เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
NEXT-GEN CONCORDE ในอนาคตความเป็นไปได้ของเครื่องบิน SUPERSONIC
รู้หรือไม่ ? เครื่องบินรุ่น X-43A ผลิตโดย NASA ได้รับการบันทึกว่า เป็น SCRAMJET ที่แรงที่สุด ทำความเร็วได้ถึง 7,000 ไมล์/ชม.
อนาคตธุรกิจการบินระหว่างประเทศ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น จะคาดเดาได้ยาก แต่บรรดาผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำ โดยเฉพาะ BOOM SUPERSONIC เชื่อมั่นว่า วันหนึ่งเมื่อมนุษยชาติสามารถรับมือไวรัสนี้ได้ดีขึ้น อุตสาหกรรมการบินจะกลับมายึดครองท้องฟ้าอีกครั้ง ช่วงระหว่างการรอคอย BOOM SUPERSONIC ก็ได้พัฒนาเครื่องบิน SUPERSONIC (เครื่องบินที่บินได้เร็วเหนือเสียง) รุ่นใหม่ขึ้นมาแล้วการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ไม่ใช่แนวคิดใหม่ และพบเห็นได้ทั่วไปในบรรดากองทัพอากาศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เครื่องบินความเร็วปกติ ยังคงถูกใช้เพื่อการพาณิชย์ เว้นแต่จะเป็นการบินระยะทางสั้นๆ เท่านั้น ซึ่ง BOOM SUPERSONIC ตั้งใจจะปฏิวัติวงการ ด้วยเครื่องบินพาณิชย์ OVERTURE (โอเวอร์เจอร์) ทำความเร็วได้ถึง 2.2 มัค ซึ่งมากกว่าความเร็วเสียงถึง 2 เท่า นั่นหมายความว่า การเดินทางจากลอสแองเจลิสไปซิดนีย์ จะใช้เวลาเพียง 8 ชม. ครึ่งเท่านั้น ขณะที่เครื่องบินปกติต้องบินถึง 15 ชม. เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า CONCORDE (คอนคอร์ด) รุ่นในอนาคตนี้ มีขนาด 65-88 ที่นั่ง สามารถบินได้ที่ระดับความสูงประมาณ 18,200 ม. ซึ่งสูงกว่าเครื่องบินพาณิชย์ในปัจจุบันที่บินอยู่ในระดับความสูงระหว่าง 10,000- 12,800 ม. BOOM SUPERSONIC เปิดตัวเครื่องบินรุ่นสาธิต XB-1 ในเดือนตุลาคม 2020 เพื่อให้ได้ความเร็วเหนือเสียงตามเป้าที่ 1,430 ไมล์/ชม. OVERTURE จึงถูกออกแบบให้มีความเพรียวบางตามหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อลดแรงฉุด และแรงต้านอากาศขณะบิน ตัวถังทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบา และทนทานต่อการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเสียง ส่วนช่องลมมีไว้เพื่อให้อากาศไหลผ่านได้อย่างราบรื่น และช่วยลดความเร็วของกระแสลม ซึ่งเคลื่อนที่เร็วกว่าเสียงให้ลงมาอยู่ที่ระดับความเร็วเท่าเสียงก่อนจะไหลเข้าสู่เครื่องยนต์เทอร์โบเจทอันทรงพลัง ทลายกำแพงความเร็ว จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเครื่องบินทำความเร็วได้เกินกว่าความเร็วเสียง ความเร็วต่ำกว่า 1 มัค ความเร็วปกติ คลื่นความดันที่เกิดจากการบินช้ากว่าความเร็วเสียงจะกระจายตัวไปทั่วเครื่องบิน เรารับรู้คลื่นเหล่านี้ได้ในรูปแบบเสียง ความเร็ว 1 มัค ความเร็วเท่าเสียง เมื่อความเร็วของเครื่องบินเท่ากับความเร็วของเสียง คลื่นความดันจะรวมตัวกันที่หัวเครื่อง แรงฉุดจะเพิ่มขึ้น และกระแสลมจะถูกบีบอัด กลายเป็นผนังที่มองไม่เห็น ซึ่งเราเรียกกันว่ากำแพงเสียง ความเร็วกว่า 