รู้ลึกเรื่องรถ
ยอดนักออกแบบรถ...ทำอะไรในยามว่าง ?
ไม่ใช่งานอดิเรกของหัวหน้านักออกแบบรถเท่านั้นนะครับที่น่าสนใจ ผมว่าของใครก็ตามที่มีความสามารถพิเศษหรือมีชื่อเสียงก็น่าสนใจทั้งนั้น มีข้อแม้อยู่ว่าต้องเป็นความสามารถหรือชื่อเสียงในด้านที่ดีและสร้างสรรค์เท่านั้นถ้าจำกัดวงให้แคบเข้ามาที่เฉพาะเรื่องรถของเรา เราก็อยากทราบว่าบรรดาประธานบริษัท กรรมการบริหารหัวหน้าวิศวกร ที่ได้รับการยอมรับว่า "ฝีมือ" ดีนั้น ทำอะไรกันบ้างในยามว่าง
ข้อมูลประเภทนี้หายากมากครับ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วจริงๆ เขาถือความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญสังเกตได้จากนิตยสารรถ หรือบ้านของต่างประเทศ จะไม่มีการออกชื่อนามสกุลของเจ้าของ ไม่มีการถ่ายภาพเจ้าตัวด้วยตรงกันข้ามกับของเรา ถ้าไม่ลงชื่อพร้อมนามสกุลและอาชีพ พร้อมกับลงภาพหมู่ทั้งครอบครัวแล้วละก็อาจจะผิดใจกันได้ง่ายๆ หมดสิทธิ์พึ่งพากันในโอกาสหน้ามีบางโอกาสเท่านั้นที่มีการเอ่ยถึงงานอดิเรกของคนเหล่านี้เฉพาะราย ซึ่งถ้าเอามาเล่าสู่กันฟังก็จะเหมือนการเลือกปฏิบัติ และเนื้อเรื่องก็คงจะสั้นเกินไปด้วย
คราวนี้บังเอิญผมอ่านพบในนิตยสารรถยนต์ของต่างประเทศฉบับหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยงานอดิเรกของหัวหน้าทีมออกแบบรถของโรงงนสี่แห่งด้วยกัน คือ โพร์เช ซาบ เอาดี และอัลฟา โรเมโอ จึงคิดว่าน่าสนใจและมีเนื้อหามากพอที่จะมาเล่าสู่กันครับ
ฮาร์ม ลากาย (HARM LAGAAY) มือหนึ่งด้านออกแบบของ โพร์เช เป็นชาวดัทช์วัย 56 ปีรายนี้ค่อนข้างแหวกแนว เพราะงานอดิเรกคือขับรถแข่ง ควบคู่ไปกับการซ่อมรถแข่ง แบบนี้ต้องบอกว่าหายากเป็นสองเท่าเพราะคนที่ชอบขับรถแข่งนั้น เกือบทุกคนขับอย่างเดียว เรื่องซ่อมเป็นหน้าที่ของช่าง ลากาย ชอบขับรถแข่งมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มพอเข้าวัยกลางคน มีงานดีมีเงินเหลือ ก็เลยซื้อรถแข่งเมื่ออายุสามสิบถึงสี่สิบปี มาซ่อมและลงขับ แข่งแบบสมัครเล่นเป็นงานอดิเรก
คันล่าสุดที่กำลังเป็นคันโปรดเป็น "ยี่ห้อ" เอลฟิน (ELFIN) ซึ่งเป็นรถแข่ง แคน-แอม (CAN-AM)ระดับเดียวกับ โลลา แมคลาเรน (LOLA McLAREN) และ ชาพารอล (CHAPARAL) ในยุคนั้น แต่ลากาย บอกว่าสามยี่ห้อหลังนี่ราคาสูงไปหน่อย คือคันละ 250,000 ยูโร หรือประมาณสิบล้านบาทเลยซื้อ เอลฟิน ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จดีก็มีอันเป็นไป ลากาย เอามาบูรณะใหม่ทั้งคันในบ้านเป็นงานอดิเรก ใช้เวลาปลุกปล้ำอยู่เกือบสามปี
