ประกันภัย
ค่าความเป็นไทย ภูมิปัญาไทย
งาน มอเตอร์ เอกซ์โป ครั้งที่ 20 หรือชื่อที่เราคุ้นเคยมานานนับ 10 ปี คือ "มหกรรมยานยนต์"เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ด้วยยอดจองรถยนต์ในงานนี้ทำได้ไม่ต่ำกว่า 18,000 คันมีเงินสะพัดหมุนเวียนในงานน่าจะไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท และคาดว่างานปีนี้น่าจะมีผู้เข้าชมงานอย่างน้อย 1,800,000 คน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 150,000คน งาน มอเตอร์ เอกซ์โป ของไทยประสบความสำเร็จเป็นลำดับจนถึงในปัจจุบันนี้ถือได้ว่าเป็นงานแสดงรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว เท่าที่ทราบในทวีปเอเชีย งานนี้ถือว่าเป็นรองเพียงประเทศเดียวคือญี่ปุ่นเท่านั้นพื้นที่โดยรวมที่ใช้ในงานปีนี้กว่า 64,000 ตารางเมตร
วันเปิดงาน มอเตอร์ เอกซ์โป ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2546ซึ่งโดยปกติก็จะเป็นวันที่มีผู้สื่อข่าวมาทำข่าว และแขกวีไอพีเข้ามาชมงาน ท่านประธานในพิธีเปิดได้แก่ฯพณฯ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีซึ่งท่านก็เป็นผู้ใหญ่ผู้อาวุโสเป็นที่รู้จักดีของสังคมไทยมาช้านาน ท่านได้เดินเยี่ยมชมบูธรถยนต์ต่างๆ ด้วยอัธยาศัยที่เป็นกันเองกับทุกบูธเลยก็ว่าได้ ทั้งที่คุณ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานได้จัดเตรียมรถไฟฟ้าสำหรับให้ท่านประธานในพิธีนั่งระหว่างเยี่ยมชมบูธ เนื่องจากเห็นว่างานมันใหญ่เกรงว่าท่านประธานในพิธีจะเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ท่านประธานในพิธีกลับเดินด้วยความกระฉับกระเฉงตามสัญชาตญาณทหารกล้าที่เข้มแข็ง
แม้วัยท่านจะล่วงเลย 60 ปี ไปนานหลานฤดูกาลแล้วก็ตาม
ผ่านเลยจากวันเปิดงานไปได้ 4-5 วัน ท่านประธานในพิธี ฯพณฯ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์องคมนตรี ได้โทรศัพท์มาถึงผม พร้อมกับแนะนำตัวว่า
"ผมพลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีที่ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน มอเตอร์ เอกซ์โป ที่ อิมแพ็คท์ เมืองธานี นะครับ จะขอพูดกับคุณกฤชกมล หน่อยครับ"
ผมรู้สึกตกใจที่ท่านองคมนตรีโทรมาหาโดยที่ผมกับท่านไม่ได้รู้จักมักคุ้นเป็นการส่วนตัวเลย ผมได้ตอบท่านไปว่า..."ผมชื่อ กฤชกมล ครับท่านมีอะไรให้ผมรับใช้ครับ" ท่านก็ตอบมาว่า "ไม่มีอะไรเพียงแต่อยากจะโทรมาพูดคุยด้วยเนื่องจากได้อ่านบทความ ในนิตยสาร "ฟอร์มูลา"ที่ได้รับจากในพิธีเปิดงานวันก่อน แล้วอ่านเรื่อง เปิดเสรีประกันภัยประชาชนได้อะไร ? แล้วรู้สึกตรงใจและขอแสดงความชื่นชมยินดีที่บ้านเมืองเรายังมีคนที่รักชาติรักแผ่นดินอย่างคุณอยู่"ผมรู้สึกปลาบปลื้มใจจนหัวใจพองโตทีเดียว ที่ได้รับฟังคำยกย่องจากท่านองคมนตรี
แล้วผมก็เลยถามท่านต่อไปว่า "มีข้อแนะนำอะไร ผมยินดีน้อมรับ และจะนำไปพัฒนาการเขียนการถ่ายทอดต่อไป" ท่านก็ตอบมาว่าไม่มีอะไรแล้วท่านก็พูดคุยเล่าความรู้สึกในใจของท่านที่ทุกวันนี้ได้ทำงาน ในฐานะเป็นองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้เห็นความตั้งพระทัยมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความผาสุกแก่พสกนิกชาวไทยโดยไม่เคยคำนึงถึงความยากลำบากหรือความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย
พระองค์ทรงไว้ซึ่งแบบอย่างที่ดีที่ปวงชนชาวไทยทุกคนควรต้องระลึกและนำมาปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาภูมิปัญญาไทยในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนาเสื้อทองแดงตรา "สุวรรณชาติ" หรือผลิตภัณฑ์พื้นบ้านตามโครงการในพระราชดำริ ฯลฯ
ท่านองคมนตรีได้พูดคุยกับผมราว 20 นาที เนื้อความส่วนใหญ่สามารถสรุปได้ว่าอยากให้ประชาชนส่วนใหญ่ดำรงชีพหรือใช้ชีวิตตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกินอยู่อย่างพอเพียงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
การรณรงค์ใช้ของไทยด้วยภูมิปัญญาไทยการดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะภาษาไทยขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ประวัติความเป็นชาติไทยที่ต่อสู้และดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราช
ซึ่งท่านเห็นว่าเด็กๆ ลูกหลานไทยทุกวันนี้ ไม่ได้รับการปลูกฝังค่านิยมไทยเท่าที่ควรทั้งภาษาไทยก็พูดเป็นภาษาที่วิปริตวิปลาสไป
จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ตั้ง "คลีนิคภาษาไทย" ขึ้นทั้งนี้เพราะภาษาไทยถูกย่ำยีจนเพี้ยนไป แม้แต่ผู้นำประเทศ หรือครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น การพูดจาที่ชอบใช้ภาษาไทยคำภาษาต่างชาติคำ
เพื่อจะสื่อว่าเป็นคนทันสมัย มีการศึกษาสูงระดับต่างประเทศ ซึ่งทำให้ภาษาไทยเสื่อมเสียและท่านก็ยังคงย้ำเสมอว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงเรื่องภาษาไทยมากและทรงมีพระราชดำรัสทุกปีและปีนี้ก็เช่นกัน ทุกท่านคงได้ยินได้ฟังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา"และท่านองคมนตรีก็ยกตัวอย่างของท่านเองว่าตัวท่านเคยได้รับทุนไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกานานถึง 9 ปีแต่กลับมาก็ยังคงมีความเป็นไทยทั้งหัวใจและภาษาท่านจะไม่พูดภาษาไทยและภาษาต่างประเทศผสมกันไปและก็ไม่เคยต้องมาโอ้อวดด้วยว่าภูมิความรู้ระดับต่างประเทศความเป็นภูมิปัญญาไทยต่างหากที่มีคุณค่ามากกว่า
พูดถึงเรื่องเด็กๆ ไทยต่อ ท่านเห็นว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยควรได้รับการเปิดเผยให้กว้างขวางและยิ่งใหญ่กว่านี้ไม่ควรจำกัดเฉพาะในรั้วของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หรือทำเฉพาะวันสำคัญๆที่จะมีการพาเด็กๆไปวางพวงมาลา หรือ เข้าเยี่ยมชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระราชวัง หรือศิลปสถานซึ่งมันน้อยเกินไป สำหรับการปลูกฝั่งค่านิยมความเป็นชาติไทยพระราชวังหรือศิลปสถานบางแห่งมีการเปิดให้เข้าชมเพียงปีละครั้งสองครั้งเท่านั้นเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากและมีบางแห่งหรืออาจมีอีกหลายแห่งที่ต่อไปอาจถูกขายให้ต่างชาติไปทำเป็นโรงแรมหรือศูนย์การค้าแล้วลองคิดดูสิว่าต่อไปความเป็นไทยของเราจะเหลืออะไร
เราต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ มีการพัฒนาไปทุกด้าน เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่างชาติไหลบ่าเข้ามาทุกวัน เด็กในเมืองแทบจะทุกคน เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ใช้มือถือราคาแพง ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มาจากต่างประเทศ มีค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อเกินตัวแล้วปัญหาต่างๆ ก็ตามมามากมาย ทั้งเรื่องของการขาดจริยธรรมที่ดีต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์การหาเงินมาบำเรอความสุขแบบวัตถุนิยมที่ผิดๆ เป็นข่าวกันอยู่ทุกวัน แล้วพอเด็กๆรุ่นนี้โตไปเป็นผู้ใหญ่ สัก 2-3 รุ่น ก็ต้องถามว่า สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ค่านิยมไทยจะไปอยู่ที่ไหนเอกลักษณ์ไทยจะมีหรือไม่ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะต้องตระหนักและเร่งรีบที่จะแก้ไข
และท่านก็มาสรุปปิดท้ายว่าท่านไม่เห็นด้วยเท่าใดนักกับการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าที่คนไทยมีความเสียเปรียบ คนไทยยังไม่มีความพร้อมมันเสมือนกับการเปิดประตูให้ต่างชาติมาปล้นบ้านปล้นเมืองดังนั้นท่านจึงเห็นด้วยกับบทความที่ผมเขียน "เปิดเสรีประกันภัยคนไทยได้อะไร ?"และท่านอยากเห็นคนไทยรักชาติ รักบ้านเมือง รักคนไทย รักภูมิปัญญาไทย
และความเป็นไทยมากกว่านี้
หลังจากจบการพูดคุยกับ ฯพณฯ พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีแล้วผมเองก็เห็นด้วยกับท่านทุกประการและรู้สึกปิติยินดีกับท่านด้วยที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังจากปากของท่านเองผู้ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่รับใช้และสนองในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพระราชดำรัสพระราชดำริ และพระกระแสรับสั่ง มาสู่การปฏิบัติ
สุดท้ายนี้ใคร่ขออัญเชิญโคลง 4 สุภาพ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"สยามานุสติ" มาส่งท้ายเพื่อเตือนใจ คนไทยทุกคน ที่เกิดบนแผ่นดินไทย จงรักชาติ รักแผ่นดินไทยรักความเป็นไทย รักคนไทย รักภูมิปัญญาไทย และรักที่จะใช้สินค้าไทยนะครับ
"หากสยามยังอยู่ ยั้งยืนยง
ไทยก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วยหมด สิ้นสกุลไทย"
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : ประกันภัย