รายงาน(formula)
ความท้าทายของ HYUNDAI ก้าวใหญ่สู่ยุค EV
เริ่มต้นจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของเกาหลี HYUNDAI เตรียมรับความท้าทายครั้งใหม่กับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่รอการพิสูจน์
2490
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ซุง จู ยุง (CHUNG JU-YUNG) ได้ก่อตั้ง HYUNDAI (ฮันเด) ขึ้นในปี 2490 ภายใต้ชื่อ HYUNDAI ENGINEERING & CONSTRUCTION COMPANY ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จนเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงนั้นรัฐบาลมีโครงการก่อสร้าง บูรณะประเทศหลายโครงการ เช่น สร้างทางด่วน การก่อสร้างท่าเรือ เขื่อน ฯลฯ
2508
HYUNDAI รับงานก่อสร้างเส้นทางในต่างประเทศเป็นครั้งแรก นั่นคือ โครงการสร้างถนนในภาคใต้ของประเทศไทย ช่วงจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส
2510
ก้าวสำคัญของกลุ่ม HYUNDAI คือ การก่อตั้ง HYUNDAI MOTOR COMPANY ในปี 2510 โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในช่วงนั้น ที่มองว่าการนำเข้ารถ ดีกว่าการประกอบรถในประเทศ
2511
ในช่วงแรก HYUNDAI MOTOR ได้รับความร่วมมือจากบริษัท FORD MOTOR COMPANY เป็นอย่างดี ทั้งด้านการผลิต และตัวสินค้า โดย “คอร์ทินา” (CORTINA) คือ รถยนต์ HYUNDAI คันแรกที่ปล่อยสู่ตลาดในปี 2511 โดยอาศัยพื้นฐานจากรถ FORD CORTINA (ฟอร์ด คอร์ทินา)
2517
HYUNDAI ตัดสินใจผลิตรถยนต์ด้วยตัวเอง แต่ยังคงใช้ส่วนประกอบจาก FORD และเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ของ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) แทน โดยรถรุ่นแรกที่ HYUNDAI ผลิตออกมา คือ รุ่น PONY (โพนี) ซึ่งขายดีมากในเกาหลีใต้
2519
HYUNDAI ส่งออก PONY ไปยังประเทศเอกวาดอร์ เป็นการส่งออกรถยนต์เพื่อทำตลาดครั้งแรกของรถจากเกาหลี รวมถึงส่งไปขายในกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแคนาดา ในเวลาต่อมา โดย PONY ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการทำตลาดในแคนาดา
2529
HYUNDAI สามารถส่งรถเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาสำเร็จ นำทัพโดย HYUNDAI EXCEL (ฮันเด เอกซ์เซล) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มียอดขาย 100,000 คัน ในระยะเวลาเพียง 7 เดือนแรกของการจำหน่าย รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเป็นผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมแห่งปี ของนิตยสาร FORTUNE
2531
เป้าหมายของ HYUNDAI คือ การพัฒนารถยนต์ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่ง HYUNDAI เริ่มต้นจากรุ่น SONATA (โซนาตา) รถยนต์ขนาดกลาง ที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ TOYOTA CAMRY (โตโยตา แคมรี) และ HONDA ACCORD (ฮอนดา แอคคอร์ด)
2534
ความสำเร็จครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ HYUNDAI สามารถพัฒนาเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ และระบบส่งกำลังด้วยเทคโนโยลีของตนเองสำเร็จเป็นครั้งแรก นำมาสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
2541-2542
HYUNDAI เริ่มปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความเป็นบแรนด์ระดับโลกมากขึ้น รวมถึงการก้าวลงจากตำแหน่งของผู้ก่อตั้ง ชุง จู ยุง พร้อมส่งไม้ต่อให้ทายาทคือ “ชุง มุง กู” (CHUNG MONG KOO)
2544
ซุง จู ยุง เสียชีวิตในวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2544
2549
ก่อตั้งบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด จากการร่วมทุนระหว่าง SOJITZ CORPORATION ซึ่งเป็นบริษัททเรดิงชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท อาปิโกไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียว สำหรับรถยนต์ HYUNDAI ในประเทศไทย
2554-2558
HYUNDAI MOTOR ขึ้นมาเป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ระดับโลกเต็มตัว ด้วยยอดขายกว่า 5,000 คัน ในปี 2554 ติด 1 ใน 5 กลุ่มบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในปี 2558 ตั้งบแรนด์ GENESIS (เจเนซิส) เพื่อเจาะตลาดรถหรู
2565
HYUNDAI GROUP ร่วมเป็นผู้สนับสนุน FIFA WORLD CUP 2022 ที่จัดขึ้นในประเทศกาตาร์
2566
HYUNDAI ประเทศไทย กำลังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยบริษัทแม่จากเกาหลีใต้จะเข้ามาดำเนินการเอง ในชื่อบริษัท HYUNDAI MOBILITY (THAILAND) ที่จะเน้นรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีแผนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ HYUNDAI ในประเทศไทย ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์สันดาป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566)
