รู้ลึกเรื่องรถ
คุณเป็นแบบนี้ใช่ไหม ?!? จุดแข็ง: ชอบเชียร์ F1 จุดอ่อน: ไม่รู้จักรถ F1
แต่ไหนแต่ไรมาผู้เขียนไม่ค่อยได้ติดตามการแข่งขันรถสูตร 1 มากนัก กระทั่งได้ชมรายการ FORMULA 1 DRIVE TO SURVIVE ทาง NETFLIX ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตนักแข่งตัวจริง การวางแผนของทีม ทัศนคติของผู้จัดการทีม และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสนามแข่ง ทำให้รู้สึกสนุกกับการเชียร์มากขึ้น
ผู้ควบคุมการรถแข่งขันรถสูตร 1 พยายามปรับเปลี่ยนกติกา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ระบบไฮบริด และเชื้อเพลิงผสมเอธานอล เพื่อให้ลดการปล่อยคาร์บอน หรือการเพิ่มความปลอดภัยให้นักแข่ง อาทิ การบังคับใช้ HALO หรือ “หูรองเท้าแตะ" อุปกรณ์คุ้มครองศีรษะของของนักแข่งขณะเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังพัฒนากติกา เพื่อสร้างแต้มต่อด้านงบประมาณ ให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็กจะได้แข่งขันกันสูสีขึ้น และสุดท้ายคือ ความพยายามที่จะให้รถแข่งสามารถแซงกันได้ เพราะเคยมียุคที่การแข่งขันน่าเบื่อ เนื่องจากรถแข่งแทบจะไม่สามารถแซงกันได้เลย จากปัจจัยนานัปการ
กติกาการแข่งขันรถสูตร 1 ฤดูกาล 2022 มีการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว แต่ผู้เขียนขอเสนอสิ่งที่สร้างความแตกต่างได้อย่างเห็นผลดังนี้
อันดับแรก “ลดงบประมาณที่แต่ละทีมได้รับอนุญาตให้ใช้” โดยในปีนี้ทาง สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) สั่งเฉือนงบประมาณลงจากเดิม 145 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 140 ล้านเหรียญ และฤดูกาล 2023 จะลดลงเหลือ 135 ล้านเหรียญ ซึ่งทีมขนาดใหญ่จะประสบปัญหามากที่สุด เนื่องจากมีค่าโสหุ้ยสูงกว่าทีมขนาดเล็ก การตัดสินใจนี้เชื่อว่าจะช่วยทำให้การแข่งขันกลับมาสนุกเร้าใจเหมือนในอดีตได้อีกครั้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขากำหนดให้รถรุ่นปี 2022 ใช้เครื่องยนต์ไฮบริด 1.6 เทอร์โบ ที่เป็นสเปคเดิมที่ใช้มากว่า 8 ปี แน่นอนว่า การกำหนดให้ใช้เครื่องเดิมจะลดต้นทุนในการแข่งขันลงได้ชัดเจน สิ่งที่ทำได้กับเครื่องยนต์นี้คือ ทำให้ทนขึ้น และลดต้นทุนในการผลิตเท่านั้น
ผู้จัดการแข่งขันกำหนดให้ใช้อุปกรณ์สเปคเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้งบประมาณของแต่ละทีมลดลง ซึ่งหนึ่งในอุปกรณ์ใหม่ล่าสุดที่ได้รับการใช้งานเป็นครั้งแรกในปีนี้คือ “ล้อ และยางขนาด 18 นิ้ว”
