รายงาน(formula)
MAZDA MOTOR CORPORATION 100 YEARS ศตวรรษแห่งสุนทรียะ และนวัตกรรมยานยนต์
“SUSTAINABLE ZOOM-ZOOM” MAZDA (มาซดา) บแรนด์รถยนต์ที่มีความเป็นมายาวนาน และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น จากจุดเริ่มต้นด้วยการเป็นบริษัทผลิตจุกไม้คอร์คในปี 1920 ตลอดระยะเวลา 1 ศตวรรษ พวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย และมีการพัฒนาอย่างเหลือเชื่อ ก่อนจะกลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกในปัจจุบันก้าวแรกในยุคสงครามโลก 1920 จุดเริ่มต้นของ MAZDA เกิดจาก บริษัท โตโย คอร์ค โคเกียว จำกัด (TOYO CORK KOGYO CO., LTD.) ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ผลิตจุกไม้คอร์คสำหรับปิดขวด 1927 บริษัทฯ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โตโย โคเกียว (TOYO KOGYO) โดยเน้นการผลิตเครื่องมือของเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนัก เช่น เครื่องเจาะหิน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต่างมีความทะเยอทะยานในการเอาชนะเทคโนโลยีของชาติตะวันตก ซึ่ง โตโย โคเกียว ก็เป็นหนึ่งในนั้น 1930-1931 MAZDA ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ชนะการแข่งขัน AUTO RACE ของ HIROSHIMA’S SHOKON-SAI ในปีถัดมาจึงได้เบนเข็มมาผลิตรถบรรทุก 3 ล้อ เครื่องยนต์ 500 ซีซี ออกจำหน่ายในปี 1931 โดยใช้ชื่อว่า MAZDA-GO (มาซดา-โก) 1945 ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 โรงงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูกิจการ และก่อสร้างใหม่ จนกระทั่ง บริษัทฯ สามารถผลิตยานยนต์ออกขายได้อีกครั้ง 1950 ครบรอบ 30 ปี บริษัท โตโย โคเกียว กิจการผลิตรถยนต์ของ MAZDA หลากหลายรุ่น รวมถึงผลิตรถยนต์ 4 ล้อ ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก 1960 MAZDA เริ่มเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ไทย และรถ MAZDA รุ่นแรกที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นรถกระบะ 3 ล้อที่นำเข้าโดยตรงจากเมือง ฮิโรชิมา จากนั้นอีก 9 ปีต่อมาก็ได้แนะนำรถ MAZDA R360 COUPE (มาซดา อาร์ 360 คูเป) ขนาด 360 ซีซี 2 สูบ ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของ MAZDA เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ การออกแบบ และผลิตรถยนต์ บแรนด์ MAZDA มาจากชื่อผู้ก่อตั้ง “จูจิโร มัทสึดะ“ (JUJIRO MATSUDA) ที่ออกเสียงสอดคล้องกับชื่อของเทพเจ้า อฮูรา มาซดา (AHURA MAZDA) เทพเจ้าแห่งความสามัคคี สติปัญญา และภูมิปัญญาของชาวเอเชียตะวันตก เป็นผู้ที่มุ่งมั่นและมีความตั้งใจแน่วแน่ อุทิศตนอย่างจริงจังเพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักร โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และความถนัดในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร ทุ่มเท วิจัยพัฒนาเกี่ยวกับวิศวกรจนสามารถผลิตรถบรรทุก 3 ล้อ เพื่อเป็นประโยชน์ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน จนพัฒนาประเทศได้ในที่สุด รุกตลาดรถยนต์เต็มตัว 1960 MAZDA เริ่มรุกตลาดรถยนต์นั่งอย่างจริงจัง โดยมี MAZDA R360 รถขนาดกะทัดรัดเป็นรุ่นแรก 1963 มียอดผลิตสะสมรวม 1 ล้านคัน และเริ่มจำหน่ายรถ MAZDA FAMILIA (มาซดา แฟมิเลีย) ขนาด 800 ซีซี เป็นรถครอบครัวรุ่นแรกๆ ของ MAZDA 1966 เปิดตัวรถซีดานขนาดกลางดีไซจ์น อิตาลี ภายใต้ชื่อ MAZDA LUCE (มาซดา ลูเซ) ซึ่งเป็นรถที่หลายคนประทับใจ และต้องเหลียวมองด้วยดีไซจ์นที่โดดเด่นในสมัยนั้น และเป็นปีเดียวกับที่โรงงานผลิตรถยนต์นั่งแห่งแรกใน UJINA เมืองฮิโรชิมาก่อสร้างเสร็จสิ้น 1967 ปิดท้ายยุค 60 อย่างยิ่งใหญ่ด้วย MAZDA COSMO SPORT (มาซดา คอสโม สปอร์ท) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี “เครื่องยนต์ในฝัน” คันแรกของโลก รูปทรงสปอร์ท พร้อมด้วยเบาะแบบ 2 ที่นั่ง 1974 โรงงานประกอบรถยนต์ MAZDA แห่งแรกในประเทศไทย เริ่มเดินสายการผลิตในปี 1974 ในนามของ บริษัท สุโกศลมาสด้า อุตสาหกรรมรถยนต์ จำกัด เปิดตำนาน “เครื่องยนต์โรตารี” หากพูดถึงเครื่องยนต์โรตารี (ROTARY ENGINE) เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กล่าวถึง MAZDA ผู้ปลุกปั้นพัฒนาเครื่องยนต์สูบหมุนจนกระทั่งมีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ซึ่งเครื่องยนต์โรตารี ถูกคิดค้นโดย เฟลิกซ์ วังเคล (FELIX WANKEL) วิศวกรชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่กับค่าย NSU MOTOR ตั้งแต่ปี 1957 และด้วยเหตุนี้ เครื่องยนต์โรตารีจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วังเคล เอนจิน (WANKEL ENGINE) โดยแรกเริ่ม เขาคิดค้นเครื่องยนต์โรตารีขึ้นมา เพราะต้องการสร้างเครื่องยนต์ที่มีการสั่นน้อยกว่าเครื่องยนต์แบบลูกสูบ แต่ปัจจุบัน นอกจากเครื่องยนต์โรตารีจะมีการสั่นที่น้อยกว่าแล้ว มันยังได้รับการพัฒนาจนกระทั่งมีสมรรถนะที่โดดเด่น รวมไปถึงมีความทนทานเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับเครื่องยนต์แบบลูกสูบชัก และได้คว้ารางวัลในการแข่งขันหลายรายการ คว้าแชมพ์ เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง 1978 MAZDA RX-7 (มาซดา อาร์เอกซ์-7) เจเนอเรชันแรกออกสู่ตลาด และกลายเป็นรถที่ทำให้พวกเขารุ่งเรืองสุดๆ 1984 มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก โตโย โคเกียว เป็น มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน (MAZDA MOTOR CORPORATION) และกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั่งอันดับ 4 ของญี่ปุ่น 1990 เริ่มจำหน่าย MAZDA 121 ขนาดกะทัดรัดน่ารัก หลังคาผ้า เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอิสระ และมีความสุข 1991 MAZDA สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการแข่ง เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง ด้วยรถแข่งรหัส 787B ที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรตารี 700 แรงม้า ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ นับว่าเป็นจุดสูงสุดของ MAZDA เพราะมัน คือ การแข่งขันที่ทรหด และเป็นการวัดว่าเครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ ในขณะที่รถก็ต้องมีความเร็วควบคู่ไปด้วย และรถรหัส 787B ในที่สุดก็สามารถคว้าแชมพ์มาให้ MAZDA ทำให้พวกเขาเป็นค่ายรถญี่ปุ่นค่ายแรก และค่ายเดียวที่สามารถคว้าแชมพ์รายการนี้ 1998 MAZDA MX-5 (NB) เจเนอเรชันที่ 2 ของ สปอร์ทโรดสเตอร์ในญี่ปุ่น มีการพัฒนา และใส่แนวคิดใหม่ๆ เข้าไปในตัวรถหลายอย่าง ทั้งเรื่องความสปอร์ท ความสบายในการขับขี่ ตลอดจนความปลอดภัยอีกระดับ ร่วมทุนกับพันธมิตร เปิดโรงงานผลิต และประกอบแห่งใหม่ ในปี 1995 มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ได้ตกลงร่วมทุนกับพันธมิตร จัดตั้งบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AAT ซึ่งเป็นโรงงานผลิต และประกอบรถยนต์แห่งใหม่ที่จังหวัดระยอง พร้อมเริ่มการผลิตในเดือนธันวาคม 2540 บนเนื้อที่ 529 ไร่ ด้วยกำลังการผลิต 135,000 คัน/ปี โดยโรงงาน ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ได้เป็นศูนย์กลางการผลิต รถกระบะ 1 ตัน รุ่น B2500 (บี 2500) สำหรับส่งออก และจำหน่ายภายในประเทศ พร้อมขยายฐานการผลิตสำหรับรถยนต์นั่ง โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย อีกทั้งมีความยืดหยุ่นสามารถผลิตรถยนต์ได้หลายรุ่น ในสายการผลิตเดียวกัน รวมถึงรถยนต์นั่งรุ่น 323 ปโรเตเจ ด้วยเช่นกัน โรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ISO 9002 คว้ารางวัลมากมายด้านคุณภาพรถยนต์ ทั้งในไทย และสหราชอาณาจักร รวมทั้งได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด ตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ MAZDA MAZDA ในไทย ตั้งแต่ยุค 2000 ถึงปัจจุบัน 1999 มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุน พร้อมจัดตั้งคณะผู้บริหารใหม่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ มีแนวทางการบริหารเน้นไปที่การตลาด การขาย การบริการลูกค้า และการสนับสนุนผู้แทนจำหน่ายเพื่อนำเสนอรถยนต์ MAZDA รุ่นต่างๆ มากยิ่งขึ้น 2002 MAZDA เริ่มแคมเปญสื่อสารเต็มรูปแบบ ผ่านแนวคิด ZOOM-ZOOM เป็นครั้งแรกทั้งในญี่ปุ่น และประเทศไทย ถือเป็นบริษัทรถยนต์เพียงแห่งเดียวที่มีเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และการตลาดโดดเด่นชัดเจน 2004 MAZDA 3 เจเนอเรชันแรก ที่ใช้เลขตัวเดียวเป็นชื่อรุ่น รูปลักษณ์โฉบเฉี่ยว ทันสมัย รุ่นทอพให้ซันรูฟเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน กวาดยอดจองกว่า 3,000 คัน หลังเปิดตัวในไทยเพียงสัปดาห์เดียว ! 2015 เริ่มสายการผลิตเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE ที่ MPMT โรงงานผลิตเกียร์แห่งใหม่ในประเทศไทย 2020 MAZDA เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี และเป็นปีที่เปิดตัว MAZDA CX-30 (มาซดา ซีเอกซ์-30) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี น้องใหม่ล่าสุด ด้วยแนวคิด “LIFE’S ALWAYS ON” ซึ่งทำให้ MAZDA มีรถในเซกเมนท์ เอสยูวี หรือรถอเนกประสงค์จำหน่ายมากที่สุดในไทยถึง 4 รุ่น (CX-3, CX-5, CX-8 และ CX-30) “SKYACTIV TECHNOLOGY” นวัตกรรมเทคโนโลยีแบบยั่งยืน MAZDA เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี โดยได้ต่อยอด และพัฒนาจนมีชื่อเสียงทั้งด้านรถสปอร์ท และรถแข่งมอเตอร์สปอร์ท และในปัจจุบันได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี “SKYACTIV” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ MAZDA ที่คิดค้นขึ้น เพื่อพัฒนาสมรรถนะของรถ และเครื่องยนต์ให้มีกำลังแรง แต่ประหยัดน้ำมัน โดย MAZDA ได้นำนวัตกรรมใหม่เทคโนโลยี SKYACTIV ใช้ออกแบบ และพัฒนารถทั้งคัน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องยนต์, ระบบเกียร์, โครงสร้างตัวถัง, ช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยวไว้ด้วยกัน เพื่อให้ทุกส่วนทำงานประสานสอดคล้อง และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด SKYACTIV เป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยียนตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าภาคภูมิใจของ MAZDA ที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแผนงานระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของ MAZDA หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ซูม-ซูม แบบยั่งยืน” หรือ “SUSTAINABLE ZOOM-ZOOM” เพื่อมอบประสบการณ์ด้านการขับขี่ที่สนุกเร้าใจ ไปพร้อมๆ กับความห่วงใยที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ รวมถึงระบบความปลอดภัยสุดล้ำต่างๆ สำหรับยนตรกรรมที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นต่อจากนี้ ปี 1959 ตราสัญลักษณ์ของ MAZDA เริ่มมีการใช้ตัว m แบบใหม่เป็นตัวเล็ก อยู่ในวงกลม จากนั้นก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปี 1975 เริ่มใช้ระบบ CI ในองค์กร และปรับใช้กับตราสัญลักษณ์ โดยใช้คำว่า MAZDA แทนตราสัญลักษณ์ หรือโลโก ปี 1991-1992 ในปี 1991 MAZDA ใช้สัญลักษณ์วงรีวางในแนวนอน และมีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด รูปทรงคล้ายเพชรอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์ และเปลวเพลิง และในปีถัดไป 1992 MAZDA มีการพัฒนาโลโกนี้อีกครั้ง โดยเปลี่ยนวงรีให้มีรูปทรงโค้งมนเป็นวงกลมมากขึ้น ขณะที่สี่เหลี่ยมข้างในก็ถูกลบมุม และเพิ่มความโค้งมน โดยยังคงอยู่ภายใต้คอนเซพท์ของเพชรที่ผสานกับดวงอาทิตย์ ปี 1997 โลโกตัว M อย่างในปัจจุบัน ที่ดูคล้ายปีกนก หรือ “DYNAMIC WING” ซึ่งหมายถึง ความตั้งใจที่จะสยายปีกให้กว้างเพื่อจะบินให้สูงขึ้นเริ่มนำมาใช้ในปี 1997 เพื่อแสดงความทุ่มเทของบริษัทฯ ในการต่อยอดความเจริญเติบโต และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จุกไม้คอร์ค ไม้คอร์ค คือ เปลือกนอกของต้นโอคที่มีโครงสร้างลักษณะรวงผึ้ง น้ำหนักเบา ง่ายต่อการบีบอัด อีกทั้งยังมีความแข็งแรง ของเหลว และแกสไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกจากนี้ยังปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ ทนความดัน ความร้อน กันความชื้นและเสียง ชาวโรมันจึงนำไม้คอร์คมาทำรองเท้า ทำเป็นทุ่นลอยสำหรับการประมงจับสัตว์น้ำ และทำจุกขวดไวน์ จุกไม้คอร์คไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้วในสมัยนี้ เนื่องจากปัจจุบันไม้คอร์คหายากขึ้น ส่งผลให้การผลิตเกิดความล่าช้า และมีราคาแพง ไวน์ชนิดดื่มกินกับอาหารจึงลดต้นทุนมาใช้ฝาเกลียวแทน รถคลาสสิค รถคลาสสิค (CLASSIC) ตามนิยามของสมาพันธ์รถโบราณสากล หรือ FIA คือ รถที่ผลิตระหว่าง ปี 1961-1970 ซึ่งเป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของวงการยานยนต์ มีเทคโนโลยีด้านอากาศพลศาสตร์ และสมองกลรุ่นแรก ร่วมกับวิชาการตลาด นำความหลากหลายมาสู่รถยนต์อย่างไม่เคยมีมาก่อน รถยุคนี้ส่วนใหญ่จะมีรูปทรง ลู่ลม กระชับ และสะดวกสบายขึ้นในมิติที่เล็กลง ยิ่งกว่านั้น ยังทำความเร็วตีนปลายทะลุหลัก 240 กม./ชม. มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย เช่น เบรคแบบจาน เบรค ไฮดรอลิค 2 วงจร เข็มขัดนิรภัย ตัวถังแบบซับแรงปะทะ และแกนพวงมาลัยแบบยุบตัวเมื่อเกิดการชน MAZDA 323 ASTINA รถแฮทช์แบคที่ต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นไฟพอพ-อัพ เป็นรถขับสนุก เครื่องแรง โดนใจลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น ไฟหน้าวางแนวนอนเป็นที่มาของคำว่า “ตาตี่” และยังมีรุ่นซีดานหน้าตาเรียบร้อยให้เป็นตัวเลือก MAZDA 3 MOVE SERIES MAZDA เอาใจคนรักรถมาดสปอร์ท นำ MAZDA 3 แฮทช์แบค 5 ประตู รุ่นใหม่ มาตกแต่งเสริมความโดดเด่น รูปลักษณ์ภายนอกดูสปอร์ท ในสไตล์ MPS (MAZDA PERFORMANCE SERIES) รอบคัน ภายใต้ชื่อ “MOVE SERIES” (มูฟ ซีรีส์) โดยมีให้เลือกทั้งรุ่น I-MOVE 1.6 ลิตร และ S-MOVE 2.0 ลิตร 50 ปีแห่งการปฏิวัติโรตารี เปิดพรมแดนใหม่ด้วยเครื่องยนต์โรตารี เครื่องยนต์โรตารีมีขนาดเล็กและเบากว่าเครื่องยนต์ลูกสูบทั่วไป โดยมีอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนักที่เหนือกว่า เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนลูกสูบ มีเพียงโรเตอร์ 3 ด้านที่หมุนอยู่ในตัวเครื่อง จึงเงียบกว่า และนุ่มนวลกว่า ผู้ที่คิดเครื่องยนต์โรตารีขึ้นเป็นคนแรก คือ เฟลิกซ์ วังเคล (Felix Wankel) บางครั้งเราจึงเรียกเครื่องยนต์โรตารีว่า Wankel engine หรือ Wankel rotary engine โรเตอร์ของเครื่องยนต์โรตารี เปรียบได้กับลูกสูบในเครื่องยนต์ลูกสูบชัก (Reciprocating Engine) โดยจะทำหน้าที่เคลื่อนที่ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้และสร้างกำลังออกมา สำหรับเครื่องยนต์โดยทั่วไปนั้น ลูกสูบจะเคลื่อนที่ไปและกลับในแนวเส้นตรง แต่สำหรับเครื่องยนต์โรตารีแล้ว โรเตอร์จะเคลื่อนที่โดยการหมุนรอบตัวเอง และนี่ก็เป็นที่มาของชื่อเรียก สูบหมุน โรตารีมีการทำงาน 4 จังหวะ ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวะดูด, จังหวะอัด, จังหวะระเบิด และจังหวะคายไอเสีย เครื่องยนต์โรตารีได้แรงดันจากห้องเผาไหม้ที่อยู่ภายในเสื้อโรเตอร์ หรือห้องเผาไหม้ (Housing) ซึ่งจะถูกซีลไว้อย่างดี ไม่ให้มีการรั่วไหลของแกส ตัวโรเตอร์เทียบได้กับลูกสูบของเครื่องยนต์ลูกสูบ โรเตอร์จะหมุนแบบเยื้องศูนย์ (Eccentric Shaft) โดยขอบของโรเตอร์สัมผัสกับห้องเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ตัวโรเตอร์ทำหน้าที่แยกห้องเผาไหม้ออกเป็น 3 ห้อง ขณะที่โรเตอร์หมุนอยู่ แต่ละห้องจะมีการหดและขยายตัวของแกสอยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือว่า ใน 1 รอบการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยง เครื่องยนต์โรตารีจะสามารถสร้างกำลังได้ถึง 3 ครั้ง ผิดกับเครื่องยนต์ลูกสูบ ที่เพลาข้อเหวี่ยงต้องหมุนถึง 2 รอบ จึงจะสร้างกำลังได้ (โรตารี เพลาเยื้องศูนย์หมุน 1 รอบ สร้างกำลังได้ 1 ครั้ง/เครื่องยนต์ปกติ หมุน 1 รอบ สร้างกำลังได้ 0.5 ครั้ง) และการสร้างกำลังได้อย่างมหาศาลต่อการหมุน 1 รอบ ก็คือข้อได้เปรียบของเครื่องยนต์สูบหมุน ปี 1967 MAZDA เปิดตัว COSMO SPORT (คอสโม สปอร์ท) ซึ่งนับเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรตารี 2 โรเตอร์ (TWO-ROTOR) ในปี 1968 เปิดตัว FAMILIA ROTARY COUPE (แฟมิเลีย โรตารี คูเป) ออกสู่ท้องถนนในฐานะรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรตารีคันที่ 2 ในปี 1978 MAZDA เปิดตัว RX-7 (อาร์เอกซ์-7) รถสปอร์ทที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรตารี ซึ่งเป็นการผลิตจำนวนมาก ถือเป็นยุคใหม่ของเครื่องยนต์โรตารี ในปี 2003 ทีมงานได้พัฒนาเครื่องยนต์โรตารีรุ่นใหม่ และตั้งชื่อว่า RENESIS โดยการรวม RE (เช่นเดียวกับ รีสตาร์ท) และ NESIS (ส่วนสุดท้ายของคำว่า การกำเนิด) และนำมาใช้กับ RX-8 (อาร์เอกซ์-8) รถสปอร์ท 4 ประตู 4 ที่นั่ง ในปี 2006 MAZDA กลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่เปิดตัว RX-8 HYDROGEN RE (อาร์เอกซ์-8 ไฮโดรเจน อาร์อี) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรตารีไฮโดรเจน MAZDA ผงาดครองแชมพ์ยอดขายอันดับ 1 ตลาดรถ เอสยูวี MAZDA ครองอับดับ 1 ด้านยอดขายรถครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ในเดือนมิถุนายน 2563 ด้วยยอดจำหน่ายสูงเกือบ 1,200 คัน หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ MAZDA ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์เซกเมนท์นี้เป็นครั้งที่ 2 ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความมุ่งมั่นของ MAZDA ในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมภายใต้เทคโนโลยี SKYACTIV และปรัชญาการออกแบบ KODO DESIGN ที่ผสมผสานพลัง และความสวยงามเข้าไว้ด้วยกัน ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลาย และความปลอดภัยระดับสูงสุด วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทย อย่างรุนแรง โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ตลาดรถยนต์ของไทยมียอดขายรวมประมาณ 124,000 คัน (ตัวเลขประมาณการ) ขณะที่ MAZDA มียอดขายสะสมอยู่ที่ 5,256 คัน สำหรับตลาดรถครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ของไทย เฉพาะเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มียอดจำหน่าย 4,847 คัน (ไม่รวม PPV) ซึ่ง MAZDA มียอดจำหน่ายสูงสุดจำนวน 1,184 คัน แบ่งเป็น ALL-NEW MAZDA CX-30 (มาซดา ซีเอกซ์-30 ใหม่) จำนวนสูงถึง 700 คัน NEW MAZDA CX-5 (มาซดา ซีเอกซ์-5 ใหม่) จำนวน 230 คัน NEW MAZDA CX-3 (มาซดา ซีเอกซ์-3 ใหม่) จำนวน 173 คัน และ ALL-NEW MAZDA CX-8 (มาซดา ซีเอกซ์-8 ใหม่) จำนวน 81 คัน ทำให้ MAZDA ขึ้นแท่นครองแชมพ์บแรนด์ผู้จำหน่ายรถครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี สัญชาติญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน และประสบความสำเร็จขึ้นไปอีกขั้นด้วยยอดจำหน่ายอันดับ 1 ของไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2020 (เมษายน-มิถุนายน) จำนวน 2,201 คัน จากยอดจำหน่ายรวมทุกบแรนด์ประมาณ 10,982 คัน ยอดจำหน่ายรถ MAZDA ในประเทศไทย
ปี 2000 | 7,243 |
ปี 2001 | 5,920 |
ปี 2002 | 8,227 |
ปี 2003 | 10,374 |
ปี 2004 | 14,130 |
ปี 2005 | 18,670 |
ปี 2006 | 16,046 |
ปี 2007 | 15,012 |
ปี 2008 | 11,178 |
ปี 2009 | 13,241 |
ปี 2010 | 35,143 |
ปี 2011 | 41,980 |
ปี 2012 | 59,372 |
ปี 2013 | 52,914 |
ปี 2014 | 34,326 |
ปี 2015 | 39,471 |
ปี 2016 | 42,537 |
ปี 2017 | 51,355 |
ปี 2018 | 70,475 |
ปี 2019 | 58,129 |
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)