รายงาน(formula)
สกูเตอร์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของคนเมือง !?!
สกูเตอร์ไฟฟ้า กำลังกลายเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมจากคนเมืองใหญ่ เพื่อหนีการจราจรอันแสนสาหัส และน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสนแพง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสกูเตอร์สักคัน คุณจำเป็นจะต้องรู้ 6 เรื่องนี้
1. ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
แม้สกูตเตอร์ไฟฟ้า จะมีขนาด และพละกำลังน้อยกว่าจักรยานยนต์ แต่หากนิยามตาม พรบ. รถยนต์ พศ. 2522 ระบุว่า รถจักรยานยนต์ คือ รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้า และมีล้อไม่เกิน 2 ล้อ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย ทำให้สกูเตอร์ไฟฟ้า ที่มี 2 ล้อ และส่งกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จึงเข้าเกณฑ์ รถจักรยานยนต์ ทันที
ดังนั้น สกูเตอร์ไฟฟ้า จะมีความผิดเช่นเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ ตามมาตรา 17 (2) ที่ระบุเอาไว้ว่าห้ามมิให้จอด หรือขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และมาตรา 56 ระบุไว้ว่า หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมถึง ผู้ที่นำสกูเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในทางสาธารณะ จะมีความผิดตาม พรบ.รถยนต์ มาตรา 6 ห้ามมิให้นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในทางสาธารณะ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้สกูตเตอร์ไฟฟ้าเป็นพาหนะที่สามารถขับขี่ได้ในพื้นที่บริเวณบ้านพักส่วนบุคคล ในซอยส่วนบุคคล หรือเส้นทางเฉพาะเท่านั้น ห้ามนำไปวิ่งบนถนนสาธารณะ จะมีความผิดตามกฎหมายจราจร
พอตีความ สกูเตอร์ไฟฟ้า เป็นรถจักรยานยนต์แล้ว ต้องไปจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล เพื่อได้ทะเบียน และเสียภาษีเหมือนกับรถจักรยานยนต์ แต่ด้วยสกูเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์ได้ เพราะประกาศกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยเรื่องการกำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์ พศ. 2560 คือ ต้องมีมอเตอร์ที่มีกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 250 วัตต์ ซึ่งมีสกูเตอร์ไฟฟ้า ไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าเกณฑ์ เช่น XIAOMI รุ่น M365 แต่ถึงจะมีกำลังมอเตอร์ถึง 250 วัตต์ ก็จะมาติดอีกข้อจำกัดคือ ต้องขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. ซึ่ง XIAOMI รุ่นดังกล่าว วิ่งได้ความเร็วสูงสุดเพียง 25 กม./ชม. เท่านั้น
จึงทำให้ข้อสรุปลงเอยอยู่ที่ สกูเตอร์ไฟฟ้าจัดอยู่ในประเภทรถจักรยานยนต์ ที่จะสามารถนำมาใช้วิ่งได้ หากทำการจดทะเบียนถูกต้อง แต่สกูเตอร์ไฟฟ้า “จดทะเบียนไม่ได้ ทำใบขับขี่ไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง”
ด้วยความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายนี้ ทำให้เกิดเป็นความอะลุ่มอล่วยเมื่อเกิดกรณีของการนำ สกูเตอร์ไฟฟ้ามาใช้วิ่งบนถนน และไม่ถูกเรียกจับปรับเมื่อตำรวจเห็น เพราะมีความเร็วที่ไม่ได้เทียบเท่ารถจักรยานยนต์ เหมือนมองเห็นเป็นรถจักรยานคันหนึ่งนั่นเอง
ส่วนการคุ้มครองของสกูเตอร์ไฟฟ้า ไม่ได้มีข้อกำหนดใดคุ้มครองทั้งสิ้น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาบนท้องถนน ก็จะไม่สามารถเรียกร้อง หรือขอรับการเยียวยาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังสูงหากต้องการที่จะนำไปใช้สัญจรบนพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เสี่ยงจะเกิดอันตราย
2. ต่างประเทศเป็นอย่างไร ?
ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย มีการกำหนดกฎหมายสกูเตอร์ไฟฟ้า ห้ามวิ่งเกิน 32 กม./ชม. หากวิ่งเกินจะถูกปรับ 250 เหรียญสหรัฐฯ และหากอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องสวมหมวกกันนอค แถมขับขี่ได้เฉพาะบนเลนจักรยานเท่านั้น รวมถึงต้องมีใบอนุญาตขับขี่ แต่สกูเตอร์ไฟฟ้าบ้านเขา ไม่ต้องจดทะเบียน และไม่ถูกนิยามเป็นรถที่มีเครื่องยนต์
ประเทศญี่ปุ่น สกูเตอร์ไฟฟ้าถูกนิยามเป็น รถจักรยานยนต์ เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ทุกคันต้องมีป้ายทะเบียน และผู้ขับต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ถ้าผู้ขับไม่ทำตามจะถูกเปรียบเทียบปรับ และหากทำตามเกณฑ์ข้างต้นครบ แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร จะถูกลงโทษเช่นกัน
ประเทศเกาหลีใต้ สนับสนุนให้ประชาชนใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าในการเดินทาง แต่มีข้อกำหนดว่าผู้ใช้ต้องมีใบขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจร หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็น 100,000 วอน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อลดอุบัติเหตุที่บนท้องถนนที่สกูเตอร์ไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
ประเทศฝรั่งเศส จัดสกูเตอร์ไฟฟ้าในหมวดหมู่ของ PERSONAL LIGHT ELECTIC VEHICLE (PLEV) และหากทำความเร็วไม่เกิน 25 กม./ชม. ก็จะวิ่งบนเลนจักรยานได้ (แต่ล่าสุดเพิ่งออกกฎหมายห้ามวิ่งบนฟุตบาท)
ประเทศ ออสเตรเลีย เมืองเพิร์ธ เปิดให้บริษัทเอกชนทดลองใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 12 เดือน เพราะมองว่าเป็นพลังงานสะอาด ตลอดจนเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง โดยคิดค่าบริการเริ่มต้น 1 ดอลลาร์ ซึ่งผู้ให้บริการได้เตรียมสกูเตอร์ไว้รองรับลูกค้าแล้วประมาณ 250 คัน
3. เลือกสกูเตอร์ไฟฟ้าที่ใช่ ? (ถ้าอยากได้)
ความสูงแฮนด์ : ไปทดลองใช้งานจริงที่ร้านก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเลือกคันที่มีระดับความสูงของแฮนด์พอดีกับความสูงของเรา และปรับความสูงขึ้น/ลงได้หลายระดับ เวลาขับขี่จะได้ไม่ต้องก้ม หรือโก่งหลังมากเกินไป
น้ำหนักและขนาด : น้ำหนัก คือ สเปคหลักที่ต้องพิจารณาเวลาเลือกซื้อสกูเตอร์ไฟฟ้า แนะนำให้เล่นตัวที่น้ำหนักไม่เกิน 10 กก. เพราะยังถือไปมาได้สะดวก รวมถึงตัวบอดีควรมีขนาดกะทัดรัด ไม่เทอะทะ พับแฮนด์แล้วเหลือเป็นแผ่นบาง จัดเก็บได้สะดวก
ระบบช่วงล่าง : จากสภาพถนนในบ้านเรา ที่พื้นผิวไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นต้องมองหาบแรนด์สกูเตอร์ที่ออกแบบช่วงล่างมาอย่างแข็งแรง เพื่อรองรับแรงกระแทกจากน้ำหนักตัวเราให้ได้มากที่สุด
กำลังไฟฟ้า : สกูเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะกับนำมาใช้งานในเมือง ควรขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 250-500 วัตต์ เพราะกำลังไฟเท่านี้เพียงพอต่อการขับขี่ขึ้นเนิน หรือลูกระนาดตามถนนในเมือง ซึ่งมีความชันประมาณ 10-15 องศา
ขนาดล้อ : ควรเลือกคันที่มาพร้อมล้อขนาด 8 นิ้วขึ้นไป เพราะล้อไซซ์นี้สามารถเคลื่อนผ่านหลุมขนาดเล็ก เนิน ลูกระนาด หรือพื้นต่างระดับที่ไม่สูงได้ดี ส่วนล้อขนาด 5-6 นิ้ว จะเหมาะกับการใช้เดินทางในหมู่บ้าน โดยล้อของสกูเตอร์ไฟฟ้านิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภท คือ
- ล้อยาง 100 เปอร์เซนต์ : ทำขึ้นจากยางทั้งหมด มีความทนทาน ไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องยางแบน และไม่ต้องบำรุงรักษา แต่ยางประเภทนี้ จะขับเคลื่อนได้ไม่ลื่นไหลนักในเวลาเร่งรีบ จึงเหมาะกับขับขี่บนพื้นถนนที่ค่อนข้างเรียบ เช่น เดินทางจากบ้านไปปากซอย หรือใช้ขับขี่เล่นในหมู่บ้าน
- ล้อยางแบบเติมลม : ล้อประเภทนี้คล้ายล้อมอเตอร์ไซค์หรือล้อจักรยาน ต้องเติมลม และเชคคุณภาพยางเสมอเพื่อไม่ให้รั่วหรือแบน จุดเด่น คือ ยางเติมลมจะช่วยรองรับแรงกระแทก ทำให้ผู้ขี่ควบคุมสกูเตอร์ได้ดี แม้ขี่ผ่านเนินหิน เนินดินที่ขรุขระ
4. สกูเตอร์ไฟฟ้าเช่า ?
คุณสามารถพบบริการเช่าสกูเตอร์ไฟฟ้าได้ทั่วเมือง โดยเฉพาะนอกสถานีรถไฟฟ้า BTS และหน้าร้านกาแฟ รวมถึงร้านอาหาร โดยสิ่งที่คุณต้องทำคือดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ค้นหาจุดจอดรถสำหรับสกูเตอร์ และสแกนคิวอาร์ โคด (QR CODE) ราคาปกติของสกูเตอร์เหล่านี้เริ่มต้นที่ 20 บาท และเพิ่มขึ้น 1 บาท/นาที
ทั้งนี้ ต้องศึกษารายละเอียด ราคา เงื่อนไขในการเช่าที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพราะร้านบริการ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น การเช่า มีทั้งแบบ รายวัน รายชั่วโมง รายอาทิตย์ รายเดือน และรายปี
อย่างล่าสุด HAUP บริษัทพัฒนาพแลทฟอร์มคาร์แชริงรายแรกของประเทศไทย ที่ขยายธุรกิจสู่กลุ่มยานพาหนะไฟฟ้า นอกจากมีบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV CAR SHARING) ได้เปิดตัวบริการเช่าสกูเตอร์ไฟฟ้า (E-SCOOTER SHARING) โดยขั้นตอนในการเช่า ทำผ่านแอพพลิเคชัน HAUP ได้เลย ค่าบริการเริ่มต้นที่ 30 บาท
5. สกูเตอร์ไฟฟ้าปลอดภัยจริงหรือ ?
สถิติอุบัติเหตุยานพาหนะ 2 ล้อรั้งอับดับ 1 บนท้องถนนเมืองไทย อ้างอิงรายงานจาก GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าประเทศไทยครองแชมพ์ การตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลก นั่นหมายรวมถึงสกูเตอร์ไฟฟ้าที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังนิยมใช้สัญจรในระยะสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจาก LE PARISIEN หนังสือพิมพ์รายวันของประเทศฝรั่งเศสพบว่า ในปี 2017 อัตราการเกิดอุบัติเหตุของสกูเตอร์ไฟฟ้ารวมกับโรลเลอร์สเกทมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 284 คน และมีผู้เสียชีวิต 5 คน โดยตัวเลขดังกล่าวมีอัตราใกล้เคียงกับประเทศสเปน หนึ่งในสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยพวกเขามีอุบัติเหตุจากยานพาหนะดังกล่าวทั้งสิ้น 273 ครั้งในปี 2018
หากข้ามฝั่งไปที่ซอลท์ เลค ซิที เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากสกูเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 161 เปอร์เซนต์ในปี 2018 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 1,500 ครั้ง
JAMA SURGERY หน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัย UNIVERSITY OF CALIFORNIA ทำการเก็บข้อมูลจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผลวิจัยออกมาว่า พบยอดผู้บาดเจ็บจากการใช้งานสกูเตอร์ไฟฟ้าสูงมากขึ้นทุกปี โดยสถิติปี 2018 มีอัตราการบาดเจ็บสูงขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2014 โดยมีอาการบาดเจ็บทั้งศีรษะ, เกิดบาดแผล และรอยฟกช้ำ รวมทั้งมีรายงานพบการหักของกระดูกรวมเกือบ 40,000 ชิ้น โดยช่วงอายุของผู้บาดเจ็บ อยู่ระหว่าง 18-34 ปี และมีรายงานการเสียชีวิตเกินกว่า 12 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
6. อนาคตของพาหนะทางเลือก ?
ไม่นานมานี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้หารือความร่วมมือระหว่างกลุ่มล้อเดียวและกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ผู้ใช้พาหนะทางเลือก จะเป็นระบบที่มาเสริมกับระบบหลัก หรือที่เรียกว่า MICROMOBILITY คือ ความคล่องตัวแบบเล็กที่มาเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ อาจจะขี่จักรยานไปขึ้นรถไฟฟ้า หรือขี่สกูเตอร์ไปตลาด เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำระบบเส้นเลือดฝอยเชื่อมโยง โดยมีแนวทางการพัฒนาบางเส้นทางขึ้นมาก่อน
นอกจากนี้ ยังแนะนำว่าทางเดินริมคลองต่างๆ เป็นจุดเชื่อมที่ดี เพราะมีทางลอดสะพาน ไม่ติดไฟเขียวไฟแดง แต่จะต้องมีบางจุดที่ต้องเพิ่มเส้นทางบ้าง เช่น หน้า มศว. ประสานมิตร เพราะทางยังขาด ซึ่ง กทม. จะต้องทำให้มากขึ้น ความเชื่อมโยงนี้จะทำให้เข้าถึงการเดินทางได้สะดวกขึ้น
“จุดมุ่งหมายหลัก คือ การใช้รถยนต์ให้น้อยลง ให้เกิดความคล่องตัว หรือภาพใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า บวกกับ MICROMOBILITY เส้นเลือดฝอย ได้เครือข่ายนี้ทำให้เราเข้าใจปัญหา สามารถตอบโจทย์ของคนเมืองได้ดีขึ้น เป็นการเดินทางทางเลือกที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่อาจจะเหมาะกับบางคน อย่างน้อยก็ช่วยเสริมกัน และทำให้เมืองสะดวกมากขึ้น”
สรุปได้ว่า สกูเตอร์ไฟฟ้า ยังคงเป็นสีเทาในมุมการขับขี่ในประเทศไทย อาจเพราะด้วยความเร็วที่ทำได้ และขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง ต้องหามาตรการที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานให้มากขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน และผู้ใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งการตรากฎหมายที่ชัดเจนเพื่อดูแลยานพาหนะประเภทนี้ น่าจะเหมาะสมที่สุด ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์ก้ำกึ่งแบบนี้
สกูเตอร์ไฟฟ้า (E-SCOOTER) เป็นยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แบทเตอรีมีความจุกำลังไฟเฉลี่ย 36-48 โวลท์ เมื่อชาร์จไฟเต็มจะขับเคลื่อนได้ไม่ต่ำกว่า 20 กม. ทำความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 25 กม./ชม.
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา