รู้ลึกเรื่องรถ
ชำแหละ GMA T.50 มาสเตอร์พีศของเจ้าลัทธิวิชาตัวเบา (ตอน 1)
หากจะกล่าวถึงเหตุผลของการครอบครองซูเพอร์คาร์สักคัน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีนัยหลากหลาย โดยเฉพาะมิติของการเป็นตัวแทนความสำเร็จในชีวิต และมิติแห่งพลังอำนาจ ทั้ง 2 ข้อนี้ เป็นโจทย์หลักของการสร้างสรรค์ซูเพอร์คาร์ นั่นคือ มันต้องมีรูปทรงที่สวยงาม เตะตา น่าหลงใหล และเป็นที่อิจฉาของคนกว่า 99 % บนโลกนี้ และมันต้องมีสมรรถนะที่สามารถทิ้งรถกว่า 99 % บนท้องถนนให้อยู่เบื้องหลังได้ สรุปง่ายๆ มันสร้างมาเพื่อสนองอัตตาของเศรษฐีนั่นเองแน่นอนว่า ไม่ใช่ผู้ประสบความสำเร็จด้านการเงินทุกคนจะต้องมีซูเพอร์คาร์ และไม่ใช่ว่าผู้ที่มีซูเพอร์คาร์ทุกคนจะต้องมีทักษะการควบคุมรถที่ยอดเยี่ยม เพราะเจ้าของซูเพอร์คาร์จำนวนไม่น้อยพึงพอใจแค่อัตราเร่งแซง ซุ่มเสียงที่เร้าอารมณ์ หรือไม่ก็เพียงชื่นชอบสายตาของผู้อื่นที่มองมายังรถของเขาเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในยุคที่คนรวยผุดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ (แต่ทำไมเรายังคงไม่รวยกับเขาสักที) ซูเพอร์คาร์รุ่นใหม่ๆ จึงได้รับการออกแบบให้ขับได้ง่ายกว่าในอดีตมากมายนัก ส่วนความเร็วสูงสุดที่ไม่รู้จะไปขับได้ที่ไหนนั้น เอาไว้คุยข่มกันในวงเหล้าก็เพลินพอตัว นอกจากรูปทรงสุดเซกซี อัตราเร่ง และความเร็วสูงสุดแล้ว ในโลกนี้ยังมีกลุ่มคนที่ยังหลงใหล “ความสนุก” ที่ได้จากการบังคับควบคุมเจ้าม้าพยศ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีซูเพอร์คาร์รุ่นล่าสุดในครอบครอง แต่พวกเขาก็ยังสะสมรถรุ่นเก่าที่มีกลไกเรียบง่าย และภูมิใจที่สามารถขับรถที่มี 3 แป้นเหยียบ ได้แก่ คลัทช์ เบรค และคันเร่ง เพราะพวกเขาชื่นชอบที่จะใช้ทักษะในการควบคุมแป้นเหยียบทั้ง 3 นี้ (แต่จะเก่งแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่จึงเป็นสาเหตุที่รถจากยุคทศวรรษที่ 90 เป็นที่หลงใหลของคนเล่นรถในทุกวันนี้ แม้มันจะช้ากว่ารถยุคใหม่ แต่มันมอบประสบการณ์การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์ที่เข้มข้นกว่า ซึ่งไม่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ ที่รู้สึกตื่นเต้นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง การฟังเทปคาสเสทท์ และการถ่ายภาพด้วยกล้องฟีล์ม มันทำให้เราได้เห็นกลไกการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน ที่แม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนการฟังสตรีมิง หรือว่องไวเหมือนการถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือให้หน้าชัดหลังเบลอก็ตาม นักออกแบบรถยนต์บางคนเข้าใจถึงรสชาติของ “สัมผัส” ที่ขาดหายไปนี้ พวกเขามองหาความท้าทายใหม่ ที่ไม่ใช่ อัตราเร่งที่เปรี้ยงปร้างดั่งฟ้าผ่า (ยังไงก็ไม่เร็วไปกว่า TESLA ROASTER (เทสลา โรดสเตอร์) ที่ติดตั้งแพคเกจจรวดอากาศ SPACEX (สเปศเอกซ์) ได้) หรือความเร็วท้ามฤตยูระดับ 400 กม./ชม. แต่เป้าหมายของการออกแบบ คือ ทำให้เจ้าของรถสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งจักรกล ที่จะหลอมรวมเข้าเป็นประสบการณ์การขับขี่ที่เข้มข้น แม้ไม่ต้องเหยียบมิดก็สัมผัสได้ราวกับการขับรถแข่งในสนาม
- PROF. GORDON MURRAY
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ
คำค้นหา