1 มัค ความเร็วเหนือเสียง เมื่อเครื่องบินทำความเร็วถึงจุดเหนือเสียง กระแสลมจะไม่สามารถปรับแรงบีบอัดได้ ทำให้เกิดคลื่นกระแทก และคลื่นเสียง "โซนิคบูม" จากการเคลื่อนที่ของอากาศไปยังที่ที่มีความกดอากาศต่ำกว่า การขึ้นบินครั้งแรก เครื่องบินพาณิชย์ความเร็วเหนือเสียงลำแรก ถูกสร้างขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ผลิตในอังกฤษ และฝรั่งเศส ถูกเรียกว่า CONCORDE ขึ้นบินครั้งแรกในปี 1973 และเริ่มพาผู้โดยสารเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงในอีก 3 ปีหลังภายใต้การดูแลของสายการบินบริทิชแอร์เวย์ส CONCORDE ออกบินทั้งหมด 50,000 เที่ยว มีผู้โดยสารกว่า 2.5 ล้านคน และบินด้วยความเร็ว 1,350 ไมล์/ชม. โดยบินข้ามมหาสมุทรแอทแลนทิคที่ความเร็วที่สุด เกิดขึ้นในปี 1996 เมื่อ CONCORDE บินจากนิวยอร์คไปลอนดอนได้ภายใน 2 ชม. 52 นาที 59 วินาที หลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 27 ปี ก็เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลให้การใช้งานเครื่องบิน CONCORDE ถูกยกเลิก เริ่มจากเหตุการณ์เครื่องบิน CONCORDE โดยสายการบินแอร์ฟรานศ์ตกในกรุงปารีส เมื่อปี 2000 ทำให้ผู้โดยสาร 109 คน และประชากรบนพื้นดิน 4 คน เสียชีวิต แม้สาเหตุของอุบัติเหตุจะไม่ได้เกิดจากความเร็ว แต่เกิดจากเศษซากบนรันเวย์ที่ทำให้ยางล้อแตก และวัสดุจากล้อที่แตกก็ทำให้ถังน้ำมันแตกอีกที แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น จำนวนผู้โดยสารก็ค่อยๆ ลดลงซึ่งสวนทางกับค่าซ่อมบำรุงเครื่อง ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อด้วยโศกนาฏกรรม 9/11 ยิ่งตอกย้ำให้ผู้คนหวาดกลัวการบิน สุดท้ายในปี 2003 เครื่องบิน CONCORDE ที่อายุ 30 ปี มีค่าซ่อมบำรุงสูงเกินจะรับไหว จึงถูกปลดระวางในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารบนเที่ยวบิน SUPERSONIC จะไม่รับรู้ถึงความเร็วภายนอก และการบินที่ระดับความสูงเกิน 18,000 ม. ตัวเครื่องก็แทบจะไม่เจอกับหลุมอากาศเลย ว่ากันตามตรง ผู้โดยสารไม่น่าจะรู้ตัวด้วยซ้ำว่าเครื่องที่ตัวเองนั่งอยู่ได้ทำความเร็วทะลุความเร็วกำแพงเสียงไปแล้ว อีกอย่างที่น่าประทับใจ คือ การที่ BOOM SUPERSONIC ประกาศว่า OVERTURE ถูกออกแบบให้ขับเคลื่อนได้โดยไม่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยความร่วมมือกับ ROLLS-ROYCE (โรลล์ส–รอยศ์) เพื่อสร้างระบบขับเคลื่อนที่ใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า SAF (SUSTAINABLE AVIATION FUELS) โดย BOOM SUPERSONIC เคยพิสูจน์แนวคิดนี้แล้วเมื่อปี 2019 ด้วยเครื่องบินรุ่นสาธิตที่ออกบินโดยอาศัยพลังงานจากไขมันสัตว์เป็นเชื้อเพลิงถึง 80 % ต่อมาในปีเดียวกัน BOOM SUPERSONIC ได้ร่วมมือกับ PROMETHEUS FOELS พัฒนาเทคโนโลยีที่แปลงคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศให้กลายเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้พลังงานสะอาดได้สำเร็จ พูดได้เต็มปากว่า นอกเหนือจากการออกแบบเครื่องบินให้รีไซเคิลได้ และพัฒนาเทคโนโลยีลดเสียงรบกวนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ BOOM ให้ความสำคัญอย่างเห็นได้ชัด คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั่นเอง แม้ตอนนี้ OVERTURE จะเป็นเพียงเครื่องบินต้นแบบที่ยังไม่ได้ถูกผลิตขึ้นจริง แต่เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน BOOM SUPERSONIC ได้เปิดตัวเครื่องบินรุ่นสาธิต XB-1 ให้ชาวโลกได้ชื่นชม และเพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตของ OVERTURE โดยเราสันนิษฐานว่า ชื่อ XB-1 น่าจะถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ BELL X-1 เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงลำแรกของโลกที่ผลิตในปี 1947 นั่นเอง ถึงแม้จะมีขนาดแค่ 1 ใน 3 ของรุ่นจริง แต่ XB-1 ก็พกพาคุณสมบัติของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ความเร็วเหนือเสียง OVERTURE ได้อย่างครบครัน และมีกำหนดจะทดสอบการบินครั้งแรกในปีนี้ ที่โมฮาวี แคลิฟอร์เนีย แผนการตอนนี้ OVERTURE มีกำหนดเข้าสู่สายการผลิตในปีหน้า และออกบินครั้งแรกในปี 2025 จากนั้นจะเริ่มใช้เพื่อการพาณิชย์ในปี 1986 อย่างแน่นอน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลทดสอบการบินในแคลิฟอร์เนีย และสถานการณ์โลกด้วย มีเส้นทางการบินกว่า 500 สาย ที่กำลังรอให้ OVERTURE ใช้เดินทาง XB-1 เครื่องบินต้นแบบทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ความเร็วเหนือเสียง ไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป 21 ม. คือ ความยาวของ XB-1 ซึ่งเป็นเพียง 1 ส่วน 3 ของเครื่อง OVERTURE ขนาดจริงเท่านั้น 425 องศาเซลเซียส คือ อุณหภูมิที่ XB-1 สามารถทนความร้อนได้ ล้อสำหรับลงพื้น ล้อของ XB-1 ทำจากอลูมิเนียม ไททาเนียม และเหล็กกล้า มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ อย่าง AERMET 100 1.88 ม. คือ ขนาดของหางที่มีลักษณะเป็นแนวตั้ง ทำให้เกิดความสมดุล มั่นคง และง่ายต่อการควบคุม AR ZONE! สแกนที่นี่ ปฏิบัติการของกองทัพอากาศ OVERTURE ถูกออกแบบเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ แน่นอน สามารถถูกปรับใช้ในการประกอบภารกิจเพื่อประเทศชาติได้ ช่วงปลายปี 2020 BOOM SUPERSONIC ได้ทำสัญญากับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ให้มีสิทธิ์ใช้เครื่องบินของบริษัท เพื่ออำนวยความสะดวกทางการทหาร ซึ่งตอนนี้ประโยชน์ของมัน คือ ช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งบุคลากรชาวอเมริกันไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก โดย BLAKE SCHOLL ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ BOOM SUPERSONIC ให้ความเห็นว่า “การลดเวลาในการเดินทาง จะทำให้นักการทูต และผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ สามารถติดต่อกันแบบตัวเป็นๆ และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้สามารถร่วมมือกันขจัดวิกฤต และรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น เราภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์การทำงานรูปแบบใหม่ให้แก่กองทัพอากาศ เพื่อช่วยส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ” พอฟังแบบนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า วันหนึ่งเราอาจได้เห็นแอร์ฟอร์ศวันรุ่น SUPERSONIC ก็เป็นได้ 4,080 กก. ฟอร์ศ คือ น้ำหนักของแรงที่หางแนวนอนสามารถรับได้ ซึ่งน้ำหนักที่ว่านี้ เปรียบได้กับรถ เอสยูวี 2 คัน 15,129 ตัว คือ จำนวนของนอทที่ยึดชิ้นส่วนทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน 3,488 ชิ้น คือ จำนวนชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นเครื่องบิน XB-1 ช่องลม เพื่อให้อากาศไหลผ่านได้อย่างราบรื่น และช่วยลดความเร็วของกระแสลมที่เคลื่อนที่เร็วกว่าเสียงทำให้ลงมาที่ระดับเท่าเสียง หรือช้ากว่าเสียงก่อนจะไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ ส่วนลำตัว ลำตัวอันเรียวยาวของ XB-1 ประกอบด้วย ห้องนักบิน ห้องโดยสาร และพื้นที่เก็บสัมภาระประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ระบบเบรค ป้องกันการลื่นไถล ทำให้เครื่องบินสามารถแลนดิงได้ด้วยความเร็วสูงสุด 213 ไมล์/ชม. ปีกเครื่อง โค้งแบบ DELTA OGIVAL พร้อมความเสถียรภาพ และการควบคุมที่สมดุล แถมยังสร้างแรงยก และช่วยลดแรงฉุดได้ดี เครื่องยนต์ XB-1 ติดตั้งเครื่องยนต์ GENERAL ELECTRIC J85-15 จำนวน 3 เครื่อง ให้แรงขับเคลื่อนสูงสุด 5,580 กก. ฟอร์ศ ของมันต้องมี GADGET สำหรับฟิทเนสรุ่นล่าสุด PELOTON TREAD ราคาเริ่มต้น 2,995 ปอนด์/2,495 เหรียญสหรัฐฯ www.onepeloton.com PELOTON TREAD ไม่ได้เป็นแค่ลู่วิ่งธรรมดา แต่เป็นระบบออกกำลังกายภายในบ้าน ที่เปิดโอกาสให้คุณได้เข้าร่วมคลาสส์ออกกำลังกาย โดยทเรเนอร์ทั่วโลกผ่านวีดีโอที่บันทึกไว้ และแบบไลฟ์สด ตัวลู่วิ่งมีหน้าจอสัมผัสแบบ HD ขนาด 23.8 นิ้ว และลำโพงด้านหน้า ทำให้คุณสามารถสนุกกับการวิ่งที่มีให้เรียนเป็นพันคลาสส์ได้อย่างเต็มที่ สามารถวิเคราะห์ ตรวจสอบความเร็ว ระยะทางที่วิ่ง อัตราการเต้นของหัวใจ เวลาที่ใช้ และอัตราการเผาผลาญแคลอรี เพื่อสร้างพโรไฟล์การออกกำลังกาย และติดตามพัฒนาการของคุณได้ LUMEN ราคา 349 ปอนด์ (ประมาณ 476 เหรียญสหรัฐฯ) www.lumen.me อุปกรณ์ส่งเสริมโภชนาการขนาดพกพาเครื่องนี้ จะทำหน้าที่ตรวจสอบระบบเผาผลาญในร่างกาย โดยการเชคว่า ร่างกายของคุณกำลังเผาผลาญไขมัน หรือคาร์โบไฮเดรท จากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คุณหายใจออกมา หากค่าความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์สูง แปลว่าคุณกำลังเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ขณะเดียวกัน หากค่าคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ก็แปลว่าคุณกำลังเผาผลาญไขมันอยู่นั่นเอง โดยคุณสามารถตรวจสอบอัตราการเผาผลาญพลังงานของตัวเอง และขอคำแนะนำทางโภชนาการผ่านแอพพลิเคชันที่ใช้งานคู่กันได้ PIVOT YOGA ราคาเริ่มต้น 99 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 72.50 ปอนด์) www.pivot.yoga ชุดโยคะสุดไฮเทคที่ออกแบบมาให้สามารถวิเคราะห์ท่าเล่นโยคะ และพัฒนาการของคุณ ข้อเสนอแนะแบบเรียลไทม์ สิ่งที่ต้องทำ คือ เชื่อมต่อชุดเข้ากับแอพพลิเคชัน จากนั้นก็ปฏิบัติตามคำแนะนำจากครูสอนโยคะในแอพฯ ระบบจะวิเคราะห์ฟอร์ม และช่วยปรับตำแหน่ง รวมถึงท่าเล่นให้เหมาะสม สามารถพัฒนาทักษะโยคะของคุณได้ ภายใน PIVOT มีเซนเซอร์ทั้งหมด 16 ตัว เพื่อตรวจสอบการจัดระเบียบร่างกายในแต่ละองศา การหมุนตัว รวมถึงระยะห่างระหว่างแขนขาด้วย HIDRATE SPARK STEEL ราคา 69.99 ปอนด์ / 64.99 เหรียญสหรัญฯ www.hydratespark.com ตลาดในปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์กระติกน้ำดีๆ ให้เราได้เลือกใช้กันอย่างมากมาย แต่รุ่นที่อยากแนะนำ คือ HIDRATE SPARK STEEL กระติกน้ำสุญญากาศสุดไฮเทค ซึ่งสามารถรักษาอุณหภูมิของน้ำได้นานถึง 24 ชม. พร้อมเซนเซอร์ LED อัจฉริยะบริเวณฐานกระติกมีหน้าที่ส่องแสงเพื่อเตือนให้คุณทราบเมื่อถึงเวลาจิบน้ำ หากใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชัน HIDRATE SPARK จะติดตามพฤติกรรมการดื่มน้ำ ตั้งเวลาแจ้งเตือน แถมยังทำงานร่วมกันกับอุปกรณ์ซัพพอร์ทการออกกำลังกายอื่นๆ เช่น APPLE WATCH และ FITBIT ได้ MOOV HR SWEAT ราคา 99.95 เหรียญสหรัฐฯ / 72.97 ปอนด์ www.welcome.moov.cc MOOV HR SWEAT ผ้าคาดหน้าผากที่นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เหงื่อจากศีรษะไหลลงมารบกวนสายตาคุณแล้ว ยังมีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจระดับ EKG ติดมาเพื่อตรวจสอบสุขภาพหัวใจให้คุณ โดยอาศัยการวิเคราะห์ปริมาณออกซิเจนที่ขมับด้วย หากใช้ร่วมกันกับแอพพลิเคชันเสริม จะติดตามอัตรา การเต้นของหัวใจ การเผาผลาญแคลอรี และวิเคราะห์พัฒนาการในการออกกำลังกาย แถมมีฟังค์ชันให้คำแนะนำผ่านเสียงให้เปิดฟังขณะออกกำลังกาย POWERDOT 2.0 ราคา 185 ปอนด์ / 199 เหรียนสหรัฐฯ www.powerdot.com POWERDOT 2.0 เครื่องกระตุ้นอัจฉริยะขนาดกะทัดรัด ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความผ่อนคลาย และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังออกกำลัง โดยจะเพิ่มอัตราการไหลเวียนโลหิต ส่งเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน และสารอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้ดีขึ้น แถมการใช้ NEUROMUSCULAR ELECTRICAL STIMULATION (NMES) ยังช่วยล้างเศษเซลล์ที่เกิดจากการอักเสบได้ ส่งผลให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง นอกจากนั้น POWERDOT ยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเอนดอร์ฟิน และขจัดความเจ็บปวดในระบบประสาท แอพพลิเคชันเสริมอื่นๆ FITON พัฒนาโดย: FITON INC ราคา: ฟรี/GOOGLE PLAY/APP STORE แอพพลิเคชันสำหรับออกกำลังกายภายในบ้าน เต็มไปด้วยคลาสส์เรียน คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และแผนการออกกำลังกายที่ออกแบบให้เหมาะแก่ผู้ใช้งานผ่านแอพฯ แต่ละคน ทำให้ออกกำลังกายได้อย่างมีเป้าหมาย และไม่หลงทาง MAP MY RUN พัฒนาโดย: MAPMYFITNESS INC ราคา: ฟรี/GOOGLE PLAY/APP STORE แอพพลิเคชันที่นักวิ่งตัวจริงต้องโหลดไว้ใช้ มีฟังค์ชันติดตามการวิ่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวางเส้นทาง การวัดระดับความเร็ว ไปจนถึงการบันทึกระยะทางที่คุณวิ่งได้ในแต่ละครั้ง ZOMBIES, RUN! พัฒนาโดย: SIX TO START ราคา: ฟรี / GOOGLE PLAY / APP STORE บางคนอาจรู้สึกว่า การวิ่งเป็นกิจวัตรอันน่าเบื่อ แอพพลิเคชันนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเติมรสชาติ ความสนุกสนาน และความสยดสยองให้การวิ่งของคุณในแต่ละครั้ง ด้วยการจำลองสถานการณ์ซอมบีไล่ล่าขณะวิ่ง SUPERFOOD พัฒนาโดย: JUNISMILE FOOD ราคา: ฟรี/GOOGLE PLAY/APP STORE แอพพลิเคชันนี้ จะช่วยให้คุณวางแผนทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น พร้อมคอยบันทึกให้ด้วยว่าคุณทานอะไรเข้าไปบ้างในแต่ละวัน ขึ้น SKYTRAN มาดูกันว่า POD (ยานกระสวย) ลอยฟ้าเหล่านี้จะพาเราเดินทางรอบเมืองด้วยความรวดเร็วได้อย่างไร การคมนาคมในอนาคต SKYTRAN เป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อยกระดับการขนส่งสาธารณะในภาคพื้นดิน และลดความแออัดของการจราจรในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่ คือ สถานที่ที่เต็มไปด้วยประชากร กิจกรรม และการประกอบอาชีพมากมาย เมื่อโอกาสเหล่านี้ดึงดูดผู้คนภายนอกให้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ถนนหนทางที่แน่นขนัด การเดินทางอันยากลำบาก ถ้าคุณเคยนั่งจับเจ่า เซ็ง หรือกระวนกระวายบนรถที่จอดติดอยู่ โดยไม่รู้ว่าจะหลุดจากตรงนี้ได้เมื่อไร และจะไปถึงจุดหมายตอนไหน คุณคงเข้าใจดีว่า แนวคิดเรื่องพาหนะที่จะพาเราบินข้ามสถานการณ์อันน่าอึดอัดนี้ มันน่าสนใจขนาดไหน นี่คือ เป้าหมายของ SKYTRAN (สกายทราน) แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1990 จากมันสมองของ DOUGLAS MALEWICKI วิศวกรการบินชาวอเมริกัน และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น และเนื่องจากปัญหาการจราจรในเมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ระบบขนส่งส่วนบุคคลแบบเร่งด่วน จึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะทางออกที่จะช่วยประหยัดเวลาการเดินทางของประชากรในเขตเมือง ด้วย POD ขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้จึงถูกคิดค้นขึ้น โดยจะเคลื่อนที่ไปตามรางยกระดับ ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเป็นเครือข่ายรอบเมือง นอกจากจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงแล้ว POD เหล่านี้ ไม่ต้องจอดรับ/ส่งผู้โดยสารคนอื่นๆ ด้วย ทำให้การเดินทางเร็วขึ้นไปอีก โดยความเร็วที่ทำได้ในเขตเมืองจะอยู่ที่ 50 