สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
5 ผู้กุมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบันนับว่ากำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ซบเซามานานตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทรถยนต์ต่างๆ ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนผู้เชี่ยวชาญเริ่มคาดหวังว่าไทยจะเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อโฟกัสภาพเส้นทาง และเป้าหมาย ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย ให้คมชัดขึ้น ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ในสภาอุตสากรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และสถาบันยานยนต์ หน่วยงานอิสระในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
อัจฉรินทร์ สารสาส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
"คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาตินั้นจะต้องเกิด ถ้าจะให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ"
ฟอร์มูลา : นโยบายและเป้าหมายของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คืออะไร ?
อัจฉรินทร์ : กลุ่มยานยนต์อยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยการทำงานจะเดินตามกฎหมายที่ระบุในพระราชบัญญัติ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์ 35 บริษัท และบริษัทสมทบอีก 7 แห่งโดยวางนโยบายที่สำคัญ คือ แนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีจรรยาบรรณ ทำงานเพื่อสังคมเป็นตัวกลางภาคเอกชน ไม่ได้มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ การดำเนินการต้องชัดเจน คือ
1. มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ไม่เน้นเฉพาะธุรกิจของตนเองมากเกินไป
2. มีความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ว่ามีการเดินตามนโยบายสิ่งแวดล้อมในเรื่องมลภาวะ ยูโร 2 และ 3 ตลอดหรือปฏิบัติตามกฎที่กระทรวงออกมา ให้พร้อมมูลอย่างเต็มที่
3. มีความรับผิดชอบประสานงานกับหน่วยราชการ
4. มีรับความผิดชอบในการแข่งขันธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน
5. มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สินค้าต้องคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
6. มีความรับผิดชอบต่อการใช้แรงงาน และ
7. มีความรับผิดชอบต่อสังคม
โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางและที่พึ่งของกลุ่มเวลามีปัญหาในบางเรื่องที่พอจะประสานงานให้ได้ ไม่ได้ต้องการมีอำนาจ มีอิทธิพลเป็นการรวมตัวให้ได้รับความเชื่อถือในการถ่ายทอดปัญหาและความต้องการไปสู่หน่วยงานราชการและสื่อมวลชน
ฟอร์มูลา : คุณมองว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างไร ?
อัจฉรินทร์ : ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีความสำคัญมากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์แข็งแกร่งมากน้อยเพียงใดให้มองที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพราะถ้าผู้ผลิตชิ้นส่วนแข็งแกร่ง หมายถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ก็แข็งแกร่งดูได้จากมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะถ้าผู้ประกอบยานยนต์เข้ามาลงทุนในประเทศมาก แต่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศน้อย ถือว่าไม่แข็งแรงเพียงแต่มาใช้แรงงานไทยเท่านั้น หรืออีกส่วนหนึ่งมาประกอบแต่ไม่ใช่ชิ้นส่วนในประเทศไทยเลย
ฟอร์มูลา : การเข้ามาของบริษัทผู้ผลิตรถ ผู้ผลิตชิ้นส่วน จะมีรูปแบบการแข่งขันกันอย่างไร ?
อัจฉรินทร์ : การแข่งขันแบ่งเป็นเรื่องของคุณภาพและต้นทุนเรื่องคุณภาพไม่ต้องพูดถึงเพราะเจ้าของแบรนด์เข้ามาลงทุนทำเองเมืองไทยเราไม่เหมือนบางประเทศที่ออกแบบรถเอง ฉะนั้นเจ้าของแบรนด์ไม่ยอมให้คุณภาพงานตกต่ำ เพราะคุณภาพต้องอยู่ในระดับเจ้าของแบรนด์ไม่ว่าจะยี่ห้อใดประกอบที่ประเทศไหนก็เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือต้นทุน รถยนต์คันหนึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนถ้าชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งไม่สามารถผลิตได้ภายในต้นทุนที่แข่งขันได้ รถยนต์ทั้งคันก็แข่งขันไม่ได้ดังนั้นความสำคัญทั้งหมดต้องหมุนไปหาผู้ผลิตชิ้นส่วน
ฟอร์มูลา : ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาผู้ผลิตชินส่วนอย่างไร ?
อัจฉรินทร์ : โรงงานประกอบทุกบริษัทมีชมรมที่เรียกว่า ชมรมความร่วมมือประกอบด้วยผู้ผลิตชิ้นส่วนที่รวมตัวกันและร่วมกันพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ฯ ไม่ได้มีทุนมากที่ผ่านมาได้เสนอแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยขณะนี้สภาพัฒน์เป็นแกนกลางอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนให้มีความแข็งแกร่งเพื่อส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศสามารถต่อสู้กับที่อื่นๆ ได้
ฟอร์มูลา : จำนวนสมาชิก 35 บริษัท ได้จัดประชุมเพื่อร่วมการพัฒนาอย่างไรบ้าง ?
อัจฉรินทร์ : กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดให้สมาชิกเป็นกรรมการทุกบริษัท โดยแบ่งกลุ่มการทำงานเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มดูแลด้านภาษีอากรและระเบียบปฏิบัติเพื่อเชื่อมโยงกับทางราชการ 2. กลุ่มข้อมูลและตัวเลข ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องของข้อมูลตัวเลขแต่หลังจากนี้จะมีความชัดเจน ทันเหตุการณ์ เช่น ยอดการผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ การส่งออกทั้งหมดต้องสรุปได้ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปและเมื่อทราบยอดแล้วก็ต้องมีการประมาณการของเดือนนั้น และล่วงหน้า 3 เดือน 3. ดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น WTO อาฟตา และ 4. คณะทำงานด้านวิชาการ
สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้ในการทำงานนั้น ประกอบด้วยการตอบสนองนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนแข็งแรงขึ้นประสานงานกับสมาชิกและหน่วยงานราชการและพัฒนาคนด้วยการให้การสนับสนุนสถาบันยานยนต์เต็มที่ เพื่อให้มีผลรูปธรรม
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันบทบาทและหน้าที่ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีอะไรบ้าง ?
อัจฉรินทร์ : การทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำงานเป็นทีม ส่วนผมในฐานะประธานกลุ่มจะเป็นคนคุมเกมและรับผิดชอบงานทั้งหมด หากกลุ่มใดมีปัญหาก็จะเข้าไปช่วยแก้ไข เช่นปัญหาเรื่องภาษี ก็เข้าไปช่วยให้ความคิดเห็น เพราะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนแล้วการบริหารที่ผมเรียนมาก็นำมาใช้ในการบริหารงาน คือ 1. นโยบายต้องแม่น 2. องค์กรต้องชัดเจน 3.ข่าวสารถูกต้องและทันเหตุการณ์ตลอดเวลา เมื่อเรามีการวิเคราะห์งานแล้ว งานก็จะไม่ผิดพลาด
ฟอร์มูลา : ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไปในทิศทางไหนหลังจากที่เจ้าของยี่ห้อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหมดแล้ว ?
อัจฉรินทร์ : มันหนีไม่พ้นแล้ว เพราะว่าอุตสาหกรรมเป็นอย่างนี้มา 30 ปีแล้วจะตัดกลับไปให้มีรถยนต์แห่งชาติอย่างมาเลเซีย เป็นไปไม่ได้การเดินทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ต้องเดินทางต่อไปอย่างนี้แต่ถ้าให้มองตอนนี้ประเทศไทยเป็นดีทรอยท์ตะวันออกไปแล้ว หากแบ่งโลกออกเป็น 4 ซีกสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้เกือบทุกบริษัทก็ย้ายฐานการผลิตมาไทยกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อีซูซุ มิตซูบิชิ โตโยตา ฮอนดา ฟอร์ด และมาซดา ภาระของประเทศ ก็คือต้องพยายามให้บริษัทเหล่านี้อยู่ที่นี่ตลอดไป
ดังนั้นเพื่อให้บริษัทแม่ที่เข้ามาลงทุนอยู่กับประเทศไทยตลอดไป เราจะต้องมีการดูแลใน 3 ประเด็น คือ 1. ปัจจัยพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน น้ำ ไฟ ต้องมีความพร้อมและสามารถให้บริการได้ทันต่อการขยายตัว 2. กฎข้อบังคับต่างๆ ต้องมีความรัดกุม ง่าย สะดวกเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนอยู่นานๆ 3. บุคลากร จุดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องดูแลอย่างมากเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เคยชินกับวินัยในโรงงานอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนเกิดความไว้วางใจ มั่นใจในการเข้ามาลงทุน
วิสัยทัศน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมุ่งมั่นใช้การผลิตและประกอบยานยนต์ในไทยให้ทั่วโลกยอมรับว่าอยู่ในมาตรฐานระดับโลกซึ่งตอนนี้เราก็เป็นอยู่แล้ว แต่จะต้องรักษามาตรฐานนั้นไว้ ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวเชื่อมโยงธุรกิจยานยนต์กับอีกหลายธุรกิจร่วมกัน
ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องรถยนต์ทำอย่างไรให้เจ้าของแบรนด์รักประเทศไทยและไม่ไปลงทุนที่อื่น
แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เพราะมีเรื่องของการเมือง และเรื่องอื่นๆ อีกมากหรือถ้าเป็นไปได้ก็มาตั้งโรงงานเล็กๆ แต่ศูนย์กลางให้อยู่ในประเทศไทยถ้าเป็นอย่างนั้นก็พูดได้อย่างมั่นใจว่าประเทศไทยเป็นดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย
ฟอร์มูลา : จะทำอย่างไรให้เจ้าของยี่ห้อเกิดความมั่นใจในประเทศไทย ?
อัจฉรินทร์ : ต้องทำให้นักลงทุนมีความสุขในการที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีสิ่งรองรับในอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา การคมนาคม ขนส่งหรือแม้แต่นักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ รองรับการขยายงานหรือการลงทุนเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามา ตัวอย่าง นักลงทุนจะขยายโรงงานก็ห้าม ทั้งที่เมี่อ 20 ปีที่แล้วอย่างที่สมุทรปราการ ทีแรกบอกว่าให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม อยู่ๆ ก็มาบอกว่าเป็นเขตสีเขียวต้องย้ายโรงงานไปอยู่ระยอง อย่างนี้เสียหายต่อผู้ประกอบการ ควรมีบทสรุปที่ชัดเจนให้นักลงทุนมีความสุขกับการทำอุตสาหกรรมดีกว่า เพราะเราเป็นคนชี้ให้เขาเข้ามาลงทุน
ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ก็เหมือนกัน ให้เขามีความสุขไม่ใช่ว่าเขาประกอบรถไปเรื่อยๆ ทุกปีวันดีคืนดีมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาขอยึดเอกสารเมื่อ 4 ปีที่แล้วเอาไปตรวจแล้วก็กลับมาบอกว่าคุณผิดตรงนั้นตรงนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มเท่านั้นเท่านี้บัญชีก็ปิดงบดุลไปแล้ว ไม่สามารถตามหาได้ ก็ต้องมาถูกจับตรงจุดนี้ที่ทำให้เขาเกิดปัญหาถ้าจะทำก็ให้หมดกันเป็นปีๆ ไปเลย ถ้าผิดก็ทำกันปีนั้น ไม่ใช่ปล่อยมาเรียกกันย้อนหลังเพราะหากนักลงทุนเข้ามาลงทุนก็จะเป็นผลดีกับประเทศชาติ คนมีงานทำ เงินสะพัด มีใช้จ่ายในชุมชน
ฟอร์มูลา : อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ?
