ และการรับน้ำหนักของตัวรถที่แตกต่างกัน แนวคิดเดียวกันนี้ ได้รับการพัฒนาในเยอรมนีด้วยเช่นกัน ในแผนกวิจัยของ ไดมเลร์ (DAIMLER) มีการพัฒนาให้รถยนต์นั่งของ เมร์เซเดส-เบนซ์ สามารถสื่อสารกับเครือข่ายได้ว่า ขณะนั้นผิวถนนมีน้ำแข็งจับ มีหิมะ ไปจนถึงถนนเกิดหลุมบ่อ เพื่อที่ทางการจะได้ส่งหน่วยซ่อมแซมผิวถนนมาจัดการได้ทันท่วงทีก่อนจะเกิดอุบัติเหตุ (หน่วยงานบ้านเราคงจะไม่เปิดให้บริการเรื่องนี้ เพราะมันคงจะเตือนไม่หยุดทั้งวันทั้งคืน) อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยของ ไดมเลร์ ร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนสัญชาติเยอรมนีอย่าง “โบช” (BOSCH) คือ การพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนไร้คนขับ โดยมีการทดลองกันในเมือง ซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย โดยติดตั้งเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนไร้คนขับไว้ในรถแทกซีที่เรียกผ่านทางสมาร์ทโฟน และกำหนดให้รับ/ส่งผู้โดยสารในสถานที่ตายตัว การวิ่งยังอยู่ภายใต้เกณฑ์ระดับ 4 ของ SAE นั่นคือ ยังต้องมีคนคอยดูแลระบบอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องจับพวงมาลัย เพราะรถจะต้องสามารถตัดสินใจลดความเร็ว และจอดได้เอง แม้ผู้ควบคุมระบบเผลอหลับก็ยังปลอดภัยอยู่

ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