เจาะสนามแข่งต่างประเทศ
ปิดฉากศึกกรองด์ปรีซ์ 2003 แฟร์รารี คว้าดับเบิลแชมพ์ 5 สมัย
สังเวียน ฟอร์มูลา วัน ประจำฤดูกาลปี 2003 ปิดฉากลง หลังเสร็จศึก ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ด้วยการคว้าแชมพ์ไปครองโดย รูเบนส์ บาร์ริเชลโลหลังจากปะทะกันอย่างดุเดือดตั้งแต่เปิดเกมในรอบควอลิฟาย จนกระทั่งจบการแข่งขันในวันแข่งจริงบรรดาแฟนๆ ของทีมม้าป่าลำพองต่างลุ้นกันตัวโก่ง ตลอดเกมการแข่งขันที่เกิดอุบัติเหตุกับ มิคาเอลชูมาเคร์ หลายครั้ง ท้ายที่สุดสามารถประคอง F 2003 GAเข้าเส้นชัยได้สำเร็จในอันดับสุดท้ายที่มีแต้ม
ศึก ฟอร์มูลา วัน ปีนี้ ดุเดือด เข้มข้นตั้งแต่สนามเปิดฤดูกาลที่ ออสเตรเลีย กรองด์ปรีซ์ต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาลจนกระทั่งต้องมาวัดดวงกันที่สนามปิดฤดูกาลในศึก ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์รวมทั้งหมด 16 สนามด้วยกัน และในท้ายที่สุด มิคาเอล สามารถป้องกันแชมพ์ไว้ได้อีกสมัยหลังจากฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างโชกโชนในการดวลล้อบนสังเวียน เอฟ 1 ปีนี้ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับเปลี่ยนกฎใหม่ของทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือเอฟไอเอตั้งแต่ในรอบควอลิฟายและการปรับเปลี่ยนระบบการให้คะแนนใหม่ เพื่อให้การแข่งขันมีสีสันเร้าใจมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้แก่นักแข่งหน้าใหม่ และทีมแข่งระดับกลางและล่างได้แสดงศักยภาพมากขึ้น
ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์
บาร์ริเชลโล โชว์ฟอร์มคว้าชัยแบบม้วนเดียวจบ
ศึก ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ สนามปิดฤดูกาลปี 2003 เป็นการลุ้นแชมพ์โลกระหว่าง 2 นักขับ มิคาเอลชูมาเคร์ กับ คีมี ไรค์โคเนน เท่านั้น โดย มิคาเอล จะต้องเข้าเส้นชัยให้ได้ในอันดับ 8 เก็บให้ได้ 1แต้มเป็นอย่างน้อย แม้ว่า ไรค์โคเนน จะคว้าแชมพ์สนามนี้ไปได้ก็ตาม
ซึ่งจะทำให้คะแนนสะสมตลอดทั้งปีเท่ากัน และแชมพ์โลกจะตกเป็นของ มิคาเอล ทันทีเนื่องจากตลอดทั้งปี มิคาเอล สามารถคว้าชัยชนะมาได้ทั้งหมด 6 สนามด้วยกัน ขณะที่ ไรค์โคเนนคว้าชัยชนะได้เพียงสนามเดียวเท่านั้น และเขาต้องการแชมพ์ที่ ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น จึงจะคว้าแชมพ์โลกได้ โดยจะต้องลุ้นให้ มิคาเอลจบการแข่งขันในอันดับที่ต่ำกว่าอันดับ 8 และในรอบควอลิฟายปรากฏว่ามีฝนโปรยปรายลงมาเล็กน้อยทำให้สนามลื่น ผลควอลิฟายในวันเสาร์ รูเบนส์ บาร์ริเชลโล ทำเวลามาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย ฮูอันปาบโล มนโตยา แห่งทีม วิลเลียมส์ และที่ร้อนแรงเกินคาดเป็นนักขับน้องใหม่จากทีมโตโยตาคริสตีอาโน ดา มัตตา ติดอันดับ 3 ตามมาด้วย ออลีวีแอร์ ปานีส เพื่อนร่วมทีม อยู่อันดับ 4 ส่วนไรค์โคเนน หล่นไปอยู่อันดับ 8 ขณะที่ มิคาเอล อันดับร่วงไปอยู่ที่ 14 ไรค์โคเนน มีโอกาสลุ้นแชมพ์โลกฟอร์มูลา วัน ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์
การคว้าโพลโพสิชันไปครองของ บาร์ริเชลโล เป็นกุญแจสำคัญต่อการคว้าแชมพ์โลกในปีนี้ของทีมแฟร์รารี จึงต้องทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ ไรค์โคเนน แซงขึ้นไปได้ และจากการออกสตาร์ทได้ดีทำให้บาร์ริเชลโล สามารถครองอันดับหัวแถวมาได้ตลอด แม้ว่าในช่วงแรกของการแข่งขันจะถูก มนโตยาจากทีม วิลเลีมส์แซงขึ้นไปได้ก็ตาม แต่ มนโตยา กลับโชคร้าย เมื่อรถมีปัญหาในรอบที่ 9 ของการแข่งขันทั้งหมด 53 รอบ นำรถเข้าพิท และท้ายที่สุดไม่สามรถนำรถออกจากพิทได้จึงต้องออกจากการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วน ไรค์โคเนน ทำผลงานได้ดีเยี่ยมเช่นกัน สามารถแซงรถคันอื่นไต่อันดับขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับมิคาเอล ที่เจอปัญหาตลอดการแข่งขัน ขณะที่พยายามแซงรถของ ทาคูมา ซาโต ซึ่งลงแข่งให้กับทีมบาร์ เป็นสนามแรกแทน ชากส์ วิลล์เนิฟ ที่ถูกปลดออกไป มิคาเอล เข้าโค้งลึกเพื่อแซงในโค้งแต่กลับแซงไม่พ้น รถไปชนท้ายของ ซาโต และ มิคาเอลต้องนำรถเข้าพิทไปเพื่อเปลี่ยนแผงสปอยเลอร์หน้า เมื่อออกจากพิทอันดับร่วงไปอยู่ที่ 19
ผ่านไปได้ครึ่งทางทีมงานเรียกรถของ มิคาเอล เข้าพิทเป็นครั้งที่ 3 ออกจากพิทมาสามารถขึ้นไปนำราล์ฟชูมาเคร์ ได้สำเร็จ และทั้งคู่พยายามแซงรถของ ซาโต ที่ยังคงนำอยู่ข้างหน้า มิคาเอลแซงโค้งนอกไปได้ แต่ราล์ฟ ก็พยายามเร่งแซงเช่นกัน และเบรคไม่พ้นชนท้ายรถของ มิคาเอลซึ่งไม่ได้รับความเสียหายมากนักสามารถแข่งต่อไปได้ และขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ซึ่งเป็นอันดับที่มีโอกาสลุ้นแชมพ์โลก ส่วนรถของราล์ฟ ต้องเข้าพิทไปเป็นครั้งที่ 4 หมดสิทธิ์ลุ้นอันดับต้นๆ สำหรับการคว้าแชมพ์ในประเภททีมผู้ผลิตในปีนี้
ทางด้าน ไรค์โคเนน ที่ตามหลัง เดวิด คุลธาร์ด เพื่อนร่วมทีมอยู่ ทางทีมตัดสินใจเรียกรถของ คุลธาร์ดเข้าพิทเป็นครั้งที่ 3 ในขณะที่ ไรค์โคเนน เข้าพิทเพียง 2 ครั้งเท่านั้น จึงทำให้ ไรค์โคเนนขยับขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ตามหลัง บาร์ริเชลโล อยู่ราว 15 วินาที สถานการณ์ได้เปรียบตกเป็นของทีมแฟร์รารี ในช่วงท้ายของการแข่งขัน เมื่อ บาร์ริเชลโล ครองอันดับหัวแถวไว้ได้ หากผิดพลาดขึ้นมา
ไรค์โคเนน แซงขึ้นไปรับแชมพ์แทน แต่ยังมี มิคาเอล ประคองอยู่ในอันดับ 8 ซึ่งทำให้เขาคว้าแชมพโลกปีนี้ทันที กระทั่งจบการแข่งขันครบ 53 รอบสนาม บาร์ริเชลโลคว้าชัยชนะไปครองได้สำเร็จ เป็นการคว้าแชมพ์สนามที่ 2 ประจำฤดูกาลนี้ ตามมาด้วย ไรค์โคเนนและคุลธาร์ด สองคู่หูแห่งทีม แมคลาเรน
ส่วนคะแนนสะสมประเภททีมผู้ผลิต แฟร์รารี คว้าแชมพ์ได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน อันดับ 2เป็นของทีม วิลเลียมส์ มี 144 แต้ม นำห่างทีม แมคลาเรน เพียง 2 แต้มเท่านั้น ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 3
มิคาเอล ชูมาเคร์ เคยมาคว้าแชมพ์ได้ในรายการ ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ รวม 5 ครั้งด้วยกันและเป็นการคว้าแชมพ์ 3 สมัยซ้อนในระหว่างปี 2000-2002
ส่วนความเคลื่อนไหวในแวดวง ฟอร์มูลา วัน หลังปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีม บาร์ประกาศไม่ต่อสัญญากับ ชากส์ วิลล์เนิฟ และให้ ทาคูมา ซาโตนักขับทดสอบของทีมลงขับแทนในรายการนี้ และจะลงแข่งให้กับทีม บาร์ ตลอดฤดูกาลปี 2004 อย่างแน่นอนแล้ว ซาโต นักขับชาวญี่ปุ่นวัย 26 ปี เคยเป็นนักขับทดสอบให้กับทีม บาร์ เมื่อปี 2544 ปีต่อมาได้ลงแข่งให้กับทีม จอร์แดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องยนต์จาก ฮอนดาและปีนี้ได้กลับคืนสู่ทีม บาร์ อีกครั้งในฐานะนักขับทดสอบ จนกระทั่งมาลงแข่งขันในสนามปิดฤดูกาลเขาสามารถสร้างผลงานได้ดีด้วยการเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 6
ทางด้านทีม โตโยตา ได้ดึงตัว ไมค์ แกสกอยน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของทีม เรอโนลต์เข้าร่วมทีมเป็นที่เรียบร้อย หลังจากมีข่าวลือกันอยู่พักใหญ่ ส่วนทีม เรอโนลต์ ได้ บอบ เบลเข้าดำรงตำแหน่งแทน ทีม โตโยตา เข้าร่วมแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน ปีนี้เป็นปีที่สอง ผลงานปีนี้ติดอันดับ 8 ประเภททีมส่วนผลงานของทีม เรอโนลต์ ก้าวไกลเกินคาดโดยเฉพาะนักขับน้องใหม่อย่าง แฟร์นันโด อาลนโซจากสเปน คว้าโพลโพสิชันครั้งแรกในชีวิตที่ มาเลเซีย กรองด์ปรีซ์ซึ่งเป็นนักขับที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าโพลได้ ในวันแข่งจริงได้ขึ้นโพเดียมรับอันดับ 3เช่นเดียวกับสนามต่อมาที่ บราซิล ตามมาด้วยอันดับ 2 ที่สนามบ้านเกิด และคว้าแชมพ์แรกในชีวิตที่ฮังการี กรองด์ปรีซ์
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้งของทีม แฟร์รารี ฌอง ทอดท์ผู้บริหารทีมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยแห่งฟลอเรนศ์
ได้มอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับชาวฝรั่งเศสรายนี้ ก่อนหน้านี้ทอดท์เคยได้รับเกียรติรับมอบประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศสมาก่อนได้แก่ CHEVALIER DE LA LEGIOND'HONNEUR
ฌอง ทอดท์ ได้เข้าร่วมงานกับทีม แฟร์รารี เมื่อปี 1993 ก่อนหน้านี้เขาลงแข่งแรลลีในฐานะผู้นำทางหลังจากนั้นได้เข้าร่วมกับทีม เปอโฌต์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในช่วงต้นทศวรรษที่ 80ซึ่งสามารถคว้าแชมพ์แรลลีโลกได้ในปี 1985 และปี 1986 คว้าแชมพ์ในศึกปารีส-ดาการ์รวม 4ครั้งและคว้าแชมพ์ 2 ครั้งในศึก เลอ มองส์ 24 ชั่วโมงเมื่อปี 1992 และ 1993
[table]ผลการแข่งขัน
ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์,
อันดับ, ผู้ขับ,ทีม, เวลารวม
1, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี ,1 ชั่วโมง 25 นาที 11.740 วินาที
2 ,คีมี ไรค์โคเนน, แมคลาเรน, +11.085 วินาที
3, เดวิด คุลธาร์ด, แมคลาเรน, +11.614 วินาที
4, เจนสัน บัททัน, บาร์, +33.106 วินาที
5, ยาร์โน ตรุลลี, เรอโนลต์, +34.269 วินาที[/table]
สรุปผลคะแนนสะสมตลอดฤดูกาล รวม 16 สนาม
[table]ประเภทผู้ขับ,
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, คะแนนรวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 93
2, คีมี ไรค์โคเนน, แมคลาเรน, 91
3, ฮูอัน ปาบโล มนโตยา, วิลเลียมส์ ,82
4, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, 65
5, ราล์ฟ ชูมาเคร์, วิลเลียมส์, 58
6, แฟร์นันโด อาลนโซ, เรอโนลต์, 55
7, เดวิด คุลธาร์ด, แมคลาเรน ,51
8, ยาร์โน ตรุลลี ,เรอโนลต์, 33[/table]
สรุปผลคะแนนสะสมตลอดฤดูกาล รวม 16 สนาม
[table]ประเภททีมผู้ผลิต
อันดับ, ทีม, คะแนนรวม
1 ,แฟร์รารี, 158
2, วิลเลียมส์ ,144
3, แมคลาเรน, 142
4, เรอโนลต์, 88
5, บาร์ ,26
6,เซาเบอร์ ,19
7 ,แจกวาร์ ,18
8 ,โตโยตา, 16[/table]
ตารางการแข่งขันประจำฤดูกาลปี 2004
[table]อันดับ, รายการ, สนาม, วันที่
1, ออสเตรเลีย กรองด์ปรีซ์, อัลเบิร์ท พาร์ค, 7 มีนาคม 2004
2 ,มาเลเซีย กรองด์ปรีซ์, เซปัง เซอร์กิท ,21 มีนาคม 2004
3, บาห์เรน กรองด์ปรีซ์, แซเคอร์ ,4 เมษายน 2004
4, ยุโรป กรองด์ปรีซ์, นืร์บวร์กริงก์, 25 เมษายน 2004
5, สเปน กรองด์ปรีซ์, บาร์เซโลนา, 9 พฤษภาคม 2004
6 ,โมนาโค กรองด์ปรีซ์ ,มนเต การ์โล ,23 พฤษภาคม 2004
7 ,อิตาลี กรองด์ปรีซ์, อีโมลา เซอร์กิท, 6 มิถุนายน 2004
8, สหรัฐอเมริกา กรองด์ปรีซ์, อินเดียนาโพลิส, 20 มิถุนายน 2004
9, อังกฤษ กรองด์ปรีซ์ ซิลเวอร์สโตน 4 กรกฎาคม 2004
10, ฝรั่งเศส กรองด์ปรีซ์ ,มานญี-กูรส์, 11 กรกฎาคม 2004
11 ,เยอรมนี กรองด์ปรีซ์, ฮกเคนไฮม์, 25 กรกฎาคม 2004
12, ฮังการี กรองด์ปรีซ์ ,ฮังกาโรริง, 15 สิงหาคม 2004
13, เบลเยียม กรองด์ปรีซ์ ,สปา-ฟรองโก ชองพ์ส, 29 สิงหาคม 2004
14, อิตาลี กรองด์ปรีซ์, มนซา, 12 กันยายน 2004
15, จีน กรองด์ปรีซ์ ,เซียงไฮ้, 26 กันยายน 2004
16, ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์, ซูซูกะ ,10 ตุลาคม 2004
17, บราซิล กรองด์ปรีซ์, อินเตร์ ลาโกส, 24 ตุลาคม 2004[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไททาเนียม
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : เจาะสนามแข่งต่างประเทศ