สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ดร. ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์
คณะกรรมการเอธานอลแห่งชาติ จัดตั้งเมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา มีหน้าที่ดูแลกิจการเอธานอลแต่บทบาทจะไปรวมกับคณะกรรมการด้านพลังงาน เพราะเอธานอลไม่ได้ใช้เป็นพลังงานสำหรับรถยนต์อย่างเดียวแต่สามารถใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อนาคตจึงมีแผนที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เอธานอลเป็นวัตถุดิบเหมือนกับเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมี
แต่ที่สำคัญต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันผสมเอธานอล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเกษตรกร ชาวไร่ และผู้ใช้เองเพราะว่าราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน โดยคุณภาพไม่ได้แตกต่างและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เนื่องจากเอธานอล เป็นเชื้อเพลิงที่ได้มาจากพืชเมื่อเอาเอธานอลไปผสมในน้ำมันเบนซินแล้วปริมาณแกสคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ออกมาจากไอเสียรถยนต์จะลดไปประมาณ 20-25 % ช่วยลดการเกิดภาวะเรือนกระจก (GREEN HOUSE EFFECT) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ ดร. ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเอธานอลแห่งชาติกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแผนนโยบายและอนาคตของ น้ำมันเชื้อเพลิงเอธานอล
ฟอร์มูลา : น้ำมันเชื้อเพลิงเอธานอล คืออะไร ?
ดร. ณัฐพล : เอธานอล คือ แอลกอฮอล์ ประเภทหนึ่งที่ทำมาจากวัตถุดิบทางการเกษตรโดยพืชกลุ่มที่จะนำมาผลิตเป็นเอธานอลได้จะเป็นพวก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวรวมทั้งกากน้ำตาลที่ออกมาจากโรงงานน้ำตาลด้วย พืชกลุ่มนี้ได้ถูกนำไปผ่านกระบวนการเป็นแอลกอฮอล์แต่แอลกอฮอล์ ประเภทนี้ถ้าเราจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มันจะต้องเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก
ฟอร์มูลา : น้ำมันเชื้อเพลิงเอธานอลเริ่มใช้ในประเทศไทยแล้วหรือยัง ?
ดร. ณัฐพล : โครงการนี้เริ่มมากว่า 10 ปีในอดีตที่ผ่านมามีโครงการในลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ
แต่เทคโนโลยียังไม่มีการพัฒนาเหมือนในปัจจุบันทำให้แอลกอฮอล์ ที่ใช้ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง มีค่า PURITYหรือความบริสุทธิ์ของตัวแอลกอฮอล์ ต่ำกว่า 99.5 % คืออยู่ในระดับ 95 % เท่ากับมีน้ำอยู่ 5 % เพราะฉะนั้นโครงการในอดีตก็เลยเกิดปัญหาในเรื่องของความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งว่าผสมไปแล้วจะใช้ได้หรือไม่
ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาแอลกอฮอล์ 95 % ผ่านเข้าสู่กระบวนการที่เราเรียกว่า D-HYDROLATION คือ กระบวนการที่แยกน้ำออกไป แอลกอฮอล์ก็มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นเวลาไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงมันก็ไม่มีผลกระทบอะไรกับเครื่องยนต์แอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์สูงขณะนี้มันเปรียบเสมือนกับสาร ออกซิเจเนสส์ (OXYGENESS) ตัวหนึ่งสารออกซิเจเนสส์ เป็นสารที่นำไปใช้ในการเพิ่มค่าออคเทนในน้ำมันเบนซิน