2568
ช่วงที่ผ่านมา HYUNDAI เปิดตัวพแลทฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้า E-GMP (ELECTRIC-GLOBAL MODULAR PLATFORM) และเตรียมใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า 23 รุ่น พร้อมตั้งเป้า 1 ล้านคันภายในปี 2568 ซึ่งจะเป็นสัดส่วน 20 % ของยอดขายยานยนต์ทั้งหมด
2573
HYUNDAI ประกาศแนวทางพัฒนารถ EV ในอนาคต ที่ครบวงจรตั้งแต่พแลทฟอร์ม ไปจนถึงแบทเตอรี และมอเตอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายรถ EV ที่ตั้งไว้สูงถึง 1.87 ล้านคัน ในปี 2030 จากรถจำนวน 17 รุ่น ซึ่งแบ่งเป็น HYUNDAI 11 รุ่น และ GENESIS 6 รุ่น
HYUNDAI ในประเทศไทย
2535 เปิดบแรนด์ HYUNDAI ในประเทศไทยครั้งแรก โดยบริษัท ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ พระนคร ยนตรการฯ พร้อมกับการเปิดตัว HYUNDAI SONATA (โซนาตา) HYUNDAI ELANTRA (เอลันตรา) และ HYUNDAI EXCEL (เอกซ์เซล) ในงาน “มหกรรมรถยนต์ ‘93” ส่วนถัดมาก็มีรุ่นที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็ คือ HYUNDAI SCOUPE GT (สกูเป จีที) หรือ LS TURBO ในสหรัฐอเมริกา เป็นความพยายามครั้งแรกของ HYUNDAI ในการสร้างรถสปอร์ทคูเป เทอร์โบชาร์เจอร์
HYUNDAI SONATA ซีดานขนาดกลางเวอร์ชันแรกที่จำหน่ายในประเทศไทย ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร 4G63 ของ MITSUBISHI MOTORS ซึ่งเกิดจาก HYUNDAI แลกเปลี่ยนอะไหล่กับ MITSUBISHI โดยเวอร์ชันนี้ขายในระยะเวลาเพียง 1 ปี และเปลี่ยนโฉมตามตลาดโลกในปี 2536
HYUNDAI ELANTRA คอมแพคท์ซีดาน ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1.5 ,1.6 และ 1.8 ลิตร โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ร่วมกับ MITSUBISHI MOTORS ระบบเกียร์จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
HYUNDAI EXCEL ซีดานขนาดซับคอมแพคท์ (SUBCOMPACT เป็นการจัดประเภทในอเมริกาเหนือ สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าคอมแพคท์ มันกว้างเทียบเท่ากับการจำแนกประเภท B-SEGMENT ในยุโรป, SUPERMINI ในอังกฤษ) ที่นำมาขาย เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 1.3 และ 1.5 ลิตร ตัวถังซีดาน 4 ประตู
HYUNDAI S COUPE GT เป็นเวอร์ชัน 2 ที่ผ่านการปรับโฉม และจัดหนักด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.5 ลิตร ALPHA TURBO กำลัง 115 แรงม้า ที่ 5,500 รตน. และแรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม. (167 นิวตัน-เมตร) ที่ 4,500 รตน. ขับเคลื่อนล้อหน้า
2538 เปิดตัว HYUNDAI ELANTRA รุ่นที่ 2 มีทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และสเตชันแวกอน 5 ประตู รุ่นนี้ถือว่าเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย โดยมียอดขายหลายพันคัน HYUNDAI EXCEL ถูกแทนที่ด้วย HYUNDAI ACCENT (แอคเซนท์) ส่วนรุ่นคูเป HYUNDAI SCOOP (สกูพ) ที่เรียกว่า HYUNDAI SCOUPE ถูกแทนที่ด้วย HYUNDAI COUPE (คูเป) หรือที่เรารู้จักในชื่อ HYUNDAI TIBURON (ติบูรน) ในปี 2539
HYUNDAI TIBURON ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบแมคเฟอร์สันสตรัทรุ่นแรก ที่พัฒนาร่วมกับผู้ชนะการแข่งขัน PIKES PEAK INTERNATIONAL HILL CLIMB ครั้งที่ 75
HYUNDAI ELANTRA รุ่นที่ 2 สเตชันแวกอน 5 ประตู หรือที่เรียกว่า TOURING WAGON ซึ่งเปิดตัวตามหลังรุ่นซีดาน 4 ประตู เครื่องยนต์ 1.6 และ 1.8 ลิตร
เมื่อ HYUNDAI MOTORS ไม่ต่อสัญญากับ ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ฯ ทำให้การทำตลาดรถยนต์ทุกรุ่นของ HYUNDAI ในประเทศไทยต้องยุติลงไปด้วย และเลิกขายในปี 2545 ก่อนจะกลับมาแนะนำรถยนต์ HYUNDAI อีกครั้งในปี 2550 โดยรถยนต์รุ่นสุดท้ายในยุคของ พระนคร ยนตรการฯ คือ HYUNDAI SANTA FE (ซันตา เฟ) เปิดตัวเมื่อปี 2544
HYUNDAI SANTA FE รถยนต์รุ่นสุดท้ายในยุคของ พระนคร ยนตรการฯ มีตัวเลือกเครื่องยนต์เพียงตัวเลือกเดียว คือ เบนซิน วี 6 สูบ DELTA ขนาดความจุ 2.7 ลิตร จับคู่กับระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และ 4WD แบบเดียวกับที่จำหน่ายในออสเตรเลีย
2549 ก่อตั้ง บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
2550 เปิดตัว ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ สู่สาธารณะครั้งแรก และเปิดตัวรถใหม่ HYUNDAI COUPE หรือ HYUNDAI TIBURON ใหม่ HYUNDAI SONATA และ HYUNDAI SANTA FE เพื่อจำหน่ายเป็นครั้งแรก
HYUNDAI COUPE ใหม่ รถ 2 ประตูคูเป 2+2 ที่นั่ง รุ่นที่ 3 ในตระกูล COUPE ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 143 แรงม้า ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
นอกจาก HYUNDAI COUPE แล้ว ยังมีเอสยูวีคันหรู HYUNDAI SANTA FE เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล ไดเรคท์อินเจคชัน (CRDI) 2.2 ลิตร 150 แรงม้า
2551 ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ เปิดตัว HYUNDAI H-1 (เอช-1) รถตู้ที่กลายเป็นกำลังหลักที่ทำให้ HYUNDAI เติบโตในตลาดบ้านเรา
HYUNDAI H-1 รถตู้แบบ 12 ที่นั่ง เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ เทอร์โบ อินเตอร์คูเลอร์ ความจุ 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่ 3,600 รตน. แรงบิดสูงสุด 45.0 กก.-ม. ที่ 2,000-2,250 รตน. เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
2553 เปิดตัวรถประกอบในประเทศอินโดนีเซียรุ่นแรก GRAND STAREX (กแรนด์ สตาเรกซ์)
2555 เปิดตัว HYUNDAI ELANTRA รุ่นที่ 5 แต่ถือเป็นโมเดลที่ 3 ในประเทศไทย โดยข้ามรุ่นที่ 3 และ 4 มีเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ทั้งแบบเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ ในความจริงแล้ว ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ ตั้งใจจะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2554 แต่ต้องเลื่อนไปเพราะน้ำท่วมใหญ่
HYUNDAI ELANTRA รถขนาดคอมแพคท์ 4 ประตู ที่ได้รับการออกแบบในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ มีฐานล้อยาวแบบสปอร์ทรูปทรงคูเป เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
2556 เปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนวิภาวดีรังสิต และเปิดตัว HYUNDAI VELOSTER (เวโลสเตอร์) เทอร์โบ ใหม่ รถสปอร์ทคูเป แบบบวกประตูด้านหลังด้านผู้โดยสารอีก 1 บาน เพื่อเข้าถึงที่นั่งด้านหลังได้ง่ายขึ้น
HYUNDAI VELOSTER รถสปอร์ทคูเป แบบบวกประตูด้านหลัง เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 4 สูบแถวเรียง ขนาด 1.6 ลิตร กำลังสูงสุด 201 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 27.0 กก.-ม. หรือ 195 ฟุตปอนด์ ที่ 1,500-4,500 รตน. เกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ (DCT) ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
2557 เปิดตัวรถ HYUNDAI ประกอบในประเทศมาเลเซียรุ่นแรก ELANTRA และเปิดตัวรุ่น ELANTRA SPORT ที่ได้รับการอัพเดทจาก GLS เปลี่ยนเป็น SE
2559 เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ H-1/GRAND STAREX MC16 ในปีนี้ HYUNDAI มียอดขายสะสมเกิน 30,000 คัน
2561 เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า HYUNDAI คันแรกในไทย HYUNDAI IONIQ ELECTRIC (ไอโอนิก อีเลคทริค) ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ
HYUNDAI IONIQ ELECTRIC ซีดานติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 88 กิโลวัตต์/120 แรงม้า ระบบเกียร์จังหวะเดียว และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ ขนาด 28 กิโลวัตต์ชั่วโมง เมื่อประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถพลังไฟฟ้าแบบนี้จะวิ่งได้ไกลกว่า 250 กม./ชม. และสามารถทำความเร็วสูงสุด 165 กม./ชม.
2562 เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ H-1/GRAND STAREX MC20 จำนวนที่นั่งภายในห้องโดยสารยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยน ในรุ่น GRAND STAREX สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่ง ในขณะที่รุ่น H-1 สามารถรองรับได้ถึง 11 ที่นั่ง และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า KONA ELECTRIC (โคนา อีเลคทริค)
HYUNDAI H-1/GRAND STAREX รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 2.5 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว CRDI พร้อมเทอร์โบแปรผัน VGT อินเตอร์คูเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่ 3,600 รตน. แรงบิดสูงสุด 45.0 กก.-ม. (441 นิวตัน-เมตร) จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมระบบ SEQUENTIAL SHIFT
HYUNDAI KONA ELECTRIC รถอเนกประสงค์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 204 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.3 กก.-ม. อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.6 วินาที และความเร็วสูงสุด 167 กม./ชม. โดยมีแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ ที่ให้พลังงานยาว 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้ระยะทาง 482 กม. และขนาดมาตรฐาน 39.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้ระยะทาง 312 กม.
2564 เปิดตัว HYUNDAI STARIA (ฮันเด สตารีอา) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
HYUNDAI STARIA เป็นรถเอมพีวี 11 ที่นั่ง ออกแบบล้ำสมัย เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.2 ลิตร 177 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 44.0 กก.-ม. และเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ มีระบบช่วยหยุดรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ระบบเตือน และช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่อมีรถในจุดอับสายตา
2565 เปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุด HYUNDAI CRETA ( กเรตา) รถยนต์รุ่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นรถอเนกประสงค์รุ่นแรกที่ HYUNDAI นำมาทำตลาด แต่ยังเป็นรุ่นแรกที่ประกอบจากโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย
HYUNDAI CRETA มากับขุมพลังเครื่องยนต์ SMARTSTREAM ขนาด 1.5 ลิตร 115 แรงม้า ที่ 6,300 รตน. เกียร์อัตโนมัติ IVT (INTELLIGENT VARIABLE TRANSMISSION) ขับเคลื่อนล้อหน้า โดยมีโหมดขับขี่ให้เลือกถึง 6 โหมดด้วยกัน ได้แก่ ECO, COMFORT, SMART, SPORT, SAND และ MUD
2566 รถรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวในเมืองไทย HYUNDAI STARGAZER (ฮันเด สตาร์เกเซอร์) รถอเนกประสงค์ขนาดคอมแพคท์ พร้อมห้องโดยสารแบบ 6 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศอินโดนีเซีย หน้าตาคล้ายกับ HYUNDAI STARIA ย่อส่วน และการเผยโฉมเป็นครั้งแรกในอาเซียน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า IONIQ 6 (ไอโอนิก 6) ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เรารู้ว่า HYUNDAI คือ หนึ่งในผู้ผลิตรถไฟฟ้า
HYUNDAI STARGAZER เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร MPI ให้กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รตน. แรงบิดสูงสุด 14.7 กก.-ม. (144 นิวตัน-เมตร) ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ IVT (CVT) ขับเคลื่อนล้อหน้า
IONIQ 6 สร้างขึ้นบนพแลทฟอร์ม E-GMP ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ IONIQ 6 มาพร้อมกับเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่คิดค้นจากด้วยการคำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ห้องโดยสารที่กว้างขวาง นอกจากนี้ ระยะทางขับขี่ยังมากถึง 614 กม./การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง
กิมจิคาร์ในโลกยานยนต์ กอดคอกันมา กอดคอกันไป
ก่อนที่จะไปลงลึกในการก่อเกิดของ K-CAR ต้องรู้สภาพอุตสาหกรรมของเกาหลีเสียก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ในเกาหลีใต้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และอินเดีย มีบางปีเหมือนกันที่เกาหลีใต้เบียดอินเดียขึ้นเป็นเบอร์ 4 ของโลก ประวัติศาสตร์ของรถยนต์เกาหลีน่าสนใจตรงที่ค่ายเกาหลี คือ ตัวจริงเสียงจริงที่สร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาจากศูนย์ จนสำเร็จในวันนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ของเกาหลี เริ่มแรกเป็นเพียงการนำชิ้นส่วนจากบริษัทต่างประเทศมาประกอบ แต่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ยอดผลิตเคยทำได้ 4.7 ล้านคัน ปี 2564 เกาหลีใต้ผลิต 3,462,404 คัน อุตสาหกรรมรถยนต์เกาหลีใต้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวแข่งขันกับยานยนต์รายใหญ่ แต่รถเกาหลีใต้ยังมีความเด่นในด้านการออกแบบ ประสิทธิภาพ และการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้
บแรนด์รถยนต์เกาหลีที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ HYUNDAI (ฮันเด), KIA (เกีย), DAEWOO (แดวู), SSANGYONG (ซังยง), SAMSUNG (ซัมซุง), GENESIS (เจเนซิส) ในเครือ HYUNDAI, SPIRRA (ซูเพอร์คาร์) และ PROTO MOTORS (ผู้ผลิตรถลีมูซีนแบบเปิดประทุน และซูเพอร์คาร์) รถที่มีบทบาทโดดเด่นในอุตสาหกรรมของเกาหลี มีเพียง 4 บแรนด์เท่านั้น คือ HYUNDAI, KIA, DAEWOO, SSANGYONG และ SAMSUNG
ประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลี เริ่มต้นขึ้นจากนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเอง เพื่อเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในปี 2505 รัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ และออกพระราชบัญญัติคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่งเริ่มต้น หลักการ คือ ห้ามต่างชาติประกอบกิจการรถยนต์ในเกาหลี ยกเว้นการร่วมทุนกับนักธุรกิจเกาหลี
ในอุตสาหกรรมรถยนต์เกาหลี HYUNDAI ดูแข็งแกร่ง และก้าวหน้ามากที่สุดเพราะเงินทุนมหาศาลจากธุรกิจดั้งเดิมของ HYUNDAI GROUP ที่มีอุตสาหกรรมหนักแขนงต่างๆ สิ่งที่รถเกาหลีพยายามทำในยุคการสร้างตัว นั่นคือ หาเทคโนโลยีของตัวเองไปพร้อมๆ กับการส่งออกรถไปตีตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งตลาดแห่งนี้เป็นเหมือนแหล่งชุบตัวของบแรนด์ หากประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐอเมริกา การส่งออกไปทั่วโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก โมเดลนี้ญี่ปุ่นเคยใช้ และเวลานี้รถจีนก็ใช้อยู่
HYUNDAI ก้าวแรก ก้าวเร็วในสยาม
HYUNDAI เข้าสู่ตลาดประเทศไทย เพราะมองว่าตลาดเอเชียแปซิฟิคยอดขายรถต่างเติบโต เกาหลีต้องการมีส่วนแบ่งตลาด หลังจากที่ส่งรถเข้าไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำเร็จแล้ว
HYUNDAI เข้ามาจำหน่ายครั้งแรกในรูปแบบรถ CBU (รถสำเร็จรูป) โดยบริษัท ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ จำกัด บริษัทในเครือ พระนคร ยนตรการฯ (PNA) โดยมี บันเทิง จึงสงวนพรสุข เป็นประธานกรรมการ และธวัชชัย จึงสงวนพรสุข เป็นกรรมการผู้จัดการ PNA เป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่มีความหลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ซึ่งโรงงานของ PNA มีประวัติรับจ้างประกอบรถบแรนด์ต่างๆ มามากกว่า 15 ยี่ห้อ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน การนำเข้ารถยนต์ และการจัดจำหน่ายรถยนต์ สินเชื่อรถยนต์ หรือแม้แต่การให้เช่าโชว์รูม PNA นั้นเป็นที่รู้จักกันในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บแรนด์สำคัญๆ เช่น DAIHATSU (ไดฮัทสุ), OPEL (โอเพล), HOLDEN (โฮลเดน), CHEVROLET (เชฟโรเลต์) (อเมริกาเหนือ)
ปี 2534 รัฐบาลไทย โดย อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ได้เปิดเสรีรถยนต์ ทำให้ภาษีนำเข้ารถสำเร็จรูปซึ่งเคยเป็นกำแพงปกป้องอุตสาหกรรมทารกของไทยได้ถูกทะลายลง และเป็นโอกาสของบแรนด์รถยนต์หน้าใหม่ สามารถส่งรถสำเร็จรูปเข้ามาขายได้โดยไม่ต้องเสียเปรียบทางด้านภาษี รถในยุคนั้นที่ไหลบ่าเข้ามาทำตลาดเมืองไทย เช่น CHRYSLER (คไรสเลอร์), JEEP (จีพ), AUDI (เอาดี), VOLKSWAGEN (โฟล์คสวาเกน), FORD (ฟอร์ด), FIAT (เฟียต), ALFA ROMEO (อัลฟา โรเมโอ), SKODA (สโกดา), SEAT (เซอัต), KIA, HYUNDAI, DAEWOO, SSANGYONG
ญี่ปุ่นพลาดเปิดช่องเกาหลี
รถอื่นๆ ที่เข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นตลาดระดับบน ไม่มีค่ายไหนเลยที่ลุยตลาดล่างที่ญี่ปุ่นครองตลาดอยู่เกือบ 90 % ยกเว้น HYUNDAI PNA ได้สิทธิ์จำหน่าย HYUNDAI เป็นผลมาจากการฟอร์มทีมงานด้วยความพร้อมเต็มที่ของ PNA อย่างไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ แสดงความตั้งใจ จริงจัง ให้เกาหลีเห็น เพราะในเวลานั้นต้องบอกว่า ใครที่ทำงานหนักชนิดบ้าคลั่ง เคมีจะตรงกับเกาหลีมากที่สุด
“ในการเจรจาต่อรองตัวเชื่อมระหว่าง PNA กับ HYUNDAI MOTOR ทำผ่านคอนเนคชันที่ออสเตรเลีย ซึ่ง PNA นั้นเคยนำเข้ารถจากออสเตรเลียมาขายเมืองไทย”
“แน่นอนว่า HYUNDAI บแรนด์ใหม่ คนไทยไม่รู้จัก แถมเป็นบแรนด์เกาหลีนอกจากจะต้องสอบให้ผ่านเรื่องคุณภาพรถแล้ว หัวใจสำคัญ คือ อะไหล่ และบริการที่เป็นจุดแข็งของญี่ปุ่น HYUNDAI ต้องผ่านจุดสำคัญนี้ไปให้ได้”
มีการดึงทีมอะไหล่ และบริการหลังการขายจาก HONDA (ฮอนดา) และ VOLVO (โวลโว) ซึ่ง HONDA ได้ชื่อว่ามีบริการหลังการขายเทพที่สุด ชนิดล้างรถทุกคันที่เข้าศูนย์บริการ ส่วนทีมอะไหล่ดึงตัวจาก VOLVO เพราะงานอะไหล่ไม่มีใครดีไปกว่า VOLVO อีกแล้ว
“เวลานั้น เราคิดว่าญี่ปุ่นแข็งแกร่ง แต่เขาก็ยังมีจุดอ่อน เพราะว่ารถญี่ปุ่นยังใช้ระบบจ่ายน้ำมันแบบคาบูเรเตอร์ในตลาด มีแต่รถ BMW (บีเอมดับเบิลยู), MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) หรือรถระดับพรีเมียมที่ใช้ระบบหัวฉีด ขณะที่ HYUNDAI EXCEL ใช้ระบบหัวฉีดดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ เราจึงใช้จุดที่ว่ารถเกาหลีใช้เทคโนลียีระดับสูง เป็นจุดขาย นอกจากนี้ คนไทยยุคนั้นมีความเชื่อว่ารถยนต์ CBU หรือรถยนต์ประกอบนอก คุณภาพดีกว่า รถยนต์ CKD หรือรถยนต์ประกอบในประเทศ”
ส่วนญี่ปุ่นยังปิดหูปิดตาคนไทยด้วยคำว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมจะใช้ระบบหัวฉีด อ้างคุณภาพน้ำมันบ้าง อ้างว่าถ้าเสีย ซ่อมแล้วค่าใช้จ่ายสูงบ้าง การขายรถก็แทบไม่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ แต่ HYUNDAI จัดเต็มอุปกรณ์ต่างๆ ครบ ไม่ว่ากระจกไฟฟ้า เซนทรัลลอค ในขณะที่รถญี่ปุ่นระดับราคาเดียวกันไม่ให้อะไรเลย ผมคิดว่าญี่ปุ่นชะล่าใจ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ทดลองขับรถ ซึ่งการตลาดแบบให้ลูกค้าทดลองขับนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้”
ความสำเร็จของ HYUNDAI ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการตั้งดีเลอร์ได้เร็วในระยะเวลา 2 ปี HYUNDAI สามารถตั้งดีเลอร์ได้ถึง 70 แห่ง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า และนอกจากนี้ การส่งมอบรถก็ทำได้รวดเร็ว ซึ่งสมัยนั้นยอดจอง 4,000 คัน ที่รับออร์เดอร์มา คือ เยอะมากหากเทียบกับเวลานี้
การทำงานหนัก 5 ปี ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้จำหน่ายรถเก๋งอันดับ 6 ของประเทศได้ จนกระทั่งมีจำนวนการขายมากพอจึงมีการประกอบรถ CKD ของ HYUNDAI ขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาของ HYUNDAI ครั้งนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เพราะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ค่ายญี่ปุ่นปรับตัวหันมาติดตั้งระบบหัวฉีดในเครื่องยนต์ และเพิ่มออพชันต่างๆ รวมถึงระบบความปลอดภัย
จุดหักเหของ HYUNDAI นั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ เนื่องจาก วิกฤตการเงินในเอเชีย ปี 2540 เกิดการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมทางการตลาดของ HYUNDAI ในไทยเปลี่ยนไป รถญี่ปุ่นซึ่งอยู่นานกว่า แสดงความแข็งแรง ต้านลมได้แรงกว่า เกาหลีเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานสู้ไม่ไหว ทั้งความแข็งแรง ความชำนาญทางเทคนิค PNA เวลานั้น มีทางเลือก 2 ทาง คือ ยืนสู้ท่ามกลางความพลิกผัน หรือเลือกที่จะปล่อยมือซึ่งสุดท้าย PNA เลือกปล่อยมือด้วยภาพที่ไม่สวยนัก
HYUNDAI ยุคใหม่
ดีเลอร์ที่เคยร่วมลงทุนทำโชว์รูมกับ PNA ต้องทิ้งโชว์รูมให้ซบเซารกร้าง บ้างก็ย้ายไปขายบแรนด์อื่นๆ จนกระทั่งมีคนนำ HYUNDAI กลับมาอีกครั้ง ด้วยการจัดการของ “เย็บ ซู ชวน” ชาวมาเลเซีย โดยร่วมทุนกับญี่ปุ่น ทำตลาดภายใต้ชื่อ บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ HMTH (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549)
ถือเป็นยุคที่ 2 สำหรับรถยนต์ HYUNDAI แม้จะใช้ชื่อว่า HYUNDAI MOTOR THAILAND แต่โครงสร้างการถือหุ้น HYUNDAI MOTOR เกาหลี ไม่ได้ถือหุ้นด้วย HYUNDAI MOTOR THAILAND เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง SOJITZ CORPORATION ซึ่งเป็นบริษัททเรดิง ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท อาปิโก้ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของ เย็บ ซู ชวน
การกลับมาทำตลาดไทยอีกครั้ง HYUNDAI ต้องแบกภาระภาษีรถนำเข้าเพราะรถทั้งหมดเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูป (CBU) ซึ่งแน่นอนมีภาระภาษีที่สูง HYUNDAI เลือกเล่นในตลาดรถเอมพีวี ที่มีภาระภาษีต่ำกว่าการนำเข้ารถเก๋ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี
จนถึงเวลานี้ เป็นเวลา 17 ปีที่ HMTH รับผิดชอบดูแลการขาย การตลาด และการบริการหลังการขายของบแรนด์ HYUNDAI มาโดยตลอด ในปี 2564 HMTH มีรายได้รวม 5,285 ล้านบาท มีกำไร 499 ล้านบาท และ 1 มีนาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายที่หมดสัญญา ส่วนผลิตภัณฑ์ HYUNDAI จะได้รับการดูแลต่อโดย บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 601 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 388 อาคาร EXCHANGE TOWER ชั้นที่ 18 ยูนิท 1801, 1802, 1804 ถนนสุขุมวิท แขวง/เขตคลองเตย HYUNDAI ยุคใหม่ในมือบริษัทแม่ เป้าหมาย คือ การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการนำเข้ารถ และการสนับสนุนของรัฐบาลไทย บแรนด์ HYUNDAI จากนี้ไปจะเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
DAEWOO ไปแล้วไม่กลับมา
สำหรับ DAEWOO ที่เกาหลีนั้น DAEWOO ไม่แข็งขันเท่า HYUNDAI ด้วยเวลานั้น DAEWOO ถูก GM สหรัฐอเมริกาถือหุ้นใหญ่ ซึ่งการออกสู่ตลาดต่างประเทศก็เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ DAEWOO ในเมืองไทย ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะรถแทกซี โดยบริษัท มอเตอร์ แอนด์ ลีเซ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าอิสระ ที่มีสำนักงานอยู่ฝั่งธนบุรี นำเข้ารถ DAEWOO RACER (เรเซอร์) ซึ่งมีหน้าตาเหมือน OPEL CADECK (คาเดค) แท้ๆ มาจำหน่ายเป็นลอท จนกระทั่ง บริษัท ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ จำกัด ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ฯ เกิดจากการร่วมทุนของนักลงทุนโรงทอผ้า กับนายทุนใหญ่ตระกูลบุญวิสุทธิ์ คือ บุญเลิศ บุญวิสุทธิ์ ดีเลอร์ผู้จำหน่าย TOYOTA (โตโยตา) รายใหญ่ และรถยนต์อีกหลายยี่ห้อ แถมยังเป็นอดีตตัวแทนจำหน่าย RENAULT (เรอโนลต์) ในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเวลานั้นเสี่ยบุญเลิศไม่ต้องการออกหน้า เพราะว่าไม่ต้องการขัดแย้งกับรถยี่ห้ออื่นๆ ที่ตัวเองบริหารอยู่
สำนักงานใหญ่แห่งแรกของ ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ฯ เริ่มต้นที่ถนนรามคำแหง ก่อนจะขยับขยายไปอยู่ที่โชว์รูม RENAULT เก่า ถนนพระราม 9 ตัดใหม่ รถรุ่นแรก คือ DAEWOO FANTASY (แฟนตาซี) มีแบบตัวถัง 3 ประตู และ 5 ประตู จากนั้นก็นำเข้ารุ่น NEXIA (เนกเซีย) และมีรถใหญ่รุ่น ESPRERO (เอสเปรโร) เครื่อง 1.8 และ 2.0 ลิตร จากนั้นมีรุ่น NUBIRA (นูบิรา) ซึ่ง DAEWOO เริ่มมาใช้ออฟฟิศ RENAULT เก่า ถนนพระราม 9 แล้ว มีรถเข้ามาทดลองตลาดประมาณ 10 คัน ถือเป็นรถรุ่นสุดท้ายก่อนจะเลิกกิจการ
DAEWOO เข้ามาวางกลยุทธ์ “ราคาสมเหตุสมผล” หรือราคาค่อนข้างต่ำ DAEWOO เคยมีแผนจะประกอบรถพวงมาลัยขวาในไทย โดยมีการเตรียมพื้นที่โรงงานทอผ้าไว้ก่อนสร้างโรงงงาน ยอดขายของ DAEWOO มีการตอบรับที่ดี ยอดขายไต่ระดับมาตั้งแต่ 1,000 คัน/ปี จนถึง 5,000 คัน/ปี รวม แล้ว DAEWOO มีประชากรรถในตลาดเมืองไทยประมาณ 20,000 คันเศษ ด้วยปัจจัยจากต่างประเทศ ที่ไม่สามารถซัพพลายรถมาเมืองไทยได้ และ DAEWOO บริษัทแม่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ DAEWOO จึงไม่มีโอกาสประกอบรถตามแผน และไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยอีกเลย
DAEWOO ภาคอวตาร
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่ศึกษาติดตาม แม้ชื่อ DAEWOO ไม่กลับมา แต่รถนั้นไม่ได้หายไปไหน DAEWOO ภาคอวตาร หรือภาค 2 ของ DAEWOO ในไทยนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาของรถยนต์ DAEWOO ภาคพิสดาร เพราะเราเห็นรถที่มีหน้าตาเหมือน DAEWOO เข้ามาทำตลาดไทย ในนาม CHEVROLET เพราะเวลานั้น GM เข้าถือหุ้น DAEWOO MOTOR และ CHEVROLET ที่เข้ามาเปิดตลาดไทยก็นำเอารถซึ่ง ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ฯ เคยทำการศึกษา และวางแผนการนำเข้าไว้ มาทำตลาดต่อในชื่อของตัวเองหลายๆ รุ่นนั่นเอง
ปฐมบทของ KIA เริ่มต้นที่พวงมาลัยซ้าย
รถยนต์ KIA ปรากฏตัวครั้งแรกที่เมืองไทยกับ บริษัท กมลสุโกศล จำกัด ผู้แทนจำหน่าย MAZDA (มาซดา) แห่งยุค ต้องย้อนไปถึงความสัมพันธ์ ในเกาหลี ค่าย KIA, FORD และ MAZDA ถือเป็นพันธมิตรกัน มีการซื้อเทคโนโลยี MAZDA มาพัฒนารถรุ่นต่างๆ ซึ่งรถยนต์ KIA MASTER (มาสเตอร์) จึงถูกนำเข้ามาจำหน่ายในไทยเป็นครั้งแรก โดยเป็นรถกระบะครึ่งตัน เช่นเดียวกับ MAZDA FAMILIA (แฟมิเลีย) ข้อแตกต่างระหว่าง KIA MASTER กับกระบะ MAZDA คือ KIA MASTER เป็นกระบะพวงมาลัยซ้าย MAZDA เป็นพวงมาลัยขวา กมลสุโกศลฯ นำมาทดลองตลาด และวางราคาต่ำกว่ากระบะ MAZDA ซึ่งก็ขายได้ไม่กี่ 10 คัน ด้วยเหตุผลที่คนซื้อก็งง ยกเว้นแต่คนที่รับได้ในการขับรถพวงมาลัยซ้าย ประวัติศาสตร์ยานยนต์ไทยจึงจารึกไว้ว่า KIA คันแรกจากแดนโสมบนแผ่นดินสยาม คือ รถกระบะครึ่งตันพวงมาลัยซ้าย สำหรับ KIA MASTER เป็นรถเก่ามือสองยาก เพราะขึ้นแท่นรถคลาสสิค
บแรนด์ KIA นั้นรับรู้ในวงกว้างอย่างยิ่ง เมื่อ KIA MOTOR แต่งตั้ง PREMIERE KIA MOTOR บริษัทในเครือ PREMIERE เป็นผู้ได้สิทธิ์ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ด้วยบรรยากาศที่คึกคักของเศรษฐกิจไทย ณ เวลานั้น ทุนไหนได้บแรนด์รถยนต์มาทำตลาดถือเป็นเกียรติประวัติแก่วงตระกูล PREMIERE บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการสินค้าบริโภค มีเครือข่ายกระจายสินค้าทั่วประเทศ ก็เบนเข็มเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เช่นเดียวกัน มือปืนผู้รับจ้างบริหารในเวลานั้น คือ กิตติวุฒิ ศิริรัตน์คุ้มวงศ์ ที่ย้ายบ้านออกมาจาก ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ฯ ทีม KIA บริหารงานอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด คอนเนคชันที่แข็งแกร่งในวงการค้าของ PREMIERE ทำให้การแต่งตั้งดีเลอร์ ทำได้รวดเร็วแบบสายฟ้าแลบ ในช่วงต้นการขยายตลาดของ KIA จึงเร็วมาก และเป็นที่มาของปัญหาหลายๆ อย่าง ทั้งภายนอก และภายใน เช่น ลูกค้าแย่งกันจองคิวรถ ทุนท้องถิ่นแย่งกันเป็นดีเลอร์ KIA เร่งซัพพลายรถโดยทำ PDI หละหลวม รถมีปัญหาต้องตามแก้กันพักใหญ่ อย่างไรก็ตาม ภาวะของตลาดที่มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย อะไรก็ขายได้ รถรุ่นแรกที่จำหน่าย คือ รถเอสยูวีขนาดเล็ก รุ่น SPORTAGE (สปอร์เทจ) โดยนำเข้ามาจำหน่ายคู่กับรถเก๋งขนาดเล็ก
SEPHIA (ซีเฟีย) มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 669,000 บาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่หลังจากนั้น KIA ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับรถเกาหลีอื่นๆ คือ KIA ถูกรวบกิจการกับ HYUNDAI เพราะปัญหาเศรษฐกิจ
KIA กลับมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 โดย บริษัท ยนตรกิจเกียมอเตอร์ จำกัด เริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ KIA โดย ยนตรกิจเกียมอเตอร์ฯ นั้นเลือกทำตลาดเฉพาะรุ่นที่เหมาะสมกับคนไทย และมีราคาสูงมาก แม้ KIA จะไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ลูกค้าที่ใช้ต่างยอมรับในคุณภาพของรถยุคใหม่ จึงถือว่าเป็นจุดขายของ KIA
รถยนต์อีกค่ายของเกาหลี คือ SSANGYONG หรือ MERCEDES-BENZ เกาหลี รถยนต์ SSANGYONG นั้นเป็นการร่วมมือระหว่าง MERCEDES-BENZ ในยุคแรกที่เข้าสู่ตลาดเมืองไทย จึงใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง MERCEDES-BENZ และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จำหน่าย SSANGYONG MUSSO (มูโช) ราวปี 2557 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีรุ่น KORANDO (โครันโด) หลุดจากมือของ ธนบุรีประกอบรถยนต์ฯ ไปเงียบๆ ด้วยเหตุผลเดียวกับรถเกาหลีอื่นๆ ปัจจุบัน SSANGYONG ยังมีตัวแทนจำหน่าย คือ บริษัท ซังยอง มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีรถยนต์จำหน่ายหลายรุ่นตามสภาพ เพราะมีโชว์รูม และศูนย์บริการแห่งเดียว ในขณะที่รถยนต์ที่จำหน่ายก็เป็นรถยนต์นำเข้า ซึ่ง SSANGYONG ในต่างประเทศมีความเคลื่อนไหวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้อยมาก และล่าสุด คือ อยู่ระหว่างการยื่นคุ้มครองกิจการกับศาล
สรุปว่า ค่ายรถยนต์เกาหลีในตลาดไทย มี 2 ยุค เกาหลียุคเก่า เรียกว่า ยุคกอดคอกันมา กอดคอกันไป ส่วนเกาหลียุคใหม่ เหลือเพียง HYUNDAI, KIA เท่านั้นที่ยังคงมีพลังเดินหน้าลุยตลาดรถ ทั้งระดับโลก และตลาดเมืองไทย
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการแผนกบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา