รายงาน(formula)
ขับรถ “ระวังคน” ข้ามถนน (ทางม้าลาย) “ระวังรถ” คำเตือนเก่าแก่ แต่ไม่เคยล้าสมัย !
จากกรณีอุบัติเหตุนายสิบตำรวจควบจักรยานยนต์บิกไบค์ พุ่งชนจักษุแพทย์สาว จนเสียชีวิตบนทางม้าลาย ทำให้เราจำเป็นต้องนำข้อมูลที่คนขับ และคนข้ามต้องรับรู้ มา “ล้อมคอก” กันอีกครั้ง
ย้อนสถิติ คนเดินเท้า ถูกรถชนเสียชีวิต
สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงช่วงปี 2556-2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูงสุด ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยถึง 55 ราย/อุบัติเหตุ 100 ครั้ง
จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 4 ปี (2557-2560) ประมาณ 10,200 คน ในจำนวนดังกล่าวมีคนเดินเท้าเฉลี่ยปีละ 740 คน ส่วนใหญ่ถูกรถจักรยานยนต์ชน รองลงมา คือ รถยนต์ และรถบรรทุก และจากข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรที่รับแจ้งในปี 2558-2560 พบว่า คนเดินเท้าทั่วประเทศมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่นครบาล สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 คน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2563 คนเดินเท้าในกรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุมากถึง 1,068 คน ขณะที่ในปีเดียวกัน สิงคโปร์ทั้งประเทศ มีคนเดินเท้าประสบอุบัติเหตุ 642 คน เท่านั้น
ความเร็วรถ กับระยะเบรคที่ปลอดภัย
สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เผยข้อมูลเรื่องความเร็วรถกับระยะเบรคที่ปลอดภัย และความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนี้
- ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ต้องใช้ระยะเบรคจนรถหยุดถึง 80 ม. และหากเบรคไม่ทัน แรงปะทะจะเท่ากับตกตึก 19 ชั้น มีโอกาสทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้
- ความเร็วรถ 60 กม./ชม. มีระยะเบรคจนรถหยุด 34 ม. แรงปะทะเท่ากับตกตึก 8 ชั้น ผู้ประสบอุบัติเหตุอาจได้รับบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บสาหัสได้
ยิ่งขับเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ระยะทางเพื่อหยุดรถมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องเว้นระยะในการขับขี่ให้เพียงพอ ไม่ขับจี้รถคันหน้ามากเกินไป และใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด
เขตเมือง หรือเขตชุมชน
รถยนต์ อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม.
รถจักรยานยนต์ อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
นอกเขตเมือง
รถยนต์ อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม.
รถจักรยานยนต์ อัตราความเร็วไม่เกิน 70 กม./ชม.
ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับทางม้าลายในประเทศไทย
สำหรับผู้ขับรถ
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พศ. 2522 ระบุว่า กรณีชนคนข้ามทางม้าลาย โดยที่ไม่หยุดให้คนข้าม มีโทษปรับ 1,000 บาท หากฝ่าสัญญาณไฟข้ามถนนในเขตชุมชนที่มาคู่กับทางม้าลายปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท และกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ขับขี่ต้องชะลอความเร็วของรถ หรือหยุดรถ หากเข้าใกล้ทางร่วม ทางแยก ทางข้าม ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท และยังมีกฎหมายการใช้ทางม้าลายอีกหลายมาตรา ดังนี้
มาตรา 22 สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถ หรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง "และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม หรือรถที่มาทางขวาก่อน"
มาตรา 32 ในการใช้ทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชน หรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก คนชรา หรือคนพิการที่กำลังใช้ทาง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการควบคุมรถของตน
มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 ม. ก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยกวงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ ฝ่าฝืนปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท
มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะ 3 ม. จากทางข้าม ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ปรับไม่เกิน 500 บาท
มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียนต้องลดความเร็วของรถ
สำหรับคนเดินเท้า
1. ก่อนข้ามถนนทุกครั้ง ต้องหยุดที่ขอบทาง มองขวา ซ้าย แล้วมองขวาอีกครั้งให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นใกล้เข้ามา แล้วจึงข้ามอย่างระมัดระวัง ห้ามวิ่งตรงพรวดเดียว เพราะอาจจะมีรถแทรกเลนที่มองไม่เห็น
2. ถ้าบริเวณที่จะข้ามถนนมีทางม้าลาย ต้องข้ามตรงช่องทางม้าลายเท่านั้น
3. อย่าข้ามถนนโดยออกจุดอับ ที่รถมองไม่เห็น
4. การข้ามถนนที่รถเดินทางเดียว ต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า รถแล่นมาทางไหน รวมถึงต้องระวังพวกวิ่งสวนเลนด้วย
5. ถนนที่มีเกาะกลางต้องข้ามทีละครึ่งถนน โดยข้ามไปพักที่เกาะกลางถนนก่อน หลังจากนั้นดูรถให้แน่ใจ จึงข้ามอีกครึ่งทางต่อไป
6. ช่วงเวลากลางคืน ควรข้ามในจุดที่มีไฟส่องสว่าง และหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีเข้ม
การข้ามทางม้าลาย
1. คนเดินเท้าที่เดินข้ามถนนบนทางม้าลายมีสิทธิ์ไปก่อนรถ เพราะตามกฎหมาย รถต้องหยุดให้คนข้ามถนนในทางข้าม แต่จะต้องระวังให้โอกาสแก่รถที่ชะลอความเร็ว และหยุดไม่ทัน ก่อนที่จะก้าวลงไป
2. แม้คนขับรถจะหยุดให้ข้าม ก็ต้องข้ามด้วยความระมัดระวัง มองขวา/ซ้าย ตลอดเวลา เพราะอาจมีผู้ขับขี่แซงรถที่หยุดขึ้นมาได้ และอย่าเดินลอยชาย
3. การข้ามถนนในช่องทางข้ามที่บริเวณทางแยก ให้ระวังรถที่จะเลี้ยวเข้ามาหาตัวผู้ข้ามด้วย
4. ถ้ามีเกาะกลางขวางทางม้าลาย ให้ข้ามไปครึ่งถนน แล้วพักรออยู่บนเกาะ มองขวา/ซ้าย ก่อนจะข้ามต่อไป
เพิ่มโทษ ขับรถชนคนบนทางม้าลาย
นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า แต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากได้รับความสูญเสียจากการข้ามถนน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ
1. ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด
2. เมื่อมีคนข้าม รถในช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอ และอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย จึงได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนี้
1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการผลักดันให้ความผิดกรณีชนคนเดินบนทางม้าลาย ต้องมีข้อหา “ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน” ด้วยทุกครั้ง พร้อมปรับปรุงฐานความผิดให้รุนแรงกว่าขับรถโดยประมาท เพิ่มการตรวจจับ และบังคับใช้ในกรณีไม่หยุด หรือชะลอรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย
2. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในการข้ามถนน เป็นวาระที่ ศปถ. ในทุกระดับต้องสำรวจ และมีแผนดำเนินการ พร้อมกำกับติดตามความคืบหน้า และประเมินผลอย่างเป็นระบบ
3. แก้ไขโครงสร้างถนน โดยให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานท้องถิ่น และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลถนน และโครงสร้างพื้นฐาน เร่งดำเนินการ
3.1 ถนนที่มีทางข้ามหลายช่องจราจร ให้จำกัดความเร็วของรถ โดยเฉพาะในเขตชุมชน จุดข้ามทางม้าลาย ควรใช้ความเร็ว 30-40 กม./ชม. เมื่อมีคนข้าม
3.2 เพิ่มระยะเส้นหยุด หรือสัญลักษณ์ให้เด่นชัดสำหรับรถที่ต้องชะลอหรือหยุด เช่น เส้นซิกแซก หรือการทำสัญลักษณ์สี
3.3 กรมการขนส่งทางบก กำหนดเรื่องการชะลอ และหยุดให้คนข้ามทางม้าลายไว้ในหลักสูตร และการสอบใบขับขี่
ในต่างประเทศมีบทลงโทษรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน โดย สหราชอาณาจักร สั่งปรับ 100 ปอนด์ (ประมาณ 4,500 บาท) และตัดคะแนนใบขับขี่ 3 คะแนน เยอรมนี สั่งปรับ 80 ยูโร (ประมาณ 3,000 บาท) และตัดคะแนนใบขับขี่ 1 คะแนน สิงคโปร์ ปรับ 150 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 3,700 บาท) ตัด 6 คะแนน ส่วน ญี่ปุ่น ปรับ 9,000 เยน (ประมาณ 2,600 บาท) และหากผู้ขับขี่ไม่จ่ายค่าปรับ อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 เดือน หรือถูกปรับเพิ่มสูงสุด 50,000 เยน (ประมาณ 14,500 บาท) สหรัฐฯ (รัฐนิวยอร์ค) ปรับ 150 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,000 บาท) ขณะที่ประเทศไทย สั่งปรับรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน 1,000 บาท
รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน/ประชากร 1 แสนคน รองลงมา คือ เวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมาร์ 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน และ สิงคโปร์ 2.8 คน
รวมปฏิบัติการ “ล้อมคอก” ทั่วประเทศ
นายกฯ สั่งกทม. ติดตั้งไฟข้ามทางม้าลาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งกำชับให้กรุงเทพมหานครดำเนินการติดตั้งไฟจราจรข้ามทางม้าลาย เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น ให้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะทางม้าลายในจุดเสี่ยง แก้ไขปัญหาลดอุบัติเหตุ พร้อมพิจารณานำนวัตกรรม “ไฟจราจรอัจฉริยะ” (Smart Traffic Light) ปิด/เปิดไฟเขียวให้คนข้ามทางม้าลายโดยอัตโนมัติ มาใช้งาน ลดปัญหาสัญญาณไฟจราจรข้ามทางม้าลายแบบเดิม ที่ประชาชนผู้ใช้ทางม้าลายต้องเสียเวลายืนรอข้ามถนนหลายนาที
“ทางม้าลาย” เลือนหาย กลับมาชัดในชั่วข้ามคืน
จากกรณีหญิงสาวผู้ใช้เฟซบุครายหนึ่ง โพสต์ภาพทางม้าลายบริเวณแยกเพลินจิตที่เลือนรางอย่างมาก จนหวั่นเป็นอันตราย โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า รวบรวมความกล้า เดินไปเคาะประตูป้อมจราจรตรงแยกขึ้นทางด่วนเพลินจิต บอกคุณตำรวจว่า ตรงนี้เคยมีทางม้าลาย ตอนนี้มันเลือนหมดแล้ว หนูต้องทำอย่างไรบ้างคะ คำตอบที่เศร้าสุดคือ ตำรวจพูดว่า “ตรงนี้ไม่มีนะทางม้าลาย มีที่ไหน” หลังเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสในโซเชียล พบว่า บริเวณดังกล่าวมีการตีเส้นทางม้าลายใหม่ เห็นเส้นได้อย่างชัดเจนแล้ว
อุดรธานี ปรับ “ทางม้าลาย” เน้นเส้นใหญ่-ทาสีให้ชัด
เทศบาลนครอุดรธานี ปรับปรุงทางม้าลาย เพิ่มระยะห่างจากเดิม พร้อมป้ายเตือน บริเวณจุดเสี่ยง เช่น หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล และอีกหลายๆ จุด ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ให้เป็นแบบ OVER DESIGN คือให้ตีเส้นให้ใหญ่ขึ้น เห็นได้ชัดเจน ทาสีให้ชัด
พิษณุโลก ทาสีทางม้าลาย ตามจุดเสี่ยง
เทศบาลนครพิษณุโลกปรับปรุงทาสีทางม้าลายบริเวณถนนธรรมไตรปิฏก หน้าโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มความชัดเจน ของเส้นทางม้าลายซึ่งเป็นสีแดง-ขาว เพื่อให้เกิดการระมัดระวัง โดยลายสีขาวของทางม้าลายจะสะท้อนแสง ทำให้มองเห็นได้ดีในเวลากลางคืน หรือบริเวณสถานที่ที่ไม่มีแสงไฟ
ภูเก็ต ปรับโฉมทาสีใหม่ทางม้าลาย
เทศบาลนครภูเก็ต ให้เจ้าหน้าลงพื้นที่ทาสีทางม้าลายใหม่ โดยเปลี่ยนจากทางม้าลายสีขาวดำ มาเป็นทางม้าลายสีขาวแดงสะดุดตา เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกรณีรถชนคนเดินข้ามทางม้าลาย กำหนดดำเนินการทดลอง 3 จุด จุดแรกเริ่มที่หน้าโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จุดที่ 2 บริเวณตลาดสดถนนระนอง จุดที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจ หากได้รับการตอบรับดีจะขยายให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่
ปรับเเก้ ! ทางม้าลายจุดบิกไบค์ชน
เจ้าหน้าที่ กทม. ลงพื้นที่ปรับเเก้ทางม้าลาย บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท จุดที่แพทย์สาวเดินข้ามทางม้าลายแล้วถูกบิกไบค์ชนเสียชีวิต ด้วยการทาสีแดงขยายทางม้าลายให้มีความกว้างเพิ่มขึ้น เพื่อให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการวาดสัญลักษณ์จำกัดความเร็ว 30 กม./ชม. บนพื้นถนนก่อนถึงทางม้าลาย ประมาณ 60 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย และติดป้ายเตือนสะท้อนแสงเขตทางข้ามถนนเพิ่มเติม
ตร. เตรียมเพิ่มโทษฝ่าฝืนกฎจราจร ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
สำหรับความคืบหน้าการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะอนุมัติ และบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน 2565 และมีการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติประกาศใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม 2565
เตรียมยกเลิกทางม้าลายในจุดเสี่ยง-ไม่เหมาะสม
พลตอ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) กล่าวว่า เพื่อมาตรฐานการดูแลทางม้าลายทั่วประเทศให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว สำหรับกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณไฟทางม้าลาย รวมถึงกล้องตรวจจับ ส่วนที่ต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมกับท้องถิ่น พร้อมจะประเมินว่า ถ้าจุดไหนไม่มีมาตรฐานต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนไม่เหมาะสม หรือมีความเสี่ยงมากก็จะยกเลิก หรือปรับย้ายทางม้าลายออกไป
ถ่ายคลิพ ! รถไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย รับ 2 หมื่นบาท
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ (รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) เผยว่า ผู้พบการกระทำผิด รถไม่หยุดให้คนข้าม หรือรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรที่ทางม้าลาย สามารถถ่ายคลิพ แล้วส่งให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยให้ส่งมาที่ศูนย์บริหารงานจราจร ผ่านช่องทาง เพจศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปกตร. เพจอาสาตาจราจร มูลนิธิเมาไม่ขับ หรือเพจเฟซบุค จส.100 และ สวพ.91
โดยคลิพที่ตำรวจได้รับ จะส่งต่อให้สถานีตำรวจพื้นที่ติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงส่งไปพิจารณาในโครงการอาสาตาจราจรประจำเดือน ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุดเดือนละ 20,000 บาท
ABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ, อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)