ทุกวันนี้ใช้สาร MTBE หรือ (METHYL-TERTIARY-BUTYL-ETHER) ผสมในน้ำมันเบนซินออคเทน 91 เพื่อที่จะผลิตเป็นน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ทั้งนี้MTBE ก็เป็นสาร ออกซิเจเนสส์ ประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะใช้สาร MTBE ซึ่งประเทศไทยผลิตไม่ได้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปีละ 3,000 ล้านบาท เราก็เอาเอธานอลเข้าไปออกซิเจเนสส์แทนเพิ่มค่าออคเทนจาก 91เป็น 95 ซึ่งได้มีการทดลองใช้แล้วในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและในสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือที่เราเรียกว่า วท.มีการทดลองผลิตเอธานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 % แล้วทาง ปตท.ก็นำเอาเอธานอลตัวนี้ไปผสมในน้ำมันเบนซินออคเทน 91เพื่อผลิตเป็นออคเทน 95แล้วเอาไปทดสอบที่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของ ปตท. ปรากฏว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ใช้ได้เป็นปกติทุกอย่าง
หลังจากที่ ปตท. วิจัยว่าไม่มีผลกระทบ จึงได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ประมาณ 3-4แห่ง เช่น สถานีบริการ ปตท. สำนักงานใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ บางจากก็ผลิตเอธานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 %และซื้อเอธานอลจาก วท. ไปผสมในน้ำมันเบนซินออคเทน 91 เหมือนกัน ปรากฏว่าประชาชนสนใจตอบสนองเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากว่าเอธานอลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
อันเป็นผลมาจากการผลิตในวังสวนจิตรลดาได้วันละ 1,000 ลิตรเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเห็นว่าผลที่ออกมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเห็นว่ามีความเชื่อมั่นได้ในด้านเทคนิคการใช้งานจึงกำหนดเป็นนโยบายขึ้นมาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตเอธานอลในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากโรงงาน วท. กับโรงงานในโครงการส่วนพระองค์ ผลิตได้วันละ 1,000 ลิตร เท่านั้น ซึ่งรวมแล้วไม่เพียงพอกับความต้องการ
ฟอร์มูลา : นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลเป็นอย่างไร ?
ดร. ณัฐพล : เนื่องจากเอธานอลนั้นต้นทุนค่อนข้างสูงกว่าน้ำมันเบนซิน ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นราคาลิตรละประมาณ 8-9 บาทแต่ถ้าเป็นเอธานอลต้นทุนการผลิตจะสูงประมาณลิตรละ 11-12 บาท รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหามาตรการสนับสนุนโดยสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในส่วนเอธานอลและในส่วนน้ำมันที่ผสมเอธานอล ซึ่งน้ำมันที่ผสมเอธานอล คือ นำเอธานอลเข้าไปผสม 10 %ในน้ำมันเบนซินออคเทน 91 จะได้น้ำมันเบนซินที่มีคุณสมบัติเหมือน ออคเทน 95 เรียกว่า น้ำมันแกสโซฮอลซึ่งเมื่อยกเลิกการใช้สาร MTBE น้ำมันแกสโซฮอล จะเข้ามาแทนที่น้ำมันออคเทน 95 ทั้งหมดอนาคตจะทำให้ไม่มีน้ำมันเบนซินออคเทน 95 แต่จะมีน้ำมันแกสโซฮอลออคเทน 95 แทน
เหตุผลที่รัฐบาลยกเว้นภาษีสรรพสามิตนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงมีผลมาจากภาษีสรรพสามิตลิตรละ 3.80สตางค์ เมื่อนำเอธานอลไปผสม 10 % เอธานอลที่ไปผสมในน้ำมันเบนซิน จะไม่เก็บภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมาเอธานอล เคยมีภาษีสรรพสามิต คือ ใครผลิตเอธานอลออกมาแล้วจะเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราลิตรละประมาณ 5 สตางค์ตรงนี้ก็ยกเว้นภาษีสรรพสามิตในส่วนตัวเนื้อเอธานอลอีกลิตรละ 5 สตางค์ ผลที่เกิดขึ้นคือลดการเสียภาษีจาก 3.80สตางค์ ลบไปแล้ว 10 % คือ 38 สตางค์ กับ อีก 5 สตางค์ ก็ประมาณ 40 สตางค์ เมื่อเอา 10เท่าคูณกลับไปมันก็จะกลายเป็น 4 บาท/ลิตร จะเห็นได้ว่าถึงแม้ราคาเอธานอล 12 บาท ก็สู้กับน้ำมันเบนซินลิตรละ 8-9 บาทได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลให้ในอันดับแรก
ลำดับต่อมา ราคาน้ำมันที่จำหน่ายลิตรละ 15-16 บาท นั้น ยังมีภาษีอีกหลายส่วนเข้ามาผสมอีก ไม่ว่าจะเป็นภาษีเทศบาลอีก 10 % ของภาษีสรรพสามิต ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องเสียเพราะเป็นส่วนของเอธานอล ส่วนเงินกองทุนน้ำมันซึ่งเก็บในอัตราลิตรละ 50 สตางค์ สำหรับน้ำมันเบนซินออคเทน 95 แต่ถ้าเป็นน้ำมันแกสโซฮอล เก็บเพียง 27 สตางค์ เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ลิตรละ 4 สตางค์ ลดให้อีก 10 % สำหรับการช่วยเหลือในครั้งนี้เพื่อเป็นเหตุจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้กันเพิ่มมากขึ้น
โดยจากมาตรการนี้จะทำให้ราคาน้ำมันแกสโซฮอล ออคเทน 95 ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลิตรละประมาณ 50-70 สตางค์
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันพืชที่นำมาผลิตเอธานอลนั้นมีอะไรบ้าง?
ดร. ณัฐพล : พืชที่ใช้ในการผลิตหลักๆ ต้องดูวัตถุดิบทางด้านการเกษตรที่ประเทศไทยมีเหลือมีการส่งออกในรูปแบบต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นทุนในส่วนของวัตถุดิบสูง เนื่องจากกระบวนการผลิตเอธานอลต้นทุนในส่วนวัตถุดิบคิดเป็น 70 % ของต้นทุนโดยรวม ดังนั้นเราก็มาดูว่าตัวไหนล้นตลาดทุกวันนี้ที่เราเห็นว่าล้นตลาดส่วนใหญ่ ก็คือ มันสำปะหลังเพราะทุกปีราคามันตกต่ำชาวไร่ชุมชนประท้วงเพื่อเรียกร้องราคา มันสำปะหลังสามารถผลิตได้ 18-20 ล้านตัน/ปีใช้ในประเทศ 4-5 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกในรูปของมันเส้น หรือแปรรูปไปในรูปแบบต่างๆ ส่งไป EU จีน มันสำปะหลังจึงเป็นตัวเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ดูจากผลที่ได้จากการผลิต คือ 1 ตันของหัวมันสามารถผลิตเอธานอลได้ประมาณ 180 ลิตรเนื่องจากว่าการใช้เอธานอลเป็นเชื้อเพลิงต้องใช้ปริมาณที่มาก เพราะทุกวันนี้เราใช้น้ำมันเบนซินประมาณวันละ 20ล้านลิตร เป็นออคเทน 91 ประมาณ 10 ล้านลิตร ออคเทน 95 อีก 10 ล้านลิตร ในเฟสแรกของเราที่จะเอาเอธานอล10 % ไปผสมในออคเทน 91 เพื่อผลิตเป็นออคเทน 95 ผสม 10 % ก็ต้องใช้เอธานอลประมาณ 1 ล้านลิตร/วันหมายความว่าต้องใช้มันสำปะหลังประมาณ 2 ล้านตัน จะเห็นว่ามันสำปะหลังเป็นตัวที่มีความเป็นไปได้สูงมากตอนนี้เกษตรกรมีความสุขมาก เพราะว่าราคามันสำปะหลังหลังจากที่บอกว่ามีโครงการเอธานอลเกิดขึ้นดีมากคุ้มกับต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ สาเหตุที่ราคามันสำปะหลังดีขึ้น เพราะจีนซื้อมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอธานอลเนื่องจากปัจจุบันจีนยังใช้สารตะกั่วอยู่
นอกจากมันสำปะหลังยังมีกากน้ำตาล สามารถผลิตได้ปีละประมาณ 2.5 ล้านตัน ใช้ในประเทศประมาณ 1.5 ล้านตัน เหลือประมาณ 1 ล้านตัน โดยกากน้ำตาล 1 ตันผลิตเอธานอลได้ประมาณ 260 ลิตร เพราะฉะนั้น 1ล้านตันก็ผลิตเอธานอลได้ประมาณ 260 ล้านลิตร/ปี เฉลี่ยประมาณวันละ 700,000 ลิตรแต่อย่างไรก็ตามกากน้ำตาลนำมาใช้ได้แต่ไม่ควรเอามาใช้มากเพราะถ้าเอามาใช้มากสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ราคากากน้ำตาลจะสูงขึ้นทันที ทำให้ต้นทุนการผลิตเอธานอลสูงเกินไป
อีกอย่างคือ อ้อย ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปของน้ำตาล แต่ปัญหาของอ้อย คือ ไม่เพียงพอกับความต้องการโดยปัจจุบันมีการหีบเพียง 60 ล้านตัน แต่ความต้องการมีประมาณ 70 ล้านตัน ดังนั้นจึงไม่ได้มองทำให้ที่อนุมัติจะเป็นมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล
ฟอร์มูลา : จากอดีตจนถึงปัจจจุบันประชาชนให้การตอบรับเพียงใด มีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่และจะสามารถเพิ่มการผลิตได้เมื่อใด ?
ดร. ณัฐพล : ประชาชนให้การตอบรับดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านราคาถูกกว่า 50 สตางค์เมื่อเทียบกับน้ำมันออคเทน 95 อีกทั้งใช้แล้วไม่มีปัญหาผู้ใช้ก็ยินดี แต่ปัญหา คือไม่มีเอธานอลเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอนุมัติให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตเอธานอล แล้ว 8 ราย คือ 1.บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด 2. บริษัท ที.เอส.บี เทรดดิ้ง จำกัด 3. บริษัท อินเตอร์เนชั่นนแลแก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4. บริษัท แสงโสม จำกัด 5. บริษัท ไทยง้วน เมทัล จำกัด 6. บริษัท น้ำตาลขอนแก่นจำกัด 7. บริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บริษัท แทยเนชั่นแนล พาวเวอร์ จำกัด
ฟอร์มูลา : ทั้ง 8 โรงงาน จะสามารถมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าใด และพร้อมสำหรับรองรับในปีใด ?
ดร. ณัฐพล : ทั้ง 8 โรงงานนี้มีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ล้านลิตร/วัน หรือประมาณ 500 ล้านลิตร/ปีซึ่งถ้านำไปใช้ในระยะแรกแทน MTBE จะมีความต้องการ 1 ล้านลิตร/วัน ที่เหลืออีก 500,000 ลิตร เป็นตลาดส่งออกโดยเฉพาะ EU จีน โดย 1 ล้านลิตร/วัน สำหรับโรงงานผลิตเอธานอลจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี คาดว่าประมาณปลายปี 2547 โรงงานจะสร้างเสร็จ
นอกจากนี้โรงงานที่อนุมัติไปแล้วบางโรงงานจะมีลักษณะเป็นโรงงานที่เรียกว่า "โรงงานต่อยอด" คือโรงงานที่ผลิตแอลกอฮอล์ 95 % อยู่แล้ว เช่น แสงโสมผลิตสุราต้องใช้แอลกอฮอล์ 95 % และบริษัทพรวิไล 2 บริษัทยังสามารถผลิตเอธานอล ความบริสุทธิ์ 95.5 % ได้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทพรวิไล ฯจะพยายามให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ แต่โรงงานพรวิไลเป็นโรงงานเล็กมีกำลังการผลิตประมาณ 25,000 ลิตร/วัน จะทำให้สิ้นปีนี้มีเพิ่มอีก 25,000 ลิตร/วัน ส่วนแสงโสม คาดว่าประมาณปลายปีหน้าจะเสร็จ
นอกจากแสงโสมแล้วยังมีโรงงานอื่นอีกที่ทำเป็นเฟส โดยเฟสแรกในปี 2546จะมีโรงงานที่สร้างเสร็จและสามารถผลิตออกมาได้ประมาณ 150 ล้านลิตร และในปี 2547 อีกประมาณ 300ล้านลิตร จนกระทั่งปี 2548 จะมีกำลังการผลิตเต็มที่ 500 ล้านลิตร
ฟอร์มูลา : คาดว่าเอธานอลจะสามารถมาแทน MTBE ได้ทั้งหมดในปีใด ?
ดร. ณัฐพล : คาดว่าเฟสแรกจะมาแทน MTBE ได้ภายใน 3 ปี หลังจากนั้นเฟส 2 คือ เอาเอธานอล 10 %ผสมในน้ำมันออคเทน 87 บวก เอธานอล 10 % จะกลายเป็นออคเทน 91 % ตรงนี้เราเรียกว่า น้ำมันแกสโซฮอลออคเทน 91 โดยจะเริ่มที่กรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ส่วนจะเข้าไปแทนที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปีในขณะเดียวกันก็มีการมองในเรื่องของการนำเอธานอลไปผสมในน้ำมันดีเซลด้วย เรียกว่า "น้ำมันดีโซฮอล" จะผสมแค่ 7 % ซึ่งในระยะแรกเริ่มที่กรุงเทพ ฯและปริมณฑล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี เช่นกัน
ฟอร์มูลา : ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้มีอะไรบ้าง ?
ดร. ณัฐพล : สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศและสารเคมีที่นำมาเติมแต่งในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในระยะแรกที่มาแทน MTBE ถ้าแทนได้หมดลดการนำเข้าได้ปีละประมาณ 3,000 ล้าน และถ้าเฟส 2 ที่ผสมในน้ำมัน 87 จะลดการนำเข้าในส่วนของตัวเนื้อน้ำมัน อีกเป็นหมื่นล้าน แต่ถ้าแทนดีโซฮอลได้อีกก็หลายหมื่นล้าน
นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องรายได้ของเกษตรกร ในอดีตมีปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่มันสำปะหลังที่ราคามันไม่แน่นอน บางปีสูง บางปีต่ำ ในอดีตรัฐบาลต้องนำเงินไปช่วยเหลือมันสำปะหลัง ปีละประมาณ 3,000ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้เกิด รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำเงินไปช่วยเหลือ เพราะว่าราคาดีแล้นี่คือกลยุทธ์ที่หลายประเทศใช้ในการแก้ปัญหาในเรื่องพืชผลทางการเกษตร สหรัฐอเมริกาก็ใช้กลยุทธ์นี้เหมือนกันแต่สหรัฐอเมริกามีปัญหาเรื่องข้าวโพด เขาก็นำข้าวโพดผลิตเป็นเอธานอล บราซิล มีปัญหาเรื่องอ้อยเพราะผลิตอ้อยมาก ก็นำอ้อยมาผลิตเป็นเอธานอล
ตรงจุดนี้จึงทำให้คาดหวังว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากและสามารถเป็นฐานในการส่งออกเอธานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบหนึ่งไปยังประเทศต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญในการเรื่องใช้พลังงานทดแทน เพราะมองว่าอีก 50 ปี น้ำมันจะหมดหรือไม่หมด แต่ราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะของใกล้หมดราคาก็จะแพงขึ้น หลายประเทศเริ่มมอง เช่น EUกำหนดว่าต้องมีพลังงานทดแทน 2 % ในการใช้ทั้งหมดใน EU สหรัฐอเมริกา กำหนดไว้แล้ว 25 รัฐ ภายในปี 2547 ญี่ปุ่น เลิกใช้ MTBE เหมือนกัน
จีน เป็นตลาดใหญ่มากแต่ใช้สารตะกั่วอยู่ เพราะฉะนั้นโรงงานต่างๆบางโรงงานที่ตั้งในประเทศไทยตอนนี้มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวจีนเพื่อส่งเอธานนอลกลับไป เพราะว่ามณฑลเดียวในจีนใช้เอธานอลวันละ 2 ล้านลิตร ขณะที่ประเทศไทยทั้งประเทศยังใช้เอธานอลแค่ 1 ล้านลิตร จะเห็นว่าจีนน่าสนใจทำให้เรามองตลาดส่งออก คือเราต้องการให้ไทยเป็นบ่อน้ำมันในทุกท้องถิ่นอีกหน่อยจะมีบ่อน้ำมันตั้งอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ก็คือ พืชเกษตรหรือมองในแง่ของนโยบายรัฐบาลคือ พยายามกระจายโรงงานให้ไปอยู่ในท้องถิ่นต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วประเทศ
ฟอร์มูลา : บริษัทน้ำมันมีความคิดเห็นอย่างไร ?
ดร. ณัฐพล : เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากว่าบริษัทน้ำมันจะต่อต้านไหม เพราะว่าบริษัทเสียประโยชน์เพราะฉะนั้นเวลาเราทำต้องคุยกันก่อน ในอดีตบริษัทน้ำมันต่อต้านจึงทำให้ในระยะแรกจะเป็นการเจรจาว่าเป็นการแทน MTBE ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้ามา
เพื่อเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติใช้ของในประเทศดีกว่าเพราะเมื่อผลิตออกมาแล้วเพียงแค่ปรับปรุงกระบวนการผลิตเล็กน้อยก็สามารถผลิตได้แล้ว เฟสแรกไม่มีปัญหาแต่เฟส 2 จะมีปัญหาเพราะไปแทนเนื้อน้ำมันซึ่งจะทำให้ขายได้ลดลง และสิ่งหนึ่งที่น่ามองคือระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ 5 ปี ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันมีกำลังการผลิตที่จำกัด แทนที่ขยายโรงกลั่นก็นำเอธานอลมาใช้แทนทำให้มีกำลังผลิตเพียงพอ ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ถ้าทำได้จริงรัฐควรที่จะมาช่วยเหลือมากกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นราคาก็จะสูงเกินไป เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันออคเทน 91 ถูกกว่า 95 แค่ 1 บาทเท่านั้น
ฟอร์มูลา : บริษัทรถยนต์มีความคิดเห็นอย่างไร ?
ดร. ณัฐพล : โครงการนี้เกิดมา 10 กว่าปีแล้ว แต่เหตุผลที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีแรงต้านไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมัน บริษัทรถยนต์ ในปัจจุบันขอเพียงนโยบายรัฐที่ชัดเจนเท่านั้นซึ่งจะว่าไปแล้วไม่มีปัญหาเพราะผสมเพียง 10 % รถยนต์ไม่ได้กระทบอะไรเลย เครื่องไม่ต้องปรับแต่งอะไรเลยรถยนต์ตั้งแต่ปี 1994 ที่เป็นระบบหัวฉีดใช้ได้โดยไม่มีปัญหาไม่ต้องไปปรับแต่เครื่องยนต์สามารถใช้ได้เหมือนกับน้ำมันในออคเทน 95 ทุกประการสามารถใช้สลับไปสลับมาได้ระหว่างเบนซินออคเทน 95 กับ แกสโซฮอล ออคเทน 95
บริษัทรถยนต์ขอนโยบายแน่นอนชัดเจนว่าผสม 10 % เท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกา ผสม 10 % ไม่มีปัญหาแต่บราซิลผสม 25 % รถยนต์ต้องดีไซจ์นสเปคพิเศษ เพราะรถบางคันไม่ได้ดีไซจ์นสเปคที่จะให้ใช้แกสโซฮอลที่ผสม 25 % ได้ สตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ค่อยติด ซึ่งตอนนี้นโยบายรัฐชัดเจนแล้วกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาให้การสนับสนุนเต็มที่เรียบร้อยแล้วซึ่งนอกจากการนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในส่วนของน้ำมันแล้วยังมีแผนที่จะเข้าไปในส่วนของอุตสาหกรรมอีกด้วย
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : อธิปัตย์ วัชรนุกูลเกียรตินิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)