อัจฉรินทร์: อยากให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อมอยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการโดยมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาการอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ หรืออะไรก็ได้ที่จะเป็นศูนย์รวมเวลามีปัญหาอะไรจะได้ประสานกับกระทรวง ทบวง กรมได้ไม่ใช่ว่าให้ผู้ประกอบการต้องไปวิ่งเต้นกันเอง ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการนำเสนอไปแล้วขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะตัดสินใจอย่างไรเพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมาก
อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องผู้ผลิตชิ้นส่วน ซึ่งจัดเป็นหลายประเภท เช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มาจากเจ้าของแบรนด์เอง หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาในประเทศส่วนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะมีเทคโนโลยี โนว์ฮาว แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่อยู่มานานพวกนี้ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนในต่างประเทศด้วยเนื่องจากเมืองไทยยังมีตลาดไม่ใหญ่มากนัก เครื่องมือที่มีราคาแพง จึงไม่สามารถนำเข้ามาได้ส่วนนี้น่าจะมีศูนย์ทดสอบชิ้นส่วน โดยรัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือเพราะหากมองแล้วในปัจจุบันการผลิตรถของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก รถจักรยานยนต์อันดับ 6 ของโลก สำหรับตลาดภายในประเทศอันดับที่ 25 ของโลก ประเทศที่เจริญแล้วอย่าง อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส หรือสหรัฐ ฯ มีปริมาณอัตราการใช้รถประมาณ 1.5-3 คน/รถ 1 คันของประเทศไทยยังอยู่ที่ 14 คน/1 คัน สัดส่วนของเรายังสามารถเพิ่มการผลิตขึ้นไปได้อีกมากและมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยมีโอกาสที่จะเติบโตและพัฒนาไปได้อีกมากและหากมองที่ประเทศ พม่า ลาว เขมร อิรัก อิหร่าน หรือประเทศต่างๆ เหล่านี้ถ้าไทยสามารถดึงประเทศแถบนี้มา แล้วให้ไทยเป็นศูนย์กลางก็จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก
ฟอร์มูลา : คู่แข่งในการเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย ของประเทศไทยมีใครบ้าง ?
อัจฉรินทร์ : มีหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย พวกนี้น่ากลัวทั้งนั้นเพราะประเทศเหล่านี้มีตลาดใหญ่ แม้ว่าประเทศจะยังด้อยพัฒนาอยู่ก็ตาม
ฟอร์มูลา : สิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันให้ไทยเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย คือส่วนใด ?
อัจฉรินทร์ : นโยบายทางภาครัฐ การเมือง และความชัดเจน และขณะนี้การเมืองก็มีผลต่อราคาน้ำมันซึ่งครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ตอนนี้การเมืองเราก็เริ่มแน่นแล้ว เหลือแต่นโยบายที่ต้องชัดเจน เช่นเรื่องรถยนต์ ขณะนี้ไทยเป็นผู้นำรถพิคอัพ 1 ตัน มียอดขายถึง 60 % ของยอดขายรถทั้งหมดในประเทศก็ควรจะสนับสนุน นอกจากนั้นเรื่องของชิ้นส่วนมีการใช้ถึง 80 % ก็ควรที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่และให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรที่จะมุ่งไปที่รถพิคอัพและอีกส่วนหนึ่งคือรถจักรยานยนต์ที่เห็นได้ว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ฟอร์มูลา : เมื่อประเทศไทยเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย แล้ว จะรักษาสถานภาพไว้ได้อย่างไร ?
อัจรินทร์ : เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสมาคมผู้ผลิตชิ้นสวนยานยนต์ ได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี และได้เสนอแนวทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในเรื่องต่างๆ เช่น วิสัยทัศน์ และเป้าหมายศักยภาพการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ ข้อเสนอ ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
โดยคาดการณ์ว่าในปี 2549 จะมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 420,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มของการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ 456,000 ล้านบาท การจ้างงานในประเทศ 310,000 คน และรถยนต์จะมียอดผลิต 1 ล้านคัน แบ่งเป็นพิคอัพ 1 ตัน 7 แสนคัน และรถยนต์นั่ง 3 แสนคัน และใน 1 ล้านคันนี้ จะแบ่งเป็นการส่งออก 4 แสนคัน และใช้ในประเทศ 6 แสนคัน ซึ่งมีความเป็นไปได้เพราะในปี 2539 ยอดจำหน่ายรถยนต์มีถึง 5.9 แสนคัน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน
และตรงนี้ก็ทำรายได้ให้ประเทศไทยนับแสนล้านบาททางด้านภาครัฐรับทราบหมดแล้วว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเดินไปทางนี้และเวลานี้ได้มีการทำงานตามลำดับขั้นตอน โดยสภาพัฒน์ก็ดำเนินการอย่างเร่งรีบและทุกฝ่ายก็ทำงานกันอย่างเต็มที่เช่นกัน
ฟอร์มูลา : เมื่อประเทศไทยเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย แล้วเราได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?
อัจฉรินทร์ : มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือมีการซื้อขาย ส่วนในทางอ้อมจะเห็นชัดว่าจะทำให้เกิด แรงงาน สังคม ชุมชน และความเจริญก็จะตามมา เงินตราก็มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ฟอร์มูลา : จะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรหรือไม่ ?
อัจฉรินทร์ : ข้อเสียคือต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศแต่จะคิดว่านั่นเป็นข้อเสียหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแนวความคิด แต่ผมไม่คิดว่าเป็นข้อเสียเพราะถ้าเขาไม่มา เราก็ไม่มีโนว์ฮาว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ใช่เมืองวิชาการซึ่งถ้าถามผม ผมว่าไม่มีข้อเสียนะ คนที่ทำธุรกิจไทยแท้อาจจะมองว่าเขามากลืนเราแต่ความจริงเป็นการหมุนไปของโลก ต้องสู้กัน สู้ไม่ได้ก็ต้องแพ้ เพราะไทยไม่ใช่ประเทศปิดเชิญให้เข้ามาลงทุนจะกีดกันเขามันเป็นไปไม่ได้
ฟอร์มูลา : มีการประสานงานกับสมาคมอื่นที่เป็นรูปธรรมอย่างไร ?
อัจฉรินทร์ : ปัจจุบันพยายามที่จะอยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้ง 4 กลุ่ม เพราะไม่ค่อยเกี่ยวกับส่วนอื่นโดยการประสานงานที่ผ่านมา จนถึง ณ วันนี้ที่เป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย ได้ กลุ่มเรามีส่วนอย่างมากที่ดำเนินการมาตั้งแต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังเป็นสมาคมอุตสาหกรรมไทยเราเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่ง มีการประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างสม่ำเสมอมาจนถึงวันนี้
ฟอร์มูลา : หลังจากที่เป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย แล้ว คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ?
อัจฉรินทร์ : จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะคิดต่อไปว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับยานยนต์ที่จะเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทยสัก 1-2อย่าง โดยจุดนี้สถาบันยานยนต์เป็นส่วนสำคัญ โดยอาจจะเริ่มจากง่ายไปหายาก เช่นสนับสนุนอย่างไรให้มีจักรยานยนต์ของคนไทยแท้ เกิดขึ้นจากคนไทย เพื่อคนไทย โดยคนไทยวาระต่อไปคือรถ ซึ่งอาจจะเป็นรถตุ๊กๆ ก็ได้ แต่จะต้องทำกันอย่างจริงจังไม่ใช่ทำทิ้งๆ ขว้างๆก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ฟอร์มูลา : ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จและความล้มเหลวคืออะไร ?
อัจฉรินทร์ : ต้องมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะต้องมีคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ ซึ่งเมื่อมีแล้วก็จะมีสำนักงานต่างๆเกิดขึ้นมา เพื่อทำอะไรออกมาเป็นรูปธรรมเนื่องจากสถาบันยานยนต์นั้นก็มีขีดจำกัดในเรื่องของการทำงานเหมือนกันจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำก็ยาก เพราะมีงานมากไม่ได้ดูแลเฉพาะยานยนต์เพียงอย่างเดียวหรือจะให้สภาพัฒน์ ก็ทำได้เพียงแค่วางแผน ไม่สามารถดำเนินงานได้
ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาตินั้นจะต้องเกิดถ้าจะให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ฟอร์มูลา : คนที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติก็จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานกับบริษัทรถยนต์อยู่แล้วจะเกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กันหรือไม่ ?
อัจฉรินทร์ : คณะกรรมการจะเป็นคนกลาง เป็นสำนักงานกลาง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับบริษัทรถยนต์แต่อาจจะเกี่ยวก็ได้หากใครต้องการที่จะทำงาน ก็ต้องลาออกจากบริษัทรถยนต์ก่อนคือเปลี่ยนหมวกไปเลย เพราะส่วนนี้เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ
อดิศักดิ์ โรหิตะศุน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
"ด้านรถยนต์ปัจจัยอย่างหนึ่งคือต้องมีตลาดภายในเข้มแข็ง ตัวที่จะกระตุ้นตลาดคือสินค้าตัวไหนและเมื่อกระตุ้นในประเทศแล้วต้องกระตุ้นตลาดต่างประเทศด้วย คือต้องหานีชโพรดัคท์ที่อื่นๆ ไม่มีและเมืองไทย นั่นคือ พิคอัพ เราก็มองว่าจะทำอย่างไรให้พิคอัพของไทยเก่งขึ้น ให้เป็นแชมเพียนขึ้นมา"
ฟอร์มูลา : บทบาทและหน้าที่ของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีอะไรบ้างและได้วางแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไว้อย่างไร ?