และเมื่อใดที่มีโอกาส ก็จะลงแข่งรถประเภทย้อนยุคในกลุ่ม แคน-แอม เคยได้รางวัลระดับที่สามมาหนึ่งครั้ง ผมว่าน่าจะมีรางวัลความพยายามสูงให้สักหน่อยเพราะดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ซ่อมรถแข่งขึ้นมาเองทั้งคัน โดยที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับช่างมาก่อนเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามทำอะไรให้สำเร็จด้วยความชอบและมุ่งมั่นจริงๆ
รายที่สองรับผิดชอบงานออกแบบของ อัลฟา โรเมโอ ซึ่งชื่ออาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูพวกเรานัก โวล์ฟกังเอกเกร์ (WOLFGANG EGGER) เป็นชาวเยอรมัน แต่ไปเรียนจบทางด้านศิลปะจาก COLLEGE OF ARTS AND SCIENCES แห่งเมืองมิลาน หรือมิลาโน ในประเทศอิตาลี รถ อัลฟา โรเมโอ รุ่นหลังที่เราคุ้นตากันนั้นยังไม่ใช่ฝีมือของเอกเกร์ นะครับ คงต้องรอดูรุ่นต่อๆ ไป งานอดิเรกของรายนี้ค่อยตรงแนวกับอาชีพหน่อย เลยไม่ค่อยแปลกเท่าไร เอกเกร์ สีไวโอลินในยามว่างครับเพราะหัดเล่นมาตั้งแต่อายุหกขวบ ตอนเรียนอยู่ในวิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองมิลานเป็นปีที่สี่ ซึ่งต้องออกไปฝึกงาน เอกเกร์ ก็เข้าไปเป็นลูกศิษย์ของวัลแตร์ เด ซิลวา (WALTER DE SILVA) ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ออกแบบของอัลฟา ฯ ชื่อในภาษาของเขาเพราะกว่าเยอะครับ ALFA CENTRO STILEอัลฟา ฯ รุ่น 156/147 และ 166 ล้วนเป็นฝีมือของ เด ซิลวา และลูกน้อง นักออกแบบรถฝีมือระดับสุดยอดของโลกนั้น นับด้วยนิ้วมือได้เพราะมีอยู่น้อยมาก
พวกนี้จึงถูกซื้อหรือประมูลตัวกันอยู่ตลอดเวลา เด ซิลวา จึงไปรับงานใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมให้แก่กลุ่มของ เอาดี รับผิดชอบรูปทรงทั้งของรถ เอาดี เซอัต เบนท์ลีย์ และ ลัมโบร์กินีคงขึ้นเครื่องบินเหมือนคนทั่วไปขึ้นรถเมล์หรือรถราง เพราะต้องดูแลงานของ เซอัต ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ของ เอาดีในเมือง อิงโกลชตัดท์ (INGOLSTADT) และมิวนิค รวมทั้งของ ลัมโบร์กินี ในอิตาลีด้วย
เป็นเรื่องเถียงกันมานานหลายร้อยปีแล้วนะครับว่าความสามารถทางศิลปะนั้น สืบทอดกันทาง"สายเลือด" จากพ่อแม่ได้หรือไม่ หรือว่าขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูอบรมและสิ่งแวดล้อมในวัยเด็ก พ่อของ เด ซิลวานั้นเป็นทั้งศิลปิน (ประเภทวาดและปั้น) สถาปนิก แล้วยังชอบประดิษฐ์ของเล่นจากไม้และกระดาษให้ เด ซิลวา เล่นในวัยเด็กด้วยงานอดิเรกของ เด ซิลวา ในปัจจุบัน ดูเผินๆ แล้วเหมือนไม่ต่างจากงานในอาชีพเลย แต่โดยหลักการแล้วแตกต่างกันมาก
งานออกแบบรถในสมัยนี้ ไม่ใช่แค่การวาดรูปรถลงในกระดาษได้สวยถูกใจนายจ้างแล้วก็เอาไปเป็นแบบได้นะครับ แต่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์มากมาย ที่ทำให้การรังสรรค์สิ่งที่สวยงามกลายเป็นงานหนักและสร้างความเครียดได้ไม่น้อย ทั้งกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัของประเทศอุตสาหกรรมที่จะส่งรถของเราเข้าไปจำหน่ายทั้งเงื่อนไขด้านเนื้อที่ ช่องว่างช่องแคบต่างๆ ที่วิศวกรกำหนดไว้ให้ ล้วนทำให้ "อิสรภาพ" ของนักออกแบบหดหายไปเยอะ
เพื่อชดเชยส่วนนี้ เด ซิลวา จึงเลือกการออกแบบอย่างมีอิสระเป็นงานอดิเรกสิ่งที่เขาออกแบบมีตั้งแต่เครื่องชงกาแฟ ที่โรยเกลือและพริกไท ขวดใส่น้ำตาล กาน้ำชา โคมไฟตั้งโต๊ะเป็นการออกแบบอย่างกำหนดสัดส่วนรูปทรงชัดเจนบนกระดาษ แล้วทำออกมาเป็นของจริงด้วแต่อาจทำงานได้ไม่เหมือนจริง เพราะใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น ไม้ แล้วพ่นสีทับให้ดูสวยงามเหมือนจริง
ทั้งหมดนี้เป็นงานอดิเรกที่แท้จริงครับ เพราะแม้จะมีบริษัทใหญ่ติดต่อขอซื้อเพื่อนำไปผลิต เด ซิลวาก็ไม่ยอมขาย ศิลปินที่แท้จริงจะไม่บูชาเงินเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของ เด ซิลวา ซึ่งผมเห็นด้วยและชอบมากคือความเห็นของเขาที่ว่างานออกแบบรถล่วงหน้าเป็นสิบปีนั้นไม่ได้ผล เขาบอกว่า "คนเราจำลองชีวิตและความรู้สึกล่วงหน้าเป็นสิบปีไม่ได้ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นเลยในการไปตั้งสตูดิโอออกแบบล้ำยุคในที่แปลกๆ อย่างแคลิฟอร์เนียที่ต้องให้ผู้ออกแบบมองออกไปเห็นชายหาด ไร้สาระมาก เพราะรถที่สวยจริงๆ นั้นมักถูกออกแบบในที่ๆ อัปลักษณ์เกือบทั้งนั้น" บริษัทรถญี่ปุ่นหลายแห่งคงสะดุ้งเหมือนกัน
มิคาเอล มาเอร์ (MICHAEL MAAER) คือรายที่สี่ครับ เป็นนักออกแบบชาวเยอรมันที่รับผิดชอบงานออกแบบรถของซาบ งานอดิเรกของหัวหน้าออกแบบวัยเพียงสี่สิบคนนี้ก็แปลกพอสมควร คือการเป็นครูสอนสกีครับ มีข่าวว่าฝีไม้ลายมือระดับชาติทีเดียว
เพราะครูสกีต่างกับครูกีฬาส่วนใหญ่ที่ว่า ครูกีฬาอื่นๆ จะสอนได้อย่างเดียวเพราะหมดสภาพเป็นนักกีฬามานานแล้ว แต่ครูสกีมักมีฝีมือระดับยังพอลงแข่งในระดับโลกได้ เวลา มาเอร์ เล่นสกีเป็นงานอดิเรก เขาจะไม่เล่นบนทางที่ชาวบ้านเล่นกัน เพราะมันง่ายเกินไปครับ แต่จะหาที่ข้างเคียงที่มันยากและเสี่ยงเป็นพิเศษ นั่นคือช่วงเวลาที่ผ่านมานะครับ ตอนนี้รู้สึกว่าหมดสิทธิ์ไปแล้ว เพราะงานในตำแหน่งนี้นั้น แทบไม่เหลือเวลาให้ไปทำอะไรบนภูเขาสูงๆ อีกแล้ว
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