เพิ่มขี้นมาอีกเรื่องหนึ่งแล้วครับ เรื่องตลกของข้าราชการในสังกัด กทม. ที่คนที่รู้จักคิด อ่านแล้วไม่ขำ เพราะมันคือปาหี่เพื่อ “แหกตา” ประชาชน ในข่าวจะเห็นเจ้าหน้าที่ของเขตป้อมปราม ออกมา “ลุย” ทุบสิ่งก่อสร้าง ในรูปของทางลาดริมทางเท้า ที่รุกล้ำผิวจราจรของถนนในเขตนี้ ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ปีนขอบทางเท้าได้ง่าย (ขาลงไม่ถึงกับจำเป็น)
มีการระดมฝ่ายใช้กำลังแบบกุลี มาพร้อมเครื่องมือยุคโลหะ (METAL AGE ประมาณ 5,000-900 ปี ก่อนพุทธศักราช) ซึ่งก็คือ ค้อนขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ระดับเจ้าหน้าที่ในเมืองหลวง ของประเทศอย่างประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้เข้าข่ายประเทศด้อยพัฒนาแล้ว น่าจะมีเครื่องมือทุ่นแรงใช้ สำหรับภารกิจเช่นนี้ นัยว่าก่อนดำเนินการ “ทุบทิ้ง” ได้สอบถามเจ้าของร้าน หรือเจ้าของบ้าน ที่ก้อนปูนเหล่านี้ถูกหล่ออยู่ด้านหน้า ว่าเป็นผู้จัดการก่อสร้างมันขึ้นมาหรือเปล่า จะได้ทำการเรียกเก็บค่าปรับเป็นเงิน เพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย ผมว่าคงมีแต่พวกระดับปัญญาอ่อนเท่านั้น ที่จะยอมรับว่าใช่ ทุกคนล้วนปฏิเสธว่า ไม่รู้ไม่เห็นแต่อย่างใดทั้งสิ้น พร้อมกับคงคิดในใจไปด้วยว่า “ใคร (สุนัข) ที่ไหนมันจะมาทำ (วะ) ถ้าไม่ใช่เจ้าของร้าน (กู)” ในเมื่อไม่สามารถเอาผิดต่อผู้กระทำ หรือผู้จ้างวานได้ และการก่อใหม่ ง่ายกว่าการทุบทิ้งเป็นสิบเท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกรายจะเริ่มก่อใหม่ในวันรุ่งขึ้น ด้วยความมั่นใจว่า “ปาหี่” นี้จบไปแล้ว อีกเป็นปีก็ไม่มีปัญหา อย่างมากก็อาจจะถูกพวก “นอกกฎหมาย” ในเครื่องแบบเหมือนเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกอย่าง (ตัวจริงไม่ทำชั่วเช่นนี้นะครับ) มารีดไถเป็นรายเดือน ต้องมีการเพิ่ม หรือแก้ไขกฎหมายกันได้แล้วครับ เยี่ยงประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้เจ้าของร้าน หรือเจ้าของที่อยู่อาศัยรับผิดชอบ ดูแลพื้นที่สาธารณะด้านหน้า หากมีความเสียหายเกิดขึ้น แทนคำตอบแบบตะแบง เพียงแค่ “ไม่รู้ ไม่เห็น ฉันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น”
ข่าวดีที่มิได้เกินความคาดหมายของผมก็คือ ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกจำหน่าย สูงสุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าสิ่งนี้เป็นรางวัล ผมไม่แน่ใจว่า รางวัลนี้สมควรที่พวกเราจะภาคภูมิใจหรือไม่ จำนวนจำหน่ายรถไฟฟ้าใหม่ ควรจะสัมพันธ์กับจำนวนประชากรผู้ใช้รถ และฐานะทางการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศนะครับ
ถ้าใช้ภาษาพื้นบ้านอย่างง่ายก็คือ พวกเราชาวไทยรวยพอจริง สำหรับการเปลี่ยนมาใช้รถรุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือ หรือว่ายอดจำหน่ายระดับนี้ มันมาจากความเห่อ “ของเล่นใหม่” ความไร้วินัยทางการเงิน ความหน้าใหญ่ ค่านิยมชอบโอ้อวด ที่มันอาจจะฝังรากลึกอยู่ในพันธุกรรมของพวกเรา โดยเฉพาะผู้ชายกับเรื่องรถนี่ หาอะไรมาฉุดรั้งให้อยู่กับเหตุผล หรือความเหมาะสมได้ยากมากครับ เพราะฉะนั้นฝ่ายหญิงที่เป็นคนใกล้ชิด คู่ชีวิต “คนรู้ใจ” หรือจะเรียกกันว่าอะไรก็ตาม สมควรเป็นฝ่ายรั้งครับ เพราะธรรมชาติของเพศหญิง จะถือความมั่นคงในอนาคต โดยเฉพาะถ้าเป็นอนาคตของลูก จะชัดเจน และหนักแน่นมาก ถ้าหาเหตุผลที่ดีมารองรับไม่ได้ ก็สมควรที่จะยับยั้ง ที่ผมกล่าวมานี่ เป็นเรื่องใน “สเกลเล็ก” หรือสถาบันครอบครัวนะครับ ถ้ามองใน “สเกลใหญ่” ระดับผลประโยชน์ของชาติ การเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม อาจจะให้ผลดีคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจในอนาคตก็ได้ จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ หรือตอบได้ในขณะนี้ครับ
เทคโนโลยีของรถไฟฟ้า แปรเปลี่ยนไปทุกนาทีก็ว่าได้ครับ บางด้าน เช่น ระบบควบคุมอัตโมัติ และระบบแบทเตอรี รวดเร็วระดับที่ ถ้าอธิบายในวันที่พิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้ กว่าจะถึงมือท่านผู้อ่านในอีกประมาณ 2 เดือน ก็อาจจะไม่ทันสมัย หรือใหม่พอแล้ว และกว่าร้อยละ 90 ของรถในประเทศเรา ยังคงเป็นรถขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ นิตยสารของเราก็จะยังคงให้บริการต่อผู้ใช้รถกลุ่มใหญ่เป็นหลักนะครับ แต่ขณะเดียวกันก็จะนำเสนอสิ่งใหม่ล่าสุดในวงการรถไฟฟ้าของตลาดโลก และของประเทศเราให้อย่างครบถ้วน
รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็ยังต้องใช้แบทเตอรีเสริมการทำงานอยู่เสมอนะครับ เป็นสิ่งสำคัญของรถ ที่ผู้ใช้รถกลับหาความรู้เกี่ยวกับมันได้ยากมาก ขอเผยความลับหน่อยครับ ช่างเองก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้หรอกครับ ไม่ได้ดูหมิ่นนะครับ แต่เป็นเพราะเขาหาแหล่งความรู้เรื่องนี้ไม่ได้เลย ถ้าถูกลูกค้าถาม ก็ต้อง “มั่ว” โมเมไปก่อน ใครจะอยากเสียหน้าแล้วยอมบอกว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”
หน้าที่ของแบทเตอรีมีหลายข้อด้วยกัน แต่หน้าที่แรก คือ สะสมพลังงานไฟฟ้าไว้สำหรับสตาร์ทเครื่องยนต์ หน้าที่ต่อมา คือ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์อื่นแทนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรืออัลเทอร์เนเตอร์ของรถ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ในขณะที่เครื่องยนต์ไม่ได้ทำงาน เช่น ฟังวิทยุ หรือเพลงขณะจอดรถ แต่ไม่ควรเปิดพัดลมช่วยเป่าตัวคลายร้อนนะครับ เพราะเขาต่อสายไฟฟ้าไว้ให้ทำงานได้พร้อมกับเครื่องยนต์เท่านั้น คือ เมื่อสวิทช์อยู่ในตำแหน่ง ON ถ้าอยู่ในตำแหน่งนี้ โดยไม่ได้ติดเครื่องยนต์ ถ้าเป็นรถรุ่นเก่ามากหน่อย ระบบจุดระเบิดอาจจะชำรุดได้ครับ หน้าที่ที่ 3 ของแบทเตอรี คือ เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง เมื่อใดก็ตามที่เราใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างพร้อมกัน จนกระแสไฟฟ้าที่ใช้มากกว่ากระแสไฟฟ้าที่อัลเทอร์เนเตอร์ผลิตได้ เช่น เมื่อรถติดตอนกลางคืนที่ใช้ทั้งไฟหน้า หลัง ที่ปัดน้ำฝน เครื่องเสียง ขณะนี้เครื่องยนต์หมุนที่รอบเดินเบาเท่านั้น
หน้าที่สุดท้าย คือ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์บางอย่างที่ต้องทำงาน แม้เราจะจอดรถ และลอครถแล้วก็ตาม เช่น ระบบลอคประตูไฟฟ้า หน่วยความจำของวิทยุ ระบบกันขโมย ระบบควบคุมต่างๆ ของรถยุคปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์จะเป็นผู้เลือกว่า ควรใช้แบทเตอรีความจุเท่าใดกับรถแต่ละรุ่น แม้แต่รถรุ่นเดียวกัน ก็ยังใช้แบทเตอรีความจุต่างกัน ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศของประเทศที่รถนั้นถูกส่งไปขาย (อ่านต่อฉบับหน้า)
บทความแนะนำ