อดิศักดิ์ : บทบาทของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาชิกจะมีทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบซึ่งจะเห็นว่าเป็นองค์กรเดียวที่มีทั้งผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วน เข้ามาอยู่ด้วยกันก็น่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในภาครวม อะไรที่เกี่ยวกับรถยนต์ล้วนๆก็คงเป็นของกลุ่ม อะไรที่เป็นชิ้นส่วนก็คงเป็นกลุ่มชิ้นส่วน หรือสมาคมชิ้นส่วน
หลังจากที่ผมได้รับตำแหน่งนายกสมาคม ฯ ก็หารือกับคณะกรรมการสมาคม ฯที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เจริญเติบโตแบบยั่งยืน เพราะดูแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์โอกาสเกิดแบรนด์ใหม่คงยาก มีแต่จะค่อยๆ หายไป กลายเป็นบริษัทต่างๆ รวมกันแล้วก็จะมีความแข็งแกร่งมากๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายอเมริกัน ยุโรป ญี่ปุ่นถ้าเขาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิต ไม่ใช่ฐานการประกอบ
40 กว่าปีที่มาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตก็มีมาก แต่ที่มาใช้เป็นฐานการประกอบก็มีถ้าทำให้เขาเชื่อมั่น และใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิต ก็จะทำให้สิ่งที่ได้ลงทุนไปในอดีตสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับประเทศไทย สังคม เศรษฐกิจ ได้ในอนาคตนั่นคือความพยายามที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุน บริษัทเหล่านี้เข้ามาและที่เข้ามาแล้วก็ฝังรากหยั่งลึกลงไป สิ่งเหล่านี้คงต้องมีปัจจัย เพราะเขามีสิทธิ์เลือกที่ใดที่หนึ่งเราก็พยายามดูว่าปัจจัยที่เลือกนั้นมีอะไรบ้าง โดยดูจากปัจจัยที่ 1. ตลาด 2.การสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม และสุดท้ายเรื่องการวางแผนงานระยะยาวและสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากภาครัฐ บรรยากาศในประเทศไทยที่จะต้อนรับการเข้ามาลงทุนนั่นคือสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดัน สนับสนุน ชี้นำให้กับคนที่มีอำนาจความรับผิดชอบในส่วนนั้นร่วมกัน
ตลาดในประเทศไทยอีก 5 ปีข้างหน้ายังไม่ถึง 1 ล้านคันซึ่งก็ยังไม่ใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือจีนการที่จะทำให้เมืองไทยเป็นที่น่าดึงดูด ก็จะมีเรื่องของอาเซียน ซึ่งถ้ารวมกันเป็นตลาดเดียวแล้วเจ้าของแบรนด์จะเจาะเข้ามาก็ต้องผ่านประเทศใดประเทศหนึ่งและประเทศไทยเป็นประตูให้กับเจ้าของแบรนด์ผ่านเข้ามาในอาเซียนได้ประเทศไทยก็จะมีโอกาสค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเราก็อยากสนับสนุน ผลักดันโครงการในอาเซียนให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผสมผสานตลาดนี้เพราะที่ผ่านมามีบางประเทศยังไม่พร้อม และพยายามไม่เข้าร่วม หรือขอเลื่อนออกไปส่วนประเทศที่พร้อมเราก็อยากที่จะให้เดินหน้าต่อ และหลังจากที่เป็นตลาดเดียวกันสเปคของรถที่ใช้ในอาเซียนก็น่าจะเป็นสเปคเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในด้านปริมาณ และอีกอย่างประเทศในแถบนี้ก็มีภูมิอากาศร้อนเหมือนกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะทำให้แตกต่างกันนั่นคือแผนในระยะ 2 ปีนี้ที่จะต้องผลักดัน
สุดท้ายเรามีผู้ผลิตชิ้นส่วนอยู่ในสมาคม ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในอาเซียนของเราเข้มแข็งที่สุด ณ ปัจจุบันแต่กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เรื่องการแข่งขันเสรีผู้ผลิตชิ้นส่วนมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยสมาคม ฯ เข้าไปช่วยเหลือส่วนหนึ่ง เช่นให้ความรู้ ในเรื่องข่าวสารข้อมูล ที่น่ารู้เพื่อให้เขาตื่นตัว
ฟอร์มูลา : ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ควรจะไปทิศทางใด ?
อดิศักดิ์ : รัฐบาลที่ผ่านมาใช้วิธีคิดเองหรือเอาเอกชนไปร่วมคิดบ้าง แล้วกำหนดนโยบายออกมาแต่รัฐบาลนี้ค่อนข้างมีแนวทางการทำงานที่แปลกออกไปโดยให้เอกชนคิดก่อนว่าพวกเราอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร ถ้าอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้ผลิตรถยนต์สำคัญของโลกให้ความเชื่อมั่น เข้ามาผลิตไม่ได้มาประกอบซึ่งจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ มีการจ้างงาน มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเกิดขึ้นรายได้จากอุตสาหกรรมชิ้นส่วน จากอุตสาหกรรมยานยนต์ก็จะไม่ได้รองรับเฉพาะไทยอย่างเดียวแต่จะส่งเสริมไปในเรื่องของการส่งออกด้วยทำให้ได้ทั้งเงินตราต่างประเทศ เทคโนโลยี การจ้างงาน ที่จะไปเสริมสร้างเศรษฐกิจของเราที่ตั้งเป้าไว้คงจะเริ่มเห็นในปี 2549 ถ้าดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย นั่นคือปีเริ่มต้นซึ่งถ้าเราทำดีไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น
ฟอร์มูลา : เป้าหมายหลักที่วางไว้มีอะไรบ้าง ?
อดิศักดิ์ : ทางด้านรถยนต์ปัจจัยอย่างหนึ่งคือต้องมีตลาดภายในเข้มแข็งตัวที่จะกระตุ้นตลาดคือสินค้าตัวไหน และเมื่อกระตุ้นในประเทศแล้วต้องกระตุ้นตลาดต่างประเทศด้วยคือ ต้องหานีชโพรดัคท์ที่อื่นๆ ที่ไม่มี และเมืองไทย นั่นคือ พิคอัพเราก็มองว่าจะทำอย่างไรให้พิคอัพของไทยเก่งขึ้น ให้เป็นแชมเพียนขึ้นมาและสามารถขยายผลได้มากขึ้น เราต้องทำอะไรบ้างอันดับแรกที่ต้องทำคือต้องผ่อนคลายกฎระเบียบในการเอารถพิคอัพไปทำเป็นอนุพันธ์ต่างๆ ขึ้นมา
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งตลาดอาเซียนทำให้ไทยเป็นฐาน เป็นประตู ในเรื่องชิ้นส่วนที่ต้องทำกันค่อนข้างมากขณะนี้ถ้าเป็น โออีเอม คุณภาพนั้นใช้ได้แล้ว แต่ อาร์อีเอม คิดว่าคงยังขาดในเรื่องคุณภาพอยู่และอาร์อีเอม ไม่สามารถรับรองคุณภาพด้วยตัวเองได้ โออีเอม ติดแบรนด์ขายได้ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร ส่วน อาร์อีเอม ไปติดแบรนด์แล้วไม่เป็นที่รู้จักในเรื่องของศูนย์ทดสอบเป็นสิ่งที่คิดว่าจำเป็น กำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบดูแลกันอย่างไร ศูนย์นี้จะมาช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนในเรื่องการพัฒนา
ด้านคุณภาพ ต้องลงทุนสูง การทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีขีดความสามารถมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด การลดต้นทุน การขนส่งเราคงเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายไม่ได้ คงต้องให้ศึกษาและพัฒนากันเองหรือใช้ระบบการรวมตัวกัน โดยนำคนที่เก่งคนละอย่างมาช่วยกัน
ขณะเดียวกันองค์กรที่ห้อมล้อมธุรกิจนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย วิศวกร ต้องเข้ามาร่วมมือกันนอกจากนี้เรื่องการพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านมาเราอาจจะถูกใช้เป็นฐานการประกอบบริษัทที่มาลงทุนนั้นคาดหวังค่าแรงถูก ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของแบรนด์ เครือข่ายจากนี้ไปคงต้องพัฒนาในเรื่องของบุคลากร ให้มีแรงงาน ฝีมือ สติปัญญา มากขึ้น
ฟอร์มูลา : การที่คุณเป็นทั้งผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ และเป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีปัญหาอย่างไรบ้าง ?
อดิศักดิ์ : อุตสาหกรรมนี้เป็นทรัพย์สินที่มีค่าของสังคม เราในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีความรู้บ้างกับบริษัทในฐานะลูกจ้างก็ต้องทำ กับสังคมก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่อยากทำให้ซึ่งแต่เดิมก็ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ อุปนายก เลขาธิการ ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นนายกสมาคม ฯซึ่งพอเป็นแล้วก็ต้องรับผิดชอบเต็มตัว ก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท มีการคุยกับท่านประธานว่าจะเข้ามา ท่านก็ตกลง
ถ้าหากมีความสามารถพอที่จะเข้าไปพัฒนาเสริมสร้างอะไรที่ดีขึ้นก็ยินดีเพราะหากว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโต ฮอนดา ก็จะเติบโตไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจเพียงแต่เลือกสวมหมวกให้ถูกเวลาเท่านั้นก็พอ
วัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์
"สถาบันยานยนต์ ต้องผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกและอุตสาหกรรมจะโตหรือไม่โตขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้มแข็งเพราะหากใหญ่เกินไปอาจพังง่าย เราต้องค่อยๆ โตแบบเข้มแข็ง"
ฟอร์มูลา : บทบาทและหน้าที่ของสถาบันยานยนต์ไทยคืออะไร ?
วัลลภ : สถาบันยานยนต์ไทยจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2541โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งเพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าโลกเพราะฉะนั้นหน้าที่ของสถาบันยานยนต์คือช่วยเหลือและพัฒนาส่งเสริมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยานยนต์
ฟอร์มูลา : เป้าหมายของสถาบันยานยนต์วางไว้อย่างไร ?
วัลลภ : เป้าหมายของสถาบัน ฯ เกิดขึ้นจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกำหนดหน้าที่ไว้ 4 ข้อ คือ 1.ศึกษาวิจัย และเสนอแนะแนวทาง แผนกลยุทธ์ และมาตรการในอุตสาหกรรม เพื่อเสนอให้รัฐบาล เช่นการทำแผนแม่บทให้มีทิศทาง และวิสัยทัศน์ร่วมกับภาครัฐ เอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยการร่วมกลุ่มธุรกิจเข้ามาเพื่อวางแผน ให้มีเป้าหมาย จุดประสงค์ กลยุทธ์ ให้เป็นที่ยอมรับ 2.สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเหมือนกับเป็นส่วนประสานงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดเพื่อสนับสนุนให้งานบรรลุเป้าหมาย 3. ประสานและร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศระหว่างรัฐกับรัฐ เอกชนกับเอกชน เอกชนกับสถาบันการศึกษา ประสานความร่วมมือกัน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯ และ4. ให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้านข้อมูล ให้บริการจัดซื้อ จัดหา การตรวจสอบผลิตภัณฑ์การฝึกอบรม การพัฒนาและทดลองทักษะ ฝีมือ ที่ผ่านมามีการอบรมคนมากว่า 40,000 คน 130 วิชาซึ่งเราจัดให้มีการฝึกอบรม โดยใช้โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีอยู่ เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเพื่อส่งบุคลากรไปยังโรงงานต่างๆ กว่า 600 โรงงาน ศูนย์ทดสอบของสถาบันยานยนต์
เป็นศูนย์ทดสอบที่ได้รับมอบหมายมาจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เราจึงต้องทำการทดสอบให้กับหน่วยงานของ สมอ. เป็นคนควบคุมมาตรฐานไม่ใช่เฉพาะยานยนต์เท่านั้น ซึ่งศูนย์ทดสอบนี้ก็มีการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท
แต่จริงๆ แล้วหน้าที่หลักคือ ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกและอุตสาหกรรมจะโตหรือไม่โต ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้มแข็งเพราะหากใหญ่เกินไปอาจพังง่าย เราต้องค่อยๆ โตแบบเข้มแข็งนี่คือเป้าหมายของการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่มีทั้งความรู้ ความมั่นคง ซึ่งได้มีการวางวิสัยทัศน์หรือทิศทางการดำเนินการว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น และให้อยู่ในระดับโลกได้ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้จนถึงปัจจุบันก็ได้มีผลออกมาถึงระดับหนึ่งว่ารถยนต์ในประเทศไทยได้มีการขายไปสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่เราจะสามารถส่งรถยนต์ออกไปขายประเทศอื่นได้แสดงว่าเราต้องมีทั้งคุณภาพและต้นทุนที่สู้กับเขาได้ แต่ปัจจุบันนี้เราเองก็มีการพัฒนา คือพยายามใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศประมาณกี่เปอร์เซนต์ ?
วัลลภ : สำหรับรถพิคอัพ จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 70-80 % แล้วแต่รุ่นส่วนรถเก๋งจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 40-50 % แต่ถ้าเป็นรุ่นยอดนิยมก็จะใช้ประมาณ 60 %
ฟอร์มูลา : สำหรับเรื่องการแข่งขันกับต่างประเทศมีเป้าหมายอย่างไร ?
วัลลภ : จากการทำแผนแม่บทมองเห็นแล้วว่าตลาดควรจะไปในทิศทางใดเพราะจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันเป็นจำนวนมากซึ่งตลาดรถยนต์เกิดวิกฤติจากกำลังการผลิต 6 แสนคัน ตกลงมาเหลือเพียง 1.5 แสนคันทำให้บริษัทต่างๆ มีการปรับแผนโดยใช้ไทยเป็นฐานส่งออกเพื่อให้บริษัทอยู่รอด บริษัทแรกที่เริ่ม คือมิตซูบิชิ จีเอม กับ ฟอร์ด ก็เข้ามาด้วยในช่วงนั้น และได้มีการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกทำให้ตลาดส่งออกมีเพิ่มมากขึ้น และบริษัทอื่นก็มีการปรับตัว ทำให้มองเห็นอนาคตโดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพ ดังจะเห็นได้ว่ามีการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยกันหมด ไม่ว่าจะเป็นโตโยตา อีซูซุ ฟอร์ด มาซดา มิตซูบิชิ เหลือแต่ นิสสัน เจ้าเดียว
ดังนั้นดูจากตลาดการส่งออกปีที่แล้วมี 1.8 แสนคัน ปีนี้ อีซูซุ ฟอร์ด มาซดา และจีเอม ฮอนดา โตโยตาเริ่มส่งออกรถเก๋ง คาดว่าจะมีปริมาณ 2.2-2.3 แสนคัน ส่วนปีหน้าจะมี อีซูซู โตโยตา ส่งออกอีกปีละ 1แสนคัน จึงมองว่าการแข่งขันกับต่างประเทศ ประเทศไทยจะมีจุดแข็งคือรถพิคอัพและรถยนต์ขนาดเล็ก อย่างเช่น ซิที กับวีออส เรามีความได้เปรียบ ถ้าเป็นรถราคาแพงก็เป็นยุโรปหรือญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นรถขนาดเล็กแบบมีนีคาร์ ก็ให้อินเดียผลิตไป
ผมมองว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการส่งออกรถพิคอัพไปทั่วโลก ปัจจุบันมี 2.5 ล้านคันทั่วโลกตลาดใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา คงแข่งขันไม่ได้ และมีโรงงานอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะใช้ขนาด 1.5 ตัน เครื่องยนต์ใหญ่ ทำให้สหรัฐ ฯ ส่งไปยังประเทศอื่นไม่ได้ เนื่องจากมีลักษณะที่ใหญ่กว่าทำให้ไทยได้เปรียบในการส่งออกทั่วโลก แต่เราจะส่งอะไหล่ไปขายที่สหรัฐ ฯต่อไปก็จะขยายไปสู่รถยนต์ขนาดเล็ก ดังนั้นจึงตั้งเป้าไว้ คือ รถพิคอัพ ภายในปี 2549 จะส่งออก 4แสนคัน ที่เหลือเป็นตลาดในประเทศน่าจะเป็น 6 แสนคัน เท่ากับผลิตรถได้ 1 ล้านคันในส่วนนี้จะเป็นรถพิคอัพ 70 % ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 8 แต่ถ้าเป็นรถทุกประเภทประเทศไทยจะอยู่อันดับที่ 14 ของโลก แต่ถ้าในปี 2549 จะทำให้อยู่ในอันดับ 10-11 ของโลก
ฟอร์มูลา : อุปสรรคที่จะทำให้เกิดปัญหาในการแข่งขันเป็นเรื่องใด ?
วัลลภ : พูดไปแล้วจะเป็นอุปสรรคหรือเป็นโอกาสก็ได้ รถยนต์ถือเป็นสินค้าพิเศษที่องค์กรการค้าโลกให้มีข้อกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีได้เนื่องจากว่าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสามารถออกข้อกำหนดตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการพัฒนาจึงจำเป็นต้องเป็นไปตามกติกาการทดสอบ กำหนดมาตรฐาน ซึ่งในสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่น จะเข้มงวดในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการทดสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐานการยอมรับผลซึ่งกันและกัน ตอนนี้ประเทศไทยมีผ่านอยู่เพียงเรื่องเครื่องยนต์เข็มขัดนิรภัย กระจกนิรภัย เป็นต้น แต่ในยุโรปมีข้อกำหนด 110 ข้อ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นจุดที่ต้องพัฒนาเป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก จึงทำให้ต้องมีการลงทุนศูนย์ทดสอบมาตรฐานให้นานาชาติยอมรับผลการทดสอบ คือ ทดสอบที่ประเทศไทยและสามารถส่งออกไปเลยไม่ต้องไปทดสอบอีก ซึ่งการทดสอบมีราคาสูงมาก จะให้ผู้ผลิตทำเองเป็นไปไม่ได้จุดนี้ที่สถาบันยานยนต์พยายามผลักดันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันสถาบัน ฯ มีจำนวนสมาชิกเท่าไร ?
วัลลภ : มีอยู่ประมาณ 500 บริษัท แต่บริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเราจะไม่ช่วยนะถ้าเป็นสมาชิกนี่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือมาใช้บริการต่างๆ ก็จะได้ราคาพิเศษซึ่งไม่ได้จำกัดคนที่จะมาเป็นสมาชิก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของยานยนต์เข้ามาเป็นสมาชิกได้เพราะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร เราต้องการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เติบโตไปด้วยกัน
สมาชิกจะได้รับการสนับสนุนในหลายเรื่อง สรุป ก็คือ 1. เป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารรถยนต์อย่างฉลาด คือมีข้อมูลรวมถึงการวิเคราะห์ ช่วยเหลือ แนะนำ 2. ให้ความช่วยเหลือประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์ให้สมาชิกและอุตสาหกรรม และ 3. การฝึกอบรม ให้คำแนะนำปรึกษารวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราจะช่วย ออกแบบ ทดสอบและปรับปรุงจนสามารถนำไปขายได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการช่วยเหลืออยู่ 46 บริษัท 80 ผลิตภัณฑ์และขายได้แล้ว 39 ผลิตภัณฑ์ แต่สถาบันไม่ได้ทำคนเดียว มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยนั่นก็คือภาคเอกชน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแต่บริษัทเหล่านี้ก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรของตนมาร่วมในการพัฒนาออกแบบด้วยโดยเรามีเครื่องมือให้ ซึ่งเราต้องการพัฒนาแบบยั่งยืน นั่นคือ ช่วยพัฒนาคน พัฒนาผลิตภัณฑ์และแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ฟอร์มูลา : ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์จะไปในทิศทางใด ?
วัลลภ : โตอย่างเข้มแข็ง มีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ให้สูงขึ้นหรือมีมูลค่าเพิ่มในประเทศอย่างต่ำ 60 % เพื่อผลประโยชน์จะได้ตกอยู่ในประเทศไทยเพราะการขายรถไปต่างประเทศ จะขายเป็นชื่ออะไรก็ตามแต่เราเป็นคนทำได้มูลค่าเพิ่มตรงจุดนั้น 60 % แทนที่จะได้ 10 หรือ 20 % เอาของมาให้เราทำ ถ้าเราได้ 60 % นอกจากนั้นก็จะได้เทคโนโลยีเพราะยานยนต์เทคโนโลยีจะได้ตั้งแต่ ยาง พลาสติค เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งสามารถทำผลิตภัณฑ์อื่นได้เพราะถ้ารู้เรื่องเทคโนโลยียานยนต์แล้ว จะสามารถนำเทคโนโลยีนั้นไปพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ได้ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบ คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท/ปี ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะขึ้นไปถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเราขอเพียง 6 แสนล้านบาท เท่านั้นก็พอ และคุ้มค่า
ฟอร์มูลา : เส้นทางสู่ ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย สำหรับไทยคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ จะใช้เวลานานเท่าไร ?
วัลลภ : ดีทรอยท์ ของสหรัฐ ฯ คือ ศูนย์กลางการผลิตรถ ซึ่งในนั้นมีทั้ง ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสถาบันการศึกษา นั่นคือเราต้องการความครบเครื่องของการผลิตรถยนต์ถึงวันนี้เราสามารถเป็นศูนย์การผลิตรถในเอเชียมากกว่า 80 % เพราะว่าญี่ปุ่นจะไม่แข่งขันกับเราเกาหลี มีแต่แบรนด์ของเกาหลี แต่ไทยมีทุกแบรนด์ของโลก ถ้าสู้ในเรื่องแบรนด์เราได้เปรียบจีนตลาดใหญ่มากไม่สามารถที่จะซัพพอร์ทตลาดในประเทศได้ ดังนั้นตลาดต่างประเทศจึงไม่สามารถทำได้ เป้าหมายการเป็น ดีทรอยท์ออฟ เอเชีย นอกจากการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ต้องมีการเพิ่มชิ้นส่วนในประเทศเพราะถ้ามีการเพิ่มชิ้นส่วนแสดงว่าชิ้นส่วนนั้นราคาสามารถสู้ในตลาดโลกได้ ดังนั้นจึงจะถาวรไม่ใช่ว่ามาใช้ประเทศไทย เพราะว่ามีอาฟตา และต่อไปในอนาคตก็จะมี WTO อีกเราต้องการว่าถ้าไม่มีเรื่องกำแพงภาษีมากั้นก็มาดวลตัวต่อตัวเรามั่นใจว่าต้องพัฒนาความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนให้สู้กับตลาดโลกได้ ไม่ใช่ของดีราคาถูกแต่เป็นของดีราคาสูง มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องมีความรู้ ใช้พลังสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการขึ้น ขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ 1. มีการจัดตั้งศูนย์การทดสอบและวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ว่าเราจะต้องพัฒนาตรงไหนบ้างสามารถที่จะส่งออกไปตลาดโลกได้ด้วย 2. การจัดเตรียมบุคลากรในเรื่องทักษะฝีมือแรงงานในสายวิชาชีพสามารถรองรับและมีขีดความสามารถที่เป็นมาตรฐาน 3. การรวมกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้
ฟอร์มูลา : ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์แล้วเราจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองหรือไม่ ?
วัลลภ : วันนี้คงยังไม่ถึงเวลาประเทศไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพราะฉะนั้นเราผลิตรถยนต์ให้แก่ยี่ห้อต่างๆ ที่เข้ามาผลิตในประเทศไทยก็คาดว่าในอนาคตความสามารถของเราก็คงจะก้าวขึ้นไปถึงขั้นมีรถยนต์เป็นของตัวเองความต้องการของผู้บริโภคก็มีส่วนประกอบด้วย รวมถึงคุณภาพในหลายๆ ด้านทั้งความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ในมาตรฐานใหม่ที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากฉะนั้นวันนี้บริษัทรถยนต์ทั่วโลกหลายๆบริษัทรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อที่จะพัฒนาให้สู้กับโลกที่มีความต้องการรถที่มีความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม และที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาตลอดเวลา
ฟอร์มูลา : ปัญหาของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องใด ?
วัลลภ : ปัญหาการพัฒนาต้องแบ่ง เพราะเรามีผู้ทำธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ บริษัทข้ามชาติ บริษัทร่วมทุนและบริษัทไทยแท้ ใน 3 ส่วนต้องพัฒนาและประสานงานไปด้วยกันต้องแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน จึงจะเติบโตไปด้วยกันบริษัทข้ามชาติถ้าไม่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าออกมาได้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นก็ต้องมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยอีกซึ่งการพัฒนานั้นต้องพัฒนาไปทั้งระบบต้องร่วมมือกัน ประเทศไทยถ้าทำแบบเดี่ยวๆจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ารวมกันแล้วจะไม่สามารถแข่งขันได้ แต่จริงๆ แล้วลักษณะวัฒนธรรมของคนไทยเป็นชาติรวมกลุ่ม ไม่ได้แยกตัวโดดเด่น การทำธุรกิจร่วมกันถ้ารวมให้ดี รวมอย่างสร้างสรรค์ มีทิศทางไปด้วยดี ทำให้การเจริญเติบโตเข้มแข็ง แต่การมีอยู่ 3 กลุ่มจะต้องเข้าไปช่วยทำให้ประสานกัน ไม่แตกแยกกัน
ปัญหาจริงๆ อุตสาหกรรมของไทยคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันพัฒนาแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน บริษัทไทยเล็กๆ ต้องรวมพลังจับมือกันไม่อย่างนั้นบริษัทข้ามชาติมา เราก็สู้ไม่ได้ บริษัทไทยต้องประสานกับเขาไม่ได้สู้กับเขาทำอย่างไรให้เขามาประสานกับเรา เพราะเขามีเทคโนโลยีมากกว่า เปลี่ยนจากศัตรูให้มาเป็นมิตรและเขาก็จะมากว้านซื้อบริษัทไทย และพอถึงวันนั้นเราก็จะควบคุมไม่ได้และเขาก็จะแบ่งผลประโยชน์ของเขาเอง เราก็ไม่เหลืออะไร เราต้องสร้างอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งและสู้กับเขาให้ได้
นอกจากนั้นภาครัฐก็ต้องให้การสนับสนุน เช่น การพัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยีการดูแลให้ธุรกิจดำเนินไปมีสภาวะแวดล้อมอย่างเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจไม่ใช่มีกติกาที่ออกมาแล้วขัดกับกติกาโลก ไม่ใช่ทำแล้วขายได้เฉพาะประเทศไทยแต่ขายต่างประเทศไม่ได้ ต้องดูที่ภาพรวม ทำแล้วประเทศเข้มแข็ง พัฒนาเศรษฐกิจไปได้เพราะการเติบโตต้องกำไร และเมื่อเกิดกำไรก็เกิดผลวันนี้ธุรกิจรถยนต์ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำรายได้เข้าประเทศอย่างมาก
ฟอร์มูลา: โครงการต่างๆ ที่ได้รับนโยบายจากรัฐมีอะไรบ้าง ?
วัลลภ : โครงการที่ได้รับอนุมัติทำไปมากมายแล้ว ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เงินไปแล้ว 500 ล้านบาท ส่วนโครงการใหม่มี 2 โครงการ วงเงิน 51.2 ล้านบาท เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ แยกเป็นงบภาครัฐบาล 34.8 ล้านบาท และภาคเอกชนสมทบอีก 64 ล้านบาท โครงการแรกคือพัฒนาช่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งชิ้นส่วน เน้น 4 ประเภท คือ ช่างปั๊มขึ้นรูปช่างฉีดพลาสติค ช่างหล่อ และงานกลึง และพัฒนาช่าง 3 ระดับ ช่างระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงจะพัฒนาอาจารย์ในภาคอุตสาหกรรม 320 คน และอีก 80 คนจะมาจากสถาบันการศึกษาโดยมีหลักสูตรและมีการสอบ เพื่อพัฒนาระบบขีดความสามารถอย่างแท้จริง จริยธรรมการทำงานระบบระเบียบในการทำงาน เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะเพิ่มและลดในส่วนไหนเพื่อที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไปในภาคอุตสาหกรรม
โครงการสอง การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยพัฒนายานยนต์ มีวงเงิน 18.8 ล้านบาท เอกชนสมทบอีก 1.2 ล้านบาท การเข้าสู่ ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย นั้น เราต้องมีเทคโนโลยีต้องมีเครื่องมือทดสอบ ต้องรู้ว่าจะวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทไหน รถยนต์ประเภทใดซึ่งถ้าลงทุนเต็มที่ต้องใช้เงินถึง 10,000 ล้านบาทดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาการลงทุนเป็นขั้นตอนว่าจะลงทุนในเรื่องใดก่อน แล้วใครจะเข้ามาใช้การเข้ามาใช้บริการจะคุ้มกับการทำธุรกิจหรือการรักษาสภาพศูนย์ต่อไปหรือไม่ เมื่อลงทุนแล้วมีผู้มาใช้มากน้อยเพียงใด เพราะโครงการนี้มีวงเงินในการลงทุน 7,500 ล้านบาทจึงต้องศึกษาให้ลึกในหลายๆ เรื่อง รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย เพราะมูลค่าสูงมาก
โครงการนี้ตามแผนประมาณ 6 เดือน เริ่มที่จะลงทุนได้ในปี 2547 เราจะเริ่มลงทุนเครื่องมืออะไรวางไว้เป็นขั้นตอน รวมกับแผนด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วยว่าต้องการพัฒนาชิ้นส่วนประเภทไหนคือมีเครื่องมือแต่ไม่มีคนทำชิ้นส่วน ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องไปด้วยกันเราต้องทำงานร่วมกันในการที่จะสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการค้าการผลิต
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีในสถาบันยานยนต์ทำคือ เร่งประสานงานภาครัฐและเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อเร่งรัดดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในด้านต่างๆ ตามแนวทางการสร้างให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชียที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศโดยเร็ว
ยงค์เกียรติ์ กิตะพาณิชย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
"อุตสาหกรรมชิ้นส่วนต้องรีบเร่งดำเนินการ คือเรื่องของการจัดตั้งมาตรฐานชิ้นส่วนดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องเร่งจัดทำ คือ การตั้งศูนย์ทดสอบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ"
ฟูอร์มูลา : สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ยงค์เกียรติ : แตกต่างตรงที่สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สมาชิกจะประกอบด้วยโออีเอมเท่านั้น ส่วน สมาคม ฯ จะมีทั้งผู้ประกอบโออีเอม และอาร์อีเอมนอกจากนี้การรวมตัวของสมาคม ฯ นั้น สามารถที่จะติดต่อกับภาครัฐโดยตรง คล่องตัวกว่าไม่ต้องขึ้นตรงกับสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันนี้มีจำนวนสมาชิกอยู่ประมาณกี่ราย ?
ยงค์เกียรติ :
ถ้าพูดถึงตอนนี้ผู้ประกอบชิ้นส่วนที่ส่งให้ผู้ผลิตประกอบยานยนมีจำนวนสมาชิกอยู่ประมาณ 700 รายในระดับที่ 1 ที่ส่งให้ผู้ประกอบรถยนต์โดยตรง จากนั้นก็มีระดับล่าง ที่ส่งให้กับระดับที่ 1ต่อไปอีกก็เป็นเหมือนผู้ผลิตย่อยประมาณ 1,100 ราย รวมทั้งหมดก็ 1,800 ราย แต่ในส่วนของสมาคม ฯ มีสมาชิกประมาณ 300 บริษัท เป็นบริษัทไทยแท้ 155 บริษัท และเป็นบริษัทร่วมทุนอีกประมาณ 141 บริษัท และคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายให้ได้ 500 บริษัท
ฟอร์มูลา : นโยบายของสมาคม ฯ มีอะไรบ้าง ?
