รอบรู้เรื่องรถ
ก่อนซื้อรถ ต้องลองขับ !
เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ได้ไปซื้อรถที่ "โชว์รูม" ในศูนย์การค้าย่านถนนพระราม 3 หลังจากดูราคา รูปร่างภายนอก อุปกรณ์ภายใน เรียบร้อยแล้ว ก็เอ่ยปากขอลองขับ แต่กลับได้รับคำตอบอย่างไม่มีเยื่อใยจากพนักงานขายว่าไม่มีรถให้ลอง ไม่ใช่ยังไม่มีนะครับ แต่สื่ออย่างชัดเจนว่า "ที่นี่ไม่มีการให้ลองขับ อยากซื้อต้องจ่ายเงินค่ามัดจำก่อน คนอื่นที่มาขอซื้อเขาไม่เห็นต้องขอลองขับเหมือนคุณ"
ผมว่ามันเป็นวิธีการที่เลวร้ายมาก และที่สำคัญ คือ ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่หลายๆ แห่งด้วยกันปฏิบัติเช่นนี้ต่อลูกค้า คงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดของผู้ซื้อด้วย เพราะจำนวนไม่น้อย (ที่จริงคือเกินครึ่ง) พอใจที่จะซื้อรถโดยไม่ต้องลองขับ เป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจครับ จึงไม่เห็นความจำเป็น เสร็จแล้วค่อยมาบ่น มาหาวิธีแก้ปัญหาทีหลัง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
เท่าที่ผมลองวิเคราะห์ดู ความผิดพลาดของการเลือกซื้อรถ เริ่มตั้งแต่การตั้งเงื่อนไขข้อแรกๆ แล้ว เพราะแทนที่จะกำหนดคุณสมบัติของรถที่อยากซื้อ แล้วค่อยเลือกดูว่า มีรถอะไรเข้าข่ายบ้าง คนไทยเรากลับเริ่มต้นโดยการเลือก "ยี่ห้อ" ก่อนเลย ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีเหตุผลมารองรับ เพียงแค่ เพื่อนว่าดี พี่ว่าดี คนที่ทำงานบอกว่าดี หรือไม่ก็เห็นโฆษณาบ่อยดี คนซื้อใช้กันเยอะแล้ว ถ้าพ่อหรือแม่หรือใครก็ตามที่ออกเงินให้ บอกว่าดีแล้วไม่ยอมฟังเรา แบบนี้พอรับได้ครับ แต่ถ้าเป็นเงินของเราเองต้องมีเหตุผลที่ดีกว่านี้
พอกำหนด "ยี่ห้อ" ตั้งแต่ต้น ก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกรุ่นใดรุ่นหนึ่งตายตัว เพราะมันเกี่ยวข้องกับราคา ถ้าเป็นรถเก๋งธรรมดา ก็จะเป็นรุ่นใหญ่ กลาง หรือเล็ก บางยี่ห้อก็จะมีแต่รุ่น กลาง กับ เล็ก ถ้าเป็นประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ เอสยูวี รถตู้ หรือ เอมพีวี ก็จะไม่ต้องเลือกรุ่น ทั้งหมดนี้จะถูกจำกัดโดยงบประมาณของผู้ซื้อ เหลือเพียงการเลือกว่าจะเอาแบบอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากหรือน้อยเท่านั้น
วิธีเลือกรถให้เหมาะสมกับการใช้งาน หรือเหมาะสมกับผู้ซื้อ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากพอสมควรครับ โอกาสหน้าจะนำมาลงในคอลัมน์นี้ สิ่งที่ผมต้องการเรียกร้องในคราวนี้ คือ น่าจะมีกฎระเบียบตายตัวไปเลยว่า ผู้ค้ารถใหม่ทุกรายจะต้องมีรถสำหรับให้ลูกค้าทดลองขับ ให้ครบทุกรุ่นที่จำหน่าย ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ ในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ที่จริงแล้วสำนักงานใหญ่เขาอาจมีระเบียบไว้แล้ว แต่ดูแลไม่ทั่วถึง หรือตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ฝ่าฝืนเองก็ได้ แล้วไม่มีสิทธิ์มาอ้างด้วยว่าอย่างไรเสียก็มีการรับประกันคุณภาพ
มันไม่เกี่ยวกันครับ ถ้าเราไปซื้อตู้เย็น หรือเตาไมโครเวฟ เราอาจไม่มีความต้องการลอง เพราะวิธีใช้งานตายตัว ขอเพียงให้อุปกรณ์นั้นทำงานได้ตามปกติ เราอาจเสี่ยงซื้อมาโดยดูเพียงภายนอกว่าไม่มีตำหนิเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า และชื่อเสียงของผู้ผลิตว่าต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาอย่างดีก่อนบรรจุกล่องออกจำหน่าย และยังมีใบรับประกันคุณภาพรองรับอยู่หากมีความบกพร่อง ถ้ากลับมาถึงบ้านแล้วมันเกิดทำงานไม่ได้ตามปกติ ก็แค่เหนื่อยที่จะต้องขนกลับไปส่งซ่อม
แต่รถยนต์แตกต่างกับอุปกรณ์เหล่านี้ครับ เพราะมีตัวเราซึ่งเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกจากประสาทสัมผัสต่างๆ เป็นศูนย์กลางของการใช้งาน เราต้องการทราบว่ารถที่เราต้องการซื้อมีเสียงดังรบกวนหรือไม่ ท่านั่งขับสบายเพียงใด ระบบกันสะเทือนนุ่มนวลถึงระดับความคาดหวังของเราหรือไม่ การเกาะถนนทรงตัวเป็นอย่างไร เร่งความเร็วได้ตามที่เราตั้งความหวังไว้หรือไม่ ให้ความรู้สึกขณะเบรคอย่างไร ทัศนวิสัยรอบด้านดีพอหรือเปล่า พวงมาลัยหนักแรงเกินไป หรือ "เบา" เกินไปหรือเปล่า ฯลฯ
ยกตัวอย่างจริงๆ เลยก็ได้ครับ ผมเคยพบรถที่แป้นคันเร่งอยู่ในตำแหน่งที่ขับแล้วเมื่อยข้อเท้าอย่างมาก ไม่มีทางแก้ไขหรือปรับตัวเราให้คุ้นเคยได้เลยครับ (เฉพาะตัวผม) ถึงจะชอบคุณสมบัติด้านอื่นๆ ผมก็จะไม่มีวันใช้รถรุ่นนี้ครับ อีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ คันนี้ก็ดีแทบทุกด้าน ทั้งเครื่องยนต์ ห้องโดยสาร ช่วงล่าง แต่ความรู้สึกจากพวงมาลัยขณะขับทางตรงแย่มาก เพราะฝืด หนักแรง ไม่มี "เซนเตอร์" ทำให้เราต้องออกแรงบังคับพวงมาลัยอยู่ตลอดเวลาเพียงเพื่อให้รถคันนี้แล่นไปตรงๆ เท่านั้น แบบนี้ผมคงไม่ซื้อมาทรมานตัวเองแน่ เพราะเกินกว่า 90 เปอร์เซนต์ ของเวลาที่เราขับรถเป็นการขับทางตรง
คงมีคนอยากย้อนถามว่าแล้วทำไมรถพวกนี้ยังขายได้ ก็ขายพวกที่ไม่ค่อยรู้สึกอะไรง่ายไงครับ ผมเองยังหาคำตอบไม่ได้ว่า จะถือว่าคนกลุ่มนี้โชคดีหรือโชคร้ายแน่ แต่ถ้าต้องตัดสิน ผมก็ยังเชื่อมั่นว่ารู้ดีกว่าไม่รู้ รู้สึกดีกว่า ไม่รู้สึกครับ นี่ก็เรื่องจริง ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชอบกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเวลาไปไหนด้วยกันและอยากให้ถูกใจละก็ง่ายมากเลย แค่หาร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าให้ ร้านไหนเขาก็ว่าอร่อย ขอให้เป็นราดหน้า ตัดสินกันเองนะครับว่าน่าอิจฉาหรือไม่
ใช้น้ำมันเครื่องได้นานแค่ไหน ?
ผมจำได้ว่ากำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องของรถยนต์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ คือ ทุกๆ 2,000 กม. แล้วอีกราวๆ สิบปีต่อมาก็ขึ้นมาเป็นทุกๆ 3,000 กม. แล้วอีกไม่นานก็กระโดดมาเป็นทุกๆ 5,000 กม. ค่อนข้างแปลกครับ คือ ข้ามเลย 4,000 มาเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลอะไร "กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง"
ที่ผมเอ่ยถึงนี้ หมายถึงกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่พวกเรานิยมกันนะครับ ไม่ได้หมายถึงระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ผู้ผลิตรถเขากำหนด ซึ่งมักจะเป็นระยะทางที่มากกว่า ส่วนที่เรียกว่า "พวกเรานิยม" นั้น ที่จริงน่าจะมาจากความนิยมของบรรดาผู้ขายน้ำมันเครื่อง ที่ได้กำไรจากการขาย หรืออย่างน้อยก็มีผลประโยชน์บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ ช่าง ร้านขายน้ำมันเครื่อง เจ้าของปั๊มน้ำมัน พนักงานเติมน้ำมัน ฯลฯ แล้วพวกเราผู้ใช้รถและผู้จ่ายเงิน ก็รีบเชื่อทันทีอย่างสนิทใจ เพราะวัฒนธรรมและค่านิยมของพวกเรา คือ การเชื่ออะไรต่างๆ ได้มากมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลมารองรับ
ในวงสนทนาเราจะได้ยินแต่คำว่า "เขาว่า" นำหน้าเรื่องราวต่างๆ ในทุกเรื่องทุกวงการ เพราะฉะนั้นความนิยมเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กม. ซึ่งยืนยาวมากว่า 20 ปีแล้ว ก็มาจาก "เขาว่า" นี่แหละครับ ในขณะที่ผู้ผลิตรถผลิตเครื่องยนต์ เขาเลือกระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกันเกิน 10,000 กม. กันหมดแล้วจริงๆ นะครับ หลายคนอาจจะแย้งในใจว่าไม่จริง เพราะในคู่มือประจำรถยังกำหนดให้เปลี่ยนทุกๆ 5,000 กม. อยู่
ผมรับรองได้ว่าเป็นคู่มือภาษาไทยที่ผู้แทนจำหน่ายกำหนดเอาเองและพิมพ์เองทั้งนั้นครับ บาง "ยี่ห้อ" ที่มีคู่มือแท้ภาษาอังกฤษให้มาด้วย ลองเปิดดูได้เลยครับ รับรองว่าเกิน 10,000 กม. ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เราลองมาหาเหตุผลกันว่ามันมีอะไรเป็นแก่นสารซ่อนอยู่ หรือว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ไร้สาระเท่านั้น
ผมคิดว่าความนิยมระยะทางดังกล่าวนี้ เป็นเพียงความรู้สึกแบบอัตวิสัยล้วนๆ คือ เลขสวยดี จำง่าย เป็นครึ่งหนึ่งของ 10,000 พอดี แล้วก็ยึดติดกันมาเรื่อยๆ นานมาก ต้องบอกว่านานเกินไปมาก เพราะเขาพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องกันอยู่ตลอดเวลา และก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะยึดมั่นกันต่อไปอีกนานเพียงใด
คราวนี้มาดูเหตุผลทางตรรกกันบ้างครับ เราทราบกันอยู่แล้วว่า กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่สมควรนั้นไม่มีค่าตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ใช้ คราวนี้อนุโลมว่าคุณภาพอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือน้ำมันเครื่องคุณภาพสูงพอสมควร ที่ศูนย์บริการเลือกใช้ ซึ่งก็ต้องถูกควบคุมคุณภาพโดยผู้ผลิตรถยนต์แน่นอน หรือน้ำมันเครื่องที่ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงมาตรฐานรายใหญ่ทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยยกเว้นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ไว้ก่อนนะครับ ถึงจะมีคุณภาพระดับใกล้เคียงกันที่เราพอจะประเมินได้ ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเหมาะสมก็ยังขึ้นอยู่กับสภาวะที่เครื่องยนต์ของรถเราถูกใช้งานอยู่ดี
ในส่วนนี้ก็พอจะอนุโลมได้อีกครับว่าต่างกันไม่มาก ถ้าไม่นับกลุ่มที่ที่ทำงานห่างจากบ้านไม่ถึง 3 กม. แล้วไม่ชอบขับรถไปทำธุระอื่นหรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งน้ำมันเครื่องจะรับภาระหนักมากกับกลุ่มที่บ้านกับที่ทำงานอยู่คนละจังหวัดและขับรถไปกลับทุกวัน ซึ่งเป็นกรณีที่น้ำมันเครื่องรับภาระน้อยมาก เราก็พอจะอนุโลมได้ว่า สำหรับผู้ใช้รถกลุ่มใหญ่คือเกือบทั้งหมด ที่อยู่อาศัย "ในเมือง" ก็จะมีการใช้งานเครื่องยนต์ของรถในระดับที่ไม่ต่างกันนัก คือมีทั้งช่วงสั้น รถติด ขึ้นทางด่วนทางพิเศษกันบ้าง ขับในเมืองรถติดปานกลางในวันหยุดราชการบ้าง
ABOUT THE AUTHOR
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2566
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