รายงาน(formula)
อาฟเตอร์ชอค ! ยุบ เชฟโรเลต์ สะเทือนทั้งวงการ
หลัง เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอม ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ เชฟโรเลต์ ในประเทศไทย พร้อมขายศูนย์การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ที่จังหวัดระยองให้แก่ กเรท วอลล์ มอเตอร์ส จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เกิด “อาฟเตอร์ชอค” รุนแรง สะเทือนวงการรถยนต์ ส่งผลกระทบถึงผู้เกี่ยวข้องหลากหลายส่วน ซึ่งเราได้รวบรวมมาไว้แล้วดังต่อไปนี้
เชฟโรเลต์ แคพทีวา ใหม่
เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ด้วยราคาเริ่มต้น 999,000 บาท แต่ต่อมากลายเป็นรถรุ่นสุดท้ายของ เชฟโรเลต์ ประเทศไทย ที่ถูกขายโละในราคาเพียง 499.000 บาท • เชฟโรเลต์ โคโลราโด ไฮคันทรี ราคาโละ 775,000 บาท • เชฟโรเลต์ โคโลราโด ทเรล บอสส์ ราคาโละ 655,000 บาท • เชฟโรเลต์ ทเรลบเลเซอร์ แอลที ราคาโละ 895,000 บาท ปรากฏการณ์ “โชว์รูมแตก” เมื่อ เชฟโรเลต์ ประกาศลดแหลกรถทุกรุ่น• โละสตอค คนแห่จองแน่นทุกโชว์รูม
หลังการประกาศยุติการผลิต/ขายในประเทศไทย เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย)ฯ ได้จัดพโรโมชันลดราคา รุ่น แคพทีวา, โคโลราโด และทเรลบเลเซอร์ สูงสุด 50 % ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์-31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ทำให้มีผู้สนใจไปจองรถกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นคนที่อยากได้รถจริงๆ หรือพวกนักเก็งกำไร เพราะต่อมาก็พบการประกาศขายใบจองรถในราคา 60,000-100,000 บาท และระบุว่า เป็นการจองซื้อเงินสด ทำให้มีโอกาสได้รถอย่างแน่นอน ซึ่งก็มีผู้บริโภคบางรายเสียรู้ให้มิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสขายใบจองปลอม• วงการประกันภัยป่วน
บริษัทประกันภัยรถยนต์ได้รับผลกระทบหลังการประกาศยุติการขายของ เชฟโรเลต์ ในครั้งนี้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการรับประกันทั้งรถใหม่ป้ายแดง และรถที่ทำประกันอยู่แล้วของรถยี่ห้อ เชฟโรเลต์ เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องของงานบริการ เพราะเกรงว่าจะไม่มีอะไหล่ซ่อมแซม หรือดูแลลูกค้าไม่ทั่วถึง ตัวอย่างเช่น บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระงับการเสนอเบี้ยป้ายแดง เชฟโรเลต์ ทุกรุ่น และต่อไปจะมีการปรับทุนประกันภัย และเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จะลดทุนเอาประกันรถใหม่ลง รวมถึงกรณีลูกค้าเดิมที่ทำประกันชั้น 1 ประเภทซ่อมห้าง ก็จะปรับเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นการทำประกันชั้น 1 ประเภทซ่อมอู่ธรรมดา ส่วนรถป้ายแดงที่ออกมาใหม่ จะไม่มีการรับประกันเบี้ยซ่อมห้างอีกแล้ว แต่จะเสนอขายเบี้ยประกันชั้น 1 ซ่อมอู่ธรรมดาแทน บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด งดรับประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต์ ทุกรุ่น ทุกแคมเปญสำหรับประเภทชั้น 1, 2 พลัส และ 3 พลัส ทั้งงานใหม่ และงานต่ออายุ แต่จะรับคุ้มครองเป็นประเภทชั้น 3 เท่านั้น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกัน โดยยึดตามราคารถในตลาดปัจจุบัน แต่ซ่อมอู่ทั่วไป บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด รับประกันชั้น 1 แต่สลักท้ายกรมธรรม์ ให้ลูกค้าเซ็นรับทราบว่าอาจจะจัดซ่อมล่าช้า เพราะต้องรออะไหล่ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันประเภทชั้น 3 เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น บริษัทประกันยังกังวลว่าเจ้าของรถที่ทำประกันไว้ ก่อนหน้านี้ ในวงเงินทุนเอาประกันที่สูง จะแสวงหาผลประโยชน์ โดยจัดฉากฉ้อฉล ทำรถหาย หรือทำให้เกิดเหตุเสียหายแบบ TOTAL LOSS เพื่อเคลมเงินสินไหมที่สูงกว่าราคารถใหม่ป้ายแดง อย่างไรก็ตาม การปรับลดทุนเอาประกันลงมาต้องดูว่าบริษัทไฟแนนศ์จะยินยอมหรือไม่ เพราะหากรถเกิดเสียหายขึ้นมา ค่าสินไหมที่บริษัทประกันจ่ายคงไม่พอเพียงกับภาระหนี้สิน หรือวงเงินที่ไฟแนนศ์ปล่อยเช่าซื้อ• ตลาดมือสองชะงัก ราคาทรุด
การประกาศลดราคาล้างสตอคถึง 50 % ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรถยนต์มือสองอย่างรุนแรง ทำให้ราคาขายรถมือสอง เชฟโรเลต์ ร่วงลงไปอย่างน้อย 20-30 % หรือราว 60,000-70,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น และปี บางรุ่นอาจจะขยับราคาลงไปถึงหลัก 100,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทไฟแนนศ์ต่างๆ ก็ไม่ปล่อยเงินกู้ หรือจัดไฟแนนศ์รถ เชฟ-โรเลต์ ทำให้แทบทุกเทนท์ ต้องหามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอย่างเร่งด่วน หลายเทนท์ตอนนี้ยังคงรับซื้อรถ เชฟโรเลต์ อยู่ แต่เจ้าของรถก็ต้องทำใจกับเรื่องราคารับซื้อเข้า เนื่องจากทางผู้ประกอบการรถมือสอง ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน• คนซื้อราคาเต็ม รวมตัวโวย ลด 50 %
การโละรถใหม่ในโชว์รูมแบบเทกระจาดด้วยราคาค่าตัวที่ถูกกว่าถึง 50 % ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ซื้อในช่วงเปิดตัวด้วยราคาที่สูงกว่า เกิดความไม่พอใจ และรู้สึกไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะลูกค้าที่ซื้อ แคพทีวา ในช่วงแรก และยังทำให้ทุนประกันลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่ต้องผ่อนในราคาเต็ม จึงได้นัดรวมตัวกันไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ราคารถยนต์ที่ขาดหายไป หรือขอยกเลิกสัญญา ซึ่ง เชฟโรเลต์ ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ย้ำชัดว่าไม่สามารถคืนเงินให้แก่ลูกค้าในกรณีนี้ได้• ไฟแนนศ์ห่วงรถยึด-ขายต่อตกวูบ
แนวโน้มราคาของรถยนต์ เชฟโรเลต์ ในอนาคตจะต่ำลงมาก ดังนั้น การพิจารณาปล่อยสินเชื่อของบรรดาไฟแนนศ์จะลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน กรุงศรี ออโต้ เป็นสถาบันทางการเงินรายแรกที่ประกาศไม่รับทำสินเชื่อรถ เชฟโรเลต์ ชั่วคราว โดยจะพิจารณาจากนโยบายการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้า เชฟโรเลต์ อีกครั้ง เมื่อเกิดความชัดเจนด้านการขาย และการตลาดจาก จีเอม ล่าสุด มีเพียง ธนาคารธนชาต ที่ยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อรถให้กับรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต์ ต่อไปตามเงื่อนไขเดิมทุกประการ และไม่มีการปรับลดยอดวงเงินปล่อยสินเชื่อของตัวรถด้วย• ศูนย์บริการ ยังลูกผีลูกคน แนะที่พึ่งคนรัก เชฟโรเลต์
ดีเลอร์ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากไปต่อ ชี้ประชากร เชฟโรเลต์ ในตลาดแค่หลักแสน แค่เซอร์วิศอย่างเดียวไม่คุ้ม ข่าวแจ้งว่า ดีเลอร์ของ เชฟโรเลต์ 86 แห่ง ยังไม่ได้เจรจากับบริษัทแม่ และส่วนใหญ่ไม่ ต้องการทำธุรกิจกับ เชฟโรเลต์ ต่อไป เนื่องจากพโรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก เชฟโรเลต์ นั้นไม่มีความคุ้มค่า โดยให้เหตุผลว่า เมื่อบริษัทแม่ประกาศถอนตัวออกจากตลาดรถยนต์ในไทย ดังนั้น การลงเงิน จ้างคน เตรียมอะไหล่ เตรียมสถานที่ จึงเป็นหน้าที่ของดีเลอร์เดิม แต่รายได้จะมาจากการรับบริการแค่ยี่ห้อเดียว ไม่มีรายได้จากการขายรถ ขายประกันภัย ขายชุดตกแต่ง หรือค่าคอมมิสชันอื่นๆ ซึ่งคำนวณแล้วไม่คุ้มค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าสตอคอะไหล่ แถมประชากรรถ เชฟโรเลต์ ในไทยมีแค่ไม่กี่แสนคัน ลูกค้าที่รถยนต์อายุงานมากกว่า 3 ปี ส่วนใหญ่มักหันไปใช้บริการอู่ทั่วไป ไม่เลือกใช้ศูนย์บริการร้านอะไหล่ เชฟโรเลต์ ทั้งใหม่ เเละเก่า
1. บริษัท จีพี อะไหล่ จํากัด โทร. 0-2941-1222 2. ร้าน อุดม ออโต้ ช๊อป โทร. 0-87087-2263 3. ร้าน อะไหล่รถยนต์ เชฟโรเลต์ โทร. 08-4615-5493 4. PHL AUTOPARTS โทร. 0-2223-9231 5. วี เอส อะไหล่ยนต์ โทร. 08-9179-3579 6. อะไหล่ CHEVROLET โทร. 0-2316-5274-5 7. ร้านต๋อ เซียงกงบางนา โทร. 08-4649-0666 8. หจก. รักษ์อะไหล่ยนต์ โทร. 0-2223-9944 (สำรวจเมื่อ 20/2/63)สำรวจเส้นทาง 2 ทศวรรษ เรื่องร้ายก็มี เรื่องดีก็มาก
2543
เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอม) ก่อตั้ง บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 พร้อมเปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ จีเอม เพาเวอร์ทเรน ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง และเริ่มดำเนินการในประเทศไทย รถยนต์ เชฟโรเลต์ รุ่นแรกที่ออกจำหน่าย ได้แก่ เชฟโรเลต์ ซาฟีรา บุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของไทย ได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้รถเป็นอย่างดี2546
เปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดกลาง เชฟโรเลต์ ออพทรา ได้รับความสนใจมาก2547
เปิดตัวรถกระบะ เชฟโรเลต์ โคโลราโด ที่ผลิตจากโรงงาน เจเนอรัล มอเตอร์ส จังหวัดระยอง เป็นผลงานการออกแบบ และพัฒนา ร่วมกันระหว่าง จีเอม กับอีซูซุ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของ อีซูซุ ดี-แมกซ์2548
เปิดตัวเก๋งตรวจการณ์สเตชันแวกอน เชฟโรเลต์ ออพทรา เอสเตท เสริมทัพด้วยรถเก๋งขนาดใหญ่ เชฟโรเลต์ ลูมินา ที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ความจุ 3.8 ลิตร ให้กำลัง 206 แรงม้า2549
เปิดตัวรถเก๋งขนาดเล็ก เชฟโรเลต์ อาวีโอ เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร และ เชฟโรเลต์ แคพทีวา ที่มีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล เปิดตัว เชฟโรเลต์ โคโลราโด รุ่นติดตั้งระบบ G-80 DIFFERENTIAL LOCK และเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น 3.0 ลิตร ซีทีไอ แมกซ์ซ์ เทอร์โบ ให้กำลัง 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม.2550
เปิดตัว เชฟโรเลต์ โคโลราโด รุ่นไมเนอร์เชนจ์2551
เพิ่ม เชฟโรเลต์ โคโลราโด รุ่นติดตั้งระบบแกสธรรมชาติอัด หรือ ซีเอนจี เครื่องยนต์ดีเซล ความจุ 2.5 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงผสมแบบ ดูอัลฟิวล์ (DUAL FUEL) ใช้น้ำมันดีเซลร่วมกันกับสัดส่วน ซีเอนจี 65 % และน้ำมันดีเซล 35 %2553
เปิดตัวรถเก๋งขนาดกลางรุ่นใหม่ เชฟโรเลต์ ครูซ พร้อมปรับโฉม เชฟโรเลต์ โคโลราโด เป็นครั้งที่ 2 เพิ่มกันชนหน้าแบบทูโทน เครื่องเล่น DVD ขนาด 7 นิ้ว2554
เปิด จีเอม เพาเวอร์ทเรน ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการผลิตเครื่องยนต์ ดูราแมกซ์ 4 สูบ ความจุ 2.5 และ 2.8 ลิตร2555
เปิดตัว เชฟโรเลต์ โซนิค รถเก๋งขนาดเล็กที่มาทำตลาดแทน เชฟโรเลต์ อาวีโอ และรถอเนกประสงค์ เชฟโรเลต์ ทเรลบเลเซอร์ ปีนี้เป็นปีที่ เชฟโรเลต์ ทำยอดขายได้มากที่สุดถึง 75,457 คัน2556
เปิดตัวรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง เชฟโรเลต์ สปิน2558
ปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงานลง 30 % และยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด (ครูซ, โซนิค, สปิน, แคพทีวา) ส่งผลให้ยอดขายในปีนี้ลดลง เหลือเพียง 17,456 คัน แต่ยังคงทำตลาดรถกระบะ โคโลราโด โดยออกรุ่นตกแต่งพิเศษหลายรุ่น2559
เปิดตัว เชฟโรเลต์ โคโลราโด และ ทเรลบเลเซอร์ รุ่นยกหน้า เป็นครั้งแรกในโลก เดือนเมษายน โดยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานของรุ่นเดิม2560
เดือนพฤศจิกายน ฉลองครบรอบ 100 ปี ของกระบะ เชฟโรเลต์ โดยจัดทำรุ่นพิเศษขึ้นในชื่อ เชฟโรเลต์ โคโลราโด เซนเทนเนียล เอดิชัน ตกแต่งสติคเกอร์สีดำบนกระโปรงรถ ล้ออัลลอยสีดำ 18 นิ้ว พร้อมชุดตกแต่ง ล้อ สปอร์ทบาร์ ตราสัญลักษณ์สีดำ และมีหมายเลขประจำตัวรถเฉพาะคัน โดยผลิตออกมาเพียง 100 คันเท่านั้น2562-2563
เปิดตัวรถอเนกประสงค์ เชฟโรเลต์ แคพทีวา รุ่นใหม่ในเดือนกันยายน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายดีขึ้น ประกอบกับ จีเอม มีแผนปรับโครงสร้างองค์กร ลดตลาดที่ไม่ทำกำไร เป็นเหตุให้ต้องประกาศหยุดการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ เชฟโรเลต์ ในตลาดประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 พร้อมขายศูนย์การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ที่จังหวัดระยองให้แก่ กเรท วอลล์ มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวต่อไปของ จีเอม ในตลาดโลก
เจเนอรัล มอเตอร์ส เจ้าของบแรนด์ทยอยถอนตัวออกจากตลาดที่ไม่สามารถทำกำไร รวมถึงประเทศไทยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ถึง 2 % โดยปรับแผนไปพึ่งพาตลาดใหม่ที่ จีน สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และเกาหลีใต้ มากขึ้น ซึ่งเน้นการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถกระบะ และเอสยูวี ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : จีเอม ประเทศไทย/อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2563
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)