ยงค์เกียรติ : ส่งเสริมสนับสนุน แก้ไขปัญหาของสมาชิกรวมถึงช่วยส่งเสริมในด้านการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศเหมือนเป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้สามารถแข่งขันได้ในโลก
ฟอร์มูลา : แบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างไร ?
ยงค์เกียรติ : สมาคม ฯ จะแบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย คือ 1. ฝ่ายวิชาการ ดูแลทางด้านเทคนิค 2ซึ่งจะไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐ ฯส่วนในประเทศไทยก็จะมีการศึกษาว่าจะเดินทางไปในแนวทางไหนก็จะมีการประสานงานกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งสรุปแล้วจะเดินไปในแนวทางของยุโรป หรืออียูรวมถึงการผลักดันให้สมาชิกได้รับระบบมาตรฐาน QS9000/ISO14000 2.ฝ่ายต่างประเทศและส่งออก มีหน้าที่ติดตามความคืบหน้าทางเศรษฐกิจด้านค้าระหว่างประเทศและการต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือการออกงานแสดงในต่างประเทศ 3.ฝ่ายกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ จัดทำข่าวสารและต่างๆ และการทำกิจกรรมในหมู่สมาชิกด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน 4. ฝ่ายเศรษฐกิจและภาษีติดตามเรื่องโครงสร้างภาษีที่จะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนแข่งขันได้ภายใต้การค้ากรอบ WTO และเรื่องกฎของแหล่งกำเนิดสินค้า และ 5. อาร์อีเอมหาลู่ทางการขายให้มากขึ้นในตลาดบริการหลังการขายนอกจากนั้นก็จะมีบทบาทประสานงานให้กับสมาชิกกับภาครัฐดูโครงสร้างของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แต่ละชนิดด้วย
ฟอร์มูลา : ผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ประโยชน์ในช่วงที่ตลาดรถยนต์กำลังเติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมาใช่หรือไม่ ?
ยงค์เกียรติ : อุตสาหกรรมยานยนต์กับชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มตั้งแต่ในปี 2503 เริ่มมีโรงประกอบโรงแรกในประเทศไทย และเราก็ผ่านวิกฤติการณ์มาหลายวิกฤติไม่ว่าจะเรื่องของน้ำมันในปี 2521 และล่าสุดในปี 2540 เศรษฐกิจที่เกือบไม่รอดมาถึงปัจจุบันนี้ คือปี 2543 ที่มีการเปิด การค้าเสรี ทำให้มีการรวมตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัวอย่าง ฟอร์ดและมาซดารวมตัวเป็นบริษัทเดียวกัน นิสสันกับเรอโนลต์ ไดมเลร์ไครสเลอร์และมิตซูบิซิถือได้ว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในบ้านเราได้เปิดเสรีแล้ว และปี 2543 ได้มีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศหรือ โลคัล คอนเทนท์ (LOCAL CONTENT) ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นช่วงขาขึ้นของผู้ผลิตชิ้นส่วน
ฟอร์มูลา : จากการประกาศยกเลิกบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง ?
ยงค์เกียรติ : ผลดีก็คือทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนทุกๆ รายมีการเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ คิวซีดี (QCD) คิว คือควอลิที (QUALITY) คุณภาพ ซี คือ คอสต์ (COST) ราคา และ ดี คือ เดลิเวอรี (DELIVERY) การส่งมอบ ล่าสุดที่เพิ่มมาคือ เอนจิเนียริง (ENGINEERING) เราต้องมีศักยภาพในการออกแบบได้ด้วย เพราะในอนาคตแทนที่ลูกค้าจะออกแบบมาให้ผู้ผลิตผู้ผลิตต้องออกแบบเอง และอีกตัวหนึ่งก็คือแมเนจเมนท์ (MANAGEMENT) การบริหารการจัดการในบริษัทเองต้องเป็นแบบทันต่อการณ์แก้ไข หรือเป็นแบบสากล
ฟอร์มูลา : รถยนต์สำเร็จรูปสั่งเขามาและส่งออกไปมีปริมาณเท่าไร ?
ยงค์เกียรติ : รถที่จำหน่ายในประเทศปีที่แล้วประมาณ 400,000 คัน ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 180,000 คัน มีรถนำเข้าจำนวนหนึ่งไม่เกิน 10,000 คัน หรือประมาณ 1-2 % ที่เหลือผลิตและจำหน่ายในประเทศประมาณ 60 % เป็นรถพิคอัพ และ 40% เป็นรถเก๋งและอื่นๆสำหรับรถที่ส่งออก 180,000 คัน 135,000 คันเป็นรถพิคอัพ และที่เหลือเป็นรถเก๋งอีกประมาณ 30,000-40,000 คัน ฉะนั้นจากตัวเลขรถพิคอัพขายในประเทศปีละ 300,000 คัน และส่งออกปีละกว่า 100,000 คัน
ทำให้ประเทศไทยติดอันดับรถเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่ 1-2 ตันขึ้นจนถึงรถบรรทุกใหญ่เชิงพาณิชย์อยู่อันดับที่ 8 ของโลก อันดับที่ 1คือ สหรัฐอเมริกาและถ้าการเจริญเติบโตเป็นเป็นไปในทิศทางที่คาดหวัง อีก 2-3ปีข้างหน้าประเทศไทยจะขึ้นเป็นผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์อันดับ 5 ของโลกทั้งนี้เนื่องจากไทยเป็นตลาดรถพิคอัพใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ฯ และเป็นตลาดที่เข้มแข็งรวมถึงผู้ผลิตรถพิคอัพย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยจากจุดนี้ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชีย หรือที่เราตั้งสมญานามว่า ดีทรอยท์ ออฟ เอเชียก็มีความเป็นจริงมากขึ้น
ฟอร์มูลา : ในการเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย เราได้ประโยชน์อะไร ?
ยงค์เกียรติ : ในอุตสาหกรรมยานยนต์การผลิตรถยนต์ 1 คัน ใช้ชิ้นส่วนประมาณ 70-80 % ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนค่อนข้างจะซับซ้อน เริ่มจากระหว่าง ผู้ผลิตรถยนต์หรือ โออีเอม (OEM) กับผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับ 1 และระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับที่ 1 กับผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับที่ 2 ซึ่งส่งชิ้นส่วนซึ่งเป็นส่วนประกอบให้แก่ชิ้นส่วนระดับที่ 1 โดยชิ้นส่วนจะมีเป็นร้อยเป็นพัน จึงทำให้เกิดการจ้างวานรวมถึงธุรกิจที่มาเกี่ยวข้องจะมีจำนวนมากขึ้น
ดังนั้นจึงทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ ต้นทุน ราคา การส่งมอบซึ่งจุดนี้ไทยได้เปรียบในเรื่องของการส่งมอบ เพราะผู้ผลิตมาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทยที่เหลือคือการปรับต้นทุน ประสิทธิภาพ ให้อยู่ในระดับเดียวกันานาชาติ คำว่า ดีทรอยท์ ออฟ เอเชียเราต้องดูว่ามีอะไรบ้าง ไม่ได้มีแค่โรงงานประกอบรถยนต์ 3 โรงงานเท่านั้นยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีกมากมายและมีสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย มีสถาบันการพัฒนาบุคลากรอยู่ในบริเวณของดีทรอยท์ทำให้ความเข้มแข็งของดีทรอยท์ อยู่ยืนมาเป็น 100 ปี อย่าง ฟอร์ดเพิ่งฉลองครบ 100 ปี
ส่วนในไทยมีโรงงานประกอบรถยนต์เข้ามาลงทุน มีโรงงานผลิตชิ้นส่วน ทั้งในไทยและต่างประเทศแต่ที่ยังขาดอยู่คือ สถาบันการวิจัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาจึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้รองรับด้วยไม่อย่างงั้นก็จะขาดบุคลากร ตัวอย่าง การผลิตรถยนต์หนึ่งคันใช้อุตสาหกรรมร่วมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น พลาสติค เหล็ก กระจก ยาง ฯลฯเมื่อมีเทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถที่จะนำไปผลิตสิ่งอื่นได้ นั่นคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการนำไปสู่การเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย
ฟอร์มูลา : ตอนนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนเราเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็งที่สุดใช่หรือไม่ ?
ยงค์เกียรติ : จากการที่ผู้ประกอบยานยนต์แบรนด์ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนแบรนด์ใหญ่ๆ ก็เข้ามาลงทุนในไทยด้วย ซึ่งมีทั้งมาลงทุนทั้งหมด มาร่วมทุนทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทยมีฐานที่แข็งแรง
ฟอร์มูลา : ในอนาคตประเทศจีนจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญด้านการผลิตชิ้นส่วนหรือไม่ ?
ยงค์เกียรติ : ชิ้นส่วนของจีนยังไม่ได้ระดับมาตรฐาน เราต้องรีบเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าของเราจึงต้องมีศูนย์ทดสอบ มีเครื่องมือทดสอบ ว่าสินค้าที่เข้ามาจากเมืองจีนได้มาตรฐานไหมมาตรฐานที่เรามีอยู่ก็จะพยายามอิงกับมาตรฐานนานาชาติ เช่น มาตรฐานของอียูเรื่องการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและการร่างมาตรฐานสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ
อุปสรรคปัญหาของชิ้นส่วนไทยส่วนใหญ่คู่แข่งจะเป็นจีน กับอินเดีย แต่จะเป็นในส่วนของ โออีเอม (OEM) หรือ ออริจินอล อีคิพเมนท์ แมนูเฟคเจอริง (ORIGINAL EQUIPMENT MANUFACTURING) ผู้ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ผู้ประกอบรถยนต์โดยตรงไม่มีปัญหาอะไรสามารถที่จะแข่งขันได้ แต่ในส่วนของ อาร์อีเอม (REM) หรือ รีเพลศเมนท์ อีคคิพเมนท์ แมนูเฟคเจอริง (REPLACEMENT EQUIPMENT MANUFACTURING) อะไหล่ทดแทนจะมีปัญหาเพราะต้นทุนราคาจะถูกกว่าของไทยเหตุผลมาจากต้นทุน วัตถุดิบ ค่าแรง รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรของเขา
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ตลาดอาร์อีเอมของสหรัฐ ฯ ไต้หวัน เป็นผู้นำอันดับหนึ่ง จีนกับอินเดีย ครองอันดับ 2 นี่คือตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดว่าจีนมีบทบาท ซึ่งสมาคม ฯ ได้คุยกับภาครัฐในเรื่องการลดอัตราภาษีให้เป็นแบบปกติ ไม่ควรเป็นแบบฟาสต์ทแรค ส่วนอีกสองประเทศ คือ ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียเรื่องอาร์อีเอมเราสู้ได้ทั้งในด้านคุณภาพ และราคา แต่เราจะพบปัญหาเรื่องโออีเอม
ฟอร์มูลา : คุณต้องการความร่วมมือจากภาครัฐด้านใดบ้าง ?
ยงค์เกียรติ : ปัญหาของผู้ผลิตชิ้นส่วนจะมีอยู่ในเรื่องของเขตการค้าเสรี ฟรีทเรดแอเรีย (FREE TRADE AREA) หรือ เอฟทีเอ (FTA) ที่ต้องการข้อมูลจากภาครัฐว่าชิ้นส่วนอะไรที่มีปัญหาและอะไรที่สู้กับต่างประเทศ รวมถึงเรื่องของอัตราภาษีที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ คือ 1. ฟาสต์ทแรค (FAST TRACK) 2.นอร์มอลทแรค (NORMAL TARCK) และ 3. เซนซิทีฟลิสต์ (SENSITIVELIST) ที่จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 0 %
ชวลิต จริยวัฒน์สกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
"ไทยจะเป็นดีทรอยท์ ในเรื่องอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะชิ้นส่วน ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครสู้ไทยได้ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เรามีการทำชิ้นส่วนที่หลากหลายอุตสาหกรรมยานยนต์จะยั่งยืนต่อเมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนแข็งแกร่ง"
ฟอร์มูลา : กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ชวลิต : เกิดขึ้นจากสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถ้าเป็นกลุ่มชิ้นส่วนก็จะมาสังกัดในกลุ่มชิ้นส่วนซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์และสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ทั้งหมดเท่าไร ?
ชวลิต : ปัจจุบันมีสมาชิก สามัญ 150 บริษัท และสมทบอีก 7 บริษัท รวมทั้งสิ้น 157 บริษัท
ฟอร์มูลา : บทบาทและหน้าที่ของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์มีอะไรบ้าง ?
ชวลิต : อันดับแรก คือ ช่วยเหลือสมาชิกในเรื่องของข้อมูลข่าวสารประสานงานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิก 2. พยายามพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเปิดเป็น เขตการค้าเสรี จึงต้องมีการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่อย่างนั้นสู้ต่างประเทศไม่ได้ หรือ การพัฒนาบุคลากร องค์กรโดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการอบรม QS 9000 และ ISO 9000 เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงระบบและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน 3. พยายามสร้างความสามารถในด้าน คิวซีดี (QCD) ซึ่ง คิว คือ ควอลิที (QUALITY) คุณภาพ ซี คือ คอสต์ (COST) ราคา ดี คือ เดลิเวอรี (DELIVERY) รวดเร็ว เพราะว่าตอนนี้ต้นทุนสำคัญที่สุดซึ่งเดิมก็คือการส่งมอบด้านต้นทุนและคุณภาพ แต่ปัจจุบันจะเป็น คิวซีดีอีเอม (QCDEM) คือมีเอนจิเนียริง (ENGINEERING) และแมเนจเมนท์ (MANAGMENT) ด้วย ซึ่งแต่เดิมบริษัทไหนมี คิวซีดี ที่ดีบริษัทก็อยู่รอดเพราะว่าเน้นคุณภาพไว้ก่อน แต่ปัจจุบันความอยู่รอดองค์กรไม่ใช่ คิวซีดี แล้วแต่เป็นซีคิวดี (CQD) เพราะจริงๆ แล้วเมื่อเราเปิดเสรี บริษัทไหนที่ผลิตชิ้นส่วนได้ราคาต่ำสุดก็จะได้รับงานนั้นไป ไม่ต้องดูกันที่คุณภาพแล้วเพราะจะเลือกบริษัทที่คุณภาพระดับโลกเท่านั้นมาประมูลกันในอนาคตบริษัทใหญ่ที่มีเครือข่ายในต่างประเทศก็จะมีสิทธิ์เข้าไปในผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับหนึ่ง
ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ไม่มีเครือขาย และไม่มีการวิจัยและพัฒนาของตัวเองโอกาสได้รับงานจะไม่มีเลย ซึ่งนอกจากต้องพัฒนาขีดความสามารถ และลดต้นทุนแล้วก็ต้องมีการป้องกันมาตรการต่างๆ ที่มากระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วน และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งมาตรการนี้ก็คือ การปรับโครงสร้างภาษี จะทำให้ลดต้นทุนได้ กำลังพยายามผลักดันอยู่แต่คาดว่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้
ฟอร์มูลา : โครงสร้างภาษีชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็นอย่างไร ?
ชวลิต : ในเรื่องโครงสร้างภาษีนั้นจะแตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์แต่จะมีการประกาศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2548 ส่วนมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับยานยนต์และส่วนที่กระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน เช่นตอนที่ยกเลิกการบังคับใช้ชื้นส่วนในประเทศ เราก็มีมาตรการหลักเกณฑ์ถอดแยกชิ้นส่วนโดยสมัยก่อนการนำรถยนต์เข้ามาไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้ ต้องเป็นแบบสำเร็จรูป หรือเป็น ซีเคดีรัฐบาลเลยมีการกำหนดว่าถ้าจะนำ ซีเคดี มาจะต้องมีการถอดแยกชิ้นส่วนออกมาโดยปัจจุบันรัฐบาลจะมีการกำหนดมาตรการถอดแยกใหม่ โดยเราเข้าไปดูแลควบคุมเพราะถ้าภาครัฐให้ผู้ประกอบยานยนต์ นำเอาเข้ามาในลักษณะเป็นชุดของรถยนต์ โมดูล (MODULE) ได้ เช่น นำระบบช่วงล่างทั้งชุด เครื่องยนต์ทั้งชุด หรือระบบทั้งระบบ จุดนี้เป็นอันตรายมากจะทำให้อุตสาหกรรมเมืองไทยไปไม่รอด
จริงๆ แล้ว อุตสาหกรรมชิ้นส่วน หรืออุตสาหกรรมยานยนต์เทคโนโลยีสำคัญที่สุด คือ ชิ้นส่วนเพราะรถยนต์หนึ่งคันประกอบด้วยชิ้นส่วนเป็นพันๆ ชิ้นประกอบเข้าด้วยกันชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะมีเทคโนโลยีโดยเฉพาะ และเมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันก็เป็นโมดูลและเมื่อนำหลากหลายโมดูลมารวมกันก็เป็นรถยนต์หนึ่งคัน
ถ้าภาครัฐมองไม่เห็นและให้มีการนำเข้าเป็นโมดูล เอสเอมอีและผู้ผลิตในไทยก็จะไม่มีโอกาสทำชิ้นงาน เพราะเทียบจำนวนการผลิตแล้วไทยมีน้อยเช่นเมื่อเทียบกับไทยผลิตเดือนละ 1,000 คัน ญี่ปุ่นผลิตเดือนหนึ่ง 20,000-30,000 คัน ดังนั้นต้นทุนสู้กันไม่ได้ ทำให้มีการประกอบเครื่องยนต์มาเป็นโมดูลทั้งเครื่อง ซึ่งถ้าส่งมาทั้งเครื่องบริษัทที่ผลิต ลูกสูบ แหวนลูกสูบ เสื้อสูบ ก้ามสูบ ชิ้นส่วนต่างๆ ก็สู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการดังนั้นจึงต้องมีการเจรจากับภาครัฐให้มีการแบ่งแยก เพราะฉะนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนก็จะได้รับผลกระทบซึ่งเวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ มาตรการของภาครัฐเรื่องเขตการค้าเสรี เอฟทีเอ (FTA) หรือฟรีทแรดแอเรีย (FREE TRADE AREA ) ที่ทางรัฐไปเปิดเขตการค้ากับประเทศต่างๆก็ต้องดูแลว่าชิ้นส่วนตัวไหนที่สู้ได้หรือไม่ได้ ต้องขอเวลาปรับตัว ก็จะมีการเสนอภาครัฐและเมื่อมีการเซ็นสัญญา ก็จะเป็นฟาสต์ทแรค เลยนั้นคือภาษีเป็น 0 % นอร์มอลทแรค จะค่อยๆลดจนถึงปี 2553 จะเหลือ 0 % และ เซนซิทีฟลิสต์ เมื่อถึงปี 2553 ขอภาครัฐคุ้มครองอยู่เนื่องจากยังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรี
ฟอร์มูลา : ชิ้นส่วนที่ต้องปกป้องมีอะไรบ้าง ?
ชวลิต : ชิ้นส่วนที่ผลิตสู้ต่างประเทศไม่ได้ และต้องปกป้องนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรเพราะขึ้นอยู่กับว่าจะต้องต่อสู้กับประเทศไหนเนื่องจากความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น ออสเตรเลีย มีอลูมิเนียมมากอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องก็แข็ง เพราะมีวัตถุดิบพื้นฐานเองญี่ปุ่นจะแข็งในเรื่องเทคโนโลยีบางตัวที่ใช้แรงงานมากๆ เขาก็สู้ราคาเราไม่ได้เราก็สามารถเปิดเป็นฟาสต์ทแรคได้ ต้องดูแต่ละตัว และแต่ละประเภท
ถ้าเป็นประเทศจีนค่อนข้างลำบาก เพราะจีนมีวัตถุดิบมาก แรงงานก็ถูกกว่า เครื่องจักรก็มีเทคโนโลยีก็ต้องถูกกว่าของเราแน่นอน ในขณะที่ไทยต้องซื้อเครื่องจักรนำเข้ามา ค่าแรงแพงกว่าและเทคโนโลยีก็ต้องซื้อมา ทำให้ต้นทุนสูงกว่า แต่เราจะได้เปรียบในเรื่องของรถพิคอัพที่เพราะมีการผลิตมากกว่า มีเพียงตัวนี้เท่านั้นที่เราสู้ได้ จึงต้องมีการศึกษา ปกป้องและพัฒนา ส่งเสริมลดต้นทุนในเรื่องภาษีต่างๆ
ฟอร์มูลา : ชิ้นส่วนประเภทไหนที่คนไทยผลิตแล้วมีปัญหาในการแข่งขันกับต่างชาติและได้มีการช่วยเหลือหรือให้ข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ?
ชวลิต : ในสภาอุตสาหกรรมกลุ่มชิ้นส่วนส่วนใหญ่ในกลุ่มผ้ผลิตชิ้นส่วนระดับ 1 ที่เป็น SMEsค่อนข้างน้อย SMEs จะอยู่ที่สมาคมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่าทางกลุ่มก็มีต้องช่วยเหลือซัพพลายเออร์อยู่แล้ว โดยให้ความรู้และอบรมสัมมนาต่างๆ ให้แก่ซัพพลายเออร์ โดยอาศัยสภาอุตสาหกรรม ฯ ที่จะให้ข้อมูลผ่านแต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกและผ่านต่อไปยังซัพพลายเออร์ ยกตัวอย่าง บริษัทที่ดูแลอยู่มีซัพพลายเออร์ 100 บริษัทก็ต้องมีการจัดประชุมด้านข้อมูลต่างๆ ให้ซัพพลายเออร์ และถ้ามีปัญหาก็เข้าไปช่วยสมมุติว่าโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ของเราคุณภาพไม่ดี ก็จะไปช่วยพัฒนาปรับปรุงแก้ไขแนะนำในด้านต่างๆ เป็นหน้าที่ของแต่ละบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่สมาชิกของเราแต่ถ้าเป็นสมาชิกจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้ว
ฟอร์มูลา : ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวของเราคือประเทศอะไร ?
ชวลิต : ชิ้นส่วนยานยนต์เราจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ รถจักรยานรถยนต์ กับรถยนต์รถจักรยานยนต์คู่แข่งที่น่ากลัวคือ จีน เนื่องจากสามารถผลิตจักรยานยนต์ได้จำนวนมากอย่างเช่นปีที่แล้วจีนผลิต 15 ล้านคัน ปริมาณมากกว่าเรา ต้นทุนวัตถุดิบก็ถูกกว่าขณะนี้เมืองไทยต้องปรับตัวไม่ว่าจะเป็น ฮอนดา ซูซูกิ ก็พยายามลดราคาลงมาแข่งขันเดี๋ยวนี้คันหนึ่งไม่ถึง 30,000 บาท ซึ่งคาดว่าในอนาคตเราจะเท่ากับจีนถ้าจีนพัฒนาคุณภาพขึ้นมาระดับหนึ่งต้นทุนต้องสูงแน่นอน และสหรัฐ ฯ ก็พยายามบีบจีนในเรื่องค่าเงิน คาดว่าสามารถสู้ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนรถยนต์เรายังไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะว่าตอนนี้จีนเองผลิตรถยนต์ไม่พอใช้ในประเทศต้องนำเข้าอยู่ แต่ที่น่าห่วงคือจีนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เร็วมาก ดูได้จากในปี 2545 จีนสามารถเพิ่มการผลิตได้ 1 ล้านคัน ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองไทยที่จะเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชียจะสามารถผลิตรถถึง 1 ล้านคันได้ในปี 2549 ถ้าดูศักยภาพเขามีความสามารถสูงกว่าเรามากแต่จีนส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการในประเทศของจีนยังไม่เพียงพอกับผลผลิตที่มีอยู่ แต่ 3 ปีข้างหน้า คือในปี 2549 ที่เมืองไทยประกาศจะทำ 1 ล้านคันประเทศจีนจะมีการส่งออกซึ่งช่วงนั้นจะมีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะจีนจะทำรถพิคอัพโลกนี้มีไม่กี่ประเทศที่ผลิตรถพิคอัพ และจีนก็มาทำรถพิคอัพแข่งกับเราด้วยซึ่งต้องการเป็นผู้นำในเรื่องรถพิคอัพ แต่ถึงเวลานั้นต้นทุนจีนอาจจะสูงขึ้นมาเราก็มีโอกาส
เพราะฉะนั้น รถเก๋ง รถพิคอัพไม่ห่วง แต่รถจักรยานยนต์จะเกิดผลกระทบโดยตรงแต่ในส่วนของพิคอัพ และรถเก๋ง ยังพอมีเวลาที่จะปรับตัวและพัฒนาอีก 3 ปี
ฟอร์มูลา : การยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศมีผลดีผลเสียอย่างไร ?
ชวลิต : เดิมบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ต้องซื้อชิ้นส่วนไทย ซึ่งราคาแพงกว่าของญี่ปุ่นแต่จำเป็นต้องซื้อเพื่อให้ได้ปริมาณชิ้นส่วนในประเทศกฎหมายตรงนั้นโดยเฉพาะรถยุโรปบางยี่ห้อซื้อไปก็ไม่ได้ใช้ ซึ่งเราไม่สนับสนุนจุดนี้อยู่แล้วพวกราคาสูงคุณภาพไม่ดีก็ต้องปิดไป ทำให้ขาดวงจรอีกส่วนหนึ่งราคาใกล้เคียงกับเมืองนอกต้องถูกบีบเรื่องราคา เคยทำกำไรก็ไม่ได้กำไรส่วนที่ต่ำอยู่แล้วก็ต้องโดนบีบโดยตรงจากผู้ประกอบรถยนต์เพราะไม่มีการบังคับใช้ชิ้นส่วนแล้ว ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องลดลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งมองว่าไม่เหมาะสมเท่าไรในขณะที่รถยนต์ราคาสูงขึ้นทุกปี แต่ราคาชิ้นส่วนต้องลดลงทุกปีมันสวนทางกัน นี่คือข้อเสีย
ข้อดี ก็คือ การที่ถูกบีบทำให้ต้องพยายามปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นในด้านคุณภาพ ต้นทุนการพัฒนาการผลิต ถือเป็นการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน และพัฒนาองค์กรเพื่อให้แข่งขันกับทั่วโลก
ฟอร์มูลา : การเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย จะมีผลดี และประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
ชวลิต : ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย ตั้งขึ้นมาเฉยๆ แต่ความหมายจริงๆ เป็นอย่างไร ตัวอย่าง สหรัฐ ฯ เป็นดีทรอยท์ ประกอบรถเพียง 3 ยี่ห้อเอง แต่เมืองไทยมีเป็น 10 ยี่ห้อ ของไทยจะเป็นดีทรอยท์ในเรื่องอุตสาหกรรมผมสนับสนุนมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วน ไม่มีใครสู้ไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย ไต้หวัน เรามีการทำชิ้นส่วนที่หลากหลายอุตสาหกรรมยานยนต์จะยั่งยืนต่อเมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนแข็งแกร่งเพราะเทคโนโลยียานยนต์คือเทคโนโลยีของชิ้นส่วนนั่นเองถ้าไทยส่งเสริมในเรื่องชิ้นส่วนจะทำให้เราพัฒนายานยนต์ยั่งยืนได้ในอนาคต นั่นคือ การเป็นดีทรอยท์ออฟ เอเชีย
แต่ถ้าพูดถึงปริมาณการผลิตรถในไทยนั้นต่ำมาก ปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 17 ของโลก เราวางเป้าไว้ที่ 1ใน 10 ของโลก โดยในปี 2549 ผลิต 1 ล้านคันก็ยังไม่ได้ เป็นแค่อันดับที่ 12-13 เท่านั้น โอกาสติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกจะต้องใช้เวลา 10-20 ปี นอกจากนั้นรัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกและประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องของถนนอีกด้วย
ฟอร์มูลา : อยากให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง ?
ชวลิต : ปัจจุบันรัฐบาลมีการสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ที่อยากให้สนับสนุนอีกเรื่องหนึ่งคือศูนย์ทดสอบชิ้นส่วน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยและที่สำคัญสถาบันยานยนต์จะต้องรับรองในเรื่องนี้ด้วยเพราะการทดสอบชิ้นส่วนบางชนิดนั้นจะต้องใช้ต้นทุนสูงมากผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายไม่สามารถที่จะทำเองได้ แต่ชิ้นส่วนเมื่อผ่านศูนย์ทดสอบและมีสถาบันยานยนต์รองรับก็จะส่งผลดีกับผู้ผลิต
อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะพวกวิศวกรเฉพาะทาง ที่ประเทศไทยยังขาดอย่างมากตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โตโยตา ที่ตั้งสถาบันขึ้นมาเองเพื่อผลิตบุคลากรสำหรับบริษัทของเขา
และถ้าหากเป็นไปได้ คือ อยากทำ คลัสเตอร์ แอพโพรช (CLUSTER APPROACH) คือการนำผู้ผลิตชิ้นส่วนคล้ายๆ กันมารวมตัวกัน เพื่อผลิตโมดูล แต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะต้องสลายองค์กรซึ่งพยายามทำอยู่ ถ้าเป็นไปได้ก็จะเกิดผลดีกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพราะอนาคตการประกอบรถยนต์จะใช้โมดูลมาประกอบแล้ว
ฟอร์มูลา : ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมากที่สุดคืออะไร ?
ชวลิต : ปัญหาแรก คือ ผู้ประกอบยานยนต์ นำบริษัทของเขาประมูลราคากันที่ต่างประเทศบริษัทร่วมทุน และบริษัทผู้ประกอบยานยนต์ นำบริษัทชิ้นส่วนของตัวเองมาเปิดในประเทศไทยทำให้บริษัทในประเทศไทยไม่มีโอกาสที่จะส่งงานให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับหนึ่งโดยตรง อันดับสองนโยบายภาครัฐที่ออกมาทำให้เราต้องรีบปรับตัวในหลายๆ เรื่อง ซึ่งในบางเรื่องประกาศออกมาจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับบริษัทที่เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ
ฟอร์มูลา : ความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์มีอะไรบ้าง ?
ชวลิต : มีหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปกป้องให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซีเคดี 33 % โครงสร้างภาษี การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เพราะถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ได้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนก็อยู่ได้ เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน
ฟอร์มูลา : เป้าหมายของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนมีอะไรบ้าง ?
ชวลิต : ปัจจุบันผู้ประกอบยานยนต์ใช้ชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 38 % เราตั้งเป้าว่าจะพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนจนผู้ประกอบการใช้ของเราเพิ่มขึ้นถึง 60 % ในปี 2549 ซึ่งคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์จะเป็น 1 ล้านคัน และจะสามารถส่งออกชิ้นส่วนได้ถึง 2 แสนล้านคันเมื่อถึงเวลานั้นเราจะแข็งแกร่งพอสมควร และจะแข่งขันกับจีนได้ เพราะถ้ามองจริงๆ แล้วผู้พัฒนายานยนต์คือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์นั่นเอง
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรา, จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)