ไมล์/ชม. หากเป็นการเดินทางระหว่างเมืองจะเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 200 ไมล์/ชม. การเดินทางด้วยรถประจำทาง รถไฟ และระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ อาจไม่สะดวกสบาย และทำให้ตึงเครียด แถมยังต้องทนอึดอัดจากการเบียดเสียดในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ SKYTRAN จะพาคุณแหวกอากาศไปได้ ภายใน POD ส่วนตัวทุกตัวติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วระดับเดียวกัน และจะชะลอความเร็วลง เมื่อเคลื่อนตัวสู่รางชั้นล่าง เพื่อเตรียมจอดยังสถานีปลายทาง เพื่อให้ระบบนี้ทำงานได้ดี เครือข่ายของรางต้องถูกติดตั้งไว้อย่างเป็นระบบ มีเส้นทางการเดินทางที่ละเอียด ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เมื่อผู้ใช้บริการเลือกสถานีปลายทางเสร็จสิ้น POD ที่โดยสารอยู่ควรจะเปลี่ยนเส้นทางได้ง่าย และเร็ว โดยไม่ทำให้ POD อื่นๆ ต้องชะลอความเร็วลง รางความเร็วสูง รางที่มีไว้ให้ POD ยึดเกาะตลอดการเดินทาง เมื่อเข้าสู่ห้องโดยสารเรียบร้อยแล้ว ตัว POD ที่เราโดยสารอยู่จะเร่งความเร็วขึ้นให้เท่ากับความเร็วของ POD อื่นๆ เดินขึ้นได้จากถนน ผู้ใช้บริการ สามารถเดินขึ้นบันไดไปยังจุดขึ้นรถบริเวณรางชั้นล่าง ซึ่งไม่สูงจากถนนมากนัก และแต่ละเมืองควรมีจุดขึ้นรถเป็นระยะๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ จุดขึ้นรถ ลักษณะคล้ายป้ายรถเมล์ลอยฟ้า เมื่อเข้าไปใน SKYTRAN แล้ว ผู้โดยสารสามารถเลือกปลายทางที่ต้องการได้จากด้านหน้า POD POD ที่ไม่มีผู้โดยสาร หลังจากส่งผู้โดยสารเสร็จแล้ว POD ที่ว่างก็จะมาเข้าคิว เพื่อรอรับผู้โดยสารคนถัดไป ไม่มีจอดพัก การใช้ระบบ 2 ราง ทำให้ POD เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ในแต่ละ POD จุผู้โดยสารได้ 2 คน พาหนะลอยฟ้า “การโดยสารบนพาหนะที่พุ่งทะยานอยู่เหนือเมืองใหญ่ด้วยความเร็วสูง ทำให้หลงคิดว่ากำลังบินอยู่” ประโยคชวนฝันนี้ กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ด้วยระบบ MAGLEV หรือ MAGNETIC-LEVITATION (การลอยตัว และเคลื่อนที่โดยอาศัยสนามแม่เหล็ก) เมื่อสนามแม่เหล็กถูกสร้างขึ้น POD จะลอยตัวขึ้นจากรางขณะที่แม่เหล็กขั้วตรงข้ามจะช่วยสร้างแรงดึงดูด เพื่อดึงให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ซึ่งแม่เหล็กอันทรงพลัง ทำให้พาหนะนั้นเคลื่อนที่ได้ทั้งที่ลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อไม่ต้องเสียดสีกับราง ความเร็วก็ยิ่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คุณสมบัติอีกอย่างของยานพาหนะไฟฟ้า คือ แม้จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ก็ยังให้ความรู้สึกนุ่มนวล ไม่มีเสียงดังรบกวน แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะจะเป็นทางออกให้เมืองที่ยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ABOUT THE AUTHOR
HOW IT WORKS
ภาพโดย : HOW IT WORKS นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS