รายงาน(formula)
ไทยพร้อม เปลี่ยนผ่าน สู่ยุค EV
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งช่วยอุดหนุนเงิน-ลดภาษี ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะ และจักรยานยนต์ เพื่อดันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก เราสรุปรายละเอียดให้แล้ว ณ ที่นี่
รถไฟฟ้า 3 ประเภท ที่รัฐสนับสนุน
1. รถยนต์ไฟฟ้า
ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท (ผลิต และประกอบในประเทศ) ลดภาษีอากรนำเข้า 40 % ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8 เหลือ 2 % (ปี 2565-2568) เงินอุดหนุน 70,000 บาท (ขนาดแบทเตอรีต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง) เงินอุดหนุน 150,000 บาท (ขนาดแบทเตอรี 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป)
ราคาขายปลีกแนะนำ 2-7 ล้านบาท ลดภาษีอากรนำเข้า 20 % ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8 เหลือ 2 % (ปี 2565-2568)
เงื่อนไขการรับสิทธิ์ : ผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนนำเข้า (CBU) ในปี 2565-2566 อัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน
2. รถกระบะไฟฟ้า
ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ลดภาษีสรรพสามิต 0 % (ปี 2565-2568) เงินอุดหนุน (ปี 2565-2568) 150,000 บาท สำหรับ BEV แบทเตอรี ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถผลิตในประเทศ)
3. จักรยานยนต์ไฟฟ้า
ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน ทั้ง CKD และ CBU (ปี 2565-2568)
เงื่อนไขการรับสิทธิ์ : เป็นผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนนำเข้า CBU ในปี 2565-2566 (ขยายได้ถึงปี 2568) อัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน
แพคเกจ “EV” ทั้งลด ทั้งแถม
แพคเกจรถยนต์ EV (อีวี) เป็นมาตรการสนับสนุนผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (ไม่ใช่ผู้ใช้) แบ่งเป็น 2 ช่วง ปี 2565-2568 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ดังนี้
1. จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น รถยนต์ และรถกระบะ คันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 %
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้า นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) 9 รายการ ประกอบด้วย
- แบทเตอรี (BATTERY)
- ระบบปรับอากาศ (COMPRESSOR)
- เกียร์ทดกำลัง (REDUCTION GEAR)
- ระบบจัดการแบทเตอรี (BMS)
- ระบบควบคุมประตูรถ (DCU)
- ชุดแปลงพลังงานไฟฟ้าของระบบควบคุม (PCU INVERTER)
- ระบบประจุไฟฟ้า (ON-BOARD CHARGER)
- ชุดแปลงสัญญาณจ่ายไฟ DC/DC CONVERTER
- มอเตอร์ขับเคลื่อน TRACTION MOTOR
เงื่อนไขแพคเกจรถ EV
ค่ายรถยนต์ หรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศ ชดเชยให้เท่ากับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ (CBU) ช่วงปี 2565-2566 ในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า อัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ต้องได้ผลิต 1.5 คัน ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา
รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลิตรถ EV ให้ได้ 30 % ของยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยภายในปี 2573 แบ่งเป็น รถยนต์นั่งไฟฟ้า และรถกระบะไฟฟ้า ทั้งสิ้น 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน
ไทยจะกลายเป็น DETROIT OF ASIA ?
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในช่วง 2 ปีแรก (2565-2566) จะเน้นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน ส่วนในอีก 2 ปีถัดไป (2567-2568) จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก
“การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบทเตอรี BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30/30 ในปี 2573 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30 % ของการผลิตรถยนต์ในไทย หรือต้องผลิตรถ EV ได้ 725,000 คัน/ปี ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น DETROIT OF ASIA ของไทย”
“สรรพสามิต” ชี้ ไม่เหมือนรถคันแรก
ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยว่า “มาตรการส่งเสริมการใช้รถ EV ครั้งนี้ วิธีการจะแตกต่างจากโครงการรถยนต์คันแรก โดยเป็นการให้เงินส่วนลดตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท กับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อไปทำพโรโมชันส่วนลดให้ประชาชน เช่นรถที่นำเข้าจากจีน ราคา 1 ล้านบาท หากทำสัญญาเข้าร่วมโครงการร่วมกันกับกรมฯ แล้วได้ส่วนลด 150,000 บาท โดยบริษัทจะต้องมีการสำแดงหลักฐานการซื้อขาย หากตรวจสอบแล้วว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด กรมฯ จะมีการคืนเงินให้เป็นรายไตรมาสต่อผู้ขายต่อไป ”
ใน 1-2 ปีแรกจะเป็นการทดลองตลาด ผู้จำหน่ายรถยนต์ จะรู้ว่ารถยนต์รุ่นไหนเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม เหมาะที่จะนำมาผลิตในประเทศไทย แต่ในปีที่ 3-4 จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ในประเทศ ชดใช้คืนตามจำนวนที่นำเข้ามา
มุมมองจากค่ายรถรับแพคเกจ EV
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า มาตรการโดยรวมถือว่าเป็นเรื่องดี ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจ และเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนระยะยาวของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเชื่อมั่นว่าจากนี้ไปค่ายรถยนต์ต้องปรับตัว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐต้องมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น จุดชาร์จที่ครอบคลุมความต้องการ ความสะดวกสบายที่มากกว่าการใช้รถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาเป็นอย่างมาก
อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า ในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้า NISSAN (นิสสัน) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และไร้มลพิษ ซึ่งนโยบายส่งเสริมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเป็นที่น่าจับตามอง และเป็นตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่น่าตื่นเต้นของโลก อีกทั้งจะทำให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทางด้าน กเรท วอลล์ มอเตอร์ เผยว่า ยินดีให้การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้ และส่งเสริมให้ผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ กเรท วอลล์ มอเตอร์ ที่เน้นการดำเนินธุรกิจในเซกเมนท์รถยนต์ไฟฟ้า และต้องการสร้างสังคมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ขณะที่ โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เผยว่า TOYOTA (โตโยตา) มีแผนที่จะแนะนำ BZ4X (บีเซด 4 เอกซ์) รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ BZ (บีเซด) ออกสู่ตลาดภายในปีนี้ และ TOYOTA จะส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ปูพรม สถานีชาร์จ EV ทั่วไทย
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะว่า ในปี 2030 ควรมีสถานีโดยรวมจำนวน 567 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 827 แห่ง รวมเป็น 1,394 แห่ง และมีเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวม จำนวน 13,251 เครื่อง แบ่งเป็น
- สถานีอัดประจุสาธารณะในเขตพื้นที่หัวเมืองใหญ่ จำนวน 505 แห่ง
- เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 8,227 เครื่อง
- สถานีอัดประจุสาธารณะเขตพื้นที่ทางหลวง (HIGHWAY) จำนวน 62 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5,024 เครื่อง
รวมถึงกำหนดเป้าหมายการผลิต และการใช้ ZEV (ZERO EMISSION VEHICLE) และกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ FAST CHARGE จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบทเตอรีสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี ภายในปี 2030
หลักการ และแนวคิดในการศึกษาตำแหน่งที่ตั้ง และจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะ คือ ต้องเข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้สูง ต้องมีต้นทุนที่เหมาะสม เช่น ที่ดิน และค่าไฟฟ้า เป็นต้น
ขึ้นภาษีรถสันดาป หนุนคนไทยใช้ EV
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั้งระบบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น
2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV (เอชอีวี) และ PHEV (พีเอชอีวี) ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV (บีอีวาย)
3. ทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE (ไอซีอี), HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 ปี 2571 และปี 2573 ตามลำดับ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8 เหลืออัตรา 2 %
4. ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถกระบะ และอนุพันธ์ของรถกระบะ (PRODUCT CHAMPION) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน BIODIESEL และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ และผลิตรถกระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ
5. กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ให้มีการติดตั้งระบบ ADVANCED DRIVER-ASSISTANCE SYSTEMS (ADAS) (ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ) มาเกี่ยวข้อง ซึ่งรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบ จาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถกระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบ จาก 6 ระบบ (ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ)
รวมทั้งปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ แบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 และปี 2573 ตามลำดับเช่นกัน
ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษากรมสรรพสามิต เผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ จะทำให้รถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลง เพื่อรับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวก็จะเสียภาษีแพงขึ้น ตัวอย่าง เช่น รถยนต์ TOYOTA FORTUNER (โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์) ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท/คัน มีการปล่อย CO2 ที่ 150-200 กรัม/กม. ปัจจุบันเสียภาษี 30 อัตราใหม่เสีย 29 %
ทั้งนี้ ถ้าไม่มีการปรับลดการปล่อย CO2 ลง ในปี 2571 จะเสียภาษี 31 % และในปี 2573 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 33 % หรือภาษีจะปรับเพิ่มขึ้นรอบละ 2 % ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ 1.7 ล้านบาท จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 3.4 หมื่นบาท/รอบภาษี หากค่ายรถไม่มีการปรับเทคโนโลยีอะไรเลย
“คาดว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะเร่งปรับตัว ปรับเทคโนโลยี เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างภาษี และได้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีในอัตราที่ต่ำลง ให้สามารถทำราคาสู้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยโครงสร้างภาษีแบบใหม่ จะคิดภาษีตามการปล่อย CO2 เท่านั้น แต่ไม่คิดการปล่อยค่า PM โดยคาดว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่จะมีผลหลังประกาศในราชกิจนุเบกษา” (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565)
คาดราคาใหม่รถไฟฟ้า
POCCO
รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ความจุแบทเตอรี มีให้เลือก 2 รุ่น คือ 9.2 KWH และ 14.0 KWH อีกรุ่น คือ 14.5 KWH โดยราคาไม่เกิน 5 แสนบาท ดังนั้น ราคาน่าจะปรับลดลง 70,000 บาท (สำหรับรุ่นแรกไม่เข้าเงื่อนไข)
ORA GOOD CAT
รถยนต์จากค่าย GWM ความจุแบทเตอรี ขนาด 47.8 KWH และ 63.139 KWH ราคาน่าจะลดลง 150,000 บาท
NISSAN LEAF
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน รุ่นใหม่ ขนาด 40 KWH ราคาน่าจะลดลง 150,000 บาท
FOMM ONE
รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กจากค่ายญี่ปุ่น ราคาระดับ 5 แสนบาท ใช้แบทเตอรีลิเธียมแมงกานีส ขนาด 2.96 KWH ราคาน่าจะลดลง 70,000 บาท
WULING MINI EV
รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ราคาไม่ถึง 4 แสนบาท มีขนาดแบทเตอรี 13.9 KWH ราคาน่าจะลดลง 70,000 บาท
BYD
รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน มีแบทเตอรีความจุ 50.3 KWH ราคาระดับล้านบาท ราคาน่าจะลดลง 150,000 บาท
MG EP PLUS
รถยนต์แบบ STATION WAGON ใช้แบทเตอรีเป็นลิเธียม-ไอออน แบบโมดูล ขนาดความจุ 50.3 KWH จะได้เงินอุดหนุน 150,000 บาท
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ, อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)