เดิมนั้น ล้อ และยางของรถแข่งสูตร 1 จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 นิ้ว แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เปลี่ยนมาใช้ขนาด 18 นิ้ว ความสูงของยางจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย โดยล้อขนาด 13 นิ้ว กับยางที่ใช่ในการแข่งขันจะมีความสูง 660 มม. แต่พอเปลี่ยนมาใช้ล้อขนาด 18 นิ้ว กับยางที่ใช้ในการแข่งขัน จะมีความสูงเพิ่มเป็น 720 มม. เหตุผลที่เปลี่ยนมาใช้ล้อ 18 นิ้ว ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามที่จะปรับให้ยางของรถแข่งมีความทนทานมากขึ้น
แม้ว่ายางขนาด 18 นิ้ว จะมีแก้มที่เตี้ยลง แข็งขึ้น และแรงดันลมต่ำลง โดยล้อหน้าจะใช้แรงดันระหว่าง 20.5-21.5 PSI (ยางขน่าด 13 นิ้ว ใช้แรงดัน 27 PSI) ส่วนยางหลังจะใช้แรงดันเพียง 17-18 PSI เท่านั้น (ยางขน่าด 13 นิ้ว ใช้แรงดัน 22 PSI) ซึ่งแรงดันลมยางที่ลดลง ส่งผลให้ยางวิ่งที่อุณหภูมิต่ำลงอีกด้วย
ยางสำหรับการแข่งขันนี้ มีผู้ผลิตเพียงรายเดียวคือ PIRELLI (ปิเรลลี) จากประเทศอิตาลี ซึ่งมาพร้อมกับแถบสีบนแก้มยาง ที่ช่วยให้คนดูทั้งในสนามและทางบ้านสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า รถแต่ละคันใช้ยางประเภทใดในการแข่งขัน
แถบสีของยางแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ แถบ และอักษรสีขาว เป็นยางเนื้อแข็ง แถบ และอักษรสีเหลือง เป็นยางเนื้อปานกลาง แถบ และอักษรสีแดง คือยางเนื้อนิ่ม ซึ่งเป็นเนื้อที่ทำเวลาต่อรอบสนามได้ต่ำที่สุด แต่มักสูญเสียประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนอย่างรวดเร็ว จึงมักใช้เฉพาะช่วงการแข่งขันรอบจับเวลา แถบสีเขียว คือยางสำหรับสนามลื่นเล็กน้อย และแถบสีฟ้า คือยางสำหรับสนามเปียก ต่อไปนี้ผู้ชมทางบ้านก็จะสามารถเข้าใจทันทีว่า ตอนนี้รถคันที่กำลังดูอยู่ใช้ยางประเภทไหน
ส่วนผู้ผลิตล้อ เดิมมีหลายยี่ห้อ แต่ละทีมสามารถเลือกสรรให้แตกต่าง และมีเทคนิคในการออกแบบต่างกัน แต่ปีนี้ถูกจำกัดให้เหลือเพียงยี่ห้อเดียว นั่นคือ BBS ที่เป็นเจ้าเก่าในวงการ แต่ก็ไม่ได้ผลิตล้อสำหรับรถแข่งสูตร 1 มาพักใหญ่แล้ว เพราะกติกาใหม่นอกจากจะกำหนดให้ใช้ล้อยี่ห้อเดียวแล้ว ยังกำหนดให้ใช้ฝาครอบล้อรุ่นเดียวกันหมดด้วย
การใช้ฝาครอบล้อนี้ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงยุค 90 และหยุดใช้ไปราว 10 ปีที่ผ่านมา มันมีไว้เพื่อผลทางอากาศพลศาสตร์ แต่ในยุคนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเหมือนในอดีต เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีการใช้ฝาครอบที่ไม่หมุนตามล้อ ทำหน้าที่ดูดอากาศเย็นเข้ามาลดอุณหภูมิเบรค แต่สำหรับฤดูกาล 2022 มีความเรียบง่ายเป็นอย่างมาก และไม่ได้มีอะไรพิสดารเลย โดยรวมแล้ว ล้อพร้อมฝาครอบ และยาง จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว 2.5- 3 กก. ดังนั้น ทีมเปลี่ยนยาง คงต้องไปฟิตร่างกายเพิ่มแข็งแกร่งอีกเล็กน้อย
อันดับสองคือ ความพยายามที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอน นี่คือสิ่งที่พวกเขาพยายามมาตลอด ซึ่งมาตรการใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ การปรับสูตรเชื้อเพลิงให้มีส่วนผสมของเอธานอลเพิ่มขึ้น จากเดิม 5.75% เป็นสูตร อี10 (เหมือนกับแกสโซฮอล์ 95 ในบ้านเรา) ส่วนใครที่บอกว่า ทำไมไม่ใช้แกสโซฮอล์ อี85 ที่สร้างพละกำลังได้มากกว่า ก็ต้องอย่าลืมว่ารถสูตร 1 แข่งกัน 50 รอบสนาม ต้องมีการเติมเชื้อเพลิงระหว่างการแข่งขัน ดังนั้น หากใช้แกสโซฮอล์ อี85 ที่มีอัตราสิ้นเปลืองมากกว่า อี10 จะต้องเพิ่มขนาดถังน้ำมันแน่นอน
สิ่งต่อไปที่เป็นมาตรการลดคาร์บอน คือ การลดอุณหภูมิในการอุ่นยางสำรอง ยางรุ่นใหม่นี้ถูกลดอุณหภูมิในการอุ่นยางลงถึง 30 องศาเซลเซียส จากเดิมยางจะถูกห่อด้วยผ้าห่มไฟฟ้าและอุ่นให้ร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส แต่ฤดูกาล 2022 กำหนดให้ใช้อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส สำหรับยางที่ใช้กับสนามแห้ง และกำหนดให้ใช้อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส สำหรับยางที่ใช้กับสนามเปียก ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่เห็นผลด้านการปล่อยคาร์บอนมากนัก แต่เห็นผลชัดเจนกับผลการแข่งขัน
อันดับที่สาม ความพยายามที่จะให้เกิดการแซงในการแข่งขัน หัวข้อนี้มาจากเหตุผลที่ผู้จัดการแข่งต้องให้การชมการแข่งขันรถสูตร 1 มีความสนุกเร้าใจมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งแก้ได้ด้วยการสร้างข้อกำหนดใหม่ๆ อาทิ
“การกลับมาของ GROUND EFFECT” ทุกคนรู้ดีว่า การสร้างแรงกดด้วยหลักอากาศพลศาสตร์ คือ หัวใจของรถแข่งสูตร 1 เพราะรถที่ออกแบบได้ดีกว่ามักจะได้ผลการแข่งที่ดีกว่า ซึ่งในปีนี้ก็มีความพยายามจะกำหนดให้ รถแข่งสามารถ “แซง” และ “จี้ท้าย” รถที่อยู่ด้านหน้าได้ดีขึ้น ในอดีตที่ผ่านมานั้นพวกเขาพบว่า อากาศอลวน (TURBULENCE) ที่เกิดขึ้นหลังจากรถคันหน้าวิ่งแหวกอากาศไปแล้ว ส่งผลต่อ “แรงกด” (DOWNFORCE) ที่สร้างขึ้นจากปีกด้านหน้าและด้านท้าย ยิ่งวิ่งเข้าไปใกล้รถคันหน้าเท่าไหร่ แรงกดก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น ว่ากันว่า ถ้าจี้ท้ายคันหน้าห่างกันสัก 3 ช่วงคันรถ หรือราว 20 เมตร รถที่ตามมาจะเสียแรงกดไป 35% แต่ถ้าร่นระยะเหลือ 10 เมตร แรงกดจะลงไปเพิ่มเป็น 47% เรื่องอากาศอลวนนี้ ถ้าเป็นเครื่องบิน ที่บินต่อท้ายกัน เผลอๆ อาจจะร่วงหล่นได้เลยทีเดียว
ดังนั้น เพื่อให้สามารถจี้ท้าย และแซงรถที่นำได้สะดวกขึ้น กติกาใหม่จึงอนุญาตให้ใช้ “GROUND EFFECT” อันเป็นเทคนิคการสร้าง “แรงดูด” ที่เกิดขึ้นจากใต้ท้องรถ ด้วยโครงสร้างแบบ เวนทูรี (VENTURI SHAPE) สังเกตได้จากรูปทรงของใต้ท้องรถที่มีครีบยาว และมีพื้นที่ให้อากาศไหลผ่าน โดยส่วนหน้าของรถจะกว้าง และมาแคบตรงกลาง ช่วยเร่งให้อากาศไหลเร็วขึ้น และเปิดกว้างอีกครั้งด้านท้ายรถ ยิ่งรถวิ่งเร็วเท่าไหร่ อากาศที่ไหลผ่านใต้ท้องรถก็จะยิ่งสร้างแรงดูดให้ติดพื้นมากขึ้นเท่านั้น แตกต่างไปจากรุ่นปีก่อนๆ ที่เป็นรถ “ท้องแบน” ซึ่งเป็นมรดกของกติกาตั้งแต่ปี 1983
รถสูตร 1 ในอดีตเคยมีการใช้ท้องรถแบบ GROUND EFFECT มาแล้ว แต่ปัญหาของมันคือ การป้องกันไม่ให้อากาศใต้ท้องรถหลุดออกไปด้านข้างทำให้เสียแรงดูดไป ซึ่งเราได้เห็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้แผ่นยาง ทำหน้าที่เป็นกำแพงสไลด์ลงมาแนบพื้น แต่จะสึกไปเรื่อยๆ แล้วอากาศก็รั่วออกในที่สุด ยุคนี้จึงใช้เทคนิค “เกลือจิ้มเกลือ” ด้วยการสร้างครีบเล็กไว้ด้านชายหน้าของท้องรถ ทำหน้าที่สร้าง ลมหมุน (VORTICE) gป็นกำแพงอากาศ ป้องกันไม่ให้],ใต้ท้องรถเล็ดรอดออกมาได้
ใต้ท้องรถตามกติกาใหม่ ส่งผลให้แรงกดที่ระยะห่าง 20 เมตร ลดลงไปเพียง 4% และที่ระยะ 10 เมตร จะลดไปเพียง 18% เท่านั้น เราจึงได้เห็นการขับเคี่ยวที่ถึงพริกถึงขิงผลัดกันแซง ระหว่างรถของทีมแฟร์รารี ที่ขับโดย CHARLES LECLERC (ชาร์ล เลอคแลร์) และ CARLOS SAINZ JR. (คาร์ลอส แซง จูเนียร์) ไล่บี้รถของทีมเรดบูลล์ ที่ขับโดย MAX VERSTAPPEN (แมกซ์ เวร์สแทพเพน) ผลก็คือ รถของเรดบูลล์พังไปเสียก่อน และแฟร์รารี คว้าอันดับ 1 และ 2 สนามแรกของฤดูกาล 2022 รายการ BAHRAIN GP ไปอย่างงดงาม
อันดับต่อมาคือ “เวลาของแต่ทีมที่ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์อากาศพลศาสตร์” ซึ่งเป็นการให้ความเป็นธรรมกับทีมที่มีผลงานไม่ดีจากฤดูกาลที่ผ่านมา โดยจะได้รับสิทธิ์เรื่องเวลาในการปรับปรุงอุปกรณ์ ตามกติกาเดิม ทีมที่ได้อันดับ 5 ในอันดับคะแนนสะสมประเภททีมจะถือเป็นเวลามาตรฐาน โดยทีมที่ได้ที่ 1 จะถูกกำหนดให้ใช้เวลา 90% ของทีมอันดับ 5 และทีมอันดับสุดท้ายจะได้ใช้เวลา 112.5% แต่ฤดูกาล 2022 ทีมที่ใช้เป็นเวลามาตรฐานคือ ทีมอันดับ 7 และรถในทีมที่ได้อันดับ 1 จะปรับลดเวลาเหลือเพียง 70% เท่านั้น ส่วนทีมอันดับสุดท้ายจะได้เวลาเป็น 115% แทน เรียกว่าให้แต้มต่อกันสุดๆ ไปเลย
นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงสำคัญส่วนหนึ่งของการแข่งขันรถสูตร 1 ฤดูกาล 2022 ที่เชื่อว่าจะช่วยให้มีการขับเคี่ยวกันที่สนุกเร้าใจขึ้นกว่าเดิม และหากท่านยังไม่เคยดูรายการของ NETFLIX ที่กล่าวไปข้างต้น ผมยืนยันว่า สนุกเร้าใจ ดรามากว่าซีรีส์เกาหลี และจะทำให้ท่านดูการแข่งรถสูตร 1 สนุกขึ้นแน่นอน ฟันธง !
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