รายงาน(formula)
ส่องมาตรการเยียวยา พักชำระหนี้รถ ฝ่าวิกฤต COVID-19 อย่างไรให้รอด !?!
ผลกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมากรายได้หดหาย จนไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ได้ตามปกติ ดังนั้น บรรดาสถาบันการเงินจึงออกมาตรการลดภาระ พักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า โดยแต่ละแห่งมีเงื่อนไข และรายละเอียดแตกต่างกัน ซึ่งเราได้รวบรวมมาให้ พร้อมความรู้เกี่ยวกับการพักชำระหนี้“พักชำระหนี้” ไม่ใช่ “พักหนี้” ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล อธิบายว่า การพักชำระหนี้ กับการพักหนี้นั้นแตกต่างกัน การพักชำระหนี้ คือ การทำเรื่องขอไม่จ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ระหว่างที่พักชำระ เจ้าหนี้ยังคิดดอกเบี้ยอยู่ และจะเรียกเก็บภายหลัง ส่วนการพักหนี้ เป็นการทำเรื่องขอไม่จ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงไม่คิดดอกเบี้ยในขณะที่พักหนี้ด้วย ขณะนี้สถาบันการเงินมีแต่มาตรการ “พักชำระหนี้” เท่านั้น เงื่อนไขพักชำระหนี้รถ - เป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 - ไม่เป็นลูกหนี้ NPL ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 หรือก่อน COVID-19 ระบาดในไทย - การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย จะมีระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน หรือไม่เกิน 3 งวด - มียอดค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด ณ วันที่ลงทะเบียน - แต่ละธนาคาร หรือสถาบันการเงินมีสิทธิ์พิจารณามาตรการช่วยเหลือตามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ - หากมีการขอเลื่อนระยะการพักชำระหนี้ออกไป จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตามที่สถาบันการเงินกำหนด รู้ไว้ก่อนตัดสินใจพักชำระหนี้รถ ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้แบบนี้ หลายคนคิดจะพักชำระหนี้รถ และหลายธนาคารก็มีนโยบายรองรับความต้องการ ซึ่งการพักชำระ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีอยู่ 3 แบบ 1. ปรับโครงสร้างหนี้แบบป้องกัน ลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดีมาตลอด เพียงเจอสถานการณ์ไม่คาดคิดทำให้ผ่อนชำระไม่ได้ชั่วคราว แต่ยังมีศักยภาพที่จะชำระหนี้ต่อได้ในอนาคต การปรับโครงสร้างแบบนี้ถือว่ายังเป็น “หนี้ปกติ” เหมือนเดิม สามารถเข้าโครงการพักชำระหนี้ได้ 2. ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ลูกหนี้ที่ค้างชำระมาเกิน 3 งวดแล้ว ควรเข้าโครงการแก้หนี้ดีกว่า โดยสามารถขอข้อมูลได้จากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 3. การพักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เจอสถานการณ์หนัก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ควรรีบเข้าโครงการพักชำระหนี้ โดยอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยเล็กน้อย ซึ่งสถานะบัญชีจะขึ้นว่า “พักชำระหนี้” หากสามารถชำระหนี้ต่อได้เมื่อไร สถานะบัญชีก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่การหยุดพักชำระไปนาน อาจทำให้ถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่ม “ผิดนัดชำระหนี้” ดังนั้น หากจะขอพักชำระหนี้ ต้องคุยกับธนาคาร หรือเจ้าหนี้ให้ละเอียด เพื่อไม่ให้เสียเครดิท ไฟแนนศ์เยียวยา พักชำระหนี้รถ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาตรการให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าสินเชื่อยานยนต์ กรุงศรี ออโต้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์: ลดค่างวด ขยายเวลาการผ่อนชำระ พักชำระค่างวดขั้นต่ำ 2 เดือน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รถยนต์/รถจักรยานยนต์: ลดค่างวด ขยายเวลาการผ่อนชำระ พักชำระค่างวดขั้นต่ำ 2 เดือน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KRUNGSRI AUTO CALL CENTER โทร. 0-2740-7400 กด 3 หรือ 5 ธนาคารกสิกรไทย มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ภายใต้โครงการ #รวมใจไม่ทิ้งกัน ประเภทที่ 1. มาตรการช่วยเหลือที่ไม่ต้องลงทะเบียน/ลดอัตราดอกเบี้ยให้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องติดต่อธนาคาร สำหรับสินเชื่อรถช่วยได้ KLEASING ประเภทจำนำทะเบียนรถ ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 28 เป็น 24 % มีผลเฉพาะ สินเชื่อที่อนุมัติ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป สอบถามการสมัครโครงการ ที่ KLEASING CALL CENTER 0-2696- 9999 ต่อ 60 หรือ K-CONTACT CENTER 0-2888-8888 ต่อ 860 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ มีดังนี้ ทางเลือกที่ 1. การลดค่างวด และขยายเวลาชำระหนี้ ทางเลือกที่ 2. พักชำระค่างวด 3 เดือน (ดอกเบี้ยระหว่างการพักชำระคิดจากค่างวดที่พักชำระ) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระ ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่างวดเช่าซื้อตามปกติ ทางเลือกที่ 3. คืนรถ และขายทอดตลาด เพื่อนำส่วนต่างมาหักจากยอดหนี้* (สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเงื่อนไขการพิจารณาเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด) ช่องทางการสมัครลงทะเบียนผ่านทาง www.cimbthaiauto.com ตั้งแต่วันนี้-30 ธันวาคม 2564 สอบถามข้อมูลการเข้าร่วมโครงการ โทร. 0-2491- 5555 โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)ฯ มาตรการช่วยเหลือลูกค้า โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)ฯ มี 2 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 พักชำระหนี้ 3 งวด* (เลื่อนการชำระค่างวด สูงสุดไม่เกิน 3 งวด โดยมีค่าดำเนินการ) ทางเลือกที่ 2 ปรับโครงสร้างหนี้* ลดค่างวด โดยขยายเวลาชำระหนี้ (ค่างวดที่ลดลง ขึ้นกับจำนวนงวดที่ได้ขยาย ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยใหม่) สามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชัน TLT SIMPLY ตั้งแต่วันนี้ -31 ธันวาคม 2564 หรือโทร. 0-2660- 5555 ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีดไรฟ ในกลุ่มสินเชื่อรถใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว รถแลกเงิน และสินเชื่อเล่มแลกเงิน มีแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้ 1. มาตรการตั้งหลัก ผ่อนหนักเป็นเบา ลดค่างวด ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ 2. มาตรการพิเศษพักชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 2 งวด โดยเงื่อนไข และการพิจารณาอนุมัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ส่วนสินเชื่อเล่มแลกเงิน (รถแลกเงินแบบลดต้นลดดอก) มีมาตรการให้พักชำระค่างวด หรือลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 30 % และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 22 % เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1770 ธนาคารไทยพาณิชย์ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ มีดังนี้ 1. ลูกค้าสามารถพักชำระค่างวด 3 เดือน 2. ปรับลดอัตราผ่อน และขยายระยะเวลาผ่อน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องชำระค่างวดรถ แต่เมื่อสิ้นสุดการพักชำระลูกค้าจะต้องชำระค่างวดรถตามปกติ ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ลูกค้าที่สนใจ แจ้งความประสงค์ผ่านแอพพลิเคชัน SCB EASY (เฉพาะลูกค้าบุคคล) หรือผ่านระบบอัตโนมัติ SCB CALL CENTER โทร. 0-2777-7777 ธนาคารทิสโก้ TISCO ปล่อยแคมเปญ “คืนรถจบหนี้” ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเช่าซื้อ และลูกค้าจำนำทะเบียนรถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 โดยคนที่ผ่อนรถไม่ไหว สามารถนำรถมาคืนได้ทันที หากรถยนต์ที่นำมาคืน ธนาคารนำไปประมูลขายได้ราคาต่ำกว่าภาระหนี้ที่คงค้าง ลูกค้าไม่ต้องจ่ายส่วนต่างคืน ธนาคารจะยกหนี้ และปิดบัญชีให้ ไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และจะรายงานข้อมูลเครดิทบูโรเป็น ”ปิดบัญชี” เพื่อให้ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ไม่มีประวัติค้างชำระหนี้ แต่ถ้านำไปประมูลขายได้ราคาสูงกว่ายอดหนี้ ธนาคารจะคืนส่วนต่างให้แก่ลูกค้า (ขึ้นอยู่กับการทำเรื่องประมูล) และเมื่อผ่านวิกฤตแล้ว ยังขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่นๆ ได้อีก สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2633-6000 และ 0- 2080-6000 หรือดูรายละเอียดที่ www.tisco.co.th ลีสซิ่ง ไอซีบีซี (ไทย) มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ดังนี้ 1. ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปรับลดภาระค่างวด/เดือน และขยายเวลาชำระค่างวด* 2. ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ปรับลดภาระค่างวด/เดือน ขยายเวลาชำระค่างวด พักชำระค่างวด และพิจารณารับคืนรถ (เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี) ลงทะเบียนขอเข้าร่วมมาตรการให้ความช่วยเหลือ ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2626-8100, 0-2876-7200 หรือดูรายละเอียดที่ www.icbcthaileasing.com โอริโค่ ออโต้ ลีสซิ่งฯ บริษัท โอริโค่ ออโต้ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ด้วยมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ระยะเวลา 3 เดือน หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเลือกอย่างหนึ่งอย่างใด ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 (ตลอดระยะเวลาโครงการ สามารถลงทะเบียนได้เพียง 1 สิทธิ์/สัญญาเท่านั้น) สอบถามรายละเอียด โทร. 0-2026-5844 ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)ฯ มาตรการช่วยเหลือลูกค้า ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)ฯ มีดังนี้ (สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และค้างชำระไม่เกิน 60 วัน ณ วันที่ลงทะเบียน รวมทั้งยังไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทฯ มาก่อน) มีให้เลือก 2 แบบ 1. ลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้: ค่างวดที่ลดลง ขึ้นอยู่กับจำนวนงวดที่ขยายออกไปจากเดิม ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยใหม่ โดยไม่มีการคิดค่าดำเนินการ 2. พักชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน: เลื่อนการชำระค่างวด สูงสุดไม่เกิน 3 งวด ลงทะเบียนตั้งแต่วันนี้-30 ธันวาคม 2564 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2736 -4288 ธปท. ช่วยลูกหนี้รายย่อย ผ่อนไม่ไหวคืนรถได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคม และชมรมต่างๆ รวม 8 แห่ง ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งจะมุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว ดังนี้ 1. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์: เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากราคาขายประมูลได้จริงต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ได้ และให้รวมหนี้ในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นได้ 2. เช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EFFECTIVE INTEREST RATE : EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ และให้รวมหนี้ในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยอื่นได้ 3. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน: เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (STEP UP) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 25 63 โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน หรือศึกษาข้อมูลอื่นๆ ทางเวบไซท์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.botor.th ทำอย่างไรให้จบหนี้ ? 1. ขายดาวน์ เป็นทางออกที่ได้รับความนิยม สำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่อนรถต่อได้ โดยการขายดาวน์ให้ผู้สนใจซื้อรถต่อ และเปลี่ยนชื่อในสัญญา (มีค่าเปลี่ยนสัญญา หรือบางแห่งอาจไม่ยอมให้เปลี่ยนสัญญา) แม้ราคาที่ได้อาจไม่เท่ากับเงินดาวน์ และค่างวดที่จ่ายไปแล้ว แต่ก็ไม่ต้องเจ็บตัวเพิ่ม เพราะหากโดนปล่อยยึด อาจต้องตามใช้หนี้ส่วนต่างอีกไม่น้อย และการขายดาวน์ยังทำให้ได้เงินก้อนมาหมุน และไม่ต้องเสียเครดิททางการเงิน แต่จะต้องระบุในสัญญาซื้อขายให้ชัดเจนว่า หลังจากนี้ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีก 2. ขายรถ ยอมตัดใจขายรถ ซึ่งจะต้องไปติดต่อกับไฟแนนศ์ เนื่องจากเล่มทะเบียนรถอยู่ที่ไฟแนนศ์ โดยตกลงกันว่า ต้องใช้เงินเท่าไรในการปิดยอดสินเชื่อ จากนั้นจึงไปตกลงราคาขายกับผู้ซื้อ นำเงินมาปิดยอดที่ค้าง พร้อมโอนชื่อเจ้าของรถให้ผู้ซื้อ แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าไม่น้อย 3. คืนรถ ไปเจรจากับไฟแนนศ์ เพื่อขอคืนรถ โดยจะต้องตกลงให้ชัดเจนว่าหากคืนรถแล้วจะต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ หากมีต้องจ่ายเท่าไร และทำสัญญาให้ชัดเจนว่าจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกหลังจากนี้ ถ้าไม่มียอดค้างชำระ จะเป็นการคืนรถโดยไม่ผิดสัญญา ไฟแนนศ์อาจคิดค่าส่วนต่างเวลาที่ขายรถขาดทุนเท่านั้น การคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ต้องมีข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ผู้เช่าซื้อต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นขอคืนรถกับผู้ให้เช่าซื้อก่อนผิดนัดครบ 3 งวด 2. ผู้ให้เช่าซื้อติดต่อตกลง และนัดหมายรับรถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เช่าซื้อ และรับรถเช่าซื้อแล้ว 3. ผู้เช่าซื้อจะต้องไม่มีค้างชำระค่างวดเช่าซื้อ (เป็นลูกหนี้ชั้นดี ) 4. ไม่ปรากฏว่า