นอกจาก AUDI E-TRON GT QUATTRO (เอาดี อี-ทรอน จีที กวัตตโร) ที่เพิ่งผ่านตาไปแล้ว รถเก๋งคูเปพลังไฟฟ้าอีกโมเดลหนึ่งที่ค่าย "สี่ห่วง” นำออกอวดตัวผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 คือ AUDI RS E-TRON GT (เอาดี อาร์เอส อี-ทรอน จีที) ที่กำลังเปิดโอกาสให้คนรักรถสัมผัสได้ด้วยสายตาในขณะนี้หากตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีรถติดป้ายชื่อ AUDI RS E-TRON GT ? ก็จะอธิบายได้ โดยเทียบเคียงกับกรณีของรถเก๋งคูเปขนาดเล็กที่สุดของค่ายนี้ คือ รถ AUDI A5 COUPE (เอาดี เอ 5 คูเป) รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2016 และได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า” เมื่อปลายปี 2019 รถอนุกรมนี้มีให้เลือก 9 โมเดล รถโมเดลหัวกะทิ คือ AUDI A5 COUPE 50 TDI QUATTRO (เอาดี เอ 5 คูเป 50 ทีดีไอ กวัตตโร) ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 2,967 ซีซี 210 กิโลวัตต์/286 แรงม้า และมีน้ำหนักตัวพร้อมขับ 1,730 กก. จากนั้นก็มีการพัฒนาต่อกิ่งต่อยอดทอดแรกเป็นรถ AUDI S5 COUPE (เอาดี เอส 5 คูเป) ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์แรงขึ้น คือ เครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 2,967 ซีซี 251 กิโลวัตต์/341 แรงม้า และน้ำหนักรถพร้อมขับก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,785 กก. ปิดท้ายด้วยการพัฒนาต่อยอดทอดที่ 2 เป็นรถ AUDI RS5 COUPE (เอาดี อาร์เอส 5 คูเป) ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์แรงขึ้น คือเครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 2,894 ซีซี 331 กิโลวัตต์/450แรงม้า แต่มีการเปลี่ยนรายละเอียดอื่นๆ มากมายจนน้ำหนักรถพร้อมขับกลับลดลงเป็น 1,707 กก. กล่าวอย่างย่นย่อก็คือ จากรถ AUDI A5 COUPE พัฒนาเป็นรถ AUDI S5 COUPE แล้วก็พัฒนาเป็นรถ AUDI RS5 COUPE นั่นเอง ที่แตกต่างกันก็คือ การพัฒนาจาก AUDI A5 COUPE เป็น AUDI RS5 COUPE นั้น มีการเปลี่ยนแปลงหน้าตาและรายละเอียดต่างๆ ที่มองเห็นได้ชัดอยู่มากมาย แต่การพัฒนาโดยการก้าวกระโดดจาก AUDI E-TRON GT เป็น AUDI RS E-TRON GT นี้ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จุดเปลี่ยนที่พอหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างได้ก็คือ ชื่อโมเดลที่ติดอยู่บนตัวถัง การเปลี่ยนขนาดล้อจาก 19 นิ้ว เป็น 20 หรือ 21 นิ้ว และการเปลี่ยนไฟหน้าเป็นไฟ MATRIX LED (แมทริกซ์ แอลอีดี) การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญอยู่ที่จุดเดียว คือการเพิ่มสมรรถนะของรถ รถโมเดลหัวกะทิโมเดลนี้ ยังคงใช้ระบบขับแบบเดียวกันกับรถซึ่งเป็นต้นตอ คือใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ขับล้อคู่หน้าคู่หลัง แต่เพิ่มขนาดของมอเตอร์ขับล้อคู่หลัง ซึ่งส่งผลให้กำลังรวมสุทธิเพิ่มจาก 350 กิโลวัตต์/476 แรงม้า เป็น 440 กิโลวัตต์/598 แรงม้า คือ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.7 และก็เช่นเดียวกันกับรถซึ่งเป็นที่มา คือ สามารถโอเวอร์บูสต์กำลังที่ว่านี้เป็น 475 กิโลวัตต์/646 แรงม้า ในช่วงเวลาสั้นๆ คือไม่เกิน 2.5 วินาที ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้ก็ยังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 2 จังหวะ อุปกรณ์ป้อนพลังไฟฟ้าก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือยังเป็น แบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน 800 โวลท์ ขนาดความจุรวม 93.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง การติดตั้งก็ทำเช่นเดิม คือติดตั้งอยู่กับพื้นรถในตำแหน่งที่ส่งผลให้อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักทั้งหมดของตัวรถลงสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลัง มีค่าใกล้เคียงที่สุดกับค่าสมบูรณ์แบบ คือ 50:50 การเปลี่ยนแปลงในจุดสำคัญนี้ส่งผลเป็นอย่างมากต่ออัตราเร่ง แต่ส่งผลไม่มากนักกับตัวเลขความเร็ว อัตราการสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้า และระยะทางที่รถวิ่งได้ กล่าวคือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ลดเวลาจาก 4.5 เป็น 3.3 วินาที และจาก 4.1 เป็น 3.3 วินาที กรณีใช้แรงบูสต์ ส่วนความเร็วสูงสุดเพิ่มขีดจำกัดจาก 245 เป็น 250 กม./ชม. และเมื่อวัดตามมาตรฐานใหม่คือ WORLDWIDE HARMONIZED LIGHT VEHICLES TEST PROCEDURE ซึ่งนิยมเรียกกันโดยย่อว่า WLTP และเชื่อกันว่าให้ตัวเลขใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากกว่ามาตรฐานเก่า จะมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 0.206-0.225 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กม. และรถจะวิ่งได้ไกล 433-472 กม.เมื่อชาร์จไฟเต็ม เริ่มการจำหน่ายในเยอรมนีพร้อมกับการเปิดตัวเช่นกัน ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 เริ่มต้นที่ 138,200 ยูโร หรือประมาณ 5.11 ล้านบาทไทย คือ แพงขึ้นถึงร้อยละ 38.5 AUDI RS E-TRON GT