บทความ
เลาะสายการผลิต
สถานการณ์การแข่งขันตลาดรถพิคอัพปีนี้ ดุเดือดเร้าใจ แต่ละค่ายงัดกลยุทธ์เด็ดเพื่อสร้างยอดขาย โดยเฉพาะโตโยตา ที่ต้องการแชมพ์ตลาดนี้เป็นอย่างยิ่ง เอาจริงเอาจังกว่าเพื่อน ด้วยการนำเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรลมาใส่ใน ไฮลักซ์ ไทเกอร์ ใหม่ ซึ่งเราได้มีโอกาสไปชมสายการผลิตของรถรุ่นนี้ ที่ โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยตาจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็วๆ นี้
คอมมอนเรล คืออะไร ?
คอมมอนเรล เป็นหนึ่งในระบบการป้อนน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซลในระบบไดเรคท อินเจคชัน ประกอบด้วยเพลาคู่หรือ TWIN BALANCE SHAFT หัวฉีดโซลินอยด์ ปั๊มจ่ายน้ำมันแรงดันสูงส่วนประกอบทั้งหมดนี้จะถูกควบคุมการทำงานโดยกล่อง อีซียู หรือที่ โตโยตา ให้คำนิยามว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ ที่ควบคุมการจ่ายน้ำมันได้แม่นยำที่สุด
เครื่องยนต์คอมมอนเรล มีใช้มานานกว่า 20 ปี ในสมัยก่อนส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่ในรถบรรทุก จากนั้นได้เข้ามาสู่รถเก๋งโดยเฉพาะรถยุโรป เช่น เมร์เซเดส-เบนซ์/บีเอมดับเบิลยู/โฟล์คสวาเกน และเปอโฌต์ สำหรับ โตโยตาแนะนำเครื่องยนต์ระบบคอมมอนเรล ครั้งแรกในปี 2542 โดยวางอยู่ในรถขนาดใหญ่ แลนด์ ครูเซอร์
ต่อมาเมื่อ 8 ตุลาคม 2544 โตโยตา ก็เปิดตัว ไฮลักซ์ ไทเกอร์ ดี-โฟร์ดี เครื่องยนต์ รหัส 2KD-FTV ไดเรคท์อินเจคชันคอมมอนเรล ขนาด 2,500 ซีซี เทอร์โบ แต่ตลาดในช่วงแรกยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่
แต่เมื่อ โตโยตา พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้า ทำให้ปัจจุบัน โตโยตาได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ทั้งรถ สแตนดาร์ด เอกซ์ทราแคบ และสปอร์ท ไรเดอร์ ที่โตโยตา วางเครื่องยนต์ 2KD-FTV
ที่ผ่านมา โตโยตา เน้นสร้างจุดขายในเครื่องยนต์ 2KD-FTV ว่าเป็นระบบคอมมอนเรลไดเรคท์อินเจคชัน ที่เหนือกว่า ดีไอ ธรรมดา
พัฒนาการของเครื่องยนต์
อย่างไรก็ตามการเปิดตัว 2KD-FTV ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ชอบความแรงเนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ขนาด 2,500 ซีซี เทอร์โบ ทำให้ โตโยตา ต้องนำเครื่องยนต์รหัส 1KD-FTV ใหม่ ขนาด 3,000 ซีซี คอมมอนเรล ไดเรคท์อินเจคชัน DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบ 125 แรงม้า ที่ 3,000รตน. แรงบิดสูงสุด 315 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800-2,600 รตน. มาเสริมเกมรุก
ในเรื่องของความประหยัด 1KD-FTV ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีกว่าเครื่องยนต์ตัวเดิม 5L-E โดยอยู่ที่ 21.71กม./ลิตร ในขณะที่ 5L-E อยู่ที่ 18.61 กม./ลิตร หรือประหยัดกว่าเดิมร้อยละ 16 นอกจากนี้ค่าบำรุงรักษายังน้อยลงจากปกติจะต้องนำรถเข้าเชคทุกระยะทาง 5,000 กม. ก็เปลี่ยนมาเป็น 10,000 กม.
เลาะสายการผลิต ไฮลักซ์ ไทเกอร์
โรงงานผลิตรถ โตโยตา ไฮลักซ์ ไทเกอร์ ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่ สำโรงจังหวัดสมุทรปราการ บนพื้นที่ 116.3 ไร่ หรือ 186,150 ตรม. มีกำลังการผลิต ปีละ 140,000 คันแต่ปัจจุบันผลิตวันละ 300 คัน
การผลิตรถยนต์มีขบวนการผลิตมากมายแตกต่างกัน เช่น การหล่อ การขึ้นรูป การทำงานของเครื่องจักรกลการประกอบชิ้นส่วนพลาสติค การปั๊มขึ้นรูปโลหะ การเชื่อมตัวถัง การพ่นสีและขั้นตอนสุดท้ายการประกอบเป็นตัวรถ โดยรถแต่ละคันผลิตขึ้นจากชิ้นส่วนที่นำมาประกอบมากกว่า 10,000 ชิ้น
แบ่งออกเป็น 4 โรงงาน คือ 1. โรงงานผลิตชิ้นส่วนตัวถัง (PRESS SHOP) ซึ่งเป็นของ บริษัท โตโยต้า ออโต้ บอดี้ ประเทศไทย จำกัด
2. โรงงานเชื่อมชิ้นส่วนตัวถัง (WELDING SHOP)จะนำชิ้นส่วนตัวถังที่ขึ้นรูปเสร็จแล้วไปเชื่อมจนเกิดเป็นตัวถังรถพิคอัพ โดยแบ่งสายการเชื่อมออกเป็น 3 สายการเชื่อมหลักคือ CAB LINE เชื่อมส่วนหัวรถพิคอัพ มีหุ่นยนต์ 12 ตัว DECK LINE เชื่อมส่วนกระบะมีหุ่นยนต์ 6 ตัวและ SHELL LINE เป็นจุดที่นำ แคบ กับพิคอัพมาเชื่อมต่อกัน
3. โรงงานพ่นสี (PAINT SHOP) กระบวนการพ่นสีเริ่มจากนำตัวถังมาล้างคราบน้ำมันด้วยน้ำร้อน จากนั้นชุบ EDPคือ ตัวกันสนิม แล้วเข้าเตาอบอบให้แห้ง เสร็จแล้วพ่นสีพื้น คือ สีขาวหนึ่งชั้น อบให้แห้งแล้วจึงพ่นสีจริงและอบให้แห้งอีกครั้ง การพ่นสีใช้ระบบอัตโนมัติ ด้วยเครื่อง MINIBELL
4. โรงงานประกอบ (ASSEMBLY SHOP) ใช้ระบบ JUST IN TIME คือ ขบวนการผลิตต่อเนื่องกันโดยกำหนดจังหวะเวลา ทำให้ใช้เวลาในการผลิตสั้นลง ทำให้เกิด TAKE TIME ปัจจุบัน สายการผลิต 1.7 นาทีผลิตรถได้ 1 คัน ทำงาน 1 กะ 8 ชั่วโมงโดยมีเครื่องมือสนับสนุน MULTI-SKILL OPERATOR ซึ่งเป็นระบบการปรับปรุงงานให้ดีขึ้นทุกวันโดยปัจจุบันการสตอคชิ้นส่วนภายในประเทศจะใช้เวลา 0.6 วันจากเดิมจะเป็น 0.8 วัน และในอนาคตจะลดลงเรื่อยๆโดยประกอบทั้งรถที่ขายในประเทศและส่งออก ประมาณเดือนละ 1,500 คัน มี ออสเตรเลีย เป็นตลาดหลัก
ระบบการผลิตของโรงงาน โตโยตา เป็นระบบ TOYOTA PRODUCTION SYSTEM(TPS) ที่โรงงานผลิตรถยนต์เกือบทุกแห่งใช้ระบบนี้ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วแต่โรงงาน แต่ร้อยละ 80 นำมาจากTOYOTA PRODUCTION SYSTEM โดยในสายการผลิตที่โรงงานโตโยตา สามารถผลิตรถพิคอัพได้ 42 รุ่น จากพื้นฐานเดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละโมเดลของแต่ละประเทศ เช่น พวงมาลัยขวา ซ้าย กระบะที่ไม่เหมือนกัน
ปัจจุบัน โตโยตา แบ่งการผลิตเครื่องยนต์ คอมมอนเรล ออกเป็น 2 สาย คือ สายแรก CD เป็นเคริ่องยนต์ขนาด 2,000 ซีซี รหัส 1CD-FTV และสายที่สอง KD ประกอบด้วย เครื่องยนต์รหัส 1KD-FTV ขนาดเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี และรหัส KD-FTV ขนาดเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี
โดยโครงสร้างพื้นฐานและระบบการทำงานของ KD เหมือนกันทุกประการ น้ำหนักของเครื่องยนต์เท่ากันบลอคเดียวกัน แต่ต่างกันที่ความจุกระบอกสูบที่ 2KD-FTV เป็นเครื่องยนต์ขนาด 2,500 ซีซี ส่วน1KD-FTVเป็นเครื่องยนต์ ขนาด 3,000 ซีซี 125 แรงม้า ซึ่ง โตโยตา เพิ่มความแรงด้วยการขยายกระบอกสูบให้ใหญ่ขึ้นรวมถึงเน้นความประหยัด
สำหรับเครื่องยนต์คอมมอนเรล โตโยตา ประกอบที่โรงงานสยามโตโยต้าอุตสาหกรรมโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่มากนัก แต่ในอนาคตตั้งเป้าที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศทั้งหมดซึ่งเป็นนโยบายหลักของ โตโยตา อยู่แล้ว
เครื่องยนต์รหัส 1KD-FTV จะมีอยุ่ในรถ ไฮลักซ์ ไทเกอร์ 4 รุ่น คือ ไฮลักซ์ ไทเกอร์/ สแตนดาร์ด เอกซ์ทราแคบ/สปอร์ทครูเซอร์ และ สปอร์ท ไรเดอร์
เมื่อสิ้นสุดการประกอบรถที่โรงงานประกอบแล้ว จะต้องตรวจสอบจุดต่างๆ ของรถอีกครั้ง เพื่อยืนยันความเรียบร้อยโดยจุดแรก จะเชค ที่ จุดตั้งค่าของน้ำมันเบรค จุดตั้งค่าล้อ จุดจัดตั้งไฟหน้า จุด DRUMทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างรอบเครื่องกับอัตราเร่ง เชคมาตรฐานความเร็ว ล้อหน้า ล้อหลังจุดต่อไปจะเป็นการทดสอบเบรคทั้ง 4 ล้อ ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งเบรคมือและเอบีเอส
ต่อไปเป็นจุดประกอบย่อย คือ ตัวพวงมาลัย ฝาครอบพวงมาลัย ที่นำมาประกอบตรงนี้ก็เนื่องจากว่าจะต้องรอทดสอบการติดตั้งพวงมาลัยและประกอบฝาครอบล้อ เชคใต้ท้องรถและปรับแต่งเครื่องยนต์ เชคน้ำรั่วจากนั้นก็ไปห้องเป่า ทดสอบวิ่งในสนามเพื่อทดสอบเสียงลม หลังจากนั้นจึงส่งมอบรถให้ลูกค้าต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : พรชัย บัวทองนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2545
คอลัมน์ Online : บทความ