รู้ลึกเรื่องรถ
FAST & FURIOUS ใครเร็วโหดกว่ากัน !
แน่นอนเชื่อว่าคำถามนี้คงต้องมีเกิดขึ้นในหัวเราบ้าง รถแข่งล้อเปิดพันธุ์ดุของแผ่นดินอเมริกันแดนคาวบอย ที่มีชื่อว่า INDYCAR ถ้ามาเจอกับรถแข่ง F1 หรือ ฟอร์มูลา วัน ใครจะดี ใครจะได้ !
เรื่องนี้ต้องพิจารณากันหลายมิติ รถทั้ง 2 ตระกูลหน้าตาคล้ายๆ กัน ถ้าไม่ใช่แฟนรถแข่งก็คงแยกไม่ออกระหว่าง INDYCAR (อินดีคาร์) ดูเพรียวลมกว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งหากมองแต่ความเร็วสูงสุด อันนี้ต้องบอกว่า รถแข่งในกติกาของ INDYCAR มีความเร็วตีนปลายสูงกว่ามาก ว่ากันว่า ความเร็วสูงสุดของ INDYCAR นั้นทำได้ราว 380 กม./ชม. ในขณะที่รถ F1 ทำได้เต็มที่ไม่เกิน 350 กม./ชม.
ถึงจุดนี้คนคงจะสงสัย เพราะถ้าดูกันที่กำลังเครื่องยนต์จะเห็นได้ว่า INDYCAR ตามกติกาจะมีพละกำลังอยู่ในช่วง 550-750 แรงม้า ในขณะที่รถ F1 มีพละกำลังอยู่ในช่วง 800-1,000 แรงม้า ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้มีปัจจัยเรื่องรูปแบบสนามแข่ง และอัตราทดเกียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้แม้จะมีแรงม้าน้อยกว่า แต่ INDYCAR สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่า
แน่นอนว่ารถแข่ง F1 มีกำลังเครื่องยนต์มากกว่า ก็จะมีอัตราเร่งดีกว่า ดังนั้นเมื่อนำมาแข่งกันในสนามแข่งแบบเซอร์กิท ที่มีความคดเคี้ยว มีการเร่งแซง เบรค และเข้าโค้ง เวลาที่ทำได้จะต่างกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง จากการวิ่งในสนามแข่งที่คดเคี้ยวที่มีความยาว 5.513 กม. อย่าง CIRCUIT OF THE AMERICAS ที่รัฐเทกซัส ในปี 2019 รถแข่ง INDY ที่ขับโดย COLTON HERTA (คอลทัน เฮอร์ทา) สามารถทำสถิติเวลาต่อรอบดีที่สุด ด้วยเวลา 1 นาที 48.895 วินาที และอีก 9 เดือนต่อมา สนามนี้ถูกใช้เป็นสนามแข่งรถ F1 รายการ ยูเอส กรองด์ปรีซ์ และ VALTTERI BOTTAS (วัลเทรี โบทตัส) สังกัดทีม MERCEDES-BENZ (ในฤดูกาลนั้น) สามารถทำสถิติไว้ในรอบควอลิฟายด์ ด้วยเวลา 1 นาที 32.029 วินาที เร็วกว่ากันถึง 16 วินาที ! ดังนั้น เวลาจะพูดว่าใครเร็วกว่า คงต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะดูที่ความเร็วสูงสุด หรือเวลาต่อรอบ เพราะมันคนละเรื่องกัน
แต่ถึงอย่างนั้น มิติความสนุกของการดูรถแข่งทั้ง 2 ประเภทก็นับว่าไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเข้าใจกติกาของการแข่งขันทั้ง 2 แบบ โดยกติกานี้ทำให้เกมการแข่งขันมีความสนุกสูสี หรือน่าเบื่อได้ทันตาเห็น ตัวอย่างเช่น เมื่อการแข่งรถ F1 ได้มีการปรับปรุงกติกาเรื่อง แอโรไดนามิค ใหม่จนทำให้รถสามารถแซงกันง่ายขึ้น จากการริเริ่มให้มีการใช้ระบบ “GROUND EFFECT” ที่สร้างแรงดูดจากใต้ท้องรถ ทำให้รถที่ตามหลังรถแข่งคันหน้า ไม่ต้องเสียแรงกด (DOWNFORCE) จากการวิ่งตามกระแสอากาศที่อลวนจากรถคันหน้าเหมือนในอดีต (รถแข่ง F1 ไม่ได้เพียงออกแบบให้รถตัวเองแหวกอากาศได้ดี สร้างแรงกดได้เหมาะสม แต่ต้องสร้างอากาศที่ปั่นป่วนให้กับรถคันที่ตามหลังมาด้วย ไม่ให้คู่แข่งแซงขึ้นมาได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่ส่งผลร้ายทำให้การแข่งน่าเบื่อ เพราะแซงกันยากเย็นแสนเข็ญมานานแสนนาน)
สิ่งที่ทำให้การแข่งขัน 2 รายการนี้แตกต่างกัน คือ เม็ดเงินลงทุนที่ใช้ในการแข่งขันที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล โดยรถแข่ง F1 เป็นรายการแข่งขันระดับโลก มีแฟนคลับทั่วโลก ในขณะที่รถแข่ง INDY เปรียบเหมือนรายการท้องถิ่นที่มีแฟนคลับในทวีปอเมริกาเหนือเป็นหลัก ดังนั้น ด้วยเม็ดเงินที่ต่างกันจึงนำมาซึ่งกติกาที่แตกต่างกันมาก เริ่มด้วย การออกแบบตัวรถ และเครื่องยนต์
กติกาของรถ F1 แต่ละทีม “ต้องออกแบบรถด้วยตัวเอง” และรูปแบบของอุปกรณ์ทางอากาศพลศาสตร์ สามารถปรับให้เหมาะกับสนามแต่ละสนามได้ ส่วนเครื่องยนต์ และเกียร์สามารถซื้อจากคนอื่นได้ โดยในฤดูกาลปัจจุบัน มีผู้ผลิตเครื่องยนต์รวม 4 บริษัท ได้แก่ FERRARI (แฟร์รารี), MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์), RED BULL (เรดบูลล์) และ RENAULT (เรอโนลต์)
ทีมที่ใช้เครื่องยนต์ FERRARI มี 3 ทีม ได้แก่ FERRARI, ALFA ROMEO (อัลฟา โรเมโอ) และ HAAS (ฮัส) ส่วนทีมที่ใช้เครื่องยนต์ MERCEDES-BENZ มี 4 ทีม ได้แก่ MERCEDES-BENZ, McLAREN (แมคลาเรน), ASTON MARTIN (แอสตัน มาร์ทิน) และ WILLIAMS (วิลเลียมส์) ส่วนเครื่องยนต์ของ RED BULL แท้ที่จริงคือ เครื่องยนต์ที่พัฒนาต่อยอดจากเครื่องยนต์ของ HONDA (ฮอนดา) ซึ่งใช้กัน 2 ทีม ได้แก่ RED BULL กับ ALPHA TAURI (อัลฟา ทอรี) สำหรับเครื่องยนต์ RENAULT ใช้โดยทีม ALPINE (อัลไพน์)
หัวข้อนี้จะเห็นได้ว่า แต่ละทีมต้องใช้เงินในการพัฒนารถของตัวเองเยอะมาก ตรงกันข้ามกับฝั่ง INDYCAR จากสหรัฐอเมริกา กติกาแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการแข่งชนิด “วันเมคเรศ” เพราะทุกทีมต้องใช้ตัวรถเหมือนกันหมด อันเป็นแชสซีส์รถแข่งยี่ห้อ DALLARA (ดัลลารา) โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียง 2 ยี่ห้อ ได้แก่ HONDA และ CHEVROLET (เชฟโรเลต์) ส่วนชุดอากาศพลศาสตร์นั้นกำหนดให้มีเพียง 2 รูปแบบ คือ แบบถนน ซึ่งมีแรงกดมาก และแบบความเร็วสูง สำหรับใช้ในสนาม “ซูเพอร์สปีดเวย์” หรือสนามรูปไข่ (OVAL TRACK) ที่เป็นเอกลักษณ์ของการแข่งขันในทวีปอเมริกาเหนือ โดยระบบรองรับจะได้รับการปรับให้เหมาะกับการเข้าโค้งด้านเดียวอย่างต่อเนื่อง
จากกติกาเริ่มต้นนี้ ผู้อ่านคงเริ่มเห็นภาพแล้วว่า การเข้าร่วมแข่งขัน 2 รายการ ใช้เงินลงทุนต่างกันอย่างชัดเจน
เรื่องต่อไป คือ เครื่องยนต์ รถแข่ง F1 ใช้กติกา “เติมน้ำมันได้ครั้งเดียว” ดังนั้นจึงต้องใช้เชื้อเพลิงให้พอเพียงกับการวิ่งในระยะทางราว 300 กม. โดยกำหนดน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดไม่เกิน 110 กก./การแข่ง สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน แบบ วี 6 สูบ ความจุ 1.6 ลิตร พ่วงด้วยเทอร์โบเดี่ยว กับระบบไฮบริดไฟฟ้า และใช้เชื้อเพลิงแกสโซฮอล E10 (เริ่มใช้ฤดูกาล 2022) ให้กำลัง 800-1,000 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์เดินหน้า 8 จังหวะ
ส่วน INDYCAR กติกาอนุญาตให้เติมเชื้อเพลิงระหว่างการแข่งได้ เนื่องจากในการแข่งขันบางรายการมีระยะทาง 500 ไมล์ หรือ 805 กม. ซึ่งเกินกว่าที่ถังน้ำมันขนาดเพียง 70 ลิตรจะพาไปถึง ว่ากันว่าบางสนามพวกเขาต้องเข้าพิทเติมน้ำมันถึง 6 ครั้ง ! (เติมไม่เต็มถัง เพราะเติมเยอะเกินไปก็หนักเปล่าๆ) โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน แบบ วี 6 สูบ ความจุ 2.2 ลิตร เทอร์โบคู่ เชื้อเพลิงแกสโซฮอล E85 ให้กำลังราว 550-750 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์เดินหน้า 6 จังหวะ
รถแข่งของทั้ง 2 รายการออกแบบให้มีอัตราเร่งอย่างรวดเร็วด้วยกันทั้งคู่ แต่แตกต่างกันในรูปแบบ คือ ในช่วงทำความเร็วในทางตรง รถแข่ง F1 สามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้ด้วย “ระบบลดแรงต้านอากาศ” หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ระบบ DRS หรือ DRAG REDUCTION SYSTEM ที่ทำงานโดยการกระดกปีกสปอยเลอร์หลังขึ้น เพื่อลดแรงต้านอากาศ (ลดแรงกดท้ายรถ) ให้อากาศไหลผ่านรถไปได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะอนุญาตให้ใช้เพียง 2 กรณีคือ ในรถที่ตามหลังรถคันหน้าไม่เกิน 1.0 วินาที และต้องใช้ในเขตที่อนุญาตให้แซงด้วยระบบ DRS เท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นช่วงทางตรงยาว และจะไม่อนุญาตให้ใช้ใน 2 รอบแรก หลังออกสตาร์ท หรือหลังเริ่มการแข่งอีกครั้งหลังจากที่วิ่งตามรถเซฟที และรถที่ “กำลังจะถูกแซง” ก็ห้ามใช้ระบบนี้เช่นกัน นอกเสียจากว่ามีรถอีกคันอยู่ด้านหน้าในระยะ 1.0 วินาที และในกรณีที่อันตราย หรือสุ่มเสี่ยง เช่น ฝนตก ก็ห้ามใช้
กติกานี้ทำให้การแซง ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถทำความเร็วเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ราว 4-5 กม./ชม. แต่สำหรับนักแข่งที่กำลังนำอยู่ก็แอบรู้สึกอึดอัดไม่น้อย เพราะกติกาห้ามไม่ให้รถคันหน้าเปิดระบบลดแรงต้านอากาศ ในภาพประกอบ คือ พวงมาลัยของรถ F1 ฤดูกาล 2017 (พื้นหลังสีดำ) ปุ่มหมายเลข 18 ที่เขียนว่า OT ย่อมาจาก OVERTAKE หรือแซง
ส่วนรถแข่ง INDY นั้นมาคนละแนวทาง และเป็นแนวทางถูกใจนัก “ซิ่ง”อเมริกัน นั่นคือ การเพิ่มแรงม้าเป็นเวลาสั้นๆ คล้ายกันรูปแบบของการฉีดไนตรัสออกไซด์ ที่เราเห็นในหนัง HOLLYWOOD พวกเขาเรียกระบบนี้ว่า “กด เพื่อ แซง” หรือ PUSH TO PASS ในภาพประกอบ คือ พวงมาลัยของ INDYCAR DALLARA DW12 (พื้นหลังสีส้ม) ปุ่มหมายเลข 3 ที่เขียนว่า OT ย่อมาจาก OVERTAKE หรือแซง
การเพิ่มแรงม้าของ INDTCAR มาจากการเพิ่มแรงดันเทอร์โบ ซึ่งทำให้มีพละกำลังเพิ่มขึ้นราว 50 แรงม้า โดยกติกากำหนดว่าในแต่ละสนามให้ใช้ได้รวมแค่ 200 วินาที เท่านั้น และห้ามใช้ในการแข่งขันสนามรูปไข่ โดยจะเห็นได้ว่ามีพละกำลังเพิ่มขึ้นเพียง 50 แรงม้า (เครื่องเดิมก็รีดแรงออกมาจนสุดขีดแล้วเหมือนกัน) ปุ่มที่กดแล้ว “โลกเบี้ยว ถนนย่น” มีแต่ในหนังรถซิ่งเท่านั้น
ส่วนรูปร่างรถ แตกต่างกันค่อนข้างมาก INDYCAR นั้นดูลู่ลม เนื่องจากมาพร้อม “กระจกบังลมหน้า” เพื่อความปลอดภัยจากวัตถุบินขนาดเล็กที่ปลิวเข้ามาในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในสนามรูปไข่ที่วิ่งเบียดกำแพงกัน รวมไปถึงชุดอากาศพลศาสตร์ที่บังล้อหลัง ทำให้ภาพรวมนั้นดูล้ำยุคกว่ารถสูตร 1 แม้เวลาเฉลี่ยต่อรอบจะช้ากว่าก็ตาม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของความแตกต่าง ที่เชื่อว่าเมื่อเข้าใจแล้ว จะทำให้ดูการแข่งขันทั้ง 2 ประเภท สนุกขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