การเปิดไฟฉุกเฉินวิ่งขณะฝนตกหนัก จะทำให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมา สับสน ไม่สามารถรับรู้ถึงความต้องการของเราได้ ว่าจะเปลี่ยนเลนไปทางไหน หรือต้องการจอด และแสงสีเหลืองของไฟฉุกเฉิน ยังส่งผลให้ดวงตาของผู้ขับขี่พร่า เบลอ กะระยะยาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ไม่นานมานี้ผมเจออุบัติเหตุกับตัวอีกครั้ง หลังจากที่เคยเขียนเน้นย้ำเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้รถที่ผิด ด้วยการพร้อมใจกันเปิด “ไฟฉุกเฉิน” วิ่งขณะฝนตกหนัก เพราะเห็นว่าใครๆ เขาก็เปิด เป็นเหตุให้รถคันหน้าผม ไปชนท้ายกับรถที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่ เปิดไฟฉุกเฉินให้สัญญาณ และหลบอยู่บนไหล่ทางอย่างถูกต้อง ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านผู้อ่านคงเคยเจอกับตัวเองมาบ้าง และบางท่านอาจทำตามด้วยความไม่ตั้งใจ เรามาสร้างความเข้าใจด้วยกันครับ การเปิดไฟฉุกเฉินขณะฝนตกหนัก จะทำให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมา รวมถึงผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ไม่สามารถรับรู้ถึงความต้องการของเราได้ ว่าต้องการจะเปลี่ยนเลนไปทางซ้าย หรือทางขวา หรือต้องการที่จะจอด เนื่องจากไฟเลี้ยวที่เราเปิดนั้น (กะพริบด้านเดียว) จะไม่ทำงานขณะเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ (เห็นเพียงไฟกะพริบ 2 ด้านพร้อมกัน) และที่สำคัญไปกว่านั้น การเปิดไฟฉุกเฉินยังส่งผลให้ดวงตาของผู้ขับขี่พร่าเบลอได้ จากการหักเหของแสงสีเหลือง (แสงสีเหลืองเป็นแสงที่จับวัตถุในที่มืดได้ดี) ที่กระทบกับหยดน้ำฝน หรือพื้นถนนที่มีน้ำขัง เข้าสู่ดวงตาเรา และยิ่งมีรถหลายคันเปิดไฟฉุกเฉินพร้อมกันด้วยแล้ว จะกะระยะได้ยาก สายตาจะเบลอจนตาลาย ไม่รู้คันไหนจะเลี้ยวไปทางไหน หรือกำลังจอดอยู่ เหมือนกับเจอหิ่งห้อยตัวใหญ่บนถนนไม่มีผิด ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องขับรถขณะฝนตกหนัก และมีทัศนวิสัยแย่ ควรปฏิบัติดังนี้ เปิดระบบปัดน้ำฝนให้แรงสุด (ไม่ต้องกลัวพัง) ลดความเร็ว ลงจนกว่าจะมองเห็นทัศนวิสัยที่ชัดขึ้น เปิดไฟส่องสว่างให้หมด ยกเว้นไฟสูง ถ้ารถมีไฟตัดหมอกหน้า หรือหลังให้เปิดด้วย (การเปิดไฟตัดหมอกให้สังเกตว่า ถ้ามองไม่เห็นไฟท้ายรถคันหน้าในระยะ 50-100 เมตร สามารถเปิดได้ แต่เมื่อทัศนวิสัยดีขึ้นตามลำดับให้ปิดทันที เพื่อไม่ให้เข้าตารถเพื่อนร่วมทาง) ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าในระยะที่คิดว่าปลอดภัย และ ไม่ควรเปลี่ยนเลนไปมาโดยไม่จำเป็น เพียง เท่านี้ ทั้งคุณ และเพื่อนร่วมทางก็จะผ่านสภาพเส้นทางที่เลวร้ายไปได้ และสามารถใช้ถนน ร่วมกันอย่างปลอดภัยมากขึ้นแล้วครับ