ขณะที่ผู้ให้เช่าซื้อรับรถคืนแล้ว ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อภายหลัง “ถูกยึดรถ” ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือไม่ ? อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่อนรถไม่ไหว จนโดนไฟแนนศ์ยึดรถ หรือแม้เราจะคืนรถเอง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นอกจากจะเสียรถแล้ว ยังต้องเป็นหนี้ค่าส่วนต่างจากราคาขายต่อ กรณีนี้ เพจ “ทนายพี พัชรพล” ยืนยันว่า ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะหากคืน หรือถูกยึดรถตอนที่ยังค้างค่างวดไม่เกิน 3 งวดติดต่อกัน “ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง” ตามตัวอย่างดังนี้ * ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่11 แบบนี้ไม่มีการค้างค่างวด และไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่12 จะมีการค้างค่างวดที่11 (1งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่13 จะมีการค้างค่างวดที่11,12 (2งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่14 จะมีการค้างค่างวดที่11,12,13 (3งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง * ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่15 จะมีการค้างค่างวดที่11,12,13,14 (4งวด) หากครบ 30 วัน ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว จะเสียค่าส่วนต่าง (ถ้าไฟแนนศ์มายึดรถก่อนครบระยะเวลา 30 วันตามหนังสือบอกเลิกสัญญา หากไฟแนนศ์ฟ้องมา ให้ยื่นคำให้การสู้คดี ผลลัพธ์คือไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง) แต่ถ้าค้างค่างวดเกิน 3 งวด จนถูกบอกเลิกสัญญา แล้วไม่นำรถไปคืนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ไฟแนนศ์สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของผู้เช่าซื้อ และผู้ค้ำประกันได้ หลังฟ้องคดีต่อศาล และศาลตัดสินให้เจ้าหนี้ชนะคดีเท่านั้น เป็นหนี้ไฟแนนศ์ ติดคุกหรือไม่ ? คำตอบคือ “ไม่” เพราะเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และที่สำคัญ การเป็นหนี้ไฟแนนศ์ ไม่ต้องลาออกจากงาน เพราะไม่มีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน การเป็นหนี้สินถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไฟแนนศ์ไม่สามารถนำเรื่องส่วนตัวไปประจานให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้รับรู้ได้ ถ้าทำถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท สรุปแล้ว เอาอย่างไรดี ? ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล แนะนำว่า สำหรับเจ้าของรถที่ยังผ่อนไหว แนะนำให้กัดฟันผ่อนต่อไป แต่ถ้าอยากลดภาระจริงๆ ควรใช้การรีไฟแนนศ์ เพราะจะช่วยลดดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจุบันหลายธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว ดีกว่าพักชำระหนี้ชั่วคราว ซึ่งกลายเป็นดินพอกหางหมู และต้องกลับมาชำระเพิ่มภายหลังอยู่ดี ธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด และศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจมาตรการช่วยเหลือให้ดี เพราะการเข้ามาตรการฯ ไม่ได้ช่วยให้ยอดหนี้รวมของเราลดลง แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้บางส่วนในระยะนี้ โดยเงื่อนไขสำคัญของการเข้าโครงการผ่อนผันชำระหนี้ จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ NPL ซึ่งเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เช่าซื้อรถ เพื่อช่วยให้ยอดผ่อนต่อเดือนมีความเหมาะสมกับกำลังความสามารถในการผ่อนของลูกหนี้มากขึ้น ดังนั้น ถ้ามีหนี้เช่าซื้อรถ และยังต้องการเป็นเจ้าของรถอยู่ จำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของการประคองสถานะหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปว่าการผ่อนปรน คือ การเลื่อนชำระหนี้ออกไป ภาระหนี้จะยังคงอยู่ และในช่วงที่ผ่อนปรน ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ซึ่งแต่ละคนอาจได้รับผลกระทบแตกต่างกัน และสามารถเลือกวิธีผ่อนชำระให้เหมาะสมกับรายได้ ซึ่งคนกลุ่มที่ยังพอมีศักยภาพ อาจเลือกชำระตามปกติเพราะจะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม หนี้ไม่เพิ่ม และบางธนาคารให้สิทธิพิเศษปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพคล่องไม่พอ แนวทางการเลื่อน หรือพักชำระหนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับวิกฤตในช่วงนี้
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2564
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา