รู้ลึกเรื่องรถ
ยานยนต์ไร้คนขับ ป่านนี้ทำไมยังไม่มา ?!?
พวกเราได้รับการบอกเล่ามาหลายปีแล้วว่า สักวันหนึ่งจะเปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมัน มาเป็นรถไฟฟ้า แต่ทุกวันนี้ยังมีน้อยคนนักที่ได้ใช้รถไฟฟ้าอีกเรื่องที่ได้ยินบ่อยๆ คือ ในอนาคตอันใกล้นี้พวกเราจะได้ใช้งานยานยนต์ไร้คนขับ แม้จะได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับของค่าย UBER และจากคู่แข่งที่ได้พัฒนายานยนต์ประเภทนี้ ในห้องแลบของมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือจากระบบขับเคลื่อน “กึ่ง” อัตโนมัติ AUTOPILOT ของค่าย TESLA (เทสลา) ที่ทำงานได้ค่อนข้างดี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น บนทางหลวงที่ไม่มีจุดตัดทางแยก เนื่องจากระบบไม่สามารถแยกแยะสัญญาณไฟจราจรได้ 100 % และแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ จะเคยกล่าวไว้ว่าในปี 2021 ยานยนต์ไร้คนขับจะเป็นเรื่องสามัญบนถนนของสหรัฐอเมริกา แต่นับจนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังไม่เห็นการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับอย่างเป็นรูปธรรม ความหลากหลายในโลกภาพยนตร์นั้น วิสัยทัศน์เรื่อง “ยานยนต์ไร้คนขับปลอดภัยกว่าการใช้มนุษย์ควบคุมอยู่หลังพวงมาลัย” มีมานานนับทศวรรษ ไม่ว่าจะในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด เรื่อง MINORITY REPORT นำแสดงโดย TOM CRUISE ในปี 2002 ที่แสดงให้เห็นภาพของเมืองในปี 2054 ที่รถส่วนใหญ่ใช้ระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ เรื่อง I-ROBOT ในปี 2004 นำแสดงโดย WILL SMITH ที่เสนอภาพของรถในอนาคต AUDI RSQ (เอาดี อาร์เอสคิว) ปี 2035 ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของซูเพอร์คาร์ AUDI R8 (เอาดี อาร์ 8) จริงๆ แล้ว วิสัยทัศน์ในโลกภาพยนตร์ก็มีส่วนถูกอยู่มาก ทุกวันนี้ หากนำเอารถยนต์ที่เราต้องขับเองออกไป แล้วถูกแทนที่ด้วยยานยนต์ไร้คนขับสาธารณะ มันคงจะน่าอยู่มากขึ้น แน่นอนว่า เรื่องนี้ไม่ถูกใจคนชอบขับรถยนต์อย่างแน่นอน แต่หากมองการขับรถเหมือนกับการสูบบุหรี่ ก็อาจจะมองเห็นภาพได้ว่า ในสังคมปัจจุบัน เราไม่ห้ามให้มีการซื้อ/ขาย และสูบบุหรี่ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ และไม่ประสงค์ให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่ สาธารณะ คนสูบบุหรี่ก็จำเป็นจะต้องไปสูบในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ หรือไปสูบในสถานที่ส่วนบุคคล ซึ่งหมายความว่า หากคุณชอบการขับรถด้วยตนเอง ต่อไปคุณก็ต้องไปขับในสถานที่ที่อนุญาตให้ขับได้นั่นเอง มีการกล่าวว่า หากเราสามารถลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล และหันไปใช้รถสาธารณะที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าการนั่งรถแทกซี จะเกิดข้อดีอะไรขึ้นมาบ้าง ? เมื่อลองคิดดูแล้วก็พบว่ามีข้อดีเพิ่มขึ้นมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นถนนที่ไม่มีรถจอดริมถนนให้เกะกะสายตา เพราะเมื่อคุณถึงที่หมายแล้ว รถก็จะวิ่งไปให้บริการคนอื่นต่อไปได้ ถนนของเราก็จะเหมือนเส้นเลือดที่สุขภาพดี ไม่มีคอเลสเตอรอลมาเกาะผนังเส้นเลือดอีกต่อไป รวมไปถึงพฤติกรรมแย่ๆ ของคนขับรถก็จะหายไป อาทิ ขับเร็วเกินกำหนด ฝ่าไฟแดง แซงในที่คับขัน ไร้วินัย “ซิ่ง” อวดสาว เมาแล้วขับ เล่นมือถือ ปาดหน้าแล้วยิง หลับใน ฯลฯ ในเมื่อมันดีขนาดนี้แล้ว ทำไมจึงยังไม่ได้ใช้กันเสียที ? สิ่งที่ทำให้มันยังไม่เกิดขึ้นเพราะ สังคมปัจจุบันยังไม่ไว้ใจระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ มีการสำรวจข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบว่าชาวอเมริกันกว่า 15 % ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ที่จะมีการจำหน่ายยานยนต์ไร้คนขับได้จริง กว่า 42 % จะไม่ยอมนั่งในรถไร้คนขับ 56 % ต้องการให้มันปลอดภัย 100 % ถึงจะยอมนั่ง และกว่า 60 % จะไม่ยอมให้สมาชิกลูกหลานในครอบครัวนั่งรถไร้คนขับเด็ดขาด หากมันไม่ปลอดภัย 100 % สิ่งนี้ได้สะท้อนออกมาในการคาดคะเนว่า สัดส่วนของยานยนต์ไร้คนขับในปี 2034 หรืออีก 14 ปี ข้างหน้า จะเป็นเพียง 10 % ของภาพโดยรวมของตลาดรถยนต์ทั้งหมด “ENO” (THE ENO CENTER FOR TRANSPORTATION) หน่วยงานวิจัยเพื่อการพัฒนา ด้านการคมนาคม ในกรุงวอชิงทัน ดีซี ให้ข้อมูลว่า จากผลการวิจัย กว่า 90 % ของอุบัติเหตุของการคมนาคมทางบก เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ แต่ถึงกระนั้นสังคมก็ยังไม่วางใจระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะเมื่อรถอัตโนมัติ ต้องมาใช้ถนนร่วมกันกับรถที่ขับโดยมนุษย์ ขณะที่ความผิดพลาดของเครื่องจักร ก็ยังมีอยู่ อาทิ กรณีวิ่งแบบอัตโนมัติย้อนแสงอาทิตย์ในตอนเช้า หรือตอนเย็น ทำให้กล้องสูญเสียความสามารถในการวิเคราะห์ป้ายจราจร จนเกิดอุบัติเหตุ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีหลายระดับชั้น ตั้งแต่ 1-5 โดยระดับสูงสุด คือ ระดับ 5 จะไม่ต้องการมนุษย์ในการควบคุมเลย ซึ่งวิสัยทัศน์ของ ELON MUSK (เอลอน มัสค์) เจ้าพ่อ TESLA กล่าวไว้ว่า “โดยหลักการแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรที่เรายังไม่รู้จัก เหลือเพียงการแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ และนำเอาระบบทั้งหมดที่มีมาทำงานร่วมกันให้สำเร็จเท่านั้น” ปัญหาที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มี 5 เรื่อง ได้แก่ 1. SENSORS ในขณะที่มนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วน ในการควบคุมรถยนต์ อาทิ สายตา และหูฟังเสียง จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วจะส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อการตัดสินใจ ยานยนต์ไร้คนขับก็อาศัยเซนเซอร์หลายแบบ โดยหลักการแล้วจะใช้เพื่อการมองเห็น ได้แก่ 1.1 กล้องมองภาพ รถหลายรุ่นในปัจจุบัน มีการใช้กล้องคู่ เพื่อประเมินภาพของสิ่งแวดล้อมด้านหน้าในลักษณะ 3 มิติ อาทิ ระบบของค่าย HONDA (ฮอนดา) ที่เรียกว่า HONDA SENSING ค่าย SUBARU (ซูบารุ) ที่เรียกว่า EYESIGHT ภาพที่ได้จะถูกนำมาประมวลผลเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ว่าสิ่งที่อยู่ด้านหน้านั้นเป็นรถยนต์ จักรยาน คน สัตว์ สิ่งของ ป้ายจราจร ฯลฯ เซนเซอร์ต่อไป คือ 1.2 LIDAR เซนเซอร์ชนิดนี้ใช้เลเซอร์ในการวัดระยะระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมด้านหน้า 1.3 RADAR ใช้ในการตรวจหาวัตถุที่จะระบุได้ทั้งขนาด และทิศทางการเคลื่อนที่ ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดจะถูกประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อสั่งงานให้เร่ง หรือลดความเร็ว หรือเลี้ยว ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งทั้งหมดนี้ ในบางสถานการณ์ เซนเซอร์บางอย่างอาจลดความแม่นยำลงได้ด้วยสภาพภูมิอากาศ การจราจรที่ขวักไขว่ ป้ายจราจรที่เสียหาย สภาพแสง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหากับการตัดสินใจของระบบคอมพิวเตอร์ได้ ดังที่เคยเกิดปัญหากับ TESLA มาแล้วในอดีต นอกเหนือจากนี้อาจจะต้องมีการพัฒนาให้ยานยนต์ไร้คนขับ สามารถสื่อสารกับรถ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ เหมือนกับที่มนุษย์ทำ 2. MACHINE LEARNING หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเองของระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ หากผู้สร้างเขียนพโรแกรม หรือกระบวนการ (ALGORITHM) ให้มันสามารถจดจำ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถแก้ความกำกวมในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้ที่มันสะสมจากการใช้งานทุกวัน อาทิ ระบบตรวจจับใบหน้า (FACE ID) ของไอโฟน ซึ่งฉลาดกว่าของสมาร์ทโฟนฝั่งแอนดรอยด์ ก็เกิดจากการเรียนรู้ฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก แม้จะแต่งหน้า หรือใส่แว่น มันก็ยังดูออกว่าเป็นใคร หรือการที่ยูทูบ สามารถนำเสนอเนื้อหาที่เราอยากดู โดยศึกษาจากพฤติกรรม และข้อมูลการสืบค้นของเรา GOOGLE หรือ NETFLIX ที่นำเสนอภาพตัวอย่างของภาพยนตร์ ให้ผู้ใช้บริการแต่ละคนแตกต่างกันไป ตาม เพศ อายุ และรสนิยมการรับชม โดยเรียนรู้ว่าเจ้าของบัญชีนิยมภาพ หรือภาพยนตร์แนวไหน เป็นต้น การเรียนรู้ของระบบปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยให้ระบบสามารถ “คาดการณ์” ภายใต้ “ประสบการณ์” ว่าเคยเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันอย่างนี้มาก่อน และสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ ไม่ว่าจะด้วยการชะลอความเร็ว หรือหักหลบอย่างทันท่วงที ซึ่งหากฐานข้อมูลใหญ่พอ ระบบจะสามารถตัดสินใจได้ดีกว่าผู้ขับที่ด้อยประสบการณ์ แต่ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถหาคำตอบร่วมกันได้ว่า และวางใจระบบนี้ได้แล้วหรือยัง สรุปง่ายๆ คือ ปัญญาประดิษฐ์ยังต้องสะสมประสบการณ์อีกมาก เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้อย่างที่คนขับรถที่มีทักษะนับแรมปีที่มีอยู่ เพราะทุกวันนี้ประสบการณ์ของมันดูจะคล้ายพวกมือใหม่หัดขับ 3. ปัญหาของพโรแกรมใหม่ เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความไม่มั่นใจว่าทุกครั้งที่มีการอัพเดทซอฟท์แวร์ใหม่ มันจะปลอดภัยเท่าของเก่าหรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่การอัพเดทระบบใหม่ อาจสร้างปัญหาให้กับเครื่องเก่าที่เคยใช้งานได้ดี 4. กฎ และกติกา (REGULATION) ปัจจุบัน กฎ และกติกาที่เหมาะสมสำหรับระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ ยังอยู่ในขั้นตอนของการถกเถียง และหาจุดร่วมที่ตรงกันอยู่ โดยมาตรฐานปัจจุบันกำหนดว่า หากเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ยังจำเป็นต้องมีผู้ขับขี่มาทำหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ได้อยู่ เรียกว่า หากยังไม่สามารถกำหนดขอบเขตความเข้าใจของ กฎ และ กติกาให้แน่ชัดแล้วล่ะก็ เราจะไม่มีวันได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับออกวิ่งในถนนสาธารณะแน่นอน ตัวอย่างง่ายๆ ในสี่แยกที่ไม่มีไฟจราจร หากยานยนต์ไร้คนขับ 4 คัน ขับมาเจอกันตรงแยกพอดี ใครจะได้ไปก่อนใคร ? อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนเสียก่อน 5. การยอมรับจากสังคม ปัญหานี้ได้รับการตอกย้ำ จากข่าวคราวของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากยานยนต์ไร้คนขับ ทำให้คนเกิดความกังวลทั้งจากผู้ใช้ และผู้ร่วมถนน ซึ่งผู้พัฒนาเทคโนโลยี จะต้องทำให้สังคมยอมรับถึงความปลอดภัย และข้อดีที่จะมอบให้ ก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อไป จะเห็นได้ว่า หากปัญหา 3 ข้อแรก สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ ปัญหา 2 ข้อหลัง ก็น่าจะก้าวข้ามไปได้ในที่สุดเช่นกัน ไม่จำเป็นว่าใครจะเป็นคนแรกที่สามารถผลิตยานยนต์ไร้คนขับ ได้สำเร็จ แต่มันสำคัญตรงที่ ใครจะสามารถทำให้สังคม “ยอมรับ” และมอบความไว้วางใจให้ยานยนต์ไร้คนขับสามารถนำออกมาใช้งานบนถนนสาธารณะได้มากกว่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้กระแสความสนใจของสาธารณชน และนักลงทุนเกี่ยวกับการแบ่งปันยานยนต์ไร้คนขับร่วมกันกับผู้อื่นชะลอลง หรืออาจจะหายไปอย่างถาวรก็เป็นไปได้ เพราะทุกคนต่างก็ต้องการที่จะเดินทางโดยรถส่วนตัว และไม่อยากแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันกับใครเหมือนที่เคยคิดกันไว้ ตลอดไปจนถึงปัญหาใหญ่ในการอยู่ร่วมกันกับรถยนต์ที่ยังขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ ที่เครื่องจักรกลยังไม่สามารถเดาใจ และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดีพอ ลองจินตนาการถึงตอนยานยนต์ไร้คนขับ มาเจอกับฝูงจักรยานยนต์ฝ่าไฟแดง หรือรถวิ่งไหล่ทางอย่างในบ้านเราดู อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการพัฒนาด้านความเร็วของคอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่อ ที่ปัจจุบันเข้าสู่ยุค 5G และจะไปสู่ยุค 6G ในเร็ววันนี้ อาจเอื้อให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ของ ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในแบบของ MACHINE LEARNING หรือ DEEP LEARNING ได้มาก และเร็วขึ้น จากการทำงานของระบบ CLOUD ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า สักวันยานยนต์ไร้คนขับ ที่ขับเคลื่อนได้นุ่มนวล และปลอดภัย จะต้องเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างแน่นอน เพียงแค่ว่า ไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะจากเดิมที่ FORD (ฟอร์ด) ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดตัวยานยนต์ไร้คนขับในปี 2021 ก็ถูกเลื่อนเป็นปี 2022 เพื่อใช้เวลาศึกษาทิศทางของผู้บริโภคอีกครั้ง ไม่แน่ว่า ยานยนต์ไร้คนขับ อาจถูกนำเสนอในรูปแบบของยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้า ให้สอดคล้องกับยุค NEW NORMAL ก็เป็นไปได้
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2